เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เบิกความคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ “อดีตผู้บริหารสำนักที่ กทม.ห้วยขวาง ” ระบุเป็นตัวแทนกรมที่ดิน ร่วมลงนามสัญญาซื้อ-ขายที่ดินกองทุนฟื้นฟูฯ พบ “ คุณหญิงอ้อ” มอบอำนาจตัวแทนดำเนินการ พร้อมแสดงใบยินยอม “พ.ต.ท.ทักษิณ” ฐานะคู่สมรส ยันดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย อดีต จนท.รังวัด เผยเคยเห็นหนังสือปลัดคลัง แนบคำร้องออกโฉนด ศาลไต่สวนพยานโจทก์ครั้งสุดท้าย 29 ก.ค.นี้ อัยการเตรียม “อุดม-กล้านรงค์-หม่อมอุ๋ย” ปิดคดี ส่วนฝ่ายจำเลยวาง “พจมาน-ทักษิณ” ขึ้นเบิกความ 2 ปากสุดท้าย 22 ส.ค.นี้
วันนี้ (25 ก.ค.)เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 4 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542
โดยวันนี้ อัยการโจทก์นำพยาน ประกอบด้วย นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดสระแก้ว อดีตผู้บริหารสำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง นางญานี คงบุญ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง น.ส.นิทรา เอี่ยมสุภา เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน จ.สมุทรสาคร อดีตหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง นายอมร บุญธรรม เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประจำสำนักงานมาตรฐาน กรมที่ดิน อดีตเจ้าหน้าที่รังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง และนายทวี ด่านยุทธศิลป์ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง เข้าเบิกความเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินและการออกเลขโฉนด รวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทในคดีนี้
นายอมร บุญธรรม อดีตเจ้าหน้าที่รังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง เบิกความสรุปว่า การทำหน้าที่รังวัดได้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมที่ดินโดยถูกต้องทุกประการ พยานได้รับเรื่องมาจากฝ่ายทะเบียนของสำนักงานที่ดินห้วยขวาง ตามที่กองทุนยื่นขอรวมโฉนดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2546 โดยมีนางญานี เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนเป็นผู้รับเรื่องไว้ ครั้งแรกที่ไปรังวัดที่ดินพบว่าเป็นที่รกร้างถูกทิ้งไว้ 30 ปี จนไม่สามารถที่จะรังวัดได้ จึงได้ประสานแจ้งกับ ว่าที่ ร.ท.รุ่งเรือง โคกขุนทด และนายสุพร ดีพันธุ์ เจ้าหน้าที่กองทุนฯให้ทำการถากถางที่ดินให้เรียบร้อยเพื่อเตรียมรังวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้เร่งรัดพยานในการรังวัดเพื่อรีบออกโฉนด อย่างไรก็ดีในการรังวัดพยานเคยเห็นหนังสือจากปลัดกระทรวงการคลังแนบมากับคำร้องให้ดำเนินการรังวัด ซึ่งเมื่อทำการรังวัดแล้วได้เสนอเรื่องไปยังนายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร อดีตผู้บริหารสำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง โดยยืนยันที่ดินข้อพิพาทสามารถรวมโฉนดจาก 13 แปลงย่อย เป็น 4 แปลงใหญ่ได้ เพราะได้ตรวจสอบจากโฉนดที่ดินเดิมแล้วพบว่าถนนเทียนร่วมมิตร ไม่ได้เป็นถนนสาธารณะ และที่ดินอยู่ใกล้กันมีเจ้าของรายเดียวกัน ซึ่งพยานปฏิบัติตามขั้นตอนการรังวัดครบถ้วนและถูกต้องทุกประการ โดยพยานไม่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้
ต่อมา นายวุฒิสิทธิ์ เบิกความสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2546 กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง ให้ทำการรังวัดที่ดิน ซึ่งต่อมา นายอมร บุญธรรม เป็นผู้ดำเนินการรังวัด และได้เสนอเรื่องผ่านหัวหน้าฝ่ายรังวัดและเสนอพยาน และเมื่อได้มีการตรวจสอบได้เสนอให้ฝ่ายทะเบียนพิจารณาออกเลขโฉนด ซึ่งการขอทราบเลขโฉนดไม่มีกฎหมายของกรมที่ดินฉบับที่ห้ามไม่ให้มีการแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องกับการขอเลขโฉนดก่อนที่จะมีการเซ็นอนุมัติออกเลขโฉนด ซึ่งในการรังวัดที่ดินจะใช้เวลานานเท่าใดแล้วแต่กรณี ในส่วนที่พยานเคยทำหนังสือเตือนนายอมรในการรังวัดที่ดินในเอกสารขอโอนโฉนดในคดีนี้ให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบกรมที่ดินนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีการเร่งรัดการรังวัดเพื่อออกโฉนด แต่หมายความว่าเมื่อมีการส่งเรื่องมาให้รังวัดแล้ว ตามแนวทางปฏิบัติกรมที่ดินจะใช้เวลารังวัดภายใน 30 วัน ซึ่งหากดำเนินการเสร็จแล้วก็ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาภายในเวลา 25 วัน ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการตักเตือน ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าเป็นเหตุเร่งรัดในการรังวัดที่ดินและออกโฉนด กรณีที่กองทุนฯ มาขอออกโฉนด โดยทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนปกติที่กรมที่ดินเคยปฏิบัติ
นายวุฒิสิทธิ์ เบิกความต่อว่า ส่วนที่กองทุนฯเคยยื่นคำขอให้รังวัดและออกโฉนดรวมที่ดินครั้งแรกจำนวน 3 แปลง แต่เมื่อทำการรังวัด มีตัวแทนของเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ไปรวมในพื้นที่แล้วต้องการรังวัดให้ออกโฉนดที่ดินเป็น 4 แปลง นั้นเป็นไปตามเจตนาของผู้ขอ ซึ่งต่อมาพยานก็ให้มีการแก้ไขคำร้องให้ถูกต้อง ในส่วนที่พยานเกี่ยวข้องในฐานะเป็นตัวแทนของกรมที่ดินทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินล่วงหน้าในคดีพิพาทนี้ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2546 เป็นไปตามกฎระเบียบที่อธิบดีกรมที่ดินขณะนั้นได้มีออกประกาศคำสั่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด และในการทำนิติกรรมนั้น จำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้ผู้แทนมาดำเนินการ โดยมีสำเนาบัตรประชาชนของจำเลยที่ 2 สำเนาใบทะเบียนสมรส และสำเนาทะเบียนบ้าน รวมทั้งหนังสือยินยอมของจำเลยที่ 1 คู่สมรส ซึ่งปกติการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินหากผู้ซื้อเป็นบุคคลที่จดทะเบียนสมรส แต่ไม่นำใบยินยอมจากคู่สมรสมาแสดง พยานก็จะไม่ดำเนินการลงนามซื้อขายให้ เว้นกรณีที่เป็นการซื้อขายส่วนตัว และได้มีการสอบถามผู้ขายแล้วมีความสมัครใจทำนิติกรรม ก็จะต้องบันทึกเรื่องการทำสัญญาเป็นโมฆียะหากเกิดปัญญาภายหลังคู่สมรสไม่ยินยอม โดยจะปฏิบัติลักษณะนี้กับผู้ซื้อผู้ขายทุกรายไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ส่วนที่ดินพิพาทในปี 2546 เป็นพื้นที่สีส้มห้ามก่อสร้างตึกสูง แต่ในปี 2549 มีการประกาศยกเลิกข้อกำหนดห้ามทำให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงได้นั้น พยานไม่ทราบเหตุผล
ขณะที่ นางญานี คงบุญ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง น.ส.นิทรา เอี่ยมสุภา เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน จ.สมุทรสาคร อดีตหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง และนายทวี ด่านยุทธศิลป์ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า การรางวัด การออกเลขโฉนดที่ดิน ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกประการ ซึ่งไม่เคยมีการร้องเรียนจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินข้อพิพาทคดีนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ และกรมที่ดินว่าการดำเนินการรางวัดและออกเลขที่โฉนดดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหาย
ภายหลังศาลไต่สวนพยานโจทก์ครบ 5 ปากแล้ว อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าสำหรับพยานปาก นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ติดราชการไม่สามารถมาเบิกความได้ แต่อัยการยังติดใจและจะขอนำเข้าเบิกความครั้งต่อไป ศาลจึงนัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมกำชับให้อัยการนำพยานโจทก์เข้าไต่สวนให้เสร็จสิ้นตามกำหนดนัด
นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะอัยการรับผิดชอบว่าความคดีนี้ กล่าวว่า เตรียมนำ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีต คตส.ในฐานประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก ป.ป.ช. และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าเบิกความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนพยานจำเลยครั้งแรกในวันที่ 1 ส.ค.นั้น ทนายความจำเลยเตรียมนำพยานจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเข้าเบิกความ ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 และ คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ตามบัญชีระบุพยาน ทั้งสองจะเข้าเบิกความพร้อมกันในวันไต่สวนพยานจำเลยครั้งสุดท้ายวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดย พ.ต.ท.ทักษิณ จะขึ้นเบิกความปิดคดีเป็นลำดับสุดท้าย