xs
xsm
sm
md
lg

อ้อป้องแม้วไม่เกี่ยวซื้อที่ ยกเรื่องส่วนตัวสู้คคีไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(29 เม.ย.)ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-2 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ในการประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกรวม 4 แปลงมูลค่ากว่า 772 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
โดย นายพิชิฎ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังในส่วนของ คุณหญิงพจมาน โดยอ้างเหตุติดภารกิจทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ทุกนัด โดยศาลสอบถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้พิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 10 ทั้งนี้เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลอนุญาตให้พิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในเวลาที่มีการไต่สวนพยานหลักฐานก็ได้
นายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สอบคำให้การคุณหญิงพจมาน หลังจากที่ได้สอบคำให้การครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2551 ซึ่งคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้ให้การปฎิเสธและได้ยื่นคำให้การโดยละเอียดพร้อมกับคำให้การของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยละเอียดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 จำนวน 121 แผ่น ซึ่งมีประเด็นโต้แย้งสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ และไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในการซื้อขายที่ดิน พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาร่วมกับ คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ในการซื้อขาย
และการซื้อขายที่ดินไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ม.100 โดยการซื้อขายไม่ได้เป็นประโยชน์ส่วนบุคคลทับซ้อนประโยชน์ส่วนรวม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ไม่มีอำนาจไต่สวน ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ขัดหลักนิติธรรม คำร้องทุกข์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้เป็นไปตาม ป.วิอาญา ม.2 และกองทุนฟื้นฟูไม่ใช่ผู้เสียหาย พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ถูกยกเลิกโดยประกาศของ คปค.แล้ว รวมทั้งคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ให้ยึดทรัพย์จำนวน 772 ล้านบาท ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2551 จำเลยทั้งสองยังได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติม สรุปว่า คำสั่ง คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 2 และข้อ 5 ขัดแย้ง ม.3 ของรัฐธรรมนูญ 2550
โดยคุณหญิงพจมาน ยืนยันให้การปฎิเสธไม่ได้กระทำความผิด นอกจากนี้นายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังได้ชี้แจ้งเรื่องการที่จำเลยอ้างจะนำอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนเข้าไต่สวน ว่าถ้าหากจะนำมาไต่สวนในประเด็นข้อกฎหมาย ให้ทำเป็นหนังสือหรือคำแถลงมายื่นต่อศาล ไม่ต้องนำตัวพยานมาไต่สวนเพื่อความรวดเร็วของคดีที่จะไม่ต้องล่าช้า โดยให้ทั้งสองฝ่ายแถลงภายในวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. ตามที่ศาลได้นัดตรวจสอบพยานไว้อีกวันหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีพร้อมกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองธา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว นอกจากนี้ยังมีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และกลุ่มผู้สนับสนุนเดินทางมาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดีกว่า 300 คน จนเต็มห้องพิจารณาคดี โดยคุณหญิงพจมาน ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาเดินทางกลับโดยรถยนต์ส่วนตัวทันที โดยมิได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น