xs
xsm
sm
md
lg

มองทักษิณ ผ่านคำวินิจฉัยของตุลาการ (1)

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

คำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นภาคแรกของตุลาการเสียงข้างน้อยอย่าง นายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 3 สิงหาคม 2544 เป็นเครื่องพิสูจน์อันดีว่า คำป้ายสีสถาบันเบื้องสูง และสถาบันตุลาการของนักโทษหนีคดี เป็นแค่เรื่องโกหกพกลม ทั้งยังเป็นหลักฐานยืนยันว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” และ “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง หนียังไงก็ไม่พ้น” 19 กันยาไม่ใช่จุดพลิกผันของระบอบทักษิณ แต่ระบอบเลือกจุดจบของตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่างเข้ามาในการเมืองไทยแล้ว

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในขณะนั้น มีมติด้วยเสียง 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจากการศึกษาคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้พบความจริงที่น่าสนใจหลายประการ

ประการแรก คำวินิจฉัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมละเมิดรัฐธรรมนูญของระบอบทักษิณ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 และ การป้ายสีว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีที่มาจากรัฐประหาร ก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้างในการหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงก็คือ นักการเมืองระบอบทักษิณพร้อมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต่อเมื่อเห็นว่าตนเป็นฝ่ายได้ และดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต่อเมื่อเห็นว่า เสียประโยชน์ โดยตอนหนึ่งคำวินิจฉัยคดีของนายประเสริฐ นาสกุล ระบุไว้เป็นตัวอย่างในคดีนี้ว่า

...ผู้ถูกร้อง (คุณทักษิณ ) โต้แย้งว่า ตนไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามรัฐธรรมนูญนี้ (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่คุณทักษิณรักนักรักหนา) โดยอ้างว่า ตนขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน และรัฐธรรมนูญนี้มิได้บัญญัติให้ผู้ถูกร้องต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน.. ขณะที่นายประเสริฐ ตุลาการเสียงข้างน้อย ได้ตอบข้อโต้แย้งว่า

...แม้ผู้ถูกร้องจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน แต่รัฐธรรมนูญนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มาตรา 317 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เป็นรองนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงอยู่ในบังคับตามรัฐธรรมนูญนี้ทุกประการ เพราะไม่มีบทยกเว้นไว้ คือ มีหน้าที่ตามหมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยื่นบัญชีฯ ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตามมาตรา 291 และมาตรา 292 …

ประการที่สอง คำวินิจฉัยดังกล่าว สะท้อนให้ว่า นักการเมืองบ้านเราไม่ได้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น แต่ก็มีปัญหา และคิดจะหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาแล้ว (ที่ปัจจุบันอ้างกันนักหนาว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด) ดังจะเห็นได้กรณีที่คำวินิจฉัยของอาจารย์ประเสริฐได้หยิบยกเนื้อหา ในรายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาอ้างอิงว่า

...พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเคยตั้งคำถามถามนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีสาระในหลายมาตรา หลายส่วน และหลายตอน ที่ผิดไปจากปรัชญาและอุดมการณ์ของประชาธิปไตย (แปลตามภาษานักการเมืองว่ายากต่อการปฏิบัติยุ่งยากหลบหลีกยาก ฯลฯ -ความเห็นผู้เขียน) น่าที่จะนำเอาสาระสำคัญต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขนั้นไปแก้ไขกัน การอภิปรายในรัฐสภาแห่งนี้จะนำมาซึ่งข้อยุติที่น่าจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแก้ไข เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป... คำวินิจฉัยเดียวกัน ได้อ้างเหตุผลของนายอานันท์ ปัญญาชุน ประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่มีต่อคำถามดังกล่าวว่า

...ข้อบกพร่องนั้นคงจะมีบ้าง แต่มิได้เกิดจากเจตนารมณ์ในทางที่ไม่ดี อาจจะก่อให้เกิดปัญหาบ้างเล็กน้อยในการตีความ การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลยนั้น จะไม่นำไปสู่ความยุ่งยาก และจะไม่นำไปสู่สิ่งต่างๆ ที่หลายคนกลัวเกรง นอกจากนี้เห็นว่า ในการตีความกฎหมายนั้น นอกจากจะใช้หลักการต่างๆ แล้ว จะต้องคำนึงถึงศีลธรรมของประชาชนด้วยทุกกรณี เพราะปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดจากคนไทยมุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ แต่ห่างเหินศีลธรรม ยิ่งเจริญทางวัตถุจะยิ่งไม่มีความสงบสุขทางจิตใจ เพราะมี “ความเห็นแก่ตัว” มากขึ้น และความเห็นแก่ตัวนี้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา ทั้งหมดของคน …

ประการที่สาม
ทำให้ทราบว่า ความผิดคดีหุ้นชินวัตรคอมพิวเตอร์ สำเร็จ และเป็นที่ประจักษ์มาก่อนที่จะมีรัฐประหาร 19 กันยาฯ เพียงแต่มีกระบวนการที่จะปกปิดไม่ให้มีการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจรัฐในมือ และการดำเนินคดีกับครอบครัวชินวัตร-ดามาพงษ์ในเวลาต่อมาก็เป็นการดำเนินไปตามข้อกฎหมาย ไม่มีปัจจัยเรื่อง 19 กันยาฯ มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยคำวินิจฉัยของอาจารย์ประเสริฐในปี 2544 ตอนหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตถึงทรัพย์สินในส่วนของคู่สมรสคุณทักษิณคือ นางพจมาน ชินวัตร ในขณะนั้นไว้แล้วว่า

...ผู้ถูกร้อง (คุณทักษิณ) อ้างข่าวประชาสัมพันธ์ 31/2544 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ว่า นางสาวบุญชูฯ นายชัยรัตน์ฯ นายมานัสฯ นางสาวดวงตาฯ และนายวิชัยฯ ถือหุ้นบริษัทต่างๆ แทนคู่สมรส ผู้ถูกร้องจริง สำหรับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย แต่การที่คู่สมรส ผู้ถูกร้องสั่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ให้นางสาวดวงตาฯ ขายหุ้นบริษัทชินฯ 4.5 ล้านหุ้นๆ ละ 164 บาท เป็นเงิน 738 ล้านบาท ให้แก่นายบรรณพจน์ฯ ซึ่งนายบรรณพจน์ฯ ยอมรับว่า ตนมิได้ซื้อหุ้นจำนวนนี้ หากแต่คู่สมรสผู้ถูกร้องแบ่งให้ (คำให้การต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 หน้า 5 หรือ 7387) อาจเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะนายบรรณพจน์ฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้ หากนายบรรณพจน์ฯ ไม่เสีย คู่สมรสผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ให้ต้องเป็นผู้เสีย เลขาธิการ ป.ป.ช. มีหนังสือที่ ปช. 0006/85 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ส่งหลักฐานการให้การของนายบรรณพจน์ฯ ตามคำขอของอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แต่ไม่ทราบว่า กรมสรรพากรจะมีคำตอบการเสียภาษีเงินได้รายนี้หรือไม่ อย่างไร

8 ปีต่อมา ข้อสังเกตของอาจารย์ประเสริฐได้รับการพิสูจน์ผ่านกระบวนการตัดสินของศาลอาญา เมื่อ 31 กรกฎาคม 2551 ที่สั่งจำคุก 2 ปี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการของคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่ารวม 738 ล้านบาทโดยความเท็จโดยฉ้อโกงใช้กลอุบาย เป็นความผิด และสั่งจำคุกจำเลยที่ 1-2 เพิ่มอีกคนละ 1 ปี ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37 (1)(2) ป.อาญา มาตรา 83, 91

ประการที่สี่ ข้อสงสัยเรื่องหุ้น นิติกรรมอำพรางกับกรณี Ample Rich และ Winmark ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งหลัง 19 กันยาฯ เช่นกัน แต่เรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงมานานแล้วและอาจจะต้องรอการพิสูจน์บนชั้นศาลต่อไป แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ดีเอสไอจะขุดเรื่องนี้ขึ้นมาทำ อย่างไรก็ดี อาจารย์ประเสริฐ เคยพูดถึง Ample Rich และ Winmark ว่า

กรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินฯ ที่ผู้ถูกร้องรายงานตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ฯ มาตรา 246 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง (แม้จะเกินกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีฯ แล้ว) ว่า ผู้ถูกร้องขาย 32,920,000 หุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ผู้อื่น คือ Ample Rich Investments Limited, 185 A Goldhill Centre 51, Thomson Road, Singapore 307629 (Correspondent Office) ซึ่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้น 100% (คงเหลือ 32,920,000 หุ้น) นั้น กระทำเพื่ออะไรหากมิใช่เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงมิให้บุคคลอื่นทราบว่าบริษัทฯ นี้คือผู้ถูกร้อง

อีกเรื่องหนึ่ง แม้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ถูกร้องไม่ต้องยื่นบัญชีฯ แล้ว เมื่อผู้ถูกร้องและ คู่สมรสขายหุ้นบริษัทเอส ซี เค เอสเทต จำกัด 3,549,980 หุ้น และ 2,000,000 หุ้นๆ ละ 10 บาท เป็นเงิน 55,499,800 บาท ให้กับบริษัท Win Mark Limited สัญชาติ British Virgin Island ในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ผู้ถูกร้องยืนยันว่า การโอนขายหุ้นนี้เป็นการขายหุ้นตามปกติ ไม่มีลักษณะการฟอกเงิน เพราะการโอนขายหุ้นนั้น แจ้งหลักฐานการเข้ามาถือหุ้นของบริษัทผู้ซื้อต่อสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัทแล้ว ทำให้เกิดปัญหาต้องสงสัยต่อไปว่า บริษัทผู้ซื้อใช้เงินสกุลใด มาจากที่ใด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ น่าเสียดายที่ผู้ถูกร้องมิได้อธิบายด้วย (หนังสือของผู้ถูกร้อง ลับ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)

ประการสุดท้าย ชัดเจนที่สุดว่า พฤติกรรมลบหลู่ดูหมิ่นไปจนกระทั่งถึงปองร้ายศาลเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ได้เพิ่งมีหลัง 19 กันยาฯ รัฐประหาร หรือตุลาการภิวัฒน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความชั่วร้ายเสมอต้นเสมอปลายของระบอบทักษิณ โดยคำวินิจฉัยระบุว่า

เมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่ เป็นการแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน
กำลังโหลดความคิดเห็น