xs
xsm
sm
md
lg

“หญิงอ้อ” แจงศาล! ซื้อที่ดินเรื่องส่วนตัวไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“หญิงอ้อ” ควงโอ๊ค-เอม ขึ้นศาลสู่คดีโกงที่ดินรัชดาฯ ปากแข็งปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลอนุญาตสืบพยานลับหลังตามที่จำเลยร้องขอ ยันสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ผิด พ.ร.บ.ป.ป.ช. ลั่น คตส.ไม่มีอำนาจลงประกาศของ คปค.เพื่อเอาผิดเจ้าตัว ขณะที่ม็อบเชลียร์แห่ให้กำลังใจเพียบ


วันนี้(29 เม.ย.)เวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-2 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ในการประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกรวม 4 แปลงมูลค่ากว่า 772 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

โดยในวันนี้ นายพิชิฎ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังในส่วนของคุณหญิงพจมาน โดยอ้างเหตุติดภารกิจทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ทุกนัด โดยศาลสอบถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้พิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 10 ทั้งนี้เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลอนุญาตให้พิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในเวลาที่มีการไต่สวนพยานหลักฐานก็ได้

นายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สอบคำให้การคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 หลังจากที่ได้สอบคำให้การครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2551 ซึ่งคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้ให้การปฎิเสธและได้ยื่นคำให้การโดยละเอียดพร้อมกับคำให้การของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยละเอียดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 จำนวน 121 แผ่น ซึ่งมีประเด็นโต้แย้งสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ และไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในการซื้อขายที่ดิน พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาร่วมกับ คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ในการซื้อขาย และการซื้อขายที่ดินไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ม.100 โดยการซื้อขายไม่ได้เป็นประโยชน์ส่วนบุคคลทับซ้อนประโยชน์ส่วนรวม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่มีอำนาจไต่สวน ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ขัดหลักนิติธรรม คำร้องทุกข์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้เป็นไปตาม ป.วิอาญา ม.2 และกองทุนฟื้นฟูไม่ใช่ผู้เสียหาย พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ถูกยกเลิกโดยประกาศของ คปค.แล้ว รวมทั้งคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ให้ยึดทรัพย์จำนวน 772 ล้านบาท ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2551 จำเลยทั้งสองยังได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติม สรุปว่า คำสั่ง คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 2 และข้อ 5 ขัดแย้ง ม.3 ของรัฐธรรมนูญ 2550

โดยคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ยืนยันให้การปฎิเสธไม่ได้กระทำความผิด ตามรายละเอียดคำให้การลงวันที่ 23 มกราคม , 11 มีนาคม และ 22 เมษายน 2551 ดังกล่าว นอกจากนี้นายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังได้ชี้แจ้งเรื่องการที่จำเลยอ้างจะนำอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนเข้าไต่สวน ว่าถ้าหากจะนำมาไต่สวนในประเด็นข้อกฎหมาย ให้ทำเป็นหนังสือหรือคำแถลงมายื่นต่อศาล ไม่ต้องนำตัวพยานมาไต่สวนเพื่อความรวดเร็วของคดีที่จะไม่ต้องล่าช้า ส่วนการตรวจพยานเอกสารหลักฐานให้อยู่ภายใต้การดูแลของเลขานุการองค์คณะผู้พิพากษา และเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ว่าฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยจะพิจารณารับเอกสารหลักฐานใดได้บ้าง เพื่อไม่ต้องทำการไต่สวน และหากโจทก์จำเลยประสงค์จะโต้แย้งพยานหลักฐานใดให้แถลงประเด็นและข้อเท็จจริงที่ต้องการโต้แย้งเพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นต่อไป โดยให้ทั้งสองฝ่ายแถลงภายในวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. ตามที่ศาลได้นัดตรวจสอบพยานไว้อีกวันหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีพร้อมกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองธา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว นอกจากนี้ยังมีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และกลุ่มผู้สนับสนุนเดินทางมาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดีกว่า 300 คน จนเต็มห้องพิจารณาคดี โดยคุณหญิงพจมาน ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาเดินทางกลับโดยรถยนต์ส่วนตัวทันที โดยมิได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

ด้านนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กล่าวว่า ขั้นตอนในการตรวจสอบพยานหลักฐานวันพรุ่งนี้ ศาลจะกำหนดกระบวนพิจารณาว่าจะสืบพยานโจทก์กี่นัด สืบพยานจำเลยกี่นัด อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็นที่พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้การต่อศาลนั้นมีทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่งประเด็นหลักคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ หรือไม่ และการซื้อที่ดินรัชดาฯ ครั้งนี้ ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวได้รับความเสียหายหรือไม่ รวมทั้งประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขัดกับหลักนิติธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 เป็นกฎหมายจำกัดสิทธิซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

“วันนี้ถือว่าได้ยื่นคำให้การจำเลยครบถ้วนแล้ว โดยยื่นบัญชีพยานบุคคลที่อ้างร่วมระหว่างอัยการโจทก์ด้วยประมาณ 30 กว่าปาก รวมทั้งพยานเอกสารจำนวนมาก โดย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่า ธปท. จะมาเป็นพยานไต่สวนของจำเลยด้วย เนื่องจากท่านเป็นอดีตประธานกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ และเป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวกับการขายที่ดินรัชดาฯในขณะนั้น ซึ่ง ผู้ว่า ธปท.เป็นพยานตั้งแต่ในชั้น คตส.แล้ว ” นายพิชิฏ ทนายความกล่าวและว่า การไต่สวนพยานปากผู้ว่า ธปท. เพื่อต้องการให้ข้อเท็จจริงปรากฎต่อศาล แต่ก็สุดแล้วแต่ศาลจะพิจารณาว่าประเด็นที่ฝ่ายจำเลยนำเสนอเป็นอย่างไร โดยตนในฐานะทนายความจำเลย ก็มีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีส่วนผลจะเป็นประการใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่อย่างไรก็ดีมั่นใจในความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งสองคน

นายพิชิฏ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับที่จะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณาคดีเท่านั้น โดยตอบเพียงสั้นๆ ว่ายังไม่ได้หารือคณะทำงาน

“เบื้องต้นคุณหญิงพจมานตั้งใจจะมาเบิกความ ส่วนเหตุผลที่ยื่นคำร้องขอสืบพยานลับหลังเนื่องจากท่านติดกิจธุระ เพราะขั้นตอนการนัดพิจารณาสืบพยานของศาล จะนัดติดต่อกัน ถ้าท่านติดธุระอาจต้องเลื่อนคดี ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้าได้ ” นายพิชิฏ กล่าวย้ำ

ส่วนกรณีที่จะนำอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นพยานเข้าไต่สวนในประเด็นข้อกฎหมาย เรื่องหลักการปกครองในระบบรัฐสภานั้น นายพิชิฏ กล่าวว่า เพื่อจะแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด แต่เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ต้องแยกแยะว่าอันไหนเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีโดยแท้ อันไหนเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี อันไหนเป็นส่วนนโยบายการเงินหรือส่วนนโยบายการคลัง ซึ่งฝ่ายโจทก์ไม่ได้แยกแยกในประเด็นดังกล่าว
 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร






กำลังโหลดความคิดเห็น