xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” บีบน้ำตาอ้อนศาล-เบิกความช่วยพี่ “แม้ว” ยันไม่ได้โกง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวทักษิณ เบิกความคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านครอบครัวชินตร ยันซื้อหุ้นจากพี่ชายด้วยตัวเอง ไม่ได้ถือหุ้นแทน ขายหุ้นได้เงินไปลงทุนปล่อยกู้ สร้างบ้าน ไม่ได้คืนให้พี่ชาย แต่กลับถูก คตส.อายัด 337 ล้าน ตีบทแตกหลั่งน้ำตาอ้อนศาลขอความเป็นธรรม

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุด ร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

โดยในช่วงเช้าทนายฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านนำ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าเบิกความสรุปว่า เหตุที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกปรับเงินเนื่องจากเป็นกรรมการ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด เมื่อได้มาซึ่งหุ้นร้อยละ 5 แล้วไม่ได้รายงานให้ ก.ล.ต.ทราบ ตามข้อ 246 และเมื่อถือหุ้นเกินร้อยละ 25 แล้วไม่ได้ทำคำเสนอซื้อผู้ถือหุ้นรายย่อย ตาม ข้อ 247 และการได้หุ้นมาของ น.ส.พิณทองทา ไม่พบว่ามีการฝ่าฝืน ส่วนประเด็นที่ บ.แอมเพิลริช จะเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่นั้น ก.ล.ต.ไม่ได้ทำการตรวจสอบเนื่องจากไม่มีข้อสันนิษฐานดังกล่าว สรุปผลการตรวจสอบ บ.แอมเพิลริช มีเพียงบริษัทเดียวไม่พบการถือหุ้นของบุคคลอื่น ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะขายหุ้นให้ บ.แอมเพิลริช ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์นั้น จะทำในลักษณะใดก็ได้ แต่ถ้าขายในตลาดหลักทรัพย์จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ขายนอกตลาดนั้นจะต้องเสียภาษี

ต่อมาพยานปากผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เบิกความสรุปว่า ตั้งแต่ปี 2544-2549 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น ราคาหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็เป็นไปตามดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ถ้าดัชนีเพิ่ม ราคาหุ้นชินคอร์ปก็เพิ่ม แต่หากดัชนีลดราคาหุ้นชินคอร์ปก็ลด ส่วนจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นของดีแทคและทรูมูฟ มากน้อยแค่ไหนนั้น พยานไม่ได้ตรวจสอบแต่ก็สามารถตรวจสอบภายหลังได้เพราะมีการบันทึกไว้

ช่วงบ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้คัดค้านที่ 4 เข้าเบิกความ สรุปว่า ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท เอสซีแอสเสท ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือชินคอร์ป มีพี่น้องร่วมมารดา 10 คน พยานเป็นคนสุดท้อง เมื่อมารดาเสียชีวิต ได้บันทึกเทปเสียงฝากพยาบาลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขณะนั้นมีฐานะมั่นคงช่วยดูแลเลี้ยงดูให้การศึกษาส่งเสียจนเรียนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ป.โท ม.เคนตักกี้ ประเทศอเมริกา ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเปรียบเสมือนพ่อคนที่ 2 ภายหลังเรียนจบกลับมาทำงานที่ บ.ชินวัตร ไดเร็คทอรี่ ในเครือชินคอร์ป ก่อนย้ายมาทำงานที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ก่อนลาออกเมื่อปี 2549 ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเล่นการเมืองเคยบอกพยานว่าจะขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดให้กับนายพานทองแท้ พยานจึงขอซื้อหุ้นจำนวน 2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเก็บไว้เป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากยังไม่มีเงินมากนัก จึงขอทำเป็นหนังสือสัญญาจ่ายเงินเมื่อทวงถามแบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าอะไรเพราะเห็นว่าพยานทำงานให้บริษัทมานาน ไม่ได้เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การซื้อหุ้นดังกล่าวพยานไม่ได้รายงาน ก.ล.ต.เนื่องจากเป็นจำนวนหุ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยเข้าประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี โดยมอบอำนาจให้ทีมกฎหมายเข้าร่วมประชุมแทน เนื่องจากชินคอร์ป มีทีมผู้บริหารมืออาชีพบริหารงานแล้ว โดยตั้งแต่ถือหุ้นชินคอร์ป ได้รับเงินปันผลจำนวน 6 ครั้ง รวมมูลค่าประมาณ 97,200,000 บาท โดยงวดแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ได้จำนวน 9 ล้านบาท แต่ได้นำไปโอนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นค่าซื้อหุ้นทั้งหมด ส่วนงวดที่ 2 ได้จำนวน 12 ล้านบาทเศษ จำไปชำระให้ พ.ต.ท.ทักษิณ 11 ล้าน ส่วนที่เหลือจ่ายให้กับ น.ส.พิณทองทา เป็นค่านาฬิกาที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนเงินที่เหลือเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความว่า บันทึกเส้นทางการเงินของพยานที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำขึ้นมาเป็นหลักฐานประกอบคดีนี้นั้น ไม่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการโยกย้ายเงินตามที่ถูกกล่าวหา ที่จริงแล้วเมื่อได้เงินค่าปันผลมาแล้วโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ แต่หากต้องการถอนเงินจะสั่งจ่ายเช็คผ่านบัญชีกระแสรายวัน เนื่องจากได้ขอยื่นรับบริการดังกล่าวกับทางธนาคาร เพื่อความสะดวกและป้องกันเช็คเด้ง สำหรับเงินปันผลที่ได้มาไม่ได้โอนเข้าบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ คุณหญิง พจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) เนื่องจากเป็นรายได้ของตนเอง โดยทำเรื่องขอกู้เงินธนาคาร 60 ล้านบาท นำไปใช้ในการสร้างบ้านบนเนื้อที่ 4 ไร่ครึ่ง พื้นที่ใช้สอบ 2,500 ตารางเมตร และนำเงินรายได้ค่าปันผลมาตกแต่งสวน ทำสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ จำนวน 20 ล้านบาท เก็บไว้ใช้ส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำ 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชร 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ 10 ล้านบาท สำรองไว้ 8 ล้านบาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความต่อว่า ในปี 2544 หุ้นชินคอร์ป มีการแตกพาร์จากราคา 10 บาท เหลือ 1 บาท ทำให้พยานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 ล้านหุ้น แต่ยังมีมูลค่ารวมเท่าเดิม ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้ขายหุ้นให้กับบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง ในเครือกลุ่มทุนเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์ ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ได้เงินประมาณ 912.3 ล้าน โดยการขายหุ้นดังกล่าวขายพร้อมกับ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน เงินส่วนหนึ่งนำไปบริจาคมูลนิธิไทยคม นำไปลงทุนกองทุน ใช้หนี้ และปล่อยกู้ แต่ถูก คตส.สั่งอายัดไว้จำนวน 337 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้เรียกไปให้การในฐานะพยาน แต่กลับสอบสวนเรื่องคดีเอสซี แอสเสท ภายหลังแจ้งข้อหาอายัดทรัพย์ และไม่เปิดโอกาสให้พยานเข้าชี้แจงพิสูจน์ทรัพย์ เมื่อ คตส.หมดวาระลง ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุด ซึ่ง อสส.แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ในเรื่องทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และของพยาน แต่สุดท้ายกลับถูกร้องขอให้ศาลยึดทรัพย์คดีนี้

“ตั้งแต่วันแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจเข้ารับใช้ชาติ พี่น้องในครอบครัวต่างคัดค้านไม่อยากให้ลงมาเล่นการเมือง เพราะมีความกดดันมาก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังยืนยันทำเพื่อชาติ จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกทหารปฏิวัติ จากคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กลับถูกกล่าวหาว่า เป็นคนทุจริตคดโกง รวมไปถึงญาติพี่น้องไม่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างอบอุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีแม้ที่อยู่ในประเทศ ตนไม่ใช่นักการเมืองยังถูกผลกระทบเล่นงาน นับตั้งแต่ที่พี่ชายและครอบครัวถูกกล่าวหา ก็มีหมายเรียกให้ตนไปเป็นพยาน แต่สิ่งที่ คตส.ทำแตกต่างกับคนอื่น ไม่ยอมให้คนครอบครัวชินวัตรนำทนายความเข้าร่วม ตนต้องถูกคน 7-8 คน รุมถามด้วยคำถามนำ อยู่นานถึง 9 ชั่วโมง หุ้นทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ มีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง และตนก็ซื้อหุ้นนั้นมาด้วยความสุจริต คตส.ไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ทรัพย์ การพิสูจน์ทรัพย์จึงยังไม่สมบูรณ์หรือสิ้นสุด ขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความตอนท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความแล้วเสร็จศาลนัดไต่สวนพยานปากต่อไปในวันที่ 13 ส.ค. นี้ เวลา 09.30 น.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเบิกความที่ศาล
เดินทางไปพร้อมทนายความ ธนา เบญจาทิกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น