xs
xsm
sm
md
lg

ปัจฉิมบทพันธกิจ คตส. (3) เปิดสำนวนไต่สวนมัดแก๊งหญิงอ้อจงใจโกงภาษีชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ผู้จัดการออนไลน์ – เปิดสำนวนไต่สวนคตส.มัด “หญิงอ้อ” – บรรณพจน์ จงใจโกงภาษีกว่า 543 ล้านบาท ชี้ชัดร่วมกันกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คดีการหลีกเลี่ยงภาษีชินฯ ที่ศาลนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 546 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจการสืบสวนคดีของ คตส.ประกาศ ตาม คปค.ฉบับที่ 30 นั้น

ตามรายงานสรุปผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นสำนวนคดีของคตส.ที่ส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีกรณีกล่าวหา นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวกกระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มีรายละเอียด ดังนี้

1. คณะกรรมการตรวจสอบ คตส. ได้คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 8/2549 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอคณะกรรมการตรวจสอบว่ามีมูลคดีที่น่าเชื่อหรือไม่ คณะอนุกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร พยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปสำนวนการตรวจสอบเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 10/2549 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ว่ามีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

คณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณาแล้วมีมติที่ประชุมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายบรรณพจน์ ดามา พงศ์ กับพวก กระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. 001/2549 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549

2. คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาอันประกอบด้วย (1) นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (2) คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (3) นางดวงตา ประมูลเรือง หรือ นางสาวดวงตา วงศ์ภักดี (4) นางกาญจนาภา หงษ์เหิน (5) นายวันชัย หงษ์เหิน (6) นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ทราบ และผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาครบถ้วนแล้ว คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนการไต่สวนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบในการประชุม ครั้งที่ 9/2550 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 และคณะกรรมการตรวจสอบ มีความเห็นว่า

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เมื่อระหว่างวันที่ 7 – 12 พฤศจิกายน 2540 ได้ร่วมกันกระทำการโอนหุ้น บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ได้ให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ถือหุ้นไว้แทน

โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น สั่งการให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ดำเนินการโอนด้วยวิธีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้กระทำการ โดยสั่งให้นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน พนักงานบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทน ขายหุ้นดังกล่าวและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โดยนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ลงชื่อเป็นลูกค้าในใบสรุปการซื้อหลักทรัพย์ และให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ลงชื่อเป็นผู้ขายในใบสรุปการขายหลักทรัพย์ และมีการรับจ่ายเงินการซื้อขายดังกล่าว ในวันที่ 12พฤศจิกายน 2540

ทั้งที่ ตามความจริงการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้นให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้าน เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกเป็นจำนวน 273,060,000 บาท

แต่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้ร่วมกันกระทำการอำพรางการให้เป็นการซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพียง 7.38 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อทำให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้ซื้อไม่มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23) และในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ไม่นำมูลค่าหุ้น 73.8 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด

การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

จากการตรวจสอบทางราชการ พบว่า การโอนหุ้นดังกล่าวไม่ใช่การซื้อขายกันจริงในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เป็นกรณีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้หุ้นแก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2544
 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ร่วมกันไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานว่าเป็นการให้หุ้นกันโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นความเท็จ

การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการร่วมกันกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับการกระทำเมื่อระหว่างวันที่ 7 -12 พฤศจิกายน 2540

3. คณะกรรมการตรวจสอบ มีมติที่ประชุม และได้มีหนังสือที่ ตผ (คตส.) 04/483 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550แจ้งอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวกฐานกระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร

4. อัยการสูงสุด รับเรื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วได้ยื่นฟ้องคดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวก ตามคดีดำที่ 1149/2550 ศาลอาญา วันที่ 30 เมษายน 2550 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวก 3 คน จำเลย ซึ่งคดีดังกล่าวศาลนัดพร้อมเพื่อฟังคำพิพากษาในวันนี้ (4 ก.ค.)

อนึ่ง คดีดังกล่าว ศาลสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เป็นบทบัญญัติและปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอาญา จะต้องนำมาพิจารณาและใช้บังคับในคดีนี้ด้วย ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้นัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า คตส.มีอำนาจสืบสวนตามกฎหมาย จึงคาดว่าศาลจะมีการกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าคณะคปค.เป็นผู้มีอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น จึงมีอำนาจที่จะออกกฎหมายใช้บังคับเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การแต่งตั้ง คตส. ก็เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยให้ คตส.สามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด

ทั้งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป และได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 36 ที่บัญญัติไว้ว่า บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คปค.หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะ คปค.ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 19 ก.ย.49 จนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป

และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง จะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น