xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยหญิงอ้อ ให้การกรณี “ซุกหุ้น”

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 กันยายน 2552 “หญิงอ้อ” ได้เบิกความคดียึดทรัพย์แม้ว ยันขายหุ้นให้ “ลูกโอ๊ค-บรรณพจน์” มีการซื้อขายกันจริงไม่มีอำพราง ขายหุ้นให้แล้วจบ ไม่มีจ่ายเงินปันผลให้อีก ตามข่าว ไทยทนได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด จากข้อมูล กลต. ข่าวคราวจาก คตส. มีหลายประเด็นที่น่าจะได้ติดตามต่อ ดังนี้

1. จากคตส. ได้ตั้งข้อสงสัยว่า จากการโอนหุ้นชินฯ ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ในวันที่ 1 กันยายน 2543 เหตุใด จึงมีตั๋วใช้เงิน 4,500 ล้านบาท ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน คุณหญิงพจมาน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ หุ้นบริษัทชินแซทฯ มูลค่า 37 ล้านบาทเศษ หุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) มูลค่า 94 ล้านบาทเศษ และหุ้นธนาคารทหารไทย รวมมูลค่า 5,056 ล้านบาท ให้กับนายพานทองแท้ บุตรชาย โดยนายพานทองแท้ ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถามแบบไม่มีดอกเบี้ย จำนวน 4 ฉบับ ประกันไว้ ซึ่งพยานได้บอกกับนายพานทองแท้ว่าไม่ต้องรีบชำระค่าหุ้น มีเงินเมื่อไรแล้วค่อยมาจ่าย โดยนายพานทองแท้ ผ่อนชำระเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 26 มกราคม 2549 นายพานทองแท้จึงได้ชำระเงินครบถ้วน มีประเด็นน่าซักถามต่อดังนี้

1.1) ดังข่าวว่า 4,500 ล้านบาท เป็นค่าหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ของ ธ. ทหารไทย น่าจะถามว่า หุ้น ธ.ทหารไทย ที่ขายให้นายพานทองแท้ มีจำนวนกี่หุ้น ขายที่ราคาหุ้นละเท่าไร? ซื้อมาที่ราคาเท่าไร? การขายนั้น เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์?

1.2) โดยนายพานทองแท้ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ทะเบียนหุ้นวันที่ 4 เมษายน 2544 จำนวนเพียง 150 ล้านหุ้น ในช่วงที่มีการซื้อขายนั้นมีราคาตลาดเพียง 5.60 – 6.00 บาท ทำไมนายพานทองแท้ ต้องซื้อที่ราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงินรวม 1,500 ล้านบาท? นายพานทองแท้ ได้ตัดสินใจเองเยี่ยงผู้บรรลุนิติภาวะได้หรือไม่?



1.3) ในช่วงนั้น ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในอัตรา 1 หุ้นเดิม 2 ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วย โดยแต่ละหน่วยสามารถซื้อหุ้นบุริมสิทธิหมวด ข. จากกระทรวงการคลังได้ 1 หุ้น ในราคาการใช้สิทธิ 10.85 บาท ภายในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2546 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือหญิงอ้อได้ใบสำคัญแสดงสิทธิ์มาฟรีๆ แต่ขายให้ลูกเป็นเงินอีก 3,000 ล้านบาทหรืออย่างไร? จึงรวมกับค่าหุ้นได้ 4,500 ล้านบาท? ทำไมนายพานทองแท้ต้องซื้อของฟรีจากพ่อหรือแม่ ในราคาถึง 3,000 ล้านบาท? ทั้งๆ ที่หากจะใช้สิทธิซื้อหุ้นบุริมสิทธิหมวด ข. จากกระทรวงการคลังจริง จะต้องใช้เงินอีก 3,255 ล้านบาท และในความเป็นจริง หลังจากนั้น ก็ไม่มีการใช้สิทธิ และสะท้อนว่า มูลค่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หมดอายุด้วยมูลค่าเป็นศูนย์ แต่ต้องจ่ายไป 3,000 ล้านบาท

1.4) หากเป็นการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์จริง ได้ชำระภาษีหรือไม่? ของต้นทุนศูนย์ ขายได้ราคา 3,000 ล้านบาท นั้นต้องมีภาระภาษีประมาณ 1,110 ล้านบาท หลีกเลี่ยงตั้งแต่ปี 2544 ไม่ทราบว่าต้องทบต้นค่าปรับกันเท่าไร? และหากจะ “ไม่ทราบ” อันเป็นการ “บกพร่องโดยสุจริต” อีกครั้ง ก็แปลก เพราะทุกรายการที่ซื้อขายนอกตลาดฯ มักจะทำกันที่ราคาพาร์ อันทำให้มักไม่มีภาระภาษีอยู่แล้ว

2. นอกจากนี้ พยานยังได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ซึ่งนายบรรณพจน์ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับให้ไว้เป็นประกัน โดยเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่ปี 2546 และชำระครบถ้วนเมื่อประมาณปี 2547 ซึ่งตั๋วสัญญาดังกล่าวพยานได้ส่งให้พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นแสดงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบด้วย มีประเด็นน่าสงสัยว่า

2.1) ในตั๋วสัญญา 3 ฉบับ มีฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2542 มีข้อความระบุว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 102,135,225 บาท ให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือไม่? เพราะนั่นคือใบที่ คตส. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในวันที่ 16 มีนาคม 2542 นางพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้ใช้คำนำนามว่า 'คุณหญิง' โดย นางพจมาน ชินวัตร เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า ในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2542 แสดงให้เห็นว่าในวันที่ 16 มีนาคม 2542 ที่มีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่ได้มีการทำตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำขึ้นมาภายหลัง เมื่อนางพจมาน ชินวัตร ได้ใช้คำนำนามว่า 'คุณหญิง'

2.2) หลังจากที่ คตส. จับพิรุธได้จากหลักฐานที่หญิงอ้อและคณะส่งให้ การที่ หญิงอ้อ จะให้การในภายหลังว่า “ตั๋วใบเดิมได้หายไปจึงออกตั๋วสัญญาฉบับใหม่ให้พยาน” ก็น่าคิดว่ารับฟังได้เพียงไร? หลักฐานเรื่องนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากมีการทำหลักฐานย้อนหลังเพื่อทดแทน (Back Dated) ทำไมไม่แจ้งต่อ คตส. ตั้งแต่ต้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

2.3) น่าแปลกใจที่หญิงอ้อใช้คำว่า “พยานยังได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกทำธุรกิจมาด้วยกันซึ่งนายบรรณพจน์ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับให้ไว้เป็นประกัน” ซึ่งน่าจะรวมตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับจำนวนเงิน 102,135,225 บาทนั้น ทั้งๆ ที่เป็นค่าจอง “หุ้นเพิ่มทุน” 6,809,015 หุ้นๆ ละ 15 บาท ซึ่งจัดสรรสำหรับผู้ถือหุ้นเดิมมิใช่หรือ? กล่าวคือ เป็นหุ้นสิทธิของนายบรรณพจน์ อยู่แล้ว มิใช่หรือ? ดังทะเบียนหุ้นวันที่ 10 เมษายน 2541 นายบรรณพจน์ ก็เป็นเจ้าของหุ้น 6,847,395 หุ้นอยู่แล้ว โดยในทะเบียนวันที่ 8 ตุลาคม 2540 นายบรรณพจน์ ก็เป็นเจ้าของ 2,347,395 หุ้นอยู่แล้ว และวันนั้น น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นเจ้าของ 6,000,000 หุ้น และต่อมาได้โอนให้นายบรรณพจน์ 4,500,000 หุ้น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ด้วยการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกรณีที่หญิงอ้อถูกพิพากษาลงโทษโอนผ่านตลาดหุ้นเป็นพฤติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษีไปแล้ว ทำให้นายบรรณพจน์มีหุ้นรวม 6,847,395 หุ้นในเวลาต่อมา โดยอธิบายว่า ให้โดยเสน่หา

ดังนั้น หญิงอ้อจะขายหุ้นสิทธินั้นของนายบรรณพจน์ให้นายบรรณพจน์อีกได้อย่างไร? หรือที่สุดแล้ว หุ้นที่โอนไปนั้น หญิงอ้อก็ยังเห็นว่าเป็นของตนเองอยู่นั่นเอง? 2.4) เคยมีข้อสังเกตว่า เศรษฐีอย่างนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เคยเป็นถึงระดับประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ มีหุ้นมูลค่าเป็นพันๆ ล้านบาท กลับไม่สามารถจองหุ้นตามสิทธิของตนด้วยเงินตนเองได้ แต่ใช้เงินหญิงอ้อจนถึงหลักเศษ 135,225 บาท ซึ่งแม้เศษๆ ดังกล่าว ก็ไม่ได้คืนเงินเลยกว่า 3-4 ปี จนได้รับเงินปันผลจากหุ้นชินฯ จึงชำระคืน มีคำอธิบายกับปรากฏการณ์นี้หรือไม่ ตั้งแต่มีนาคม 2542 ถึง 2546 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่มีเงินชำระหนี้แม้เศษๆ เหล่านี้เลยหรือ?

2.5) ที่หญิงอ้อกล่าวว่า เมื่อจ่ายคืนหนี้หมดแล้ว ก็ไม่จ่ายเงินคืนอีกเลย น่าศึกษาว่า เงินปันผลที่ได้ และเงินค่าขายที่ได้ของนายบรรณพจน์ นั้น ได้เข้าบัญชีที่นายบรรณพจน์รับจ่ายปรกติหรือไม่? หรือแยกไว้ต่างหาก? หากแยกไว้ แยกทำไม? เพราะเป็นวิธีการที่อาจทำให้เจ้าของที่แท้จริงเก็บสมุดบัญชีเล่มต่างหากนั้นได้ และอาจทำให้เห็นได้ว่า นายบรรณพจน์อาจไม่ใช่เจ้าของเงินปันผล หรือเงินค่าขายหุ้นนั้น และอาจไม่ได้ใช้จ่ายเงินจำนวนนั้นเลย ด้วยไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็เป็นได้

3. คุณหญิงพจมาน เบิกความว่า สำหรับบริษัทวินมาร์ค ที่ คตส.กล่าวหาว่า พยานและพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงแล้ว บริษัทวินมาร์ค มีนายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี มหาเศรษฐี ชาวตะวันออกกลาง ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรียลเอสเตท เพื่อนนักธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ และมาขอซื้อหุ้นจากพยานและพ.ต.ท.ทักษิณ มูลค่า 650 ล้านบาท เพื่อต้องการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานและพ.ต.ท.ทักษิณ จึงขายหุ้นให้ไปในราคาพาร์ ซึ่งไม่ทราบว่าบริษัทวินมาร์คจะถือครองหุ้นเป็นเวลานานเท่าใดก่อนที่จะขายหุ้นต่อให้กับ น.ส.พินทองทา

3.1) วินมาร์คซื้อหุ้นทั้งสิ้นกี่บริษัท? ตามข่าวนั้น มีถึง 6 บริษัท ทุกบริษัท ซื้อกันที่ราคาพาร์หรือ? นายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี ซื้อเหมาทุกหุ้นราคาเดียวกันที่พาร์เลยหรือ? หญิงอ้อน่าจะสามารถแสดงงบการเงินทุกบริษัทในช่วงนั้นได้หรือไม่? ตัวอย่างเช่น เวิร์ธ ซัพพลาย มีมูลค่าทางบัญชีหุ้นละ 7.3-7.4 บาท ปี 2543 ขาดทุน 118 ล้านบาท คิดเป็น 2.68 บาทต่อหุ้น ก็ขายที่ 10 บาท บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้ มีมูลค่าทางบัญชีหุ้นละ 5.5-5.7 บาท ปี 2543 ขาดทุน 13.6 ล้านบาท คิดเป็น 0.40 บาทต่อหุ้น ก็ขายที่ 10 บาท ผู้ถูกกล่าวหา น่าจะเอาหลักฐานงบการเงินมาชี้แจงประกอบเหตุผลในการกำหนดราคาแต่ละหุ้นด้วย

3.2) ทำไมบริษัทเดียวที่เข้าตลาดได้ คือ เอสซีแอสเสทฯ (SC) แต่วินมาร์คกลับขายออกไป 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน กลต. ให้กองทุน VAF และกองทุน VAF ถือหุ้นเพียง 3 สัปดาห์ ก็โอนออกไปขายให้กองทุน OGF และ ODF แล้ว โดยกองทุนทั้งสามคือ VAF, OGF และ ODF มีที่อยู่เดียวกัน?

3.3) สำนักงาน กลต. และดีเอสไอ สมัยท่านนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงในวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ได้กล่าวโทษแล้วว่า พบพยานหลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่า Win Mark VIF (หรือ VAF) OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของพ.ต.ท. ทักษิณ และภรรยา (การที่อัยการไม่ได้สั่งฟ้อง ก็มิใช่การตอบโต้ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่จริง แต่สำนวนกลับแสดงในลักษณะว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แสดงข้อมูลตามแบบแสดงรายการใหม่ หากมีหลักฐานว่าวินมาร์คไม่ใช่ของ พ.ต.ท. ทักษิณ และหญิงอ้อ แสดงออกมาก็ทำให้เห็นชัดง่ายกว่ามากนัก แต่กลับไม่ได้แสดงเช่นนั้น)

3.4) วันที่ 24 สิงหาคม 2544 UBS AG Singapore ได้ทำรายงาน 246-2 ต่อ กลต. เปิดเผยว่าได้รับหุ้นชินฯ มา 10 ล้านหุ้น รวมกับหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว 5,405,913 หุ้น เป็น 15,405,913 หุ้น คิดเป็น 5.24% ทำให้ต้องรายงานต่อ กลต. ซึ่งต่อมา กลต. ได้เคยแถลงข่าวชี้แจงช่วงต้นปี 2539 หุ้น 10 ล้านหุ้นเป็นของแอมเพิลริช และอีกประมาณ 5.4 ล้านหุ้นนั้น มีหลักฐานว่าเป็นของวินมาร์ค ดังแสดงในทะเบียนหุ้น UBS AG Singapore – Pledge A/C 121751 ซึ่ง คตส. เคยเปิดเผยว่า เป็นรหัสบัญชีของวินมาร์ค แสดงว่าแอมเพิลริชและวินมาร์ค เป็นของกลุ่มบุคคลเดียวกันตามกฎหมายหลักทรัพย์

4. หญิงอ้อได้ให้การเพิ่มเติมว่า “ส่วนที่มีข่าวว่าประเทศอังกฤษได้อายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 100,000 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทรัพย์สินในต่างประเทศ ซึ่งบ้านในประเทศอังกฤษมูลค่า 200 ล้านบาทนั้นเป็นของพยานเอง” แล้วการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เอาเงินจากไหน? การลงทุนเหมืองเพชร ใช้เงินจากไหน? และน่าจะให้หญิงอ้อได้ดูข่าว straitstimes ตามลิงก์นี้http://www.straitstimes.com/Breaking%2BNews/SE%2BAsia/Story/STIStory_318574.html ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่? แล้วหากเห็นว่าไม่ตรงข้อเท็จจริง จะฟ้องหมิ่นประมาท straitstimes หรือไม่? เพราะทำให้เสียหาย

นักข่าวก็น่าจะถามคำถามเหล่านี้ให้ความจริงกระจ่าง และหญิงอ้อน่าจะตอบในประเด็นเหล่านี้ทุกประเด็น หากชี้แจงได้ชัดเจน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อความสงบสุขของแผ่นดินครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น