xs
xsm
sm
md
lg

จุดตายทักษิณ?คำพิพากษาศาลฎีกาคดี 76,621 ล้านและการรุกทางข่าวสารของรัฐบาล!?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

จริงๆ แล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกำลังจะตายทางการเมืองเพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตัวเองและกลุ่มผู้สนับสนุนเรียกร้องให้นำกลับมาใช้ โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ตายเพราะนอกจากจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเคร่งครัดแล้ว ยังหลีกเลี่ยงฉ้อฉลอย่างแยบยลยากที่คนทั่วไปจะจับได้ไล่ทันในสถานการณ์ปกติ

ท่านผู้อ่านต้องติดตามการพิจารณาคดีสำคัญของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองในคดีสำคัญที่สุดของชีวิตอดีตนายกรัฐมนตรีจอมทวิตเตอร์

ที่เรียกย่อๆ กันว่าคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทนั่นแหละ

หรือลงรายละเอียดกันทุกบาททุกสตางค์กันจริงๆ ก็คือยึดทรัพย์ 76,621 ล้านบาท

คาดการณ์ว่าศาลจะพิพากษาภายในต้นปี 2553 อาจจะเป็นภายในเดือนมกราคมด้วยซ้ำ!

พูดกันด้วยภาษาชาวบ้าน รัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากจะไม่ได้รังเกียจเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือที่ผมเคยเขียนไว้นานมาแล้วว่านักบริหารทุนอาชีพ ในการเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว ยังส่งเสริมด้วยมาตรการแยบยลต่างๆ อีกต่างหาก เป็นต้นว่าสร้างระบบกึ่งแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสร้างส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองขึ้นมา 100 คน ทำให้หมายเลข 1 ของแต่ละบัญชีของแต่ละพรรคเสมือนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีที่ลงมาผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และ ฯลฯ

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็สร้างมาตรการควบคุมไว้หลายชั้น

ชั้นหนึ่งที่พัฒนามาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าก็คือ ห้ามผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทธุรกิจ เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้แค่ห้ามไว้เฉยๆ เพราะถ้าเขียนไว้แค่นั้นนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมืองก็มีแต่จะต้องขายหุ้นทิ้งหรือโอนให้คนอื่นสถานเดียว ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะสุดท้ายก็จะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเอง ไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากเข้ามาสู่การเมือง

ทางออกที่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ไว้ก็คือนักการเมืองที่ประสงค์จะรับผลประโยชน์จากหุ้นที่ตนถืออยู่ก่อนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องขายทิ้ง ไม่ต้องโอนให้บุคคลอื่น เพียงแต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งให้โอนให้นวัตกรรมทางการเงินและการเมืองที่นานาอารยประเทศเขามีกัน นวัตกรรมนี้เรียกว่า...

Blind Trust

นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น


โดยแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบ และจัดการโอนให้เรียบร้อยหลังรับตำแหน่งเท่านั้นเท่านี้วัน จะมีมากเท่าไรก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ก็ต้องแจ้งไว้ในบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน

แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่เลือกวิธีการนี้ กลับทำเท่ ด้วยการบอกว่าสละแล้ว ไม่ยุ่งธุรกิจแล้ว หุ้นที่มีอยู่ก็ได้จำหน่ายจ่ายโอนออกไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรถือไว้ จึงไม่มีอะไรจะต้องโอนไปให้ blind trust จัดการแทนระหว่างที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อท่านเลือกวิธีการนี้ ถ้าจริงก็ดีไป ถ้าไม่จริงตราบใดที่สังคมยังรู้ไม่เท่าทันก็ยังดีไปอีกนั่นแหละ

แต่บังเอิญมันไม่จริง!

สื่อมวลชนจึงเริ่มขุดคุ้ย เกิดเป็นกรณีซุกหุ้นภาค 1 ขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2543 ว่ามีการซุกหุ้นไว้ให้กับคนรับใช้และคนขับรถถึงกว่าหมื่นล้านบาท ก่อนชนะเลือกตั้งเสียอีก แต่ในอีก 1 ปีต่อมา ท่ามกลางน้ำตาและนิยายลวงโลกศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีคนเก่งไม่ตั้งใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิวและเต็มไปด้วยข้อกังขา

เกิดประโยค “บกพร่องโดยสุจริต” ตั้งแต่นั้นมา!

คดีสำคัญที่พ.ต.ท.ทักษิณจอมทวิตเตอร์ไม่เคยทวิตเรื่องนี้เลยนั้น มีประเด็นการพิจารณา 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

ขั้นตอนที่ 1 พ.ต.ท.ทักษิณคงไว้ซึ่งการถือหุ้นของชินคอร์ป ผ่านบริษัทที่ตนเป็นเจ้าของ เช่น แอมเพิลริช หรือวินมาร์ค และการถือหุ้นผ่านลูกๆ และญาติพี่น้อง มาตลอดในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือไม่?

ขั้นตอนที่ 2 พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ในธุรกิจของชินคอร์ป ซึ่งเป็นธุรกิจสัมปทานกับรัฐ เป็นผลให้บริษัทได้ประโยชน์ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น และตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในทางปฏิบัติมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น หรือไม่?

ในขั้นตอนที่ 2 นี้ก็มีประเด็นที่ศาลพิจารณา เช่น

- การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต

- การแก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้กับเอไอเอสในเครือชินคอร์ป

- อนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อซื้อสินค้าของชินแซทเทลไลท์ ในเครือชินคอร์ป

- อนุมัติให้ชินแซทเทลไลท์ละเว้นไม่ต้องทำตามสัญญา ไม่ต้องยิงดาวเทียมไทยคม 4 โดยผ่อนผันให้ยิงดาวเทียมไอพีสตาร์แทน

ทั้งหมดนี้ยังผลให้หุ้นของชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 250%

เมื่อมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิ้งของสิงคโปร์ ในช่วงต้นปี 2549 เงินที่ได้มาทั้งหมดจึงถือว่า ได้มาโดยมิชอบจากการใช้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

2 สัปดาห์ที่แล้วมีการให้การของพยานปากสำคัญปากหนึ่งคือคุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นข้อมูลใหม่ที่ตอบโจทย์ในขั้นตอนที่ 1 ได้เป็นอย่างดี โดยท่านบอกว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากก.ล.ต.ต่างประเทศ เป็นการเปิดข้อมูลของกองทุนลับที่ชื่อ...

“ซิเนตร้า ทรัสต์”

ซึ่งระบุว่าเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน กองทุนลับเข้าไปเกี่ยวข้องถือหุ้นต่อเนื่องในอีก 2 บริษัทคือ...

บลูไดมอนด์ และ...วินมาร์ค!

สายสัมพันธ์ “ซิเนตร้า ทรัสต์ – บลูไดมอนด์ – วินมาร์ค” เล่ากันด้วยภาษาชาวบ้านง่ายๆ สรุปจากคำให้การของพยานว่า สองสามีภรรยาตั้งกองทุนซิเนตร้า ทรัสต์ขึ้นมาเพื่อถือหุ้นบริษัทบลูไดมอนด์ แล้วให้บริษัทบลูไดมอนด์ถือหุ้นในบริษัทวินมาร์ค จากนั้นก็ใช้บริษัทวินมาร์คเข้าซื้อหุ้นบริษัทในกลุ่มเอสซี แอสเสทมูลค่า 1,527 ล้านบาทจากครอบครัวชินวัตร และถือหุ้นชินคอร์ป

สายสัมพันธ์ 3 บริษัทนี้นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นแทนให้แล้ว ยังเป็นช่องทางในการโยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศอย่างลับๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณทั้งก่อนและหลังเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

คำพิพากษาของศาลมีความเป็นไปได้ว่าหากไม่ยกฟ้องเสียแล้ว ก็จะต้องพิพากษาให้ทรัพย์สิน 76,621 ล้านบาท ตกเป็นของรัฐทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วน

การให้เหตุผลของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้มีความสำคัญยิ่ง

ไม่ง่ายนักที่ประชาชนจะทำความเข้าใจ เพราะโดยพื้นฐานเป็นเรื่องยาก

โดยเฉพาะเมื่อเทียบระหว่างคำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ กับการอ่อนประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล

แม้จะเป็นจุดตายของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่รัฐบาลก็ต้องทำงานอย่างหนักในการทำให้ประชาชนเข้าใจคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น