xs
xsm
sm
md
lg

ร่องรอยของอาชญากรรม และการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่านคำให้การ เท่าที่ปรากฏเป็นข่าว ของ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.ที่ไปให้การเป็นพยานของอัยการ ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ นช. ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวแล้ว จะเข้าใจว่า ทำไม ในช่วงนี้ นช. ทักษิณ จึงดิ้นรนอย่างสุดขีด ทำทุกอย่าง ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้

ทั้งสมคบกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และฮุน เซ็น ชักศึกเข้าบ้าน ทั้งกระทบ กระแทก จาบจ้วงสถาบัน โดยไม่ปิดบังอำพรางอีกต่อไป ทั้งแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ปลุกระดมให้กลุ่มเสื้อแดงชุมนุมป่วนเมืองในช่วงวันมหามงคลของคนไทย ทั้งประเทศ

เพราะคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท เมื่อมาถึงขั้นตอน อัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ นำพยานฝ่ายตนขึ้นไต่สวนแล้ว คำให้การของพยาน น่าจะบ่งบอกแนวโน้มของคดีได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้ นช. ทักษิณ ต้องตัดสินใจ “แตกหัก”

คำให้การของนายแก้วสรรและนางวรัชญา ต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความสำคัญในประเด็นที่ว่า นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ยังคงเป็นเจ้าของบริษัทชิน คอร์ ปอเรชั่นตัวจริง ตั้งแต่วันที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ขายหุ้นให้เทมาเส็กไปเมื่อต้นปี 2549

ผู้ก่ออาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ

ร่องรอยหนึ่งที่ถูกนายแก้วสรรตามแกะจน นำไปสู่ ข้อสันนิษฐานว่า ที่นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานอ้างว่า ได้ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับ นายพานทองแท้ ชินวัตร ไปแล้วนั้น แท้จริงแล้ว เป็นการขายหลอกๆ ก็คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 5,000 กว่าล้านบาท ที่นายพานทองแท้ ออกให้คุณหญิงพจมาน โดยอ้างว่า เป็นค่าหุ้นธนาคารทหารไทย 150 ล้านหุ้น ๆละ 10 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ 300 ล้านหน่วย ๆละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 4,500 ล้านบาท

แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2543 ที่นายพานทองแท้อ้างว่า ซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จากแม่นั้น หุ้นทหารไทยในตลาดมีราคาเพียงหุ้นละ 5.70 บาท และ ใบสำคัญแสดงสิทธิมีราคาหน่วยละ 1.30 บาท หนำซ้ำใบสำคัญแสดงสิทธิที่คุณหญิงพจมานได้มานั้น ไม่มีต้นทุน เพราะเป็นของฟรีแถมพ่วงมาตอนซื้อหุ้น

ถ้าไม่ใช่ แม่โกงลูก ก็เป็นเพราะ นายพานทองแท้ไม่รู้เรื่อง การโอนขายหุ้น จ่ายเงินค่าหุ้น อะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่แม่ จัดการทำให้ โดยเมคตัวเลขขึ้นมา นายพานทองแท้จึงให้การไปโดยซื่อตามบทที่มีผู้เขียนไว้ให้ท่องจำมาให้การกับศาล และย่อมนำไปสู่ข้อสงสัยว่า ที่อ้างว่า นช. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน โอนหุ้นชินคอร์ป ให้นายพานทองแท้ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะมีหลักฐานว่า เงินที่นำมาซื้อหุ้นนั้น มาจากบัญชีของคุณหญิงพจมานเอง

ตั๋วสัญญาใช้เงิน 5,000 กว่าล้านบาทของนายพานทองแท้ ที่อ้างว่า จ่ายเป็นค่าหุ้นธนาคารทหารไทยให้แม่นั้น แท้จริงแล้ว น่าจะเป็น การโอนเงินปันผลของชิน คอร์ป ที่จ่ายเข้าบัญชีชื่อนายพานทองแท้ กลับไปให้ คุณหญิงพจมาน ซึ่งแสดงว่า นายพานทองแท้เป็นเพียงผู้ถอืหุ้นแทนคุณหญิงพจมานเท่านั้น

ส่วนคำให้การของนางวรัชญานั้น เป็นข้อมูลที่ได้จากการที่ ก.ล.ต. ไปตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นที่แท้จริง ในบริษัทเอสซี แอสเส็ท แล้วค้นพบว่า บริษัทวินมาร์ค และบริษัท แอมเพิลรีช ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในเอส ซี แอสเส็ทนั้น เป็นบริษัทของ นช.ทักษิณ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เป็นผู้ถือหุ้นชิน คอร์ปด้วย

วิน มาร์ค และ แอมเพิล รีช รวมทั้ง นายพานทองแท้ จึงเป็น “นอมินี” ของ นช. ทักษิณ ในชินคอร์ป ซึ่งหมายความว่า นับตั้งแต่ นช. ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพัน์ 2544 จนถึงวันที่มีการลงนามซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ให้เทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 นช. ทักษิณ ยังคงความเป็นเจ้าของชินคอร์ปโดยสมบูรณ์ บริหารกิจการส่วนตัวไปพร้อมๆกับ การว่าราชการแผ่นดินไปด้วย

ดังที่ คำวินิจฉัย ของนายประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่า นช. ทักษิณ มีความผิด ในคดีนช. ทักษิณ ซุกหุ้น กล่าวไว้ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยส่วนตัวเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 ว่า

“ เมื่อผู้ถูกร้องยอมรับว่าผู้ถูกร้องมีทรัพย์สิน แต่ไม่ยื่นบัญชี ฯเพราะใช้ชื่อบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทน และประกาศให้ประชาชนทราบว่าผู้ถูกร้องได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริตและโอนทรัพย์สินนั้นให้เป็นของคู่สมรสผู้ถูกร้องและคู่สมรสผู้ถูกร้องจะโอนให้ใครก็ได้ ตนไม่ทราบ เมื่อตรวจดูพยานหลักฐานต่าง ๆ จึงพบความจริงว่าผู้ที่รับโอนหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น แท้จริงเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวแต่ในนามและโอนคืนทรัพย์สินนั้นให้คู่สมรสผู้ถูกร้องในเวลาเดียวกันกับที่โอนและบุคคลเหล่านั้น คือคนใกล้ชิดที่ผู้ถูกร้องและหรือคู่สมรสเคยใช้ชื่อถือทรัพย์สินมาก่อนที่ผู้ถูกร้องอาสาเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ นั่นเอง

ถือว่า ผู้ถูกร้องและ/หรือคู่สมรสรู้ว่า มีทรัพย์สินในชื่อบุคคลอื่นหรือใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทนโดยมีเหตุผลและข้อเท็จจริงดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวชี้แจงโดยละเอียดในหนังสือทั้งสามฉบับข้างต้น แต่จงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕”


คดี ยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท นี้ ศาลฎีกา จะพิจารณาในประเด็นว่า นช. ทักษิณ ใช้ นอมินี ถือหุ้น ชิน คอร์ป แทน ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อน หากศาลเห็นว่า นช. ทักษิณ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือหุ้นชินคอร์ปเลย ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นที่ว่า นช. ทักษิณ ใช้อำนาจหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้บริษัทชิน คอร์ปหรือไม่

แต่ถ้าศาลเชื่อว่า นช.ทักษิณ ใช้นอมินี ถือหุ้นชิน คอร์ป ก็จะพิจารณาต่อในประเด็นการเอื้อประโยชน์ทั้ง ในเรื่อง การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์เป็นภาษีสรรสามิต, การลดค่าสัมปทานให้เอไอเอส, การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ , การอนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาลพม่าเพื่อซื้ออุปกรณ์จาก ชิน แซทเทลไลท์, และการแก้ไขสัญญาให้ ทศท.และ กสท. ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้เครือข่ายร่วมกับเอไอเอส ซึ่งล้วนทำให้ ชิน คอร์ป มีรายได้ และมูลค่าสินทรัพย์ เพิ่มขึ้น จาก เพียง 20,000 กว่าล้านบาท ก่อนที่ นช. ทักษิณ จะเป็นนายกฯ เป็น 76,000 ล้านบาท ในวันที่ขายชินคอ์ป ให้เทมาเส็ก

คำวินิจฉัยของศาลจะเป็นอย่างใด ไม่มีใครรู้ จนกว่าจะถึงวันพิพากษา แต่อาการแสดงออกของ นช.ทักษิณ ในระยะนี้ เป็นผลมาจากการคาดเดาทิศทางของคดีนี้อย่างแน่นอน

อย่าลืมว่า นช. ทักษิณ ได้รับการยกยอปอปั้นว่า มีวิสัยทัศน์ คาดการณ์ในอนาคตได้แม่นยำ ซึ่งเขาได้พิสูจน์มาแล้ว เมื่อครั้งตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดา

ครั้งนี้ เขาคงทำนายอนาคตของตัวเองได้ถูกต้องอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น