xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนคำฟ้อง “พจมาน” เลี่ยงภาษีชินฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คำฟ้องคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ ยืนยันการกระทำความผิดของ “นายบรรณพจน์-คุณหญิงพจมาน-นางกาญจนาภา” 3 จำเลย

สำหรับคำฟ้องฉบับย่อในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาทจากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

คำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้ง 3 ได้บังอาจร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยใช้อุบายว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน)หรือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี หรือนางดวงตา ประมูลเรือง เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนถือการครอบครองแทน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 164 บาท รวมมูลค่าประมาณ 738 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 และเป็นพนักงานบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ โดยผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในชื่อของ น.ส.ดวงตา ที่เปิดบัญชีไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ จำกัด หรือบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทหลักทรัพท์ เมอร์ริน ลินช์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายหน้าหรือโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่านายหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทตัวแทนนายหน้า โดยต้องเสียค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินฝ่ายละ 3,690,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,380,000 บาท

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. 40 จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ลงวันที่ 12 พ.ย. 40 จำนวน 741,690,000 บาท จากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน ชำระค่าซื้อหุ้นให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทรฯ แล้วบริษัทดังกล่าวได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนวิทยุ ลงวันที่ 12 พ.ย. 40 สั่งจ่ายเงิน 734,310,000 ล้านบาท เป็นเงินค่าขายหุ้น ภายหลังหักค่าตัวแทนนายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ น.ส.ดวงตา ซึ่งเป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน

ต่อมาจำเลยที่ 2 และ 3 ได้ร่วมกันนำเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ระบุชื่อ น.ส.ดวงตา ฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน เพื่อเรียกเก็บเงิน และเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ในวันที่ 12 พ.ย. 40

การกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23)

ความจริงแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเลขาฯ ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้ง 3 ได้ร่วมกันทำอุบายโอนหุ้นดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ให้แก่ น.ส.ดวงตาเป็นผู้ถือครองแทน และดำเนินการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในนามของ น.ส.ดวงตา แล้วร่วมกันทำทีเป็นว่าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้าดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เจ้าของหลักทรัพย์ เป็นผู้ชำระราคาและรับราคาค่าหลักทรัพย์ไว้เองโดยยินยอมจ่ายค่าตัวแทนนายหน้า เพื่อแสดงว่าเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่มิต้องนำเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การกระทำดังกล่าวเป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้ จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์คือหุ้นบริษัทดังกล่าวมูลค่า 4.5 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 164 บาท มูลค่าประมาณ 738 ล้านบาท มารวมคำนวณเป็นรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 เป็นเงิน 273,060,000 บาท

ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. 41 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) ประจำปีภาษี 2540 พร้อมกับนางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยา ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ว่าในปี 2540 จำเลยที่ 1 มีเงินได้จากการจ้างแรงงานและจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงาน และมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลเครดิตเงินปันผล รวมเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเป็นเงินเพียง 23,318,411.53 บาท อัตราภาษีร้อยละ 37 รวมภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเป็นเงิน 8,192,812.27 บาท โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินหรือเงินได้จำนวน 738 ล้านบาท มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ภงด. จำนวน 273,060,000 บาท

ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค.-30 ส.ค.44 จำเลยที่ 1 และ 2 โดยรู้อยู่แล้ว โดยจงใจ ได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต่อนาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฎ์ และนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกรมสรรพากร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถามเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 44 มีสาระสำคัญว่า การซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 40 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท รวม 738 ล้านบาท เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนในตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ

จำเลยที่ 1 ยังให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 44 มีสาระสำคัญว่า เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือกิจการงานของจำเลยที่ 2 จนกิจการมีความเจริญก้าวหน้า จนกระทั่งเมื่อปี 2538 จำเลยที่ 2 สนับสนุนให้มีครอบครัวเพื่อความเป็นปึกแผ่น และปลายปี 2540 จำเลยที่ 2 ดำริจะมอบของขวัญให้แก่บุตรชายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอายุครบ 1 ปี เป็นหุ้น จึงได้มอบหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นดังกล่าวเป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรชาย โดยไม่ต้องทำสิ่งใดเป็นการตอบแทน และมิได้มีข้อผูกพันหรือสัญญาที่ต้องกระทำสิ่งใดเป็นการตอบแทน จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณี และธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 44 มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาซึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูส่งเสียให้การศึกษา จำเลยที่ 1 เข้ามาช่วยเหลือช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก เห็นว่าจำเลยที่ 1 ควรมีครอบครัว จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 2539 ให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวดามาพงศ์ เมื่อมีครอบครัวควรมีทรัพย์สินที่มั่นคง จึงตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน แต่มอบให้ไม่ทันเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานในทางการเมือง จึงจำเป็นต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จสิ้นก่อน

เมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตรชายเกิดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 39 จะมีอายุครบ 1 ปี การดำเนินการต่างๆ ด้านบริหารจัดการเสร็จสิ้นลง จึงยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 7 พ.ย. 40 เป็นของขวัญ โดยเห็นว่าอยู่ในฐานะและวิสัยที่พึงให้แก่บุคคลในครอบครัวได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และครอบครัวมีทรัพย์สินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหุ้นที่โอนเป็นหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่ให้ น.ส.ดวงตา เป็นผู้ถือหุ้นแทน และอยู่ในพอร์ตที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

โดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า ข้อความที่ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำนั้น เป็นข้อความเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรเชื่อว่าการโอนหุ้นดังกล่าว เป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความจริงแล้วเป็นการให้เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้ครอบครัวของจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับการให้ จะต้องนำหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 4.5 ล้านหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาทมาแสดงเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี

การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าว เพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ และโดยการฉ้อโกง โดยอุบายของจำเลยทั้ง 2 เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้อันควรได้ไปเป็นเงินภาษีอากรจำนวน 273,060,000 บาท และเป็นเงินเพิ่มจำนวน 273,060,000 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 546,120,000 บาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบมูลคดีแล้ว จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่จำเลยทั้ง 3 ทราบโดยชอบแล้ว จำเลยทั้ง 3 ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ คตส.จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร นั่งลุ้นฟังคำพิพากษา คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

ลูก และสามี พ.ต.ท.ทักษิณ มาให้กำลังใจและรอลุ้นระทึกฟังคำตัดสินของศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น