xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมเต่า” ให้การมัด “เมียแม้ว” ซื้อที่ดินไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่สอง คดี “แม้ว-อ้อ” ทุจริตซื้อที่ดินรัชดา อัยการนำพยาน 4 ปากเข้าเบิกความ “หม่อมเต่า” เผยเคยคิดเข้าร่วมประมูลที่ดิน แต่มีปัญหาก่อนรู้ว่า “อ้อ” ประมูลด้วย ขณะที่อดีตผู้จัดการกองทุนรู้ข่าววงนอกสะพัด “อ้อ” ร่วมประมูล

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันที่ 15 ก.ค.2551 เวลา 09.30 น.นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่สอง ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542

โดยในวันนี้อัยการนำ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน เข้าเบิกความสรุปว่า กองทุนมีสภาพเป็นนิติบุคคล บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนด้วย โดยกองทุนจะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการจำหน่ายที่ดินของกองทุน ไม่ต้องขออนุมัติจาก รมว.คลัง หรือนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการมีอำนาจที่จะมีมติให้จำหน่ายที่ดินได้ ส่วนในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการจำหน่ายที่ดินจะพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีก็คงจะต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน อย่างไรก็ดีในสมัยที่ตนเป็นประธานกองทุน นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามาบทบาทกำกับดูแลกองทุน

ม.ร.ว.จัตุมงคล เบิกความด้วยว่า ในเรื่องของการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นข้อพิพาทคดีนี้ ในส่วนของพยานเมื่อพ้นจากตำแหน่งต่างๆ แล้วพยานได้ไปมีส่วนร่วมในธุรกิจที่ดิน ซึ่งได้ทราบข้อมูลว่าจะมีการเปิดประมูลซื้อที่ดินพิพาทคดีนี้ในราคาตารางวาละ 70,000 บาท โดยพยานได้ทำการติดต่อกับเจ้าหน้าที่กองทุน เพื่อเข้าร่วมการประมูลด้วย แต่ภายหลังพยานและหุ้นส่วนทางธุรกิจมีปัญหา จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งยกเลิกการประมูล และได้ทราบข่าวว่า คุณหญิงอ้อ (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร) จะเข้าร่วมการประมูลด้วย ซึ่งเรื่องนี้พยานเคยให้การไว้ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แล้ว ว่า เป็นการไม่เหมาะสมถ้าจะมีภรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำสัญญา โดยส่วนตัวรับราชการมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่อยากเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการทำสัญญากับทางราชการเพราะอาจจะทำให้เกิดความสงสัยและเกิดความเสียหายในภายหลังได้

ต่อมาอัยการนำ นายอำนวย ธันธรา อดีต คตส.เข้าเบิกความ สรุปว่า พยานไม่ได้เป็นคณะอนุฯ ตรวจสอบและไต่สวนคดีนี้ โดยเมื่อคณะอนุฯ ตรวจสอบและไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ได้สรุปสำนวนและเสนอความเห็นต่อที่ประชุม คตส.ซึ่ง คตส.มีความเห็นส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดีนี้และขอให้ริบทรัพย์ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า นิติกรรมการทำสัญญาซื้อขายที่ดินรัชดา เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นิติกรรมจึงต้องตกเป็นโมฆะ โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องกลับไปอยู่ในสถานะเดิม หมายความว่า ไม่มีการโอนขายที่ดิน ดังนั้น เงินที่ซื้อขายที่ดิน พยานเห็นว่าน่าจะริบไม่ได้

จากนั้นอัยการนำ นายเกริก วณิกกุล เจ้าหน้าที่ ธปท.อดีตผู้จัดการกองทุน ปี 2545 เข้าเบิกความสรุปว่า ที่ดินรัชดาเดิมเป็นของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอราวัณ ทรัสต์ เมื่อปี 2538 ที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อโอนมาเป็นของกองทุน แล้วมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทเศษ เนื่องจากกองทุนได้นำเงินเข้าไปช่วยเหลือการสภาพคล่องของ เอราวัณทรัสต์ ให้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งถ้าหากเอราวัณทรัสต์ล้ม กองทุนก็จะเป็นเจ้าหนี้ด้วย ส่วนที่มูลค่าที่ดินลดลงจาก 2 พันล้าน ในปี 2544 เหลือเพียง 700 ล้านบาทเศษ นายเกริก เบิกความว่า โดยหลักการทางบัญชีเมื่อกองทุนได้สนับสนุนสภาพคล่อง เอราวัณทรัสต์ แต่กองทุนมีสองสถานะ ซึ่งนอกจากจะเป็นนิติบุคคลแล้ว อีกสถานะหนึ่งขึ้นตรงกับ ธปท.ซึ่ง ธปท.จะต้องถูกตรวจสอบบัญชีโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องแสดงตัวเลขหนี้สินทรัพย์ให้ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการทวงถามติดตามหนี้สินที่เกิดขึ้นที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหนี้สินอยู่กับกองทุนฯ 100 ล้านบาท แต่ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 50 ล้านบาท ก็จะเท่ากับว่ามูลค่าหนี้ที่แท้จริงเหลืออยู่ 50 ล้านบาท

นายเกริก เบิกความต่อว่า ส่วนการขายที่ดินครั้งที่สองที่กองทุนฯได้ทำการรวมโฉนดแปลงย่อย 13 แปลง เป็นโฉนดใหญ่ 4 แปลง เนื่องจากในการขายที่ดินครั้งแรก กองทุนพยายามขายแล้วแต่ไม่มีผู้ซื้อ จึงกลับมาคิดหาสาเหตุ ซึ่งคณะกรรมกองทุนฯส่วนหนึ่งเห็นว่า ตั้งราคาขายที่ดินสูงเกินไป และอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าน่าจะทำการรวมโฉนดที่ดินเพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ ดังนั้นคณะกรรมการจึงมีมติให้รวมโฉนด ซึ่งพยานเห็นว่าไม่ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เหมือนการรวมแบงก์ 100 บาท 5 ใบ เป็นแบงก์ 500 บาท 1 ใบ ส่วนเรื่องการวางเงินมัดจำซองประมูลที่ครั้งแรกกำหนดไว้เพียง 10 ล้านบาท แต่ครั้งที่ 2 เพิ่มวงเงินเป็น 100 ล้านบาทนั้น รายละเอียดพยานจำไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของมติกรรมการกองทุน ซึ่งการซื้อขายที่ดินทุกครั้งจะต้องมีการกำหนดราคากลางเสมอ อย่างไรก็ดีพยานจำไม่ได้ว่าหลังจากที่กองทุนขายที่ดินข้อพิพาทคดีนี้แล้ว ในการขายที่ดินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณฯ อีกแปลงที่ขายให้ อ.ส.ม.ท.จำนวน 50 ไร่ และที่ดินแปลงอื่นอีก 8 ครั้ง จะกำหนดการวางเงินมัดจำเท่ากับการขายที่ดินคดีนี้หรือไม่ รวมทั้งจำไม่ได้ว่าในส่วนของคณะกรรมการเปิดซองประมูลซื้อที่ดินคดีนี้จะมี นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นคณะกรรมการ หรือไม่

นายเกริก เบิกความด้วยว่า ในการลงชื่อซื้อซองประมูลราคา พบว่า มีนิติบุคคล 2 ราย และบุคคลธรรมดา 1 ราย โดยไม่มีการระบุว่ากระทำในนามแทนของบุคคลใดหรือมีชื่อของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีกฎหรือระเบียบใดระบุไว้ว่าผู้ลงชื่อซื้อซองกับผู้ยื่นซองประมูลราคาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกัน หรือกระทำแทนกันได้หรือไม่ ซึ่งก่อนการประมูล พยานเคยได้ยินข่าวจากวงนอกแว่วๆ ว่าภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าร่วมประมูลที่ดินด้วย โดยเรื่องนี้พยานได้ให้การต่อ คตส.แล้ว

ต่อมาอัยการนำ นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุน ช่วงปี 2549-2550 เข้าเบิกความสรุปว่า พยานเคยให้การต่อ คตส.ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแลกองทุน โดยตรง แต่เหตุที่พยานทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ เนื่องจาก คตส.ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ส่งเรื่องให้กองทุน และที่ประชุมกรรมการกองทุนฯ ให้พิจารณาร้องทุกข์ เพราะ คตส. เห็นว่า การเข้าประมูลซื้อขายที่ดินไม่ชอบด้วย กฎหมาย ม.100 (พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.) ตนในฐานะผู้จัดการกองทุนจึงเป็นผู้แทนเข้าร้องทุกข์

นายไพโรจน์ เบิกความว่า กองทุนอยู่ภายใน ธปท.ในส่วนของการดำเนินการจึงเป็นไปตามคำสั่ง ธปท. แต่ถ้าส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ก็จะปฏิบัติตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจนั้น ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์การวางซองมัดจำซื้อขายที่ดินพิพาทคดีนี้ ซึ่งต้องโอนเงินสดจำนวน 100 ล้านบาทเข้าบัญชีกองทุนฯ ส่วนที่ดินที่ขายให้ อ.ส.ม.ท.จำนวน 50 ไร่ ที่ให้วางเป็นแคชเชียร์เช็ค นั้น พยานเห็นว่าไม่มีปัญหาความแตกต่าง เพราะถึงจะวางเป็นแคชเชียร์เช็คก็จะต้องนำเข้าบัญชีเงินฝากกองทุนเช่นเดียวกัน ส่วนที่กองทุนจะได้ดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับธนาคาร

นายไพโรจน์ เบิกความต่อว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งขณะที่พยานเป็นผู้จัดการกองทุน ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เข้ามากำกับดูแลหรือสั่งการพยาน

ภายหลังศาลไต่สวนพยานโจทก์เสร็จสิ้นครบจำนวน 4 ปาก ตามบัญชีของอัยการโจกท์แล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 09.30 น.โดย นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะอัยการรับผิดชอบว่าความคดีนี้ กล่าวว่า ได้เชิญ นายนาม ยิ้มแย้ม อดีต ประธาน คตส.นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายสว่างจิต จายวัฒน์ ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ขณะเกิดเหตุ และ นายรุ่งเรือง โคกขุนทด เจ้าหน้าที่กองทุนขณะเกิดเหตุ เข้าเบิกความ

ภายหลัง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หลังพ้นตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ได้เข้าไปร่วมประมูลที่ดินรัชดาฯ ครั้งที่ 1 แต่ขอถอนตัวเนื่องจากเห็นว่าการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น อีกทั้งมีหุ้นส่วนหลายคนจึงจำเป็นต้องถอนตัว จึงทำให้เกิดการประมูลครั้งที่ 2 ตามมา ซึ่งตนรู้จากเจ้าหน้าที่ว่าคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประมูลด้วย

“ผมก็ตกใจเหมือนกันที่รู้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาร่วมประมูลด้วย ผมไม่ได้ถอนตัว เพราะรู้ว่าคุณหญิงพจมานร่วมประมูลด้วย แต่ถอนตัวออกมาก่อนแล้วถึงมาทราบภายหลัง ซึ่งตามหลักการที่รู้กันว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรทำหน้าที่ไป หากเอาเรื่องธุรกิจเข้ามาปะปนด้วยมันก็ไม่เหมาะสม และผมก็ไม่ทราบความในใจของผู้ซื้อที่ดินว่าจะเอาไปทำอะไร ที่ดินมีตั้งมากมายในโลก จะก่อให้มันยุ่งทำไม หากจะทำหน้าที่รัฐก็ทำ อย่าเข้ามายุ่งตรงนี้” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น