xs
xsm
sm
md
lg

“นาม” เบิกความยัน “แม้ว” ซื้อที่ดินผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา คุณหญิงพจมาน  ชินวัตร
อดีตประธาน คตส. “นาม ยิ้มแย้ม” เบิกความยันไม่เคยขู่บังคับกองทุนฯ ร้องทุกข์เอาผิด “แม้ว-อ้อ” ชี้ที่ดิน 2 พันล้านขาย 700 ล้านขาดทุนเห็นๆส่วนกองทุนฯ อยู่ภายใต้นายกฯ หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายให้ศาลตัดสิน ย้ำปัญหาอยู่ที่จำเลยมีสิทธิซื้อหรือไม่เท่านั้น ด้านอดีตปลัดคลังยันขายได้กำไรสูงกว่าราคาประเมิน ขณะที่สองอดีตเจ้าหน้าที่กองทุน ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์ “หญิงอ้อ” ชนะประมูล ศาลนัดสืบอีกครั้ง 25 ก.ค.นี้

วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่สาม ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542

โดยวันนี้ อัยการโจทก์นำนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าเบิกความสรุปว่า การตรวจสอบคดีนี้เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เมื่อมีการแต่งตั้ง คตส. จึงได้เข้ามาตรวจสอบและแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนและตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งอนุฯ ได้รวบรวมหลักฐานมาพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงเสนอต่อ คตส.ชุดใหญ่ และ คตส.มีมติเห็นว่าคดีมีมูล จึงทำหนังสือถึง รมว.คลัง และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.66 และ 67 ให้เข้าทำการร้องทุกข์ ไม่ได้มีการข่มขู่หรือบังคับใดๆ

นายนาม ยังตอบคำถามทนายจำเลยในประเด็นที่อนุ คตส.ตัดพยาน ไม่เรียกผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นพยานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการและการบริหารกองทุนที่รู้กฎระเบียบและข้อบังคับของกองทุนฯ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนว่า กองทุนฯ ยืนยันมาตลอดว่าไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่เคยเข้าแจ้งความคดีนี้ รวมทั้ง พยานปากผู้อำนวยการผังเมือง ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการรวมโฉนดที่ดินและภายหลังมีประกาศ กทม.เกี่ยวกับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อจำเลยอย่างใดว่าเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่จะอ้างอย่างไรก็ได้ และการตัดพยานก็เป็นอำนาจของ อนุ คตส. ซึ่ง คตส.ก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูล

ต่อมา นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตรองประธานคณะกรรมการกองทุนฯเข้าเบิกความสรุปว่า การนำทรัพย์ของกองทุนฯประมูลขาย ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งกองทุนฯมีระเบียบของตัวเอง โดยการซื้อขายที่ดินพิพาทที่ไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่ในการประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯมีการพูดคุยกันว่าหากได้ราคาต่ำกว่า 750 ล้านบาทก็จะไม่ขาย ส่วนที่มีการขยายเวลาชำระเงินมัดจำจาก 7 วันเป็น 10 วัน เนื่องจาก ที่คณะกรรมการกองทุนฯเห็นว่าควรให้เวลาผู้เข้าประมูลหาเงินมัดจำซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก

นายสมใจนึก เบิกความต่อว่า การขายที่ดินครั้งแรกใช้วิธีประมูลทางอินเตอร์เน็ต รวม 13 แปลง ไม่มีการรวมโฉนด จึงไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ทราบว่ามีสาเหตุ 2-3 ประการ คือ ราคาประเมินและที่ดินไม่แน่นอน ซึ่งมาทราบภายหลังว่า ที่ดินถูกตัดโดยถนนเทียมร่วมมิตร อีกส่วนเป็นทางและคลองสาธารณะ จึงไม่ได้เป็นที่ดินที่แท้จริง ต้องทำการรังวัดและรวมออกโฉนดให้เป็นผืนเดียวกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ซื้อ ซึ่งในการประมูลครั้งที่สอง มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ชนะประมูล ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติที่มีอัยการรวมอยู่ด้วย พิจารณาแล้วการซื้อขายครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ซื้อไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่ไม่ทราบว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.100 หรือไม่ และการซื้อขายที่ดินของกองทุนฯได้กำไรไปชำระหนี้ เพราะขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน 750 ล้านบาท

ต่อมา ว่าที่ ร.ท.รุ่งเรือง โคกขุนทด เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หัวหน้าทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟู ฯ เบิกความว่า ที่พยานเคยให้การในชั้น อนุ คตส. ว่า ทราบว่าจำเลยที่ 2 ร่วมประมูลด้วยนั้น พยานทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนการประกวดราคา 1 วัน โดยเหตุที่ทราบเพราะจำเลยที่ 2 ได้โอนเงินมัดจำซองประกวดราคาจำนวน 100 ล้านบาทเข้าบัญชีกองทุนฟื้นฟู ฯ ซึ่งการประกวดราคานั้นพยานไม่ได้ดำเนินการใดเป็นการพิเศษแตกต่างจากปกติ ส่วนที่ไม่กำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลครั้งที่สองเป็นเหตุผลทางการตลาด เนื่องจากครั้งแรกไม่มีผู้เสนอราคาประมูล

ขณะที่ นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ อดีตผู้จัดการกองทุนฯเมื่อครั้งมีการซื้อขาย เบิกความว่า ช่วงที่มีการปรับบันทึกทางบัญชีจากราคาที่ดินมูลค่า 2 พันล้านบาทเศษ เหลือ 700 ล้านบาทเศษ ตนยังไม่เข้ามาดำรงตำแหน่งแต่ทราบภายหลังว่าสาเหตุที่ต้องมีประเมินราคาใหม่เพื่อปรับตัวเลขทางบัญชีให้ตรงกับความเป็นจริง และการประมูลครั้งที่สอง ได้มีการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลวางมัดจำเป็นเงิน 100 ล้านบาทนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมประมูลสนใจที่จะทำการประมูลจริงๆ เนื่องจากการประมูลครั้งแรกไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ส่วนการประมูลครั้งแรก ไม่มีการออกเลขที่โฉนดแต่มาออกภายหลัง เนื่องจากได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ที่ดินทราบว่า ได้เลขโฉนดที่ดินแล้วอยู่ระหว่างผู้บังคับบัญชาลงชื่ออนุมัติ จึงได้ขอนำเลขโฉนดมาแสดงในการประมูลครั้งที่สองก่อน เพราะกองทุนฯมีแผนการขายที่ดินอยู่แล้วตั้งต้นปี 2546 แต่ยังขายไม่ได้ ซึ่งกองทุนมีการวางแผนขายที่ดินอยู่แล้ว ไม่ได้ดำเนินการวางแผนเมื่อจำเลยที่ 2 จะเข้ามาประมูลซื้อที่ดินคดีนี้ และการประมูลครั้งที่สอง กองทุนฯไม่ได้ทำหนังสือเชิญจำเลยที่ 2 เข้าร่วมประมูล นอกจากผู้เข้าร่วมประมูลครั้งแรกที่แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลอยู่แล้ว แต่ที่ไม่เข้าร่วมประมูลเพราะราคาสูงเกินไป

ภายหลังศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้วนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 25 ก.ค. เวลา 09.30 น. โดยนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานอัยการรับผิดชอบว่าความคดีนี้ กล่าวว่า เตรียมนำพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินรวม 6 ปากเข้าเบิกความ

ภายหลังนายนาม กล่าวว่า คดีนี้ไม่เคยบีบบังคับให้กองทุนฯเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ที่จำเลยอ้างเรื่องกองทุนไม่ได้รับความเสียหายเป็นข้อต่อสู้ของจำเลย ซึ่งที่จริงราคาที่ดินกองทุนซื้อมาราคา 2 พันล้านบาทเศษ แต่กลับมาขายเพียง 772 ล้านบาท จะไม่เสียหายอย่างไร ส่วนที่อ้างว่า กองทุนฯไม่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นอีกข้อต่อสู้ของจำเลย แต่ คตส.เห็นว่า กองทุนฯขึ้นอยู่กับ ธปท. และ ธปท.อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง ซึ่งนายกฯเป็นผู้กำกับดูแลทุกกระทรวง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง

“คดีนี้ปัญหามีอยู่ว่าการที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทผิดกฎหมายหรือไม่ มีสิทธิซื้อหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก็เห็นๆกันอยู่ว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง” นายนามกล่าว และว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก ป.ป.ช.ให้เข้าไปร่วมเป็นอนุกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาคดี แต่หาก ป.ป.ช.ติดต่อมาจริงก็จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่ามีความเหมาะสมที่จะไปทำตรงนั้นหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น