xs
xsm
sm
md
lg

“ศิโรตม์-วิชัย” ยังไม่พ้นคุก! อธิบดีศาลอาญามีความเห็นแย้ง ผิด ม.157

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์” และ “วิชัย จึงรักเกียรติ” ยังไม่พ้นคุก ล่าสุดอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีความเห็นแย้งคำพิพากษายกฟ้อง ระบุชัดมีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เพื่อที่จะมิต้องเสียภาษีคิดมูลค่าเป็นเงินประมาณ 270 ล้านบาท จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก หลังจากศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 57 ปี อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 44 ปี อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลอาญา 154, 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ภริยา ในการโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายต่างมารดาของคุณหญิงพจมาน และกลุ่มคนรับใช้ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

โดยองค์คณะผู้พิพากษาให้เหตุผลว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ในการหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้อำนาจในการพิจารณาข้อกฎหมายที่มีการเสนอขึ้นมาตามลำดับจากสำนักกฎหมาย นอกจากนั้น จำเลยยังไม่มีอำนาจในการเก็บภาษีดังกล่าว แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลว่าจำเลยมีความทั้งวินัยและอาญาก็เป็นดุลพินิจของ ป.ป.ช. ศาลไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้เป็นไปตามนั้น

อย่างไรก็ตาม หลังองค์คณะผู้พิพากษาได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยที่ 1-5 แล้ว ผู้พิพากษาก็ได้อ่านบันทึกความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีความหนาจำนวน 8 หน้า ให้จำเลยและผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาคดี ตามกฎหมายคดีนี้อัยการสามารถพิจารณายื่นอุทธรณ์คดีต่อไปได้

โดยบันทึกความเห็นแย้งระบุว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีบันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษาคดีนี้ โดยนายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้ทำหน้าที่ตรวจสำนวนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการพิพากษาคดี มีความเห็นว่าข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 2 เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา คำว่าทุจริต หมายความว่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบตามกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

การจะรับฟังว่าบุคคลนั้นมีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้น เพียงมีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้นั้นกระทำหรือละเว้นการกระทำการหนึ่งการใดในหน้าที่เพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่จำต้องได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว จึงมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้เคลือบแคลงข้อสงสัยในพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 หลายประการ ประการแรกเงินค่าภาษีที่เป็นประเด็นปัญหามีมูลค่าสูงประมาณ 270 ล้านบาท จำเลยที่ 1 ขณะออกคำสั่งให้ยุติเรื่อง มีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดีกรมสรรพากร เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งหรือเสนอความเห็นอย่างละเอียดรอบคอบยิ่งกว่าข้าราชการระดับปฏิบัติงาน แต่หาได้กระทำไม่โดยปราศจากเหตุผลที่ควรรับฟัง

และกรณีข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาสั่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญและกรณีก็มิได้เร่งด่วน อีกทั้งมูลค่าทางภาษีที่เป็นปัญหาก็มีมูลค่าสูงประมาณ 270 ล้าน ประกอบกับจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นก็อยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสรรพกร ความเห็นหรือคำสั่งใดๆ ของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นย่อมเปรียบเสมือนเป็นความเห็นหรือคำสั่งของอธิบดีซึ่งการทำงานในฐานะรักษาราชการแทน โดยธรรมเนียมประเพณีของการรักษาราชการแทน ผู้ทำหน้าที่รักษาราชการแทนจะไม่พึงเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใดๆ ที่เป็นเชิงนโยบายหรือเรื่องที่มีความสำคัญ จะพิจารณาหรือออกความเห็นหรือออกคำสั่งในเฉพาะเรื่องเร่งด่วนหรือดำเนินการแทนเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

การที่จำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วโดยให้เหตุผลสั้นๆ เพียงว่าโดยธรรมชาติแล้วจำเลยที่ 1 เป็นคนที่ทำงานเร็ว ใครเสนองานมาต้องรีบสั่งให้เสร็จในวันนั้น และเหตุที่ไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีพิจารณาก็ด้วยเหตุผลที่ว่าขณะนั้นไม่มีคนทำหน้าที่ในคณะกรรมภาษี ดังนี้เห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นข้อต่อสู้ซึ่งมิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลและเป็นเรื่องที่วิญญูชนจะไม่พึงกระทำ เพราะการสั่งงานเร็วโดยธรรมชาติแล้วงานนั้นต้องเป็นงานที่อยู่ในภาวะปกติ หาใช่งานที่มีลักษณะพิเศษ และโดยเฉพาะคำสั่งในฐานะผู้รักษาราชการแทน เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกรมสรรพากร ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารในระดับกลางและมีลักษณะงานเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรโดยตรง กลับให้เหตุผลเกี่ยวกับการที่ไม่เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการภาษีในทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และ 2 ในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นข้อต่อสู้ที่ปราศจากเหตุผลไม่มีน้ำหนักที่จะนำมารับฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ เห็นว่าพฤติกรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้งสอง ทำให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างก็มีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เพื่อที่จะมิต้องเสียภาษีคิดมูลค่าเป็นเงินประมาณ 270 ล้านบาท จำเลยที่ 1 และ2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร
น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว.
นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร
กำลังโหลดความคิดเห็น