xs
xsm
sm
md
lg

“บรรณพจน์” ขึ้นศาลเบิกความคดีเลี่ยงภาษี โอนหุ้นชินฯ 546 ล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
“บรรณพจน์” ขึ้นศาล เบิกความปากสุดท้าย เลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินฯ 546 ล้านบาท ย้ำ รับโอนหุ้น “หญิงอ้อ” 4.5 ล้านหุ้น เป็นของขวัญแต่งงาน อ้าง ได้ยกเว้นภาษี

วันนี้ (30 พ.ค.) เวลา 09.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัว คุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1)(2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

โดยวันนี้ฝ่ายจำเลยนำสืบพยานเพียงปากเดียว คือ นายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 ซึ่งนายบรรณพจน์ เบิกความสรุปว่า พยานถูกกล่าวหาในคดีเนื่องจากเมื่อปี 2549 คตส.รื้อคดีการประเมินภาษีโอนหุ้น ที่พยานได้รับโอนหุ้น 4.5 ล้านหุ้นจากคุณหญิงพจมานเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสที่พยานเข้าพิธีสมรสกับ นางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยา ที่ถือเป็นการให้โดยเสน่หาในโอกาสหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) ที่พยานไม่ต้องมีภาระชำระภาษี และการประเมินภาษีนั้นได้ยุติเรื่องแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2544 โดยกรมสรรพากร สรุปเรื่องว่าเป็นการให้ตาม มาตรา 42(10) แต่ คตส.กลับสรุปเรื่องใหม่กล่าวหาว่าเป็นการโอนหุ้นเพื่อเป็นบำเหน็จตอบแทน (ค่าจ้าง) ที่พยานทำงานให้คุณหญิงพจมาน ที่มีภาระต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) ทั้งที่ความจริงพยานไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากคุณหญิงพจมาน โดยพยานได้รับค่าตอบแทนในการทำงานเป็นเงินเดือน และโบนัสจากบริษัทเท่านั้น ซึ่งหลังจากการกล่าวหาแล้ว คตส.ยังได้อายัดทรัพย์บัญชีเงินฝากที่พยานได้จากการขายหุ้นดังกล่าวในเวลาต่อมา โดย คตส.อ้างว่าทรัพย์นั้นเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการกระทำของ คตส. ที่กล่าวหาว่าพยานหลีกเลี่ยงภาษีและอายัดทรัพย์พยานไว้ นั้นเป็นเจตนาที่ไม่สุจริต กลั่นแกล้งพยาน ซึ่งพยานเคยยื่นคำร้องโต้แย้งบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเป็นอนุไต่สวน คตส.แต่ต่อมา คตส.กลับยกคำร้อง

นายบรรณพจน์ เบิกความด้วยว่า มูลค่าหุ้นที่มีการโอนนั้นที่คำนวณตามราคาพาร์ 4.5 ล้านหุ้นๆ ละ 10 บาท คิดเป็นเงิน 45 ล้านบาทนั้น หากเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่คุณหญิงพจมาน มีอยู่ในปี 2540 มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก หาก คตส. จะกล่าวหาว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี อย่างไรก็ดี ในการให้ขวัญในโอกาสวันสมรสของพยานนั้น นอกจากหุ้นที่คุณหญิงโอนให้แล้ว ยังมีที่ดินด้วยซึ่งพยานก็ใช้เป็นที่ปลูกเรือนหอและปัจจุบันยังคงอาศัยในที่ดินดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี นายบรรณพจน์ เบิกความจนถึงเวลา 11.30 น. แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงนัดสืบพยานอีกครั้งในเวลา 13.30 น.อย่างไรก็ดี หาก นายบรรณพจน์ เบิกความเสร็จสิ้นแล้วศาลจะได้นัดวันฟังคำพิพากษาต่อไป

ต่อมาภายหลังนายบรรณพจน์ เบิกความตอบทนายความจำเลยแล้วในช่วงเช้า ต่อมาช่วงบ่ายได้ตอบคำถามซักค้านอัยการโจทก์ เกี่ยวกับการรับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมานว่า ในเวลาที่รับโอนหุ้นนั้น พยานเข้าใจเองว่าไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งหลังจากได้รับโอนหุ้นแล้วได้เก็บหุ้นไว้ระยะหนึ่ง จนได้มีการนำออกมาขายเมื่อปี 2549 ที่ได้ขายรวมกับหุ้นของตระกูลชินวัตรให้บริษัททุนข้ามชาติเทมาเส็ก ส่วนที่คุณหญิงพจมาน ไม่ได้หุ้นโอนให้พยานโดยตรง เพราะหุ้นนั้นมีชื่อนางดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครอง จึงได้มีการโอนผ่านตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ดีเมื่อนายบรรณพจน์ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้เรียกอัยการและทนายความจำเลย หารือ กรณีที่มีจำเลย ลำดับที่ 31-47 คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) หมายเลขดำ อม.ที่ 1/2551 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ( คตส.) และอำนาจการไต่สวน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คปค.) ฉบับที่ 30 โดยขณะนี้คำร้องถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยศาล หารือกับคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า เนื่องจาก ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เป็นบทบัญญัติและปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอาญา จะต้องนำมาพิจารณาและใช้บังคับในคดีนี้ด้วย ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้นัดพร้อมคู่ความ ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา แต่ทั้งนี้หากปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ก่อนวันนัดพร้อมดังกล่าว ศาลจะแจ้งให้คู่ความสองฝ่ายทราบเพื่อกำหนดวันฟังคำพิพากษาต่อไป ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความสองฝ่าย ทำคำแถลงปิดคดีนี้ภายใน 7 วันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 26 มี.ค.50 โดยใช้โจทก์นำสืบพยานกว่า 30 ปาก ทั้งในส่วนของ คตส. อาทิ นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) , เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร , นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและอดีตอธิบดีกรมสรรพากร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, น.ส.ปนัดดา พ่วงพลับ คณะกรรมการพิจารณาวินัย กระทรวงคลัง และเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบพยานร่วม 20 ปาก ต่อสู้คดี โดยมีนายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จำเลยทั้งสาม ขึ้นเบิกความ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และ อดีตเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งจำเลยทั้งสาม ต่างยืนกรานให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
กำลังโหลดความคิดเห็น