xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “ศิโรตม์”-ความเห็นแย้งผิด ม.157

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง “ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์” และพวก คดีเลี่ยงเก็บภาษี “หญิงอ้อ” โดยเห็นว่าไม่มีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษี หรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่จำเลยทั้งห้าเป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น ขณะที่อธิบดีศาลอาญา มีความเห็นแย้งว่า พฤติกรรมการกระทำของ “ศิโรตม์-วิชัย” ชี้ให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่ “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” เพื่อมิต้องเสียภาษีมูลค่า 270 ล้านบาท จึงมีความผิดตาม ม.157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ อ.2953/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 57 ปี อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 44 ปี อดีตนิติกร 7 ว.เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลอาญา 154, 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีที่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม ทำให้รัฐได้รับความเสียหายที่ไม่จัดเก็บภาษีจำนวน 270 ล้านบาท

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้โอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้เป็นผู้ถือหุ้นแทน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้แก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายต่างมารดาโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งหุ้นจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นซึ่งคำนวณเป็นเงินพึงได้ตาม ม.39 และ 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรต้องเสียภาษีเป็นเงินประมาณ 270 ล้านบาทเศษ แต่ นายบรรณพจน์ กลับไม่เสียภาษี และไม่ได้แจ้งเรื่องการได้รับหุ้นให้กรมสรรพากรทราบ กระทั่งกรมสรรพากรมทราบเรื่องดังกล่าว จากผลของการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งที่ 98/2543 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2543 ซึ่งพิจารณารายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วมีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงกรมสรรพากรจึงมีหนังสือลับด่วนที่สุดลงวันที่ 28 ธ.ค.43 ขอข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ คู่สมรส และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งห้า จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 นั้น ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริต เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสียภาษี หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ซึ่งกระทำหรือไม่กระทำอย่างใด เพื่อไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง เป็นบทบัญญัติถึงผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรและเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร ทั้งเจตนาทุจริต ต้องมีในเฉพาะการเรียกเก็บ หรือละเว้นไม่เรียกเก็บ หรือกระทำหรือไม่กระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดนั้น เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งห้าแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรหรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่จำเลยทั้งห้าเป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น จำเลยทั้งห้า พิจารณาข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยทั้งห้า วินิจฉัยการตรวจสอบภาษีของนาย บรรณพจน์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากสำนักตรวจสอบภาษี กับพิจารณาตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร และแนวคำพิพากษาฎีกาอย่างพอมีเหตุผลที่รับฟังได้ ย่อมเป็นการวินิจฉัย และปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ความเห็นของจำเลยทั้งห้า จะไม่ตรงกับความเห็นของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.และความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งความเห็นของ คตส. ก็เป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างเท่านั้น นายสุชาติ วันเสี่ยน คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.พยานโจทก์ ก็ยอมรับว่า ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายย่อมมีการวินิจฉัยให้ความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ความเห็นทางกฎหมายของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่นๆ ย่อมที่ความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ ความเห็นที่แตกต่างแม้เป็นคนส่วนน้อยที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ทำให้ผู้มีความเห็นแตกต่างเป็นผู้ที่ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะมีหลายครั้งคนที่มีความเห็นเป็นส่วนน้อยในสมัยหนึ่ง แต่ต่อมาสังคม วัฒนธรรม หรือนโยบาย เปลี่ยนแปลงไป ความเห็นของคนส่วนน้อย กับเป็นความเห็นที่ได้รับการยอมรับของคนในยุคสมัยต่อมา เช่น การฮั้วประมูลในยุคหนึ่งถือว่าเป็นนโยบายทางธุรกิจ ไม่มีความผิด แต่ในปัจจุบันการฮั้วประมูล เป็นวิธีที่น่ารังเกียจและถือเป็นความผิดได้ ดังนั้น ความเห็นของจำเลยทั้งห้าในปัจจุบันอาจเป็นความเห็นที่ถูกต้องในอนาคตก็ได้

การจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้นั้นโดยตรง หรือตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆ เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงย่อมไม่มีความผิด และผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต หากเพียงแต่เล็งเห็นผลว่า จะเกิดความเสียหายที่ยังไม่เป็นความผิด และหากเห็นว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต ก็ต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตอย่างไร สำหรับกรณีเจตนาโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายนั้น คตส.มีความเห็นว่านายบรรณพจน์ มีภาระภาษีและต้องเสียภาษีพร้อมเงินเพิ่มเบี้ยปรับ และการยุติเรื่องของกรมสรรพากรในปี พ.ศ.2544 ไม่ถูกต้อง ความเห็นของ คตส.และความเห็นของ กรมสรรพากรจะถูกต้องหรือไม่ ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย เนื่องจากความเห็นของกรมสรรพากรยังไม่ยุติ กรมสรรพากรยังคงสามารถเรียกเก็บภาษีอากรได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อ คตส.ไม่มีอำนาจประเมินภาษี จึงได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อไป เห็นได้ว่าแม้สำนักกฎหมายโดยจำเลยทั้งห้ามีความเห็นแล้ว เรื่องดังกล่าวก็ไม่ยุติ และกรมสรรพากรก็ยังสามารถเรียกเก็บภาษีจาก นายบรรณพจน์ ได้ การกระทำดังกล่าวจึงย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร รัฐบาล หรือผู้ใด ส่วนกรณีเจตนาโดยทุจริตนั้นนายสุชาติ พยานโจทก์ก็ยอมรับว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจไม่พบว่าจำเลยทั้งห้า ได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการกระทำโดยทุจริตของจำเลยทั้งห้า และจำเลยทั้งห้า มิได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนลำดับ หรือ เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการให้สูงขึ้นผิดปกติ แต่ได้รับการเลื่อนขั้นตามหน้าที่ราชการปกติเท่านั้น ประกอบกับที่ คุณหญิงพจมาน ให้หุ้นแก่ นายบรรณพจน์ ในวันที่ 7 พ.ย.2540 นั้น ก็เป็นวันเดียวกันกับ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่าในเวลาต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีเห็นผลอะไรที่ข้าราชการกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้เรียกตรวจสอบภาษีของนายบรรณพจน์ จะแปลความเพื่อช่วยเหลือนายบรรณพจน์ ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกทั้งแม้ในขณะตอบข้อหารือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ในขณะนั้นก็มีหน่วยงานตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็ง รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เฝ้าดูการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือญาติ เป็นที่สนใจของประชาชน จำเลยทั้งห้า จึงต้องวินิจฉัยด้วยความระมัดระวัง เปิดเผย มีเหตุผล อย่างถูกต้องและเป็นธรรม จำเลยทั้งห้า ต้องดำเนินการตอบข้อหารือให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามแนวปฏิบัติมาตรฐานของกรมสรรพากร โดยไม่เป็นการเร่งรีบเพื่อช่วยเหลือผู้ใด อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเวลาตรวจสอบในเรื่องนี้เป็นเวลานาน ทั้งมีอำนาจหน้าที่เรียกเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกบุคคลมาให้ข้อมูล รวมทั้งสามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝากของบุคคลจากธนาคารได้ทุกแห่ง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถหาหลักฐานแสดงให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้า มีเงินรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ หรือพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบรรณพจน์ เพื่อเป็นการยืนยันให้ชัดเจนหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยทั้งห้า แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริตตามกฎหมายแต่อย่างใด สำหรับความหมายของคำว่าเจ้าพนักงานหมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นการแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการที่มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้

ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็น รองอธิบดีกรมสรรพากร ทำการแทน อธิบดีกรมสรรพากร ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นข้าราชการสำนักกฎหมายกรมสรรพากร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่วินิจฉัยไปแล้ว จำเลยทั้งห้า ไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษี หรือประเมินภาษีอากรโดยตรง ทั้งการตอบข้อหารือเป็นการให้การปรึกษาข้อกฎหมายที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ มีกฎหมาย ระเบียบอ้างอิง รวมทั้งได้ใช้แนวคำพิพากษาฎีกา ที่ใกล้เคียงมาเทียบเคียง ในการตีความกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้น จำเลยทั้งห้า ได้ตีความอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรยุคใหม่ การตีความตามประมวลรัษฎากร จะนำบทนิยามในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นมาใช้ตีความไม่ได้ เพราะมีเจตนารมณ์ต่างกัน ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4505/2533, 2398/2527, 1134/2542, 1680/2517, 573-4/2500 เป็นต้น นอกจากนี้ ภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความเห็นจำเลยทั้งห้า แล้วปรากฏว่า มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1214/2549 เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ สั่ง ณ วันที่ 29 ธ.ค.2549 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ 5/2550 เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ สั่ง ณ วันที่ 9 ม.ค.2550 ที่ไล่จำเลยทั้งห้า ออกจากราชการ เพราะเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ประธานกรรมการต้องส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นสอบสวนอีก ทั้งนี้ในการพิจารณาโทษทางวินัยของผู้ถูกกล่าวต้องถือสำนวนการสอบสวนรายงานและความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมาย และตามระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษทางวินัย สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง สำหรับในการลงโทษครั้งนี้ จำเลยทั้งห้า ได้อุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง ก.พ.ได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้า มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย ประกอบกับยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งแต่ประการใด จากพยานหลักฐานยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิด แต่เนื่องจาก ก.พ. ต้องรับฟังข้อเท็จจริง ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มีคำสั่งลดโทษของจำเลยทั้งห้า จากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 เรื่องลดโทษข้าราชการ สั่ง ณ วันที่ 12 พ.ค.2551 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ 246/2551 เรื่องลดโทษสั่ง ณ วันที่ 23 พ.ค.2551 แต่สำหรับศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 197 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายได้ที่บังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลดังกล่าว ดังนั้นศาลจึงสามารถใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ได้ตามพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226, 227 โดยไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิด ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล ดังนั้นจำเลยทั้งห้า จะมีความผิดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏอยู่ในสำนวนเท่านั้น จากพยานหลักฐานต่างๆ ของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้า มีเจตนาทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลับได้ความว่าจำเลยทั้งห้า ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มความสามารถตามหน้าที่ราชการโดยไม่มีเจตนาทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้า รับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง

ขณะที่ นายมานิต สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้รับมอบหมายจาก นายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตามคำสั่งศาลอาญาที่ 71/2551 ให้ทำหน้าที่ตรวจสำนวนและให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการพิพากษาคดี ของผู้พิพากษาคณะต่างๆ รวมถึงคณะที่พิพากษาคดีนี้ด้วย และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำการตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว มีความเห็นต่างจากความเห็นองค์คณะผู้พิพากษาในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(1) คำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าบุคคลใดก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว การจะรับฟังว่าบุคคลนั้นมีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้น เพียงมีข้อเท็จจริงรับฟังว่าผู้นั้นได้กระทำหรือละเว้นการกระทำการหนึ่งหารใดในหน้าที่เพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่จำต้องได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว

กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่าการเสนอความเห็นโดยเจ้าพนักงานของรัฐ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แล้วสมประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีใดบ้าง เห็นว่าหากเป็นการเสนอความเห็นหรืออกคำสั่งใดๆ ภายใต้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจจนเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมิได้เจตนาเพื่อให้เกิดการสมประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แม้ว่าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวจะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับประโยชน์ก็ตาม ก็ย่อมไม่เป็นความผิด ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเจตนาภายใน แนวการวินิจฉัยและการชั่งน้ำหนักต้องอาศัยความรู้สึกของวิญญูชน ความสมเหตุสมผล ตลอดจนพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามาประกอบการพิจารณา

คดีนี้ข้อเท็จจริงในส่วนที่รับฟังกันได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นรองอธิบดีกรมสรรพภากร รักษาราชการแทนอธิบดี จำเลยที่ 2 เป็นผอ.สำนักกฎหมาย ได้มีความเห็นว่าการที่นายบรรณพจน์ รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน มูลค่า 738 ล้านบาท ผู้รับโอนไม่ต้องเสียภาษีประมาณ 270 ล้านบาท จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นดังกล่าว เป็นการเสนอความเห็นโดยสุจริตภายใต้พื้นฐานของหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลในเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และมีพฤติการณ์ใดบ่งบอกไปในทางไม่สุจริตหรือไม่

จากการตรวจสำนวนอย่างละเอียดพบว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ประการแรกว่า เงินภาษีจำนวน 270 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ยุติเรื่องโดยจำเลยที่ 1 ขณะนั้นเป็นรองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดี และจำเลยที่ 2 เป็นผอ.สำนักกฎหมาย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่ง หรือเสนอความเห็นอย่างละเอียดรอบคอบ ยิ่งกว่าข้าราชการระดับปฏิบัติงาน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าเพียงแค่รับฟังความเห็นจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นข้าราชการระดับปฏิบัติงาน และมีความเห็นไม่ตรงกับ นายชาญยุทธ ปทุมรักษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง จำเลยที่ 1 กลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อสังเกตของนายชาญยุทธ ที่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ทบทวนเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผอ.สำนักกฎหมายควรจะต้องใช้วิจารณญาณให้ความสำคัญกับข้อสังเกตดังกล่าวด้วย แต่มิได้กระทำ

ประการที่สอง ภายหลังที่ นายชาญยุทธ มีความเห็นแตกต่าง ปรากฎว่า นายชาญยุทธซึ่งมีหน้าที่ดูแลประเด็นดังกล่าว และมีความอาวุโสสูงกว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แล้วมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายชาญยุทธ และภายหลังมาปฏิบัติหน้าที่แทนไม่กี่วัน ก็ได้ออกคำสั่งในประเด็นปัญหาดังกล่าวในฐานะรองอธิบดีรักษาราชการแทน โดยให้ยุติเรื่องซึ่งเป็นคำสั่งในเชิงบริหาร และเป็นคำสั่งที่เป็นคุณกับนายบรรณพจน์ และหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดี ในขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดี จึงเห็นว่าคำสั่งทั้งที่ให้นายชาญยุทธเป็นผู้ตรวจราชการ คำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดี และคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดี ล้วนแต่เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ

ประการที่สาม ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และกรณีก็ไม่ได้เร่งด่วน อีกทั้งมูลค่าทางภาษีที่เป็นปัญหาสูงถึง 270 ล้านบาท ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นก็เป็นเพียงผู้รักษาราชการแทนอธิบดี ความเห็นหรือคำสั่งใดๆของจำเลยที่ 1 ย่อมเปรียบเสมือนคำสั่งของอธิบดี ซึ่งการทำงานในฐานะรักษาราชการแทนโดยธรรมเนียมประเพณีผู้ทำหน้าที่นั้น จะไม่พึงเสนอความเห็นหรืออกคำสั่งใดๆที่เป็นเชิงนโยบาย หรือเรื่องที่มีความสำคัญจะพิจารณาเสนอความเห็น ออกคำสั่งในเฉพาะเรื่องเร่งด่วน หรือดำเนินการเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 สั่งเรื่องนี้อย่างรวดเร็วโดยให้เหตุผลสั้นๆว่า โดยธรรมชาติแล้วจำเลยที่ 1 เป็นคนทำงานเร็ว ใครเสนองานมาต้องรีบสั่งให้เสร็จในวันนั้น และเหตุที่ไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีพิจารณาเพราะว่าขณะนั้นไม่มีคนทำหน้าที่ในคณะกรรมการภาษี จึงเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล และ เป็นเรื่องที่วิญญูชนจะไม่พึงกระทำ เพราะการสั่งงานเร็วโดยธรรมชาติแล้ว งานนั้นต้องอยู่ในภาวะปกติไม่ใช่งานที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะการสั่งในฐานะรักษาราชการแทน และกรณีเรื่องของคณะกรรมการภาษีหากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ก็ชอบที่จะให้มีการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้กระทำเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุเป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง มีลักษณะงานเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงโดยตรง ก็ให้เหตุผลต่อกรณีที่ไม่เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการภาษีทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ให้เหตุผลสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการสั่งงานอย่างรวดเร็วว่าถ้าในวันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้สั่งเอง จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังจะเลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดี ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาสั่ง จึงเห็นว่าคำสางใดๆก็ตามใครจะเป็นผู้สั่ง สั่งเมื่อใด ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าผู้สั่งมีอำนาจหรือไม่ เนื้อหาคำสั่งสมเหตุสมผลหรือมีเจตนาพิเศษ มุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้คณะบุลคลใดโดยมิชอบหรือไม่ ช่วงเวลาที่สั่งมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวประเพณีปฏิบัติของทางราชการหรือไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้จึงปราศจากเหตุผล ไม่มีน้ำหนักที่จะนำมารับฟังได้

เมื่อนำเหตุผลทั้ง 3 ประการมารวมกันแล้วเห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้ง 2 ทำให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้กับนายบรรณพจน์ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 270 ล้านบาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายศิโรตม์ ได้หันมายิ้มแสดงความดีใจกับบุตรชาย ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย แต่นายศิโรตม์ที่จะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่ขอแสดงความคิดเห็น” เกี่ยวกับคำพิพากษา และความเห็นแย้งดังกล่าว

ด้าน นายนันทชัย อุกฤษณ์ ทนายความของ นายศิโรตม์ กล่าวว่า จะนำคำพิพากษาของศาลอาญาไปเสนอต่อศาลปกครองกลาง ในคดีที่ นายศิโรตม์ ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงการคลัง ที่มีมติให้ออกจากราชการตั้งแต่ปี 2549 โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้นายศิโรตม์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ ตั้งแต่ช่วงปี 2549- ปัจจุบัน ซึ่งคดีดังกล่าวยื่นฟ้องภายหลังที่คณะกรรมการพิจารณาอุทูธรณ์ลงโทษทางวินัยของก.พ. มีมติให้ลดโทษจากเดิมที่ไล่ออก เป็นปลดออกจากราชการ เมื่อประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาพยานหลักฐานของศาลปกครอง อย่างไรก็ดีนายศิโรตม์ขณะนี้มีอายุ 59 ปี ส่วนที่จะมีการดำเนินการตามกฎหมายฟ้องกลับ ป.ป.ช.หรือไม่ จะต้องหารือกันอีกครั้ง

ขณะที่อัยการเจ้าของสำนวนกล่าวว่า จะรายงานผลคำพิพากษาให้อัยการสูงสุด ส่วนจะใช้ดุลพินิจอุทธรณ์คดีหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ เพราะคดีเพิ่งจะตัดสินเสร็จ โดยมีกำหนดระยะอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน สำหรับบันทึกความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้นจะมีผลประกอบในการใช้ดุลพินิจ กรณีที่อัยการพิจารณาสั่งให้มีการอุทธรณ์คดี
นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร
นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร
กำลังโหลดความคิดเห็น