xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญายกฟ้อง"5บิ๊กสรรพากร"คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป738 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์
ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง"ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์" อดีตอธิบดีสรรพากรกับพวก 5 คน คดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เก็บภาษี"พจมาน"โอนหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาทให้ "บรรณพจน์" เพราะไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า จำเลยมีเจตนาช่วยเหลือบุคคลทั้งสองเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้อำนาจในการพิจารณาข้อกฎหมายที่มีการเสนอขึ้นมาตามลำดับจากสำนักกฎหมาย ขณะที่ ป.ป.ช. ชี้ความผิดชัด “ศิโรตน์” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อาศัยดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความเป็นจริง ทั้งยังอนุมัติเรื่องเร่งด่วน

 

วันนี้ (26 ก.พ.) ศาลอาญามีคำพิพากษา ให้ยกฟ้องคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากรและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8และอดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ

ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา 154 และ 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (มหาชน)หรือชินคอร์ป 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน เมื่อปี 2540

สำหรับเหตุผลที่ศาลยกฟ้องนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า จำเลยมีเจตนาช่วยเหลือคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ในการหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้อำนาจในการพิจารณาข้อกฎหมายที่มีการเสนอขึ้นมาตามลำดับจากสำนักกฎหมาย

นอกจากนั้น จำเลยยังไม่มีอำนาจในการเก็บภาษีดังกล่าว แม้คดีดังกล่าวนี้ ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลว่าจำเลยมีความผิดทั้งวินัยและอาญา ถือเป็นดุลพินิจของ ป.ป.ช. ศาลไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้เป็นไปตามนั้น

สำหรับคดีดังกล่าว คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ว่า นายศิโรตม์และพวกรวม 5 คน เป็นเจ้าพนักงาน ละเว้นการไม่เก็บภาษี และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.154, 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ม.82 วรรค 3, ม. 85 วรรค 2 และ ม.98 วรรค 2

ทั้งนี้ ป.ป.ช. พบข้อเท็จจริงเรื่องการโอนหุ้นชินฯระหว่างนายบรรณพจน์ กับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขาย ได้เสียค่าธรรมเนียมแก่โบรกเกอร์ เป็นเงิน 7.38 ล้านบาท

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจริง เป็นเรื่องที่คุณหญิงพจมาน ให้หุ้นนายบรรณพจน์ ซึ่งกรณีนี้ กรมสรรพากร เห็นว่า การได้รับหุ้นดังกล่าวของนายบรรณพจน์ จากคุณหญิงพจมาน เป็นการได้รับหุ้นโดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามขนบธรรมเนียมประเพณี เข้าลักษณะเป็นการได้รับโดยอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา จึงไม่ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ข้อ คือ การโอนหุ้นดังกล่าว เข้าข้อยกเว้นไม่ต้อง เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ม.42 (10) หรือไม่ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จริงหรือไม่

จากนั้น ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมาย สรุปได้ว่า คุณหญิงพจมาน ไม่มีหน้าที่อุปการะนายบรรณพจน์ แต่ประการใด และนายบรรณพจน์ ได้เข้าไปช่วยเหลือในกิจการประกอบธุรกิจของคุณหญิงพจมาน จนกระทั่งมีฐานะมั่นคง นายบรรณพจน์ ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานดังกล่าว

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้ พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ประกอบคำพิพากษา ของศาลฎีกา ที่วินิจฉัยไว้เป็นแนวปฏิบัติหลายฎีกา ซึ่งเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นการอุปการะเลี้ยงดู หรือการให้โดยธรรมจรรยา

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้สอบสวนอดีตอธิบดีกรมสรรพากรคนหนึ่ง ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า กรณีพี่น้องเช่นนี้ ไม่มีหน้าที่ที่จะอุปการะเลี้ยงดูกันตามธรรมจรรยาแต่ประการใดทั้งสิ้น ส่วนการพิจารณาว่า เป็นการโอนหุ้นให้ตามวาระแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีหรือไม่นั้น ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว พบว่า มีการอ้างว่า ให้ในโอกาสแต่งงานของนายบรรณพจน์ หรือกรณีที่นายบรรณพจน์ มีบุตร

แต่ข้อเท็จจริง กลับปรากฏว่า นาย บรรณพจน์ จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2539 และมีบุตร เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2539 แต่การโอนหุ้นดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 อีกทั้งหากการโอนหุ้นดังกล่าวถ้ากระทำโดยสุจริตก็ควรจะเป็นการโอนหุ้นโดยธรรมดา แต่เรื่องนี้กลับมีการทำหลักฐานเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และเป็นหุ้นของบุคคลอื่นเพื่อเป็นการอำพราง ดังนั้น ป.ป.ช. จึงพิจารณาว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ม.42 (10)

ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง มีมติไล่ข้าราชการทั้ง 5 คนออกจากราชการ

กล่าวสำหรับคดีเลี่ยงภาษีของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ โดยการทำนิติกรรมอำพราง ใช้อุบายฉ้อโกง แจ้งข้อความ ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ นั้น บรรดาข้าราชการกรมสรรพากร ที่ร่วมกระทำผิด ได้ชดใช้กรรมวาระแรกที่เกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วโดยการถูกไล่ออกจากราชการ
       
       ข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากร 5 คน ที่ถูกไล่ออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 คือ
       
       1) นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งกระทำผิดในขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร
       2) นางสาวกุลฤดี แสงสายัณฑ์ นิติกร 7ว. (วิชาการ)
       3) นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ นิติกร 8 ว.
       4) นางสาวสุจินดา แสงชมภู นิติกร 9 ว.
       5) นายวิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในสมัยที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายกรมสรรพากร

       
             
กล่าวจำเพาะ นายศิโรตน์ นั้น ผลสอบของ ป.ป.ช. ระบุชัดว่า นายศิโรตม์ ขณะปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมสรรพากร อาศัยดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความเป็นจริง ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ทั้งยังลงนามอนุมัติเรื่องอย่างเร่งด่วนว่า กรณีดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี โดยได้รับเรื่องตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ในเย็นวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 2544 และเห็นชอบทันทีในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. 2544
       

กรณีการซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากจะมีการยื่นฟ้องข้าราชการกรมสรรพากรข้างต้นแล้ว ยังเป็นคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าตรวจสอบและอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พร้อมพวก อีกด้วย

คดีดังกล่าว ศาลอาญา อ่านพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ให้จำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ เป็นเวลา 3 ปี และจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน เป็นเวลา 2 ปี ในคดีจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

ศาลพิพากษาว่า จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว พยานโจทก์มั่นคง จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกระทำความผิดโดยฉ้อโกง หรีออุบาย เพื่อหลีกเลี่ยง ภาษีอากร ตามฟ้อง

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ยังร่วมกันแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังเป็นถึงภรรยาของผู้นำประเทศ ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แต่จำเลยกลับหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่เป็นธรรมต่อสังคม

การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการกระทำความผิดสถานหนักร้ายแรง พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร คนละ 2 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันจงใจแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ อีกคนละ 1 คน รวมจำคุก จำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น