xs
xsm
sm
md
lg

กรรมติดจรวด ไล่ล่าผู้ทรยศ (Treason) !!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ผมเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งแล้วถึงคดีที่จะอ่านคำพิพากษากันในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ว่าจริงๆ แล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกำลังจะตายเพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตัวเองและกลุ่มผู้สนับสนุนเรียกร้องให้นำกลับมาใช้ โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ตายเพราะนอกจากจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเคร่งครัดแล้ว ยังหลีกเลี่ยงฉ้อฉลอย่างแยบยลยากที่คนทั่วไปจะจับได้ไล่ทันในสถานการณ์ปกติ

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 209 ครับ!

มาตรา 209 บัญญัติไว้ให้นักการเมืองที่ประสงค์จะรับผลประโยชน์จากหุ้นทั่วๆ ไปที่ถืออยู่ก่อนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องขายทิ้ง ไม่ต้องโอนให้บุคคลอื่น เพียงแต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งให้โอนให้ Blind Trust หรือภาษาไทยเรียกว่า “นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น” โดยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ โดยแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบ และจัดการโอนให้เรียบร้อยหลังรับตำแหน่งภายใน 30 วัน จะมีมากเท่าไรก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ก็ต้องแจ้งไว้ในบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน

แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่เลือกวิธีการนี้ กลับทำเท่ ด้วยการบอกว่าสละแล้ว ไม่ยุ่งธุรกิจแล้ว หุ้นที่มีอยู่ก็ได้จำหน่ายจ่ายโอนออกไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรถือไว้

วันที่ 1 กันยายน 2543 ที่ท่านและคุณหญิงโอนหุ้นชินคอร์ปให้นายพานทองแท้ ชินวัตร

วันนั้นน่ะ รัฐธรรมนูญ 2540 ทุกมาตรา - รวมทั้งมาตรา 209-มีผลบังคับใช้แล้วเกือบ 3 ปี และกฎหมายลูกของมาตรา 209 คือพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ก็มีผลบังคับใช้แล้วเกือบ 2 เดือนเต็ม

ในวันนั้นสังคมยังไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้น 1 วันคือวันที่ 31 สิงหาคม 2543 นายพานทองแท้ ชินวัตรได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินให้คุณหญิงแม่ 4,500 ล้านบาท!

แต่แม้จะไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นแนวโน้มนิติกรรมอำพราง ผู้คนในสังคมที่รู้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 209 ดีก็ชี้นิ้วไปที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแล้วว่าไม่สง่างาม ไม่สนองเจตนารมณ์เสริมสร้างธรรมาภิบาลของรัฐธรรมนูญ 2540 สื่อมวลชนเริ่มขุดหุ้นโครงสร้างผู้ถือหุ้นในกิจการของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ในขณะนั้น

วาทะที่คมที่สุดเป็นของท่านอาจารย์ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ครูการเมืองคนแรกของผมที่ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว ท่านเขียนไว้ในคอลัมน์ “โลกกว้างทางแคบ” ตีพิมพ์ในนสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2543 ว่า...

“ถ้ามอบให้ ป.ป.ช.จัดนิติบุคคลมาบริหารหุ้นแล้ว คุณทักษิณและภริยาเข้าไปครอบงำการบริหารหุ้นเหล่านี้ไม่ได้ แต่ถ้าโอนหุ้นให้บุตรชายหรือพี่น้อง รวมตลอดถึงบริวารที่ซื่อสัตย์ คุณทักษิณและภริยาสามารถอยู่เบื้องหลังครอบงำบริหารหุ้นเหล่านั้นได้ นี่คือความแตกต่าง...”

“นับแต่นี้ต่อไป ภาพลักษณ์ของมหาเศรษฐีนักการเมืองผู้ยังแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จะต้องติดตัวและหลอกหลอนตลอดชีวิตการเมืองของคุณทักษิณเสียแล้ว.”


นี่คือคำพยากรณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วของท่านอาจารย์ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

ท่านอาจารย์ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์นอกจากจะเป็นครูสอนรัฐศาสตร์และสื่อสารมวลชนระดับแนวหน้า เป็นอดีตส.ส.และอดีตรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 อีกต่างหาก

ไม่เพียงแต่ท่านอาจารย์ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์เท่านั้น ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ผู้เป็นบรรณาธิการบริหารนสพ.ประชาชาติธุรกิจในวันนั้นยังอำนวยการทำข่าวเจาะลึกจนพบประเด็นผิดปกติ อีก 2 ประเด็นเป็นพาดหัวใหญ่ในวันที่ 11 และ 14 กันยายน 2543 คือ “โอนหุ้น 900 ล้านบาทเข้าบริษัทบนเกาะฟอกเงิน” และ “แม่บ้าน-คนรถถือหุ้น 90 ล้านบาท” และตามข่าวต่อเนื่องไปอีกหลายฉบับจนกลายเป็นประเด็น Talk of the town นำไปสู่การเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแจ้งบัญชีรายการทรัพย์สินหนี้สินเป็นเท็จ

โดย ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543

แต่ในอีก 1 ปีต่อมา ท่ามกลางน้ำตาและนิยายลวงโลก ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีคนเก่งไม่ตั้งใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิวและเต็มไปด้วยข้อกังขา

แต่ “กรรม” เมื่อกระทำลงไปแล้วต้องได้รับผลตอบแทน!

ท่านอัยการอรรถพล ใหญ่สว่างเพิ่งพูดในการเสวนาของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ว่าที่รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ก็เพื่อทำให้ “กรรม” ในยุคนี้ “ติดจรวด” วิ่งไล่ตามคนชั่นทัน

ฐานของคดีซุกหุ้นภาค 1 ที่เกิดจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่เลือกที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 209 ยังเป็นฐานให้บุคคลที่ “รู้ทันทักษิณ” ใช้เป็นจุดเริ่มต้นศึกษาติดตามความไม่ชอบมาพากลและความฉ้อฉลของคนคนนี้อย่างไม่หยุดยั้ง

อาจารย์แก้วสรร อติโพธิเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านี้ โดยเมื่อปี 2549 สมัยที่ยังเป็น ส.ว. ท่านร่วมกับเพื่อน ส.ว. จำนวนหนึ่ง ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พยายามเปิดคดีซุกหุ้นภาค 2 ขึ้นมา แต่ไม่เป็นผล ศาลรัฐธรรมนูญในยุคนั้นมีคำสั่งไม่รับ ต่อมาเมื่อท่านมาเป็นหนึ่งในกรรมการ คตส. และเป็นประธานอนุกรรมการสอบเรื่องนี้ จึงเท่ากับเป็นการต่อยอดฐานข้อมูลเดิม

แม้สำนวนคดีของ คตส.หลายคดี สำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่เห็นด้วย ต้องตั้งคณะทำงานร่วม และมีบางคดีที่ คตส.ต้องยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเอง แต่คดีนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นด้วยตั้งแต่ต้น ไม่มีการตั้งคณะทำงานร่วม สำนักงานอัยการสูงสุดส่งฟ้องให้และทำหน้าที่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอย่างเต็มกำลังความสามารถ และในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองมีคำให้การของพยานและพยานเอกสารที่น่าสนใจปรากฏออกมามากมาย

ผู้อ่านควรเข้าไปอ่านในบล็อกของเจ้าของนามปากกา “ไทยทน” หรืองานของอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ชิ้นหลังๆ ในเว็บแมเนเจอร์ออนไลน์นี้...

จะได้ฟังคำพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 อย่างมีพื้นฐาน

คดีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยหรือไม่ แม้ผมไม่กล้าฟันธง แต่เมื่อดูจากคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ที่นสพ.มติชนรายวันฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 ตัดทอนบางตอนที่สำคัญมาเผยแพร่ไว้ในหน้า 2 ผมเชื่อเกินครึ่งว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในระดับสำคัญ

เพราะเป็นครั้งแรกครับที่สำนักงานอัยการสูงสุดใช้ฐานความผิดของคดีสำคัญนี้ในลักษณะกว้างไกล

การละเมิดหรือทรยศต่อความไว้วางใจของปวงชน!

โดยวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วยคำคำหนึ่ง ซึ่งท่านที่พอจะมีความรู้ทางภาษาอังกฤษและกฎหมายของต่างประเทศอยู่บ้าง จะทราบว่าคำคำนี้มีความหมายรุนแรงมาก โทษที่บัญญัติไว้นั้นรุนแรงมากๆ ถึงขั้นประหารชีวิตทีเดียว

Treason !
กำลังโหลดความคิดเห็น