xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสำนวนไต่สวน คตส. มัดแก๊งหญิงอ้อจงใจโกงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คดีการหลีกเลี่ยงภาษีที่ศาลนัดหมายฟังคำพิพากษานั้น ตามรายงานสรุปผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นสำนวนคดีของคตส.ที่ส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีกรณีกล่าวหา นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวกกระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มีรายละเอียด ดังนี้

1. คณะกรรมการตรวจสอบ คตส. ได้คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 8/2549 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอคณะกรรมการตรวจสอบว่ามีมูลคดีที่น่าเชื่อหรือไม่ คณะอนุกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร พยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปสำนวนการตรวจสอบเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 10/2549 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ว่ามีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

คณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณาแล้วมีมติที่ประชุมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายบรรณพจน์ ดามา พงศ์ กับพวก กระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. 001/2549 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549

๒. คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาอันประกอบด้วย (1) นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (2) คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (3) นางดวงตา ประมูลเรือง หรือ นางสาวดวงตา วงศ์ภักดี (4) นางกาญจนาภา หงษ์เหิน (5) นายวันชัย หงษ์เหิน (6) นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ทราบ และผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาครบถ้วนแล้ว คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนการไต่สวนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบในการประชุม ครั้งที่ 9/2550 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 และคณะกรรมการตรวจสอบ มีความเห็นว่า

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เมื่อระหว่างวันที่ 7 – 12 พฤศจิกายน 2540 ได้ร่วมกันกระทำการโอนหุ้น บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ได้ให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ถือหุ้นไว้แทน

โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น สั่งการให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ดำเนินการโอนด้วยวิธีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้กระทำการ โดยสั่งให้นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน พนักงานบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทน ขายหุ้นดังกล่าวและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โดยนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ลงชื่อเป็นลูกค้าในใบสรุปการซื้อหลักทรัพย์ และให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ลงชื่อเป็นผู้ขายในใบสรุปการขายหลักทรัพย์ และมีการรับจ่ายเงินการซื้อขายดังกล่าว ในวันที่ 12พฤศจิกายน 2540

ทั้งที่ ตามความจริงการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้นให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้าน เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกเป็นจำนวน 273,060,000 บาท

แต่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้ร่วมกันกระทำการอำพรางการให้เป็นการซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพียง 7.38 ล้านบาท เพื่อทำให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้ซื้อไม่มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23) และในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541ไม่นำมูลค่าหุ้น 73.8 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด

การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนาง
กาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

จากการตรวจสอบทางราชการ พบว่า การโอนหุ้นดังกล่าวไม่ใช่การซื้อขายกันจริงในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เป็นกรณีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้หุ้นแก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2544 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ร่วมกันไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานว่าเป็นการให้หุ้นกันโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นความเท็จ

การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการร่วมกันกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับการกระทำเมื่อระหว่างวันที่ 7 -12 พฤศจิกายน 2540

3. คณะกรรมการตรวจสอบ มีมติที่ประชุม และได้มีหนังสือที่ ตผ (คตส.) 04/483 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550แจ้งอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวกฐานกระทำความผิดทางอาญาฐานมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร

4. อัยการสูงสุด รับเรื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วได้ยื่นฟ้องคดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวก ตามคดีดำที่ 1149/2550 ศาลอาญา วันที่ 30 เมษายน 2550 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับพวก 3 คน จำเลย ซึ่งคดีดังกล่าวศาลนัดพร้อมเพื่อฟังคำพิพากษาในวันนี้ (4 ก.ค.).
กำลังโหลดความคิดเห็น