xs
xsm
sm
md
lg

แจงกฎหมายให้อำนาจอธิบดีศาลเห็นแย้งคดียกฟ้อง “ศิโรตม์”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
“รองเลขาธิการศาลยุติธรรม” แจงธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อำนาจประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตรวจสำนวน หลัง “อธิบดีศาลอาญา” เห็นแย้งองค์คณะคดียกฟ้องอดีตอธิบดีสรรพกรไม่เก็บภาษีหุ้นชิน ชี้เป็นเรื่องปกติไม่ใช่การแทรกแซง

ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 27 ก.พ.52 นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงกรณีที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีบันทึกความเห็นแย้ง ท้ายสำนวน คดีที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวกรวม 5 คนซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กรณีงดเว้นการเก็บภาษีที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านบาท มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม ทำให้รัฐได้รับความเสียหายจำนวน 270 ล้านบาท ว่า ขั้นตอนการทำคำพิพากษา ปกติองค์คณะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเมื่อนั่งพิจารณาคดีแล้ว ก็จะมีคำพิพากษาตัดสินคดี โดยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.11 ได้ให้อำนาจประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ ดังนั้น กรณีที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีความเห็นแย้งองค์คณะจึงเป็นการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ

นายสราวุธกล่าวว่า การที่ผู้พิพากษามีความเห็นแตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้แต่ในองค์คณะเดียวกันอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้แต่ต้องยึดเสียงข้างมาก โดยตาม ป.วิแพ่ง ม.140 (2) บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งจะต้องทำโดยผู้พิพากษาหลายคน คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องบังคับตามความเห็นของฝ่ายของมาก ถ้าผู้พิพากษาคนใดมีความเห็นแย้งก็ให้ผู้พิพากษาคนนั้นเขียนใจความแห่งความเห็นแย้งของตนกลัดไว้ในสำนวนและจะแสดงเหตุแห่งข้อแย้งไว้ด้วยก็ได้ จึงแสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติไว้ใน ม.197 วรรคสอง อย่างแท้จริง

“ความเห็นของผู้พิพากษาไม่ได้เป็นเรื่องแปลก อย่างเช่นการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผู้พิพากษาแต่ละท่านก็มีความเห็นแตกต่างกันไปดูได้จากการเขียนคำพิพากษาส่วนตัว แต่ก็จะต้องยึดความเห็นเสียงข้างมากและเขียนคำพิพากษากลางขึ้นมา ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าระบบศาลมีการตรวจสอบการทำงานกันเองตลอดเวลา แม้ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าก็ไม่สามารถแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาขององค์คณะได้” รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น