xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปการตรวจสอบการเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิโรจน์ เลาหะพันธุ์
ผู้จัดการออนไลน์ – บทสรุปการตรวจสอบการเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ โดย ศ. วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ อดีต คตส. ที่กลั่นออกมาเป็นบทความทางวิชาการเรื่อง “ความทุกข์ของแผ่นดิน” ชี้ให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขความเสียหายของแผ่นดินที่ต้องยุติลงด้วยความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษี ทำให้รัฐต้องสูญเสียภาษีเงินได้ 546 ล้านบาท ทั้งที่เรื่องดังกล่าวสามารถให้ศาลภาษีอากรและศาลฏีกาวินิจฉัยต่อไปได้

ภายหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าบริหารประเทศ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการโอนให้หุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่มีชื่อของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ถือกรรมสิทธิ์แทน ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมและค่านายหน้าเป็นการซื้อขายหุ้นระหว่างนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ รวมเป็นเงิน ๗.๓๘ ล้านบาท แต่ผู้รับหุ้นไม่ได้เสียภาษีเงินได้

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำการยึดอำนาจการปกครองจากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงมีการพิจารณาเรื่องการซื้อขายหุ้นนี้ว่ามีภาระภาษีหรือไม่

คณะกรรมการตรวจสอบได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบได้ทำการตรวจสอบเอกสาร หลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า กรณีการโอนหุ้นระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้ให้ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้รับให้ ผู้รับให้มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้ จึงได้แจ้งให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการ หาทางเรียกเก็บภาษีจากการรับให้หุ้นให้ถูกต้องครบถ้วน

ในการดำเนินการเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการรับให้หุ้น กรมสรรพากรได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากร ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อดำเนินการเรียกเก็บภาษี ซึ่งที่ประชุมของข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรก็มีความเห็นว่า กรมสรรพากรสามารถดำเนินการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๘ ได้เพราะยังไม่ขาดอายุความ

การเรียกเก็บภาษีนี้เป็นการกระทำเพื่อนำเงินภาษีที่รัฐต้องเสียหายเนื่องจากไม่มีการเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บไว้ไม่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในการพิจารณาของ คตส. กรมสรรพากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้แทนกรมสรรพากร ทุกฝ่ายต่างมีความเห็นว่า การที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับหุ้นฟรีจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินได้ประเภทใดตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐ เมื่อไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๔๒ แล้ว นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก็ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีที่ได้รับหุ้นนั้น

ตามข้อเท็จจริงกรณีนี้ การได้มาซึ่งพยานหลักฐานในการคำนวณภาษีกำหนดให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้แตกต่างจากกรณีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๖๗/๒๕๔๑ เพราะการประเมินเรียกเก็บภาษีตามคำพิพากษาดังกล่าวนี้ กรมสรรพากรได้ออกหมายเรียกตรวจสอบผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีรายหนึ่ง แต่ปรากฏมีข้อมูลพาดพิงถึงผู้เสียภาษีอีกรายหนึ่งว่ามีเงินได้

ดังนั้นกรมสรรพากรจึงประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีรายที่ถูกพาดพิงนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการได้ข้อมูลจากการตรวจสอบของอีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา ๒๐ แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ ออกหมายเรียกให้ผู้เสียภาษีรายนั้นมาพบเพื่อทำการไต่สวน และตรวจสอบบัญชีเอกสารก่อน การประเมินจึงไม่ชอบเนื่องจากเป็นการประเมินที่ต้องออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ ก่อน แต่กรมสรรพากรไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้

แต่ในกรณีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นี้ ได้ปรากฏว่ามีคำวินิจฉัย ที่ ๒๐/๒๕๔๔ ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๗๗ ก ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๔ แสดง ถ้อยคำและข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ เป็นกิจกรรมความเป็นไปของบ้านเมือง ดังนั้นจึงใช้อ้างอิงเป็นพยานในการพิจารณาของเจ้าพนักงานได้

การพิจารณาว่าการซื้อขายหุ้น หรือการให้และรับให้หุ้น ควรจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ควรจะฟังข้ออ้างจากข้ออ้างของนายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เนื่องจากทั้งสองได้ให้ถ้อยคำไว้กับบุคคลหลายครั้ง แตกต่างกัน ทั้งนี้ตามแต่จะใช้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนอย่างไร เพราะในครั้งแรกทำหลักฐานการซื้อขายหุ้นกันยอมเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง ๗.๓๘ ล้านบาท แทนที่จะต้องเสียภาษี ๒๗๓.๐๖ ล้านบาท
 
 เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้ ต่อมาได้ตรวจสอบพบโดย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอาจทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สิ้นไว้ไม่ถูกต้อง ก็อ้างว่าไม่ใช่เป็นการซื้อขายแต่เป็นการยกให้หุ้นแก่กัน เนื่องจาก นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ได้ลาออกจากงานที่ อ.ต.ก.มาช่วยทำงานจนบริษัทมั่นคง

ครั้นเมื่อถูกตรวจสอบโดย กรมสรรพากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีเพราะเป็นการได้รับหุ้นฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ก็หาข้ออ้างต่อไปว่าการให้หุ้นโดยเสน่หาเนื่องจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ได้แต่งงาน และมีบุตรอายุครบหนึ่งปี

แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร กรรมการบางท่านกลับเห็นว่านายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรเป็นหุ้นส่วนกัน และเห็นว่าเป็นการให้หุ้นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ร่วมดำเนินธุรกิจซึ่งไม่เคยมีใครพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเอง

กรณีนี้เห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการอำพรางนิติกรรมยกให้หุ้นระหว่างกัน ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายหุ้นจึงเป็นโมฆะ และนายบรรณพจน์กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตรก็ไม่ได้อ้างนิติกรรมซื้อขายกันอีกเลย จึงสรุปได้ว่านิติกรรมนี้เป็นการให้

สำหรับสาเหตุของการให้หุ้นกันจะเป็นเพราะเหตุใดนั้น ต้องพิจารณาต่อไปว่า การอ้างว่าเป็นการให้หุ้นเนื่องจากนายบรรณพจน์ช่วยกิจการของครอบครัว เพื่อประโยชน์ในชั้นพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงรายการทรัพย์สินไม่ถูกต้อง โดยที่สุดทำให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการอ้างในชั้นแรกและผู้อ้างได้รับประโยชน์จากการอ้างดังกล่าวไปแล้ว

ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบโดยกรมสรรพากร กลับอ้างเหตุแตกต่างออกไปว่าเป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์แต่งงาน และมีบุตรอายุครบหนึ่งปี ก็เพื่อประโยชน์ในเรื่องการยกเว้นภาษี ทั้งที่วันที่ยกให้หุ้นก็ห่างจากวันที่นายบรรณพจน์แต่งงานร่วมสองปี และไม่ใช่วันที่บุตรอายุครบหนึ่งปีด้วย การอ้างเหตุยกให้หุ้นในครั้งหลังจึงไม่สมควรรับฟังในการพิจารณา

ในการตรวจสอบหรือพิจารณาของเจ้าหน้าที่นั้น หากจะพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตนเอง เช่น การตรวจสอบภาษีจะรับฟังเฉพาะเรื่องของภาษีโดยไม่พิจารณาเหตุที่มาที่ไปของเรื่องราวจะทำให้ข้อเท็จจริงบิดเบือนไป

การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นไปตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๕ ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบ สามารถดำเนินการ

(๑) ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๒) ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๓) ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๔) ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

โดยการตรวจสอบการเสียภาษีอากรของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบ เห็นว่านายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กระทำการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการหลีกเลี่ยงประมวลรัษฎากร อันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ตาม (๔)

ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) จึงมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบการเสียภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบก็ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายต่าง ๆ เป็นอย่างดี ไม่ได้ดำเนินการโดยมีอคติกับผู้หนึ่งผู้ใด การตรวจสอบได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย จากพยานเอกสารและพยานบุคคลที่ปรากฏ และได้ให้ความเป็นธรรมกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แล้ว

เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับหุ้นจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ตามกฎหมายถือว่ามีเงินได้และต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร แต่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่ได้นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

ดังนั้นคณะกรรมการตรวจสอบ จึงส่งเรื่องให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรรับไปดำเนินการต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๙

การที่คณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรรับไปดำเนินการต่อ และการที่กรมสรรพากร ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีตามกฎหมาย เมื่อได้รับหนังสือจากคณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) ก็ได้มอบหมายให้สำนักตรวจสอบภาษีกลาง สำนักกฎหมาย และสำนักคดีภาษีอากร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องภาษีอากร ร่วมกันพิจารณาว่ากรมสรรพากรจะใช้อำนาจประเมินภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้หรือไม่

ซึ่งทั้งสามหน่วยงานก็ได้พิจารณาความเห็นเสนอกรมสรรพากร โดยคณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) ไม่ได้บีบบังคับให้กรมสรรพากรต้องดำเนินการตามความเห็นของ คตส. กรมสรรพากรมีอำนาจตามกฎหมายและมีอิสระในการพิจารณาว่าจะดำเนินการประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ด้วยวิธีใดก็ได้ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น ก่อนที่จะดำเนินการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้ กรมสรรพากรได้ให้ที่ประชุมคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ซึ่งประกอบด้วยอธิบดี ที่ปรึกษาฯ และรองอธิบดี ร่วมกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงมีมติที่ประชุมให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ตามหมวด ๒ ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน มาตรา ๑๘, ๑๘ ทวิ, ๒๐, ๒๑, ๒๔, ๒๕

เนื่องจากการประเมินเรียกเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นไปตามมาตรา ๑๘, ๑๘ ทวิ, ๒๐, ๒๑, ๒๔ หรือ ๒๕ ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีอำนาจในการเรียกเก็บภาษีได้ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ซึ่งเป็นอายุความในการเรียกเอาหนี้ภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙/๓๑

การประเมินตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการประเมินภาษีขั้นต้นจากการวิเคราะห์แบบแสดงรายการที่ผู้เสียภาษียื่น โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถประเมินจากรายการที่ยื่น ไม่ว่าจะเป็น รายการเงินได้ รายการค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อน และวิธีการคำนวณภาษี โดยหากปรากฏว่าผู้เสียภาษียื่นแบบเสียภาษี
โดยกรอกรายการเงินได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน หรือคำนวณภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานก็ทำการประเมินให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีเพิ่มเติมได้

การประเมินตามมาตรา ๑๘ นี้ ไม่มีเบี้ยปรับที่ต้องชำระเพิ่มเติม แต่จะมีเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑.๕ ของภาษีที่ชำระไว้ขาด ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้เสียภาษีจะต้องรับผิดชำระเพิ่มเติมด้วย โดยเงินเพิ่มมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการเสียภาษีล่าช้า

การประเมินตามมาตรา ๒๐ หรือ ๒๔ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ต้องมีขั้นตอนในการตรวจสอบและไต่สวนก่อน โดยเจ้าพนักงานประเมินต้องทำการออกหมายเรียกตาม มาตรา ๑๙ ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการ หรือมาตรา ๒๓ ให้ผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ มาพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อ ทำการไต่สวน และส่งมอบบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ข้อเท็จจริงแล้ว จึงประเมินภาษีที่ผู้ยื่นรายการจะต้องเสียเพิ่มเติม

การประเมินโดยวิธีตามมาตรา ๒๐ หรือ ๒๔ นี้จึงจะมีเบี้ยปรับอีกหนึ่งหรือสองเท่าของภาษีที่ต้องชำระ และยังต้องเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑.๕ ของภาษีที่ชำระไว้ขาด ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร อีกด้วย

แต่เนื่องจากการประเมินตามมาตรา ๑๘, ๒๐ หรือ ๒๔ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการบังคับว่าเจ้าพนักงานจะต้องใช้อำนาจประเมินภาษีตามมาตราใดก่อนหลัง อำนาจการประเมินเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะเลือกใช้ หากเห็นว่าสามารถคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยพิจารณาจากข้อมูลตามแบบแสดงรายการ หรือข้อมูลที่ปรากฏอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เจ้าพนักงานก็สามารถประเมินโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๘ ได้โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๓ เพื่อให้ผู้เสียภาษีมาพบเพื่อทำการไต่สวน และส่งมอบเอกสารหลักฐาน

ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๖๖๖๗/๒๕๔๑ เหตุที่จะมีการประเมินเริ่มต้นจากการตรวจสอบพบว่าแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนางกิตติยาไม่ถูกต้อง จึงได้ออกหมายเรียกนางกิตติยาพร้อมทั้งสามี นายกฤษณะ และนายธเนศ มาตรวจสอบไต่สวนแล้วเชื่อว่านายอุดมยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง จึงได้ประเมินภาษี

ศาลฎีกาเห็นว่าการประเมินดังกล่าวจึงมิได้ประเมินจากรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี ๒๕๒๘ ของนายอุดม ที่ยื่นไว้ เพราะการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี ๒๕๒๘ ของนายอุดมตามเอกสารมิได้ระบุเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านและตึกแถวซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวุฒากาศ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มายื่นเสียภาษีไว้ด้วย การประเมินของเจ้าพนักงานจึงมิใช่เป็นการประเมินตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง

ตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ ที่มาของการประเมินศาลเห็นว่าเกิดจากการตรวจสอบภาษีอากรของนางกิตติยา และบุคคลอื่น เจ้าพนักงานจึงเชื่อว่านายอุดมยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง และทำการประเมินเรียกเก็บภาษี การกระทำดังกล่าวเป็นการประเมินตามมาตรา ๒๐ จึงต้องมีการออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ ก่อน เมื่อมิได้มีการออกหมายเรียกมาทำการตรวจสอบไต่สวน การประเมินจึงไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

แต่หากการคำนวณภาษีมีข้อเท็จจริงที่ต้องทำการไต่สวนจากผู้ยื่นแบบแสดงรายการหรือต้องตรวจสอบจากบัญชี เอกสาร หลักฐานก่อน เจ้าพนักงานประเมินจึงจะทราบจำนวนภาษีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการจะต้องชำระ และเอกสารหลักฐานนั้นไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานมีอยู่ในทางราชการ เจ้าพนักงานจะต้องอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙ สั่งให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการมาพบเพื่อให้ถ้อยคำ และส่งมอบบัญชีเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบ
 
และเมื่อได้ความจริงหรือข้อเท็จจริงที่เพียงพอจะทำการคำนวณภาษีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการต้องชำระแล้ว จึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีโดยอาศัยประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๐ พร้อมทั้งเรียกเก็บเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของภาษีที่ต้องชำระด้วย โดยเจ้าพนักงานไม่ต้องใช้อำนาจประเมินตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลรัษฎากรก่อนก็ได้

การพยายามเรียกเก็บภาษี ความพยายามแก้ไขความเสียหายของแผ่นดินตามที่กล่าวมาข้องต้น ต้องมายุติไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากความเห็นของกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพียงสองในสามคน ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียภาษีเงินได้จำนวน ๕๔๖,๑๒๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ เรื่องนี้สามารถให้ศาลภาษีอากร และศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้ แต่น่าเสียดายที่เรื่องต้องจบลงก่อนถึงศาลโดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากการพิจารณาว่าหลักกฎหมายในเรื่องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีนั้นถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนหรือไม่อย่างไร

นี้คือความทุกข์ของแผ่นดิน ...
กำลังโหลดความคิดเห็น