ทนาย “ทักษิณ” แจงคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ครอบครัวชินวัตร อ้าง ทักษิณ-ภรรยา ขายหุ้นให้บุตรชายบุตรสาวและญาติ ก่อนเป็นนายกฯ และแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 แต่หลังรัฐประหารกลับถูกเล่นงาน ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป 20 ส.ค.นี้
วันนี้ (13 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุด ร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
โดยในช่วงเช้าทีมทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านนำพยานซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายรับฝากหลักทรัพย์ ธนาคารซิตี้แบงก์ กรุงเทพฯ ขึ้นเบิกความสรุปว่า บริษัท UBSAG ประเทศสิงคโปร์ มาเปิดบัญชีเงินฝาก และบัญชีรับฝากสินทรัพย์ไว้กับธนาคารกว่า 10 บัญชี และมีการรับฝากหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329 ล้าน โดยฝากในระบบไร้ใบหุ้น และมีการเปลี่ยนโอนไปยังบัญชีต่างๆ สลับไปมาหลายครั้งแต่จำนวนหุ้นยังเท่าเดิม กระทั่ง บริษัท UBSAG ได้นำหุ้นไปขายเมื่อต้นปี 2549 ได้เงินจำนวน 3.658 พันล้านบาท นำเงินไปเข้าบัญชีเงินสด ส่วน บริษัท UBSAG จะนำเงินไปเข้าบัญชีใดบ้างนั้นจะต้องตรวจสอบจากการเคลื่อนไหวของบัญชี ซึ่งพยานไม่สามารถตอบได้ว่านำเงินไปเข้าบัญชีใครบ้าง เพราะมูลค่าที่ได้รับมากับมุลค่าที่โอนไปมีจำนวนไม่เท่ากัน
นายสมบูรณ์ คุปติมณัส ผู้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และมูลนิธิไทยคม ผู้คัดค้านที่ 17 ซึ่งถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดทรัพย์ ในบัญชีเงินฝาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอารีย์ จำนวน 200 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย เบิกความสรุปว่า ทำงานให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เมื่อปลายปี 2532 ในบริษัท ชินคอร์ป ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ดูแลการทำนิติกรรมทะเบียนบริษัท ทะเบียนหุ้นบริษัท รวมทั้งการทำนิติกรรมส่วนตัวของทั้งสอง โดยพยานได้ออกจากบริษัท ชินฯ ปี 2542 ปัจจุบันเป็น ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมายบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ชินคอร์ป ได้เริ่มจดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2533 ซึ่งก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มีหุ้นรวมกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หุ้นมีราคา 10 บาท แต่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์วันที่ 31 สิงหาคม 2533 ราคาหุ้นปรับสูงขึ้นที่ 438 บาท โดยดัชนีหลักทรัพย์ 862.75 จุด
นายสมบูรณ์ เบิกความว่า ในปี 2532 บริษัท ชินคอร์ป ได้รับสัมปทานเคเบิลทีวี ภายใต้ชื่อ ibc และวิทยุติดตามตัวหรือเพจเจอร์ ซึ่งภายหลังเลิกดำเนินธุรกิจ ต่อมาปี 2533 ได้รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือ จนกระทั่งบริษัท ชินคอร์ป เจริญเติบโตตามความนิยมใช้บริการ ต่อมาปี 2537 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลาออกจากการเป็นประธาน บริษัท ชินคอร์ป เพราะต้องไปทำงานการเมืองในพรรคพลังธรรม และจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ราคาหุ้น บ.ชินคอร์ป ดีดตัวสูงขึ้นถึง 700 กว่าบาท โดยคุณหญิงพจมาน ขึ้นมาเป็นประธานและลาออกเมื่อปี 2539 กระทั่ง นายบรรณพจน์ มาเป็นจนกระทั่งขายหุ้นให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างหุ้นชินคอร์ปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีการเพิ่มทุน 3 ครั้ง ซึ่งทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนมีหุ้นเพิ่มขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เนื่องจากกำลังลงสมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคไทยรักไทย เหตุที่ใช้วิธีการขายหุ้นให้บุตรในราคาทุน ทั้งที่สามารถโอนยกให้เป็นมรดกได้นั้น เนื่องจากต้องการให้รู้คุณค่าและรู้ว่าโลกธุรกิจไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ นอกจากนี้ ยังได้ขายหุ้นราคาทุนให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยการโอนขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้กับบุตรและญาติ มีการทำสัญญาตั๋วใช้เงินรวม 10 ฉบับ และมีการชำระหนี้ครบถ้วนตามจำนวนแล้ว ซึ่งพยานเป็นประจักษ์พยานเพราะเป็นผู้จัดทำสัญญาตั๋วแลกเงิน และได้ทำการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแจ้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรายงานการขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน และรายงานการซื้อหุ้นของ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา นายบรรณพจน์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และให้ออกใบถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นให้ใหม่ ส่วนที่ คตส.ตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการทำหลักฐานตั๋วสัญญาชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นและเงินยืมค่าเพื่มทุนย้อนหลังเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากตั๋วใบเดิมที่ลงสถานว่าสั่งจ่ายให้ “นางพจมาน” สูญหายไป จึงได้จัดทำขึ้นใหม่และเปลี่ยนสถานใหม่ว่าเป็น “คุณหญิงพจมาน” เท่านั้นแต่มูลค่าเท่าเดิม ส่วนที่ไม่แจ้งความ เพราะเห็นว่าตั๋วสัญญาลงชื่อให้คุณหญิงพจมานเพียงคนเดียวที่มาขึ้นเงินได้ หากเป็นคนอื่นก็จะต้องถูกจับติดคุก อีกทั้งหลักฐานทางการเงินไม่สามารถสร้างย้อนหลังได้
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ได้รับมอบจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ให้มาแก้ไขการทำบัญชีทรัพย์สิน หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพบว่าบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีข้อบกพร่อง ไม่มีการแจ้งการถือหุ้นในส่วนที่คุณหญิงพจมานให้บุคคลอื่นถือแทน จนทำให้ถูกยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิด ตอ่มา พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พยานเตรียมยืนบัญชีในทรัพย์สิน ต่อป ป.ป.ช. ในปี 2544 ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก โดยพยานได้หมายเหตุให้ ป.ป.ช.ทราบว่า การถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน แทนในนาม น.ส.บุญชู เหรียญประดับ ประมาณ 3 หมื่นหุ้นของบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการขายทิ้งไปแล้วตั้งแต่ปี 2538 แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อผู้โอนเพราะไม่สามารถติดต่อ น.ส.บุญชู ได้ และระบุด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีหุ้นบริษัท ชินคอร์ป แล้ว คงมีแต่มูลค่าหนี้ที่นายพานทองแท้ เป็นหนี้ชำระค่าหุ้นประมาณ 6 พันล้านบาท โดยขณะนั้น ป.ป.ช.ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด เพียงแต่ทักท้วงเรื่องการลงรายละเอียดเกี่ยวกับลงรายละเอีดยการทำประกันชีวิตของครอบครัวชินวัตร ในหมวดสิทธิสัมปทาน ต่อมาเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินปี 2548 แล้ว ป.ป.ช.ก็ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติแต่ประเด็นดังกล่าวกลับถูกตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาเมื่อปี 2549-2550 หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกรัฐประหาร จึงให้พยานทำรายละเอียดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินปี 2548-2550 แก้ข้อกล่าวหาในชั้น คตส.พบว่า มูลค่าทรัพย์สิน ลดลงจากปี 2544 เพราะคุณหญิงพจมานได้นำเงินไปบริจาคให้กับสาธารณกุศล และพรรคไทยรักไทย การยื่นแสดงบัญชีก็ได้ปรากฎตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ด้วย และสาธารณะก็รับรู้ถึงความไม่มีหุ้นอยู่เพราะขายให้กับบุตรและครอบครัวไปแล้ว ขณะที่นายกล้าณรงค์ จันทิก คตส.ก็เคยเป็น ป.ป.ช. รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นบัญชีดังกล่าว นอกจากนี้ นายวิโรจน์ เลาหพันธ์ อนุฯ คตส.ก็ได้มีการตรวจสอบการสั่งจ่ายเงินชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาซึ่งมีอยู่จริงและชำระเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่กลับไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบคดีนี้
ภายหลังศาลไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วในวันนี้ ศาลนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 20 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 น.โดย นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ เตรียมขึ้นเบิกความในช่วงบ่าย