xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณ บิ๊กจิ๋ว กำลังเร่ “ขายชาติ” เพื่อชิงพื้นที่ข่าวจาก คตส. สรุปคดี “โกงชาติ” ??

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

โดย : ไทยทน

ทักษิณ - บิ๊กจิ๋วดูกำลังจะดิ้นรนเต็มที่ แสดงออกราวกับกำลังจะเร่ขายประเทศไทย คนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการยินยอมง่ายๆ กับการยุติกรณีเขาพระวิหาร ด้วยการยกพื้นที่พิพาทให้เขมร อีกคนหนึ่งเดินสายไปเสนอแนวความคิด “นครปัตตานี” สุ่มเสี่ยงต่อการแบ่งแยกเขตปกครองพิเศษออกไป สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเห็นพฤติกรรมขนาดนี้ คนไทยที่ยังมีหัวใจไทย จะไว้ใจว่าเป็น “ชั้นเชิงการตลาดที่น่าทึ่ง” และปล่อยตามเกมให้ “เป็นกลยุทธการชิงพื้นที่ข่าวที่ได้ผล” อีกหรือ?

การที่ทักษิณจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาประเทศใด ก็น่าจะเป็นไปได้ และคงไม่มีใครว่าอะไร หากไม่มีกรณีเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับประเทศไทย “แผ่นดินแม่” ดังกรณีของประเทศกัมพูชา มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหา “ความขัดกันของประโยชน์” ได้อีกครั้ง

น่าเสียดายที่อดีตผู้นำของเรา เป็นคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องธรรมาภิบาล ในบทให้หลีกเลี่ยง “ความขัดกันของประโยชน์” มาแต่ไหนแต่ไร?

นายกฯ มาร์ค อธิบายชัดเจนว่า หากผู้บริหารบริษัท เจรจาสรุปสัญญากับกิจการคู่สัญญา แต่ต่อมา เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของคู่เจรจาดังกล่าว เป็นใคร ก็ต้องทบทวนสัญญาดังกล่าว

แต่คงยากสำหรับอดีตนายกฯ ที่จะเข้าใจ เพราะหลังจากที่ได้เงื่อนไขที่ดีของสัญญาสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ ก็เอาคุณไพบูลย์ ลิมปพยอม มาเป็นประธานกรรมการบริษัท

และที่กำลังหนีคุกไปอยู่ต่างประเทศ ก็คือ “การขัดกันของประโยชน์” ในคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ภรรยาประมูลซื้อที่ดินจากหน่วยงานรัฐ ภายใต้อำนาจการควบคุมของนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุชวนสงสัยมากมาย ว่าคนวางมัดจำประมูลรอบแรกไม่ยื่นซอง ลดราคากลาง เพิ่มเงินวางมัดจำเพื่อลดจำนวนคู่แข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายจำกัดความสูงหลังภรรยาเป็นเจ้าของที่ดิน ฯลฯ

เรื่อง ‘ขายชาติ’ ก็ดูเหมือนเกือบจะเป็นอาชีพทำเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่องมาอยู่แล้ว

1.จัดแจงกิจการโทรคมนาคมผูกขาด ต่อรองลดผลประโยชน์ที่จ่ายให้ ทศท. ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศไทย แล้วขายให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์

2.ผู้ที่ติดตามคดีซุกหุ้นครอบครัวชินวัตร จะทราบว่า ครอบครัวนี้ก็ลงทุนหุ้นกิจการธนาคารด้วย แต่ไม่ใช่ธนาคารใหญ่ๆ แต่เป็นไอเอฟซีที และธนาคารทหารไทย ซึ่งก็ได้ขายให้กับธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ไป แม้ท้ายที่สุดจะไม่ได้กำไรนัก แต่หากดูวิธีคิดแล้ว ก็ยังดูเป็นภัยต่อประเทศชัดเจน โดยมีนโยบายให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนเป็นหุ้นสามัญประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเป็นหุ้นบุริมสิทธิ์เหมือนแต่ก่อนเพื่อปกป้องประโยชน์กระทรวงการคลังผู้ใส่เงินจากภาษีประชาชนเข้าไป แล้วก็ขายให้ธนาคารสิงคโปร์

3.พื้นที่เขาพระวิหารก็ยกให้ประเทศกัมพูชา หลังจากประเทศไทยได้ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน

4.เคยหาทางผูกขาดการทำนาข้าว และเสนอต่อเศรษฐีตะวันออกกลาง
เห็นเช่นนี้แล้ว ใครยังจะไว้ใจท่านอดีตผู้นำได้อีก ว่ายังคิดว่า เป็นคนไทย “หัวใจไทย” อยู่หรือเปล่า??

เมื่อดูสถานการณ์ขณะนี้ น่าคิดว่า ทำไมทักษิณจึงต้องเข้ามาสร้างข่าวในช่วงนี้ โดยเฉพาะในวันที่ 12 พฤศจิกายน ก็อาจเป็นเพราะต้องการเบี่ยงเบนพื้นที่ข่าว จากการที่ทาง คตส.จะได้สรุปคดี “โกงชาติ” ของอดีตนายกฯ ทักษิณ หากเปรียบเป็นการต่อสู้เชิงข่าวสาร สื่อน่าจะได้จัดแบ่งพื้นที่เสนอข่าวอย่างเป็นธรรม

ในมุมหนึ่ง จะเห็นภาพ “เทพ” นักบริหารเศรษฐกิจ ที่พยายามนำเสนอผ่านเวทีกัมพูชา

ในอีกมุมหนึ่ง จะเห็นภาพคดี “ซุกหุ้น” ในชื่อบุคคลต่างๆ และใช้อำนาจ “เอื้อประโยชน์” กิจการของตน และในที่สุด ก็เอาไปขายกองทุนสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคม ทั้งโทรศัพท์มือถือ และกิจการดาวเทียม ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งหากเป็นจริง ก็เป็นภาพของ “มาร”

จึงน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ที่สื่อจะจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนได้เห็นครบด้านว่า เป็น “เทพ” หรือเป็น “มาร” กันแน่

โดยเฉพาะหากใครติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว จะพบว่ามีปมประเด็นที่น่าติดตามหลายประเด็น ดังนี้

1.จากข้อมูลที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้โอนหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้ ในวันที่ 1 กันยายน 2543 นั้น ในวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน นายพานทองแท้ ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้กับแม่เป็นจำนวนถึง 4,500 ล้านบาท โดยที่เมื่อ คตส.ได้ถามว่ามาจากไหน? กลุ่มครอบครัวผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่กลับตอบคำถามนั้นอีกเลยนั้น

2.จนเมื่อคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ให้การต่อศาลในครั้งนี้ ก็ได้ชี้ชัดแล้วว่า เป็นการขายหุ้นธนาคารทหารไทย ให้แก่นายพานทองแท้จำนวน 150 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์จำนวน 300 ล้านหน่วย ในราคาพาร์หรือราคาทุน 10 บาท จึงเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท

3.แต่ไทยทนสับสน เพราะจากข้อมูลของธนาคารทหารไทย ในการเพิ่มทุนครั้งนั้นในเดือนพฤษภาคม 2543 ผู้ซื้อหุ้นที่ราคาพาร์ 10 บาท จะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ์ “ฟรี” (คือราคาพาร์ หรือราคาทุนศูนย์บาท) 2 หน่วย แสดงว่า คุณหญิงมีต้นทุนเพียง 1,500ล้านบาท แต่ขายลูก 4,500 ล้านบาท ในเวลาเพียงประมาณ 3 เดือน ซึ่งหากนายพานทองแท้จะซื้อในตลาด ก็จะมีราคาหุ้นที่ 5.70 บาท และวอแรนต์ที่หน่วยละ 1.30 บาท รวมเพียง 1,245 ล้านบาท ไม่ใช่ 4,500 ล้านบาทอยู่ดี

ซึ่งหากเป็นไปตามความจริงนี้ แสดงว่า เป็นการสร้าง “หนี้อำพราง” หรือไม่ ? เพื่อเป็นเครื่องมือโอนปันผลกลับไปให้แม่ทั้งหมด จนขายหุ้น ก็โอนเงินเข้าบริษัทต่างๆที่พ่อแม่ควบคุม

4.และอีกหลายคนในครอบครัวที่ให้การก็อาจเป็นความเท็จ ลูกสาวพินทองทา ได้รับเงินสำหรับรับโอนหุ้น 370 ล้านบาท ในช่วงวันเกิด อ้างว่าเป็นวันเกิดพิเศษ... ทำไม 370 ล้านบาท? ด้วยใกล้เคียงกับยอดซื้อหุ้นจากพี่ชายจำนวน 367 ล้านบาทพอดี? ไม่ใช่ 300 ล้านบาท ไม่ใช่ 400 ล้านบาท ซึ่งเมื่อซื้อแล้ว พิณทองทาจึงถือหุ้น 367,000,000 หุ้น และพานทองแท้ถือหุ้น 366,950,220 ล้านหุ้น คือแบ่งหุ้นกันได้ 50.003% : 49.997% พอดีๆ

5.ทำไมมีรางวัลพิเศษ 370 ล้านบาท เมื่อครบ 20 ปี หากไม่ใช่เพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทน ต้องถามว่า เมื่อพานทองแท้อายุครบ 20 ปี หรือ แพทองธารอายุครบ 20 ปี ได้รับของขวัญวันเกิดพอๆ กันหรือไม่? ทั้งนี้ เข้าใจว่า นายพานทองแท้ก็ได้เคยเปิดเผยว่า เคยได้รับของขวัญวันเกิดเช่นเดียวกัน แต่แม้รวมมายาวนานกว่า ก็มีเพียงหลักสิบล้านบาทเท่านั้น หรือดูก็คงจะเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทนเท่านั้นใช่หรือไม่?

6.หากบอกว่าเป็นความสุจริตใจ แบ่งหุ้นเท่าๆ กันในฐานะพี่น้อง ทำไมพานทองแท้ไม่ขายหุ้นให้น้องแพทองธารด้วย? หากจะอธิบายว่า “ไม่ได้ เพราะจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะต้องนับหุ้นที่เป็นของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย” ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่การถือแทนกัน และเป็นความจริงใจของพี่น้องที่ต้องการแบ่งเท่าๆ กัน ทำไม แม้เมื่อขายไปแล้ว ไม่แบ่งให้น้องด้วย หากเป็นเงินโอนแบ่งให้น้องก็ไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งของบิดาแต่อย่างใด หรือเพราะเมื่อโอนไปที่ต่างๆ เช่น ประไหมสุหรี ซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อเหมืองเพชร แล้วก็บรรลุภารกิจการถือหุ้นแทนบิดาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หลังจากนั้นไม่มีภารกิจอีก จึงไม่ต้องแบ่งให้น้องใช่หรือไม่?

7.วินมาร์คเป็นใคร? หากเป็นนักลงทุนที่เป็นอิสระจริง ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องปิดบังมาตั้งแต่ต้น โดยในเดือนกันยายน 2543 ได้มีข่าวหลายครั้งที่สื่อได้ตั้งข้อสงสัยว่า การขายหุ้นให้วินมาร์คนั้น เป็นการฟอกเงินของตนเองหรือไม่ ดังในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2543 พาดหัวข่าวว่า “ตะลึง! ‘ทักษิณ’ โอนหุ้น 900 ล. เข้าบริษัทบนเกาะฟอกเงิน” หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2543 พาดหัวข่าวว่า “ ‘ทักษิณ’ ท้าสอบ ‘ฟอกเงิน’ ลั่น ‘สะอาด’ อ้างบุญคุณนำดอลล์เข้า ปท. โดยในรายละเอียดของข่าวว่า “เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ชี้แจงกรณีขายหุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 900 ล้านบาท (แต่ความจริงประมาณ 1,500 ล้านบาท) ให้กับบริษัท วิน มาร์ค ลิมิตเต็ด .. ว่า ถือว่าเป็นการขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศธรรมดา ไม่มีอะไรพิสดาร” หากนายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี การอธิบายเรื่องนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะกระจ่างไร้ข้อสงสัยตั้งแต่ต้น ไม่จำเป็นต้องปกปิดแต่อย่างใด แต่กลับรอจนขายหุ้น อ้างได้ว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้ว จึงเปิดเผย

นอกจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้เคยทำหนังชี้แจงต่อ กลต. ในช่วงต้นปี 2549 หลังจากวินมาร์คขายหุ้นคืนให้ น.ส.พินทองทา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนบริษัท SC พบชื่อ วินมาร์ค แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัว” สะท้อนว่า ไม่ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นเพื่อนกันนับ 10 ปี ทำไมต้องไปสำรวจทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงได้ทราบ และจะได้ยืนยันอย่างเป็นทางการกับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐว่า เจ้าของคือใครอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัว คำชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขัดกับที่ น.ส.พินทองทา บอกว่า นายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี เป็นเพื่อนของบิดาอย่างชัดเจน

นับว่ามีประเด็นที่สื่อน่าจะเตรียมดูหลักฐานเพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนอย่างชัดเจน แต่กลยุทธ์ของอดีตนายกฯ คือ จัดการยึดพื้นที่สื่ออย่างได้ผลมาโดยตลอด ครั้งนี้ ก็คงเตรียมแผนชวนฝันมากมายเพื่อสื่อให้คนไทยคิดถึง และพลาดโอกาสในการเห็นตัวตนของตนตามหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว

อดีตผู้นำเราอาจ “เร่ขายชาติ” แต่สื่อจะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการให้ข้อมูลที่ครบด้าน หากข้อมูล คตส. มีความชัดเจน ว่าคดี “โกงชาติ” นั้นมีมูล ก็ถือได้ว่า สื่อคนไทย “หัวใจไทย” ได้มีส่วนร่วมในการ “รักษาชาติ” ไทยที่เรารัก ไม่ให้ถูกแบ่งแยก ชิ้นนี้ ชิ้นโน้น เพื่อขายเอาเงินเข้ากระเป๋าอีกต่อไป

ด้วยความเคารพในจิตวิญญาณสื่อมวลชนไทย “หัวใจไทย” ผู้รักชาติ และรักศักดิ์ศรีสื่อมวลชนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น