xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” ซุกหุ้นภาค 3 จากศาลรัฐธรรมนูญถึงศาลยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ถ้าหากว่า “กรณีซุกหุ้นภาค 3” ซึ่งบัดนี้ได้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม มีคำพิพากษาออกมาแตกต่างจากเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมัยที่ นช.ทักษิณ ยังครองอำนาจอยู่ ก็น่าคิดว่าเหตุใดวิจารณญาณของ 2 ศาล จึงแตกต่างกัน

คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 76,000 ล้านบาท ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลจะอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ นอกจาก นช.ทักษิณ และครอบครัวจะต้องเคร่งเครียดอย่างหนักกับผลของคดีแล้ว ยังมีบางคนที่เคยเกี่ยวข้องกับคดีของ นช.ทักษิณ ในอดีตที่กำลังรอดูว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรด้วยใจระทึกเช่นกัน

บางคนที่ว่านี้ ก็คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่เป็นตุลาการเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้นของ นช.ทักษิณ ทั้ง 2 ภาค ซึ่งวินิจฉัยให้ยกคำร้อง ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ นช.ทักษิณ ลอยนวล อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทนี้ 1 ใน 2 ประเด็นหลักที่อัยการสูงสุด ฟ้องว่า นช.ทักษิณ ปกปิดทรัพย์สิน คือ หุ้นชินคอร์ป ที่ถือไว้ตลอดเวลาในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำบรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า

“เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดแจ้งว่า คตส.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบไต่สวนและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544 - มีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ ซึ่งเป็นการฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา มาตรา 119 และ 122 “

จะเรียกว่าเป็นคดีซุกหุ้น ภาค 3 ก็ได้
คดีซุกหุ้นภาค 1 นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 นช.ทักษิณ เพิ่งได้เป็นนายกใหม่ๆ คนไทยจำนวนมากยังเชื่อว่า คนรวยขนาดนี้ ไม่โกงหรอก และมอง นช.ทักษิณ เหมือนอัศวินม้าขาว ที่จะมาตีฟองสบู่ให้ฟูฟ่องอีกรอบหนึ่ง ก็เลยเอาใจช่วยให้หลุดจากคดี และก็สมใจอยาก เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 ว่า นช.ทักษิณ ไม่ได้ซุกหุ้น

ตุลาการเสียงข้างมาก 8 เสียง นี้ได้แก่ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายอนันต์ เกตุวงศ์ นายสุจินดา ยงสุนทร นายจุมพล ณ สงขลา และ พล.ท.จุล อติเรก

อีก 4 ปีต่อมา คณะ 28 ส.ว.นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นช. ทักษิณ สิ้นสุดลง เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 96, 209 และ 216 คราวนี้ ไม่ต้องลุ้นเลย เพราะวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ด้วยเหตุผลว่า คำร้องไม่ชัดเจน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 8 คน ที่ไม่รับคำร้อง เคยเป็นตุลาการในคดีซุกหุ้นภาค 4 คน คือ นายผัน จันทรปาน นายจุมพล ณ สงขลา นายศักดิ์ เตชาชาญ ทั้ง 3 คนนี้ ลงมติว่า นช.ทักษิณ ไม่ผิดในดคีซุกหุ้นภาค 1 อีกคนหนึ่งคือ นายอุระ หวังอ้อมกลาง ลงมติว่าผิด ตุลาการเสียงข้างมากอีก 4 คนคือ นายนพดล เฮงเจริญ นายมานิต วิทยาเต็ม นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ และ พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช ตุลาการเสียงข้างน้อย 6 คน ที่เห็นว่า ควรรับเรื่องไว้วินิจฉัย เป็นตุลาการในคดีซุกหุ้นภาคแรก 3 คนคือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ซึ่งลงมติว่า นช. ทักษิณ ไม่ผิดในครั้งนั้น นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ สองคนนี้ ลงมติว่า นช.ทักษิณ ผิดในคดีซุกหุ้นภาค 1 อีก 3 คน คือ นายจิระ บุญพจนสุนทร นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอภัย จันทนจุลกะ

ถ้าหากว่า กรณีซุกหุ้นภาค 3 ซึ่งบัดนี้ได้อยู่ในการพิจารณาคดีของ ศาลยุติธรรม มีคำพิพากษาออกมาแตกต่างจากเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมัยที่ นช. ทักษิณยังครองอำนาจอยู่ ก็น่าคิดว่า เหตุใด วิจารณญาณของ 2 ศาล จึงแตกต่างกัน

จากประเด็นที่ 1 นช.ทักษิณ ซุกหุ้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่า ไม่ได้ซุกก็จบ ไม่ต้องพิจารณาประเด็นที่สอง เรื่องการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และทำความเสียหายให้กับรัฐ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ซุกหุ้นก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่าระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี ควบคู่กับเป็นเจ้าของชินคอร์ปไปด้วย นช.ทักษิณ ได้ทำความเสียหายแก่รัฐอย่างไรบ้าง รวม 5 กรณี หนึ่งในนั้นก็คือ การแปลงสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งอัยการบรรบายฟ้องในเรื่องนี้ว่า

“ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหากระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก คือ

1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20-50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส”

นช.ทักษิณ ออกพระราชกำหนดนี้ 26 มกราคม 2546 โดยออกพ่วงมากับภาษีกิจการบันเทิง อาบอบนวด แข่งม้า และสนามกอล์ฟ ท่ามกลางการคัดค้านของนักวิชาการจำนวนมากว่าเป็นการเอื้อประโยชนืต่อธุรกิจของชินคอร์ป และปิดกั้นการแข่งขัน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การออก พรก.ดังกล่าว ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภาพ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ เพราะการออก พรก.ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และให้ออกได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการออก พรก.แก้ไขภีสรรพสามิต ไม่เข้าข่ายดังกล่าว

วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 นายกระมล ทองธรรมชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณาว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 เสียง เห็นว่า การออก พ.ร.ก. ดังกล่าว ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า “การเก็บภาษีดังกล่าวมีผลทำ ให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้น….ทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ” จึงถือว่าการออก พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายกระมลยังกล่าวว่า “การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำ วินิจฉัยว่ารัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก. ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำ นาจที่จะตรวจสอบเจตนาแฝงเร้นว่าเป็นการออก เพื่อกีดกันรายใหม่หรือไม่ หรือรัฐบาลจะสามารถเก็บรายได้ตามที่กล่าวอ้าง เพราะอำนาจตรวจสอบนี้ ป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร”

ในขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 6 เสียง เห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องคำ นึงถึงเงื่อนไขในส่วนความจำ เป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ด้วย และภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมเป็นเพียงการโอนรายได้สัมปทานที่รัฐพึงได้รับอยู่แล้ว รวมทั้งรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และมีความเข้มแข็งมากแล้ว จึงไม่มีความจำ เป็นเร่งด่วน

มุมมองวิจารณญาณของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง จะแตกต่างจากศาลรับธรรมนูญหรือไม่ คำตอบมีอยู่แล้วในคำพิพากษาที่จะออกมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น