xs
xsm
sm
md
lg

“พจมาน” ทำเพื่อแม้ว! ค้านยึดทรัพย์ ลั่นขายหุ้นเทมาเส็กไม่มีเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"หญิงอ้อ" ขึ้นศาลฎีกานักการเมือง เบิกความค้านคดียึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน ยันขายหุ้นให้ "พานทองแท้ -บรรณพจน์" ซื้อขายกันจริงไม่มีอำพราง อ้างหลังหย่า"แม้ว" ตกลงแบ่งสมบัติลงตัว แจง "แม้ว"ไม่มีทรัพย์สินอยู่ที่ต่างประเทศ ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป 17 ก.ย.นี้




วันนี้ ( 15 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุด ร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 76,000 ล้านบาท ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

โดยในวันนี้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) ผู้คัดค้านที่ 1 เดินทางมาพร้อมกับ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม โดยคุณหญิงพจมาน เบิกความสรุปว่า เริ่มธุรกิจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายบรรณพจน์ ตั้งแต่ปี 2519 โดยทำกิจการเกี่ยวกับการขายภาพยนตร์ อพาร์ตเม้นต์ และให้หน่วยงานราชการเช่าคอมพิวเตอร์ จนมีทรัพย์สินประมาณ 100 ล้านบาท จึงก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมประเภทโฟนลิงค์ จนกิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2530 พ.ต.ท.ทักษิณ จึงลาออกจากราชการตำรวจ มาทำธุรกิจอย่างเต็มตัวเนื่องจากพยานคนเดียวทำไม่ไหว ต่อมาได้เปิดบริษัท แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ทำธุรกิจโทรคมนาคมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริษัทต่าง ๆ และ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ

คุณหญิงพจมาน เบิกความต่อว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 ได้โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ หุ้นบริษัทชินแซทฯ มูลค่า 37 ล้านบาทเศษ หุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) มูลค่า 94 ล้านบาทเศษ และหุ้นธนาคารทหารไทย มูลค่า 5,056 ล้านบาท ให้กับ นายพานทองแท้ บุตรชาย โดยนายพานทองแท้ ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถามแบบไม่มีดอกเบี้ย จำนวน 4 ฉบับ ประกันไว้ ซึ่งพยานได้บอกกับนายพานทองแท้ว่าไม่ต้องรีบชำระค่าหุ้น มีเงินเมื่อไรแล้วค่อยมาจ่าย โดยนายพานทองแท้ ผ่อนชำระเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 26 ม.ค. 2549 นายพานทองแท้จึงได้ชำระเงินครบถ้วน

นอกจากนี้ พยานยังได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ให้กับ และนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกทำธุรกิจมาด้วยกัน ซึ่งนายบรรณพจน์ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับให้ไว้เป็นประกัน โดยเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่ปี 2546 และชำระครบถ้วนเมื่อประมาณปี 2547 ซึ่งตั๋วสัญญาดังกล่าวพยานได้ส่งให้พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นแสดงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบด้วย พร้อมยืนยันว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีการซื้อขายและชำระเงินจริง ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวหาว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายบรรณพจน์ออกให้พยานนั้นทำขึ้นมาที่หลังจากเกิดคดีนี้แล้วไม่เป็นความจริง ซึ่งนายบรรณพจน์ออกตั๋วสัญญาให้ตั้งแต่มีการซื้อขาย แต่ตั๋วใบเดิมได้หายไปจึงออกตั๋วสัญญาฉบับใหม่ให้พยาน ไม่ได้เป็นการอำพรางการซื้อขายแต่อย่างใด

คุณหญิงพจมานเบิกความต่อว่า หลังจากที่นายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้กับพยานครบถ้วนแล้วไม่เคยนำเงินปันผลผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กับพยานอีก และพยานไม่เคยโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กับ น.ส.พินทองทา บุตรสาว แต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2545 พยานได้โอนเงินจำนวน 370 ล้านบาทให้กับ น.ส.พินทองทา บุตรสาว เนื่องในโอกาสวันเกิดครบอายุ 20 ปี ภายหลังจึงได้ทราบว่าบุตรสาวนำเงินจำนวน 367 ล้านบาทเศษไปซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปต่อจากนายพานทองแท้ ส่วนการที่นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทาและนายบรรณพจน์ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์นั้น บุตรชายและบุตรสาว ได้แจ้งให้พยานทราบราวเดือน ธ.ค.2548 ว่านายบรรณพจน์ ได้ติดต่อจะขายหุ้นกับเทมาเส็ก เนื่องจากในอนาคตจะเกิดปัญหาทางธุรกิจที่จะมีการแข่งขันในระบบ 3 จี ซึ่งต้องลงทุนสูง ประกอบกับนายบรรณพจน์ บอกว่าอายุมากแล้วต้องการวางมือ จึงได้บอกกับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาให้ตัดสินใจเอง

คุณหญิงพจมาน เบิกความว่า สำหรับบริษัทวินมาร์ค ที่ คตส.กล่าวหาว่า พยานและพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วบริษัทวินมาร์ค มีนายมามุส โมฮัมหมัด อัล อันซาลี มหาเศรษฐี ชาวตะวันออกกลาง ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรียลเอสเตท เพื่อนนักธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ และมาขอซื้อหุ้นจากพยานและพ.ต.ท.ทักษิณ มูลค่า 650 ล้านบาท เพื่อต้องการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานและพ.ต.ท.ทักษิณ จึงขายหุ้นให้ไปในราคาพาร์ ซึ่งไม่ทราบว่าบริษัทวินมาร์คจะถือครองหุ้นเป็นเวลานานเท่าใดก่อนที่จะขายหุ้นต่อให้กับ น.ส.พินทองทา และเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กับบริษัทแอมเพิชริช อินเวสต์เมนท์ จำนวน 32.9 ล้านหุ้น ได้เงินมาแล้วนำเข้าบัญชีของพยานเนื่องจากเป็นเงินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืมไป ส่วนบริษัทแอมเพิชริช จะประกอบกิจการประเภทใดนั้นไม่ทราบเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนจัดการ

คุณหญิงพจมาน เบิกความต่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการชักชวนจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมืองหัวหน้าพรรคพลังธรรม ให้ลงเล่นการเมืองในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และมอบให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงเล่นการเมือง แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ พยานไม่เคยมอบเงินสนับสนุนพรรคพลังธรรมและไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีข้อตกลงอะไรพิเศษหรือไม่ หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นตำแหน่ง ต่อมาเมื่อปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาขอเงินพยานและก่อตั้งพรรคไทยรักไทย แม้พยานจะเป็นผู้สนับสนุนให้เงินบริจาคพรรคไทยรักไทย แต่ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารพรรค ไม่มีตำแหน่งใดๆในพรรค และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการในฐานะภริยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่เคยได้รับผลตอบแทนใดขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารราชการแผ่นดิน

ภายหลังพยานและ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้จดทะเบียนหย่ากันที่ประเทศฮ่องกง โดยทำข้อตกลงกันว่าทรัพย์สินที่มีชื่อใครก็ให้บุคคลนั้นไป ส่วนที่มีข่าวว่าประเทศอังกฤษได้อายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 100,000 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทรัพย์สินในต่างประเทศ ส่วนบ้านพักในประเทศอังกฤษมูลค่า 200 ล้านบาทนั้นเป็นของพยาน

ภายหลังคุณหญิงพจมาน เบิกความเสร็จสิ้นแล้วทนายฝ่ายผู้คัดค้านนำพยานเข้าเบิกความให้ศาลไต่สวนอีก 1 ปากจน ศาลจึงนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น.






กำลังโหลดความคิดเห็น