xs
xsm
sm
md
lg

“พิณทองทา” น้ำตาร่วง เบิกความซื้อขายหุ้นชินคอร์ปสุจริต!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“พิณทองทา” ตีบทแตก เบิกความเสียงสั่น น้ำตาซึม กลางศาล ยันได้หุ้นชินคอร์ป จากพี่ชาย โอ๊ค พานทองแท้ มาด้วยสุจริต หวังประสบความสำเร็จธุรกิจ แต่เจอพิษการเมืองเล่นงาน โดนคดี คตส.อายัดทรัพย์ ปัด “พ่อ” ไม่มีเงินแสนล้านซุกอังกฤษ ขณะที่ “พจมาน” เผย โล่งหลังครอบครัวให้การชั้นศาล ตอนนี้ขอแค่ความยุติธรรม




วันนี้ (17 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินรวม 22 คน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

ในวันนี้ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้คัดค้านการอายัดทรัพย์สินคดีนี้ เดินทางมาพร้อมกับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน โดยทั้งหมดมีสีหน้าแจ่มใส

น.ส.พิณทองทา เบิกความว่า พยานมีทรัพย์สินซึ่งถูกอายัดทรัพย์ในคดีนี้รวม 23,529,800,000 บาทเศษ โดยทรัพย์สินของพยานมีเงินฝาก 6 บัญชี ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ และสาขาราชวัตร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักรัชโยธิน และส่วนที่เป็นหลักทรัพย์กองทุนเปิดธนาคารไทยพาณิชย์ อีกจำนวน 218,800,000 บาทเศษ โดยทุกบัญชีดังกล่าวมีชื่อพยานเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนเรื่องการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พยานซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวมาจาก นายพานทองแท้ พี่ชาย รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 9 ก.ย.2545 จำนวน 367 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท รวมเป็นเงิน 367 ล้านบาท ซึ่งพยานชำระค่าหุ้นด้วยเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน โดยเงินที่นำมาซื้อหุ้นเป็นเงินที่คุณหญิงพจมาน มารดา ให้เป็นของขวัญวันเกิดครอบรอบ 27 ปี เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2545 จำนวน 370 ล้านบาท ซึ่งเงินของขวัญไม่มีภาระต้องเสียภาษี เพราะเป็นเงินที่บุพการีมอบให้ และเหตุที่พยานนำเงินของขวัญไปซื้อหุ้นพี่ชาย เนื่องจากมารดาอยากให้พยานนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ และที่ซื้อขายหุ้นในราคา 1 บาท นั้น เพราะพี่ชายได้ซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากพ่อแม่ในราคาเดียวกัน ด้วยความน่ารักของพี่ชายจึงขายแบบไม่คิดเอากำไรน้อง

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างที่ น.ส.พิณทองทา เบิกความ นายพานทองแท้ ซึ่งนั่งอยู่กับมารดา ถึงกับยิ้มและหัวเราะกับคุณหญิงหญิงพจมาน ซึ่งสวมแว่นนั่งอยู่ข้าง ที่มี นางกาญจนาภา นั่งฟังการพิจารณาคดีอยู่ด้วย

น.ส.พิณทองทา เบิกความอีกว่า ส่วนการซื้อหุ้นจากพี่ชายครั้งที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2546 ซึ่งซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) รวม 110 ล้านบาท โดยชำระด้วยเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน เช่นกัน และได้จนทะเบียนรับโอนหุ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยการซื้อขายหุ้นดังกล่าวพยานมอบให้ นางกาญจนาภา เป็นผู้จัดการเรื่องเอกสารและแสดงหลักฐานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในการซื้อขายหุ้นบริษัทพยานไม่เคยใช้สิทธิผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแต่ได้มอบฉันทะให้ฝ่ายกฎหมายประชุมแทน ซึ่งเหมือนกับพ่อแม่และพี่ชาย

สำหรับการถือหุ้นบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนต์ จำกัด (มหาชน) น.ส.พิณทองทา เบิกความว่า พยานได้ซื้อหุ้นและเข้าเป็นกรรมการบริษัท แอมเพิลริช ในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2548 โดยพยานเป็นผู้ถือหุ้น 1 ใน 5 ของบริษัทส่วน 4 หุ้นที่เหลือพี่ชายเป็นผู้ถือและเป็นกรรมการด้วยเช่นกัน ขณะที่บริษัทดังกล่าวมี นางกาญจนาภา เป็นกรรมการด้วย โดยพยานได้เข้ามาเป็นพยานแทน นายเฮนรี่ เลา ลาออก เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็ง สำหรับบริษัท แอมเพิลริช มีทุนจัดตั้งบริษัท 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ เพียงแต่ถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งวันที่ 4 ม.ค.2549 พยานและพี่ชายในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ได้โอนขายหุ้น ให้กับบริษัท แอมเพิลริช จำนวน 164.6 ล้านหุ้น และเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 จึงได้นำหุ้นที่บริษัท แอมเพิลริช ถืออยู่ขายให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยพยานได้รับชำระเงินผ่านในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน ในวันที่ 26 ม.ค.2549 จำนวน 29,696 ล้านบาทเศษ ขณะที่บัญชีดังกล่าวก่อนได้รับชำระเงินพยานมีเงินในบัญชี 1,773 ล้านบาทเศษ ซึ่งไม่ใช่เงินที่ได้จากการขายหุ้น แต่กลับถูก คตส.อายัดเงินในบัญชีไว้ทั้งหมด สำหรับเหตุที่พยานและพี่ชายไม่ได้ขายหุ้นโดยตรงแต่กลับโอนขายให้บริษัท แอมเพิลริช ก่อน เพราะต้องการให้เงินซื้อขายทั้งหมดยังอยู่ในประเทศไทยตามที่เคยขอคำปรึกษาจาก นางกาญจนาภา เนื่องจากถ้าขายโดยตรงกับกองทุนเทมาเส็ก เงินก็จะไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ เงินปันผลจากการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป รวม 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2546-2548 รวม 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งพยานนำไปฝากไว้ที่ธนาคารในสิงคโปร์ ซึ่งธนาคารดังกล่าวจะเป็นผู้ดูแลบริหารเงินฝากให้ได้ดอกเบี้ยสูงสุด โดยทั้งเงินปันผลและเงินซื้อขายหุ้นทั้งหมดพยานไม่ได้มอบให้บิดาและมารดาแต่อย่างใด ส่วนที่พี่ชายแบ่งเงินให้กับมารดาเพราะเป็นการชำระหนี้ในการซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ การขายหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่พยานและพี่ชายตัดสินใจขายเอง โดยพยานนำเรื่องที่มีตัวแทนจากกองทุนเทมาเส็กมาติดต่อซื้อหุ้นของตระกูลดามาพงศ์ กับ นายบรรณพจน์ ไปแจ้งให้บิดาและมารดาทราบ ซึ่งบิดาในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารธุรกิจได้ให้คำแนะนำปรึกษา แต่ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจหรือสั่งการให้ขายหุ้น โดยถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะให้คำปรึกษา

ทั้งนี้ น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความถึง ภาษีที่ถูก คตส.ตรวจสอบและกรรมสรรพากรเรียกเก็บจากการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้บริษัท แอมเพิลริช ว่า กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากพยานและพี่ชายคนละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเรียกเก็บในฐานะผู้ถือหุ้นแต่ในคดีที่ คตส.อายัดทรัพย์ไว้ กลับระบุว่า ทรัพย์ที่ถูกอายัดเพราะพยานและพี่ชายไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ซึ่งพยานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกันและไม่น่าจะถูกต้อง

น.ส.พิณทองทา ยังได้เบิกความถึงทรัพย์สินหลังจากการขายหุ้น ว่า นอกจากจะฝากเงินที่ได้จากการซื้อขายหุ้นไว้ในบัญชีหลายบัญชีแล้ว ยังนำเงินไปลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเปิดบริษัท ชินวัตร แฟมิลี่ แอสเซท จำกัด ในประเทศอังกฤษ มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ต่อมาพยานได้ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัทไทย 4 บริษัทๆ ละ 25 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด เพราะพยานได้ถูกอายัดทรัพย์สินในคดีนี้ก่อน นอกจากนี้ พยานยังได้นำเงินไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี ในประเทศอังกฤษ โดยพยานและพี่ชายได้เป็นกรรมการ ขณะที่บิดาถือหุ้นอยู่ในสโมสรจำนวน 200,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่ขอมาจากมารดา ต่อมาพยาน พี่ชาย และบิดา ได้ขายหุ้นสโมสรฟุตบอล หลังจากนั้น ได้นำเงินไปลงทุนในเหมืองเพชรประเทศแอฟริกา โดยให้บิดาซึ่งอยู่ต่างประเทศดูแลบริหาร เพราะไม่ต้องการให้บิดาเครียด และจะได้ไม่เหงา ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าบิดามีทรัพย์สินอยู่ในประเทศอังกฤษ ประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง หากยังมีทรัพย์สินอยู่ถึงแสนล้านก็คงดี โดยประเทศอังกฤษมีเพียงอพาร์ตเมนต์ ในกรุงลอนดอน ของพยานมูลค่าประมาณ 60-70 ล้านบาท และบ้านที่เป็นชื่อของมารดา มูลค่า 200 ล้านบาท เช่นเดียวกับข่าวที่ระบุว่าบิดามีเครื่องบินส่วนตัวก็เป็นเพียงเครื่องบินเช่าที่เพื่อนนักธุรกิจของบิดาให้ยืมมา ส่วนจะต้องชำระค่าเช่าอย่างไรพยานไม่ทราบ

น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นบริษัทคืนจากบริษัท วินมาร์ค ที่มีนายมามุด มหาเศรษฐีชาวตะวันออกกลาง เพื่อนนักธุรกิจของบิดา ว่า เพราะก่อนหน้านั้น บิดาเคยขายหุ้นให้ บ.วินมาร์ค ปี 2542 เนื่องจากขณะจะนำบริษัทในเครือชิน 5 แห่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ และให้คำมั่นไว้ว่าจะรับซื้อคืน หากไม่ได้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ครบตามที่ระบุไว้ ดังนั้น เมื่อพยานมีเงินปันผลจากบริษัท จึงนำเงินซื้อหุ้นที่เคยเป็นธุรกิจของครอบครัวกลับมา ระหว่างปี 2547-2550 มูลค่า 485 ล้านบาทเศษ และที่ นายมามุด ทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทต่อศาลก็เป็นเรื่องจะยืนยันความเป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความตอบคำถามศาลด้วยว่า ในการดำเนินธุรกิจของครอบครัว จะมี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน มารดา ดูแลในชั้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการเอกสาร และทรัพย์สินต่างๆ ภายใต้ความเห็นชอบของบิดาและมารดาซึ่งบิดาและมารดาดูแลนโยบายทั่วๆ ไป แต่บิดาและมารดาไม่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นของพยานและพี่ชาย เมื่อศาลถามย้ำว่า หุ้นที่พยานได้มา เป็นหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ใช่หรือไม่ น.ส.พิณทองทา กล่าวว่า ไม่ใช่แต่เป็นหุ้นพยานซื้อมาจากพี่ชายที่แบ่งขายให้

น.ส.พิณทองทา เบิกความด้วยว่า ในชั้นไต่สวนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ครั้งแรกตั้งใจให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล แต่หลังจากที่ให้อยู่ในห้องเป็นเวลาถึง 7 ชั่วโมง โดยไม่ให้ทนายความเข้าไปด้วย ซึ่งพยานถูก คตส.ซักถามด้วยคำถาม ซ้ำๆ ทั้งที่พยานได้ตอบไปแล้ว แต่คำตอบไม่เป็นที่พอใจตามแบบที่ คตส.ต้องการ ดังนั้น ในการถูกเรียกไปครั้งที่ 2 พยาน จึงขอใช้สิทธิไม่ให้ถ้อยคำ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องนำข้อมูลมาทำร้ายพ่อแม่ตัวเอง แต่สุดท้ายตัวแทน คตส.ก็ให้เข้าไปในห้องแล้วให้ตนเซ็นเอกสารยืนยันว่า ไม่ให้ถ้อยคำ พร้อมระบุว่าถ้าไม่เซ็นจะติดคุก และต้องเสียค่าปรับ ตนก็เริ่มรู้สึกกลัว จึงขออนุญาตไปห้องน้ำ แล้วเจอทนายความ จึงแนะนำว่าจบแล้วไม่ต้องเซ็นเอกสารอะไร แต่กลับไปที่ห้องเพื่อแจ้ง คตส.ว่า ขอตัวกลับโดยจะไม่ให้ถ้อยคำใดๆ อีก ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่มารั้งประตูไว้ พยานจึงบอกกลับว่าเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือไม่

ในการไต่สวน น.ส.พิณทองทา ยังกล่าวอธิบายต่อศาลด้วยเสียงสั่นเครือว่า ยืนยันว่า ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ป มาจากพี่ชายด้วยความสุจริต เพราะอยากทำธุรกิจส่วนตัว และอยากประสบความสำเร็จทางธุรกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเพียงเกมการเมือง เป็นผู้หญิงอายุ 27 ปี ต้องเข้าศาลเป็นเรื่องที่หนักมาก สงสารพ่อแม่ที่ต้องเห็นลูกตัวเองเจออะไรแบบนี้ หวังว่าลึกๆ จะยังมีความเมตตา และมีความยุติธรรมอยู่ในโลกนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ น.ส.พิณทองทา เบิกความคุณหญิงพจมาน และนายพานทองแท้ ถึงกับหยิบแว่นตากันแดดสีดำมาสวมทันที โดยคุณหญิงพจมานหยิบผ้ามาเช็ดน้ำตา และภายหลังที่ น.ส.พิณทองทา เบิกความเสร็จสิ้นแล้วได้เดินลงจากที่นั่งพยาน ตรงเข้ามาหาคุณหญิงพจมาน และ นายพานทองแท้ ซึ่งนั่งเก้าอี้ด้านหลัง ที่นั่งของพยานโดย น.ส.พิณทองทา ได้กอดซบคุณหญิงพจมาน พร้อมกับร้องไห้

ขณะที่ก่อนจะเดินทางกลับ คุณหญิงพจมาน ซึ่งเดินประคอง น.ส.พินทองทา มาพร้อมกับนายพานทองแท้ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เมื่อครอบครัวให้การต่อศาลแล้วก็รู้สึกโล่งใจ โดยตนขอเพียงให้ได้รับความยุติธรรมเท่านั้น ขณะที่ น.ส.พิณทองทา กล่าวว่า รู้สึกกดดัน แต่ก็โล่งใจ

ทั้งนี้ หลังจาก น.ส.พิณทองทา ไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความนำพยานซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานกฎหมาย ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ด้วยประมาณ 100,000 บาทเศษ ขึ้นไต่สวนจนแล้วเสร็จ โดยศาลนัดไต่สวนพยานต่อไปในวันที่ 22 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น.ซึ่งทนายความเตรียม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เข้าไต่สวนเพื่อเบิกความเกี่ยวกับนโยบายบริหารประเทศ ของรัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พินทองทา เดินทางไปศาล



กำลังโหลดความคิดเห็น