xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนที่ดินรัชดาฯนัดแรก8ก.ค.นี้ เปิดสำนวนคดี(ฉบับเต็ม)ส่ง“แม้ว-อ้อ”จ่อคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
รายงาน ......ปัจฉิมบทพันธกิจคตส. (4)

ผู้จัดการออนไลน์ - การทำหนังสือให้ความยินยอมพร้อมแนบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการทางการเมืองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เพื่อเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างกองทุนฯ กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ชัดว่า ทักษิณและภรรยา กระทำความตามกฎหมาย ป.ป.ช..ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


การตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พบพิรุธอันนำมาสู่การฟ้องอาญาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา โดยสรุป คือ

หนึ่ง การปรับลดราคาที่ดินลง ก่อนการเปิดประมูล จาก 2,140 ล้านบาท เหลือ 754 ล้านบาท

สอง การล้มประมูลทางอินเตอร์เน็ตในรอบแรก เพราะผู้เข้าร่วมประมูลไม่เสนอราคามาให้กองทุนฯพิจารณา

สาม การประมูลรอบใหม่ ไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ ผลประมูลคุณหญิงพจมาน ชนะด้วยราคาเสนอสูงสุดจากผู้ร่วมเสนอราคา 3 ราย

สี่ พ.ต. ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ทำหนังสือให้ความยินยอมพร้อมแนบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการทางการเมืองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างกองทุนฯ กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ห้า กทม.ได้ยกเลิกข้อห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บริเวณที่ดินรัชดาฯ ที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซื้อมาจากกองทุนฯ

คดีดังกล่าว คตส. ได้สรุปขั้นตอนการทำงานตาม สำนวน คตส. ที่ 004/2550  กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก รวม 2 คน กระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) พร้อมกับส่งให้ อัยการสูงสุด ดำเนินการฟ้องร้อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 อัยการสูงสุด เป็นโจกท์ฟ้อง
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย
เรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ โดยมีขั้นตอนและข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมการตรวจสอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ตามคำสั่งที่ 10/2549   ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2549

๒. คณะอนุกรรมการตรวจสอบสรุปความเห็นเสนอว่า การกระทำของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  มาตรา 100 (1) และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

๓. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ผู้เสียหายได้ทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการาตรวจสอบ ตามหนังสือ ที่ สกท.168/2550  ลงวันที่ 16  มกราคม 2550 และ ที่ สกท.263/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550

๔. คณะกรรมการตรวจสอบมีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2550  เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในการเข้ามาทำสัญญาจะซื้อขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542  มาตรา 100 และความผิดอาญาตามกฎหมายอื่น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ คตส.004/2550 สั่ง ณ วันที่ 31 มกราคม 2550

๕. คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งให้พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตามหนังสือ ที่ ตผ(คตศ.) 04/10/448 ลงวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2550และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตามหนังสือ ที่ ตผ(คตศ.) 04/10/449 ลงวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม 2550 และชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550

๖. คณะอนุกรรมการตรวจสอบและไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด คือ พยานบุคคล 24 อันดับ รวมเอกสารจำนวน 180 แผ่น พยานเอกสาร 99 อันดับ รวมเอกสารจำนวน 1,568 แผ่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 38 อันดับ รวมเอกสาร 222 แผ่น บันทึกการทำงาน 32 อันดับ รวมเอกสาร 130 แผ่น สรุปความเห็นของอนุกรรมการไต่สวน รวมเอกสาร 92 แผ่น คำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา 6 อันดับ รวมเอกสาร 1เล่ม และ 46 แผ่น พยานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา 1 อันดับ รวมเอกสาร 13 แผ่น พยานเอกสารส่วนของผู้ถูกกล่าวหา 33 อันดับ รวมเอกสาร 8 เล่ม และ 183 แผ่น

***พิรุธปรับลดราคาที่ดินก่อนเปิดประมูล

คณะอนุกรรมการไต่สวนสรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนว่า กองทุนฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง กองทุนฯ เข้าซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 เป็นที่ดินของบริษัทเงินทุนเอราวัณ ทรัสต์ จำกัด จำนวน  2แปลง เป็นเงิน 4,889,379,500 บาท

แปลงแรกติดถนนศูนย์วัฒนธรรมรวม ๑๘ โฉนด เนื้อที่ รวม 85-3-65 ไร่ ราคา 2,749,040,000 บาท แปลงที่สองติดถนนเทียมร่วมมิตร รวม 13 โฉนด เนื้อที่รวม 35-2-69 ไร่ ราคา 2,140,357,500 บาท โฉนดเลขที่ 1877, 1878, 30645 , 30646,30647, 30648, 30649, 30650, 30651,30652, 30653, 30654 และเลขที่ 114949

เมื่อประมาณกลางปี 2544 กองทุนฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกทรัพย์สินรอการขายใหม่ทั้งหมดเพื่อรับรู้ผลการขาดทุน ราคาที่ดินปรับลดลง โดย
แปลงที่ 1 เดิมราคา 2,749 ล้านบาท คงเหลือราคา 1,310.10 ล้านบาท
แปลงที่ 2 เดิมราคา 2
,140.40 ล้านบาท คงเหลือราคา 754.50 ล้านบาท เป็นที่ดินที่ขายให้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

***ล้มประมูลทางอินเตอร์เน็ตรอบแรก

ต่อมา มีผู้ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงที่ 2 รวม 5 ราย กองทุนฯ จึงประกาศประมูลที่ดินดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 โดยกำหนดประมูลในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 เวลา 16.00  ถึง 16.30 นาฬิกา โดยผู้ประสงค์จะเข้าประมูลสามารถลงทะเบียนได้ในระหว่าง 15 ถึง 17 กรกฎาคม 2546 ที่บริษัทสามารถอินโฟร์มีเดีย จำกัด หรือที่กองทุนฯ ระหว่าง 9.00 ถึง 12.00 นาฬิกา โดยกำหนดราคาขั้นต่ำเป็นเงิน 870,000,000 บาท หรือราคาของกรมที่ดินบวกด้วยร้อยละ 15

การเปิดประมูลครั้งนี้ ปรากฏว่ามีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อที่ดินจำนวน 8 ราย แต่มีผู้ลงทะเบียนชำระเงินมัดจำการประมูล 10,000,000 บาท เพียง 3 ราย คือ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด มหาชน บริษัททองหล่อเรสซิเด้นท์ จำกัด และบริษัทแสนสิริ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เมื่อถึงกำหนดเวลาเสนอราคาผู้ลงทะเบียนทั้งสามรายไม่เสนอราคาประมูลมาให้พิจารณา กองทุนฯ จึงยกเลิกการประมูลที่ดินดังกล่าว

***เปิดประมูลรอบสองไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำ

หลังจากนั้นกองทุนฯ ได้ทำการรังวัดที่ดินเพื่อรวมโฉนดทั้ง 13 โฉนด และแบ่งแยกเป็น 4 โฉนด คงเหลือเนื้อที่รวม 33-0-78.9 ไร่ และได้ทำการประกาศขายที่ดินทั้ง 4 โฉนด โดยวิธีประกวดราคาครั้งที่ 1 ตามประกาศลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 กำหนดวันซื้อแบบระหว่างวันที่ 2 ถึง 8 ธันวาคม 2546 กำหนดยื่นซองในวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ระหว่างเวลา 9.30 ถึง 10.30 นาฬิกา กำหนดเปิดซองวันที่ 16 ธันวาคม 2546 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 4 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำเพื่อการยื่นซองประกวดราคาจำนวน 100 ล้านบาท ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (บาทเน็ต) ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ก่อนเวลา 12.00 นาฬิกา

ในการประกาศประมูลดังกล่าวไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ ปรากฏว่ามีผู้ซื้อแบบ 4 ราย ผู้ยื่นซองเสนอราคาจำนวน 3 ราย

บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด มหาชน โดยนายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 730 ล้านบาท

คุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยนายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 772 ล้านบาท

บริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จำกัด (มหาชน) โดยนายกีรติ คตะสุข ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 750 ล้านบาท

ผลการประมูล ปรากฏว่า คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจำนวน ๗๗๒ ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการจัดการกองทุน กองทุนฯ ได้ประชุมในวันเดียวกันและอนุมัติให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้ชนะการประมูล
 
โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายกับกองทุนฯ และได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายให้กับกองทุนฯ โดยนางสว่างจิตต์ ผู้จัดการกองทุนฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2546 กำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สินในวันที่ 29 ธันวาคม 2546 และได้มีการชำระราคาที่ดินให้กองทุนฯ ครบถ้วนก่อนวันที่ 29 ธันวาคม2546 

 แต่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินรวม 4 โฉนด และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินพร้อมส่งมอบที่ดินดังกล่าวในวันที่ 30 ธันวาคม 2546ระหว่าง กองทุนฯ โดย ว่าที่ร้อยโทรุ่งเรือง โคกขุนทด และ/หรือนายสุภร ดีพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจ กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยนายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจ

ในการจดทะเบียนพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมตามหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 พร้อมแนบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการการเมืองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นหลักฐานด้วย

***กทม.แก้ผังเมืองยกเลิกห้ามสร้างอาคารใหญ่

ในขณะที่มีการประกาศประกวดราคาขายที่ดินแปลงพิพาทนั้น ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 414  (พ.ศ.2542)ออกตามความในพระราชบัญญัติการผัง พ.ศ.2518 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท บริเวณโดยรอบศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในท้องที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2532 กำหนดพื้นที่ดินบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เยื้องสถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี ติดถนนเทียมร่วมมิตร เป็นที่ดินที่ห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ
 
และต่อมากรุงเทพมหานคร มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ซึ่งได้มีการยกเลิกข้อจำกัดในการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษบริเวณที่ดินที่พิพาท

คณะอนุกรรมการไต่สวน จึงมีความเห็นให้ดำเนินคดีแก่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2550

***ฟ้องผิดอาญา ริบที่ดินตกเป็นของหลวง

7. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีมติในการประชุมครั้งที่ 20/2550 วันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ให้เสนอคดีต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
โดยกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร คู่สมรส ร่วมกันกระทำการอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100 และ 122

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1, 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 และให้ริบเงินจำนวน ๗๗๒ ล้านบาท ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ชำระให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและสถาบันการเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดิน เพราะเป็นทรัพย์สินหรือเงินที่ใช้ในการกระทำความผิด

และส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ต่อไปว่าในการดำเนินการปรับลดราคาและการขายที่ดินแปลงนี้มีการกระทำที่เป็นความผิดในทางอาญาประกอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  และกฎหมายอื่นหรือไม่ อย่างไร ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดวินัยของเจ้าพนักงานในองค์การของรัฐหรือไม่ เห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป

และมีมติเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 11 มิถุนายน 2550 เพื่อให้ริบที่ดินซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด และหรือเพื่อให้ริบเงินที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓

***เหลี่ยม “แม้ว-อ้อ” ชิ่งหนีคดี

8. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ตามหนังสือ ที่ ตผ (คตส.) 04/10/497

9. อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขดำที่ อม.1/2550 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน เรื่อง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องพิจารณาคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

10. วันที่ 26 มิถุนายน 2550 ศาลได้ตรวจคำฟ้องแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องระบุที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ว่าอยู่บ้านเลขที่ 472 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ ๒ อยู่บ้านเลขที่ 526 ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

แต่ปรากฏข้อเท็จจริงทางสื่อมวลชนว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องและขณะนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ที่อยู่ของจำเลยทั้งสองที่ระบุในฟ้องจึงมิใช่ ที่อยู่จริง เห็นว่า ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 วรรคสอง กำหนดว่า หากโจทก์ไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้อง คดีนี้โจทก์ไม่ได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล โจทก์จึงต้องระบุที่อยู่จริงของจำเลยทั้งสองมาในฟ้อง จึงให้โจทก์แถลงที่อยู่ของจำเลยทั้งสองต่อศาลภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 มิฉะนั้นศาลอาจมีคำสั่งไม่รับฟ้อง

11. วันที่ 9 กรกฎาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องยืนยันว่าจำเลยทั้งสองยังคงมี ถิ่นที่อยู่จริงตามคำฟ้องของโจทก์ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๒๙ ส่วนที่อยู่ในต่างประเทศเป็นเพียงที่พักชั่วคราวในระหว่างที่ยังมิได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยทั้งสองยังคงใช้ที่อยู่จริงตามฟ้องของโจทก์ในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง นัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 14 สิงหาคม 2550 เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550

***ศาลออกหมายจับจำเลยทั้งสอง

12. วันที่ 14 สิงหาคม 2550 โจทก์และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล แต่จำเลยทั้งสองไม่มาศาล ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลรวม 3 ฉบับ ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่สั่งว่าภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองในคำฟ้องเป็นที่อยู่จริง และขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองใหม่ตามที่อยู่จริงในประเทศอังกฤษ และให้มีคำสั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรก กับขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีออกไป ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้ง 3 ฉบับ และให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองตามคำขอของโจทก์ และนัดฟังผลการดำเนินการตามหมายจับและนัดพิจารณาคดีครั้งแรกใหม่วันที่ 25 กันยายน 2550

13. วันที่ 25 กันยายน 2550 นัดพิจารณาครั้งแรก โจทก์และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล แต่จำเลยทั้งสองไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ฟ้องโดยมิได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาลในวันฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง และให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองตามที่อยู่ในคำฟ้อง จำเลยทั้งสองทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล จำเลยจึงยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในอำนาจศาล ศาลไม่อาจดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้ตัวจำเลยทั้งสอง จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

***จำเลยมอบตัว ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

14. วันที่ 23 มกราคม 2551 นัดพิจารณาครั้งแรกสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2 มาศาล จำเลยยื่นคำร้องขอเวลาตรวจและคัดสำเนาเอกสารเพื่อจัดทำคำให้การ และขอให้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นเวลา 90 วัน ศาลมีคำสั่งให้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 และวันที่ 30 เมษายน 2551 เวลา 10.00 นาฬิกา

15. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ ๑ มาส่งศาลตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้ยกคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ขึ้นพิจารณาต่อไป อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 1 ชั่วคราว กำหนดนัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 12 มีนาคม 2551 เวลา 9.30 นาฬิกา

***ศาลไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก 8 ก.ค.นี้

16. วันที่ 12 มีนาคม 2551 นัดพิจารณาครั้งแรกสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาลับหลังจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต ให้นัดตรวจพยานหลักฐานพร้อมกับจำเลยที่ 2 ในวันที่ 29 และวันที่ 30 เมษายน 2551 เวลา 10.00 นาฬิกา

17. วันที่ 29 เมษายน 2551 นัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต ให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตรวจสอบพยานหลักฐานของอีกฝ่าย หากประสงค์จะโต้แย้งพยานหลักฐานใดให้แถลงประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งต้องการโต้แย้งภายในวันที่ 30 เมษายน 2551

18. วันที่ 30 เมษายน 2551 นัดตรวจพยานหลักฐานต่อ โจทก์ และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มาศาล ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ในวันที่ 8, 15, 22,25 และวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 เวลา 9.30 นาฬิกา นัดไต่สวนพยานจำเลย ทั้งสองวันที่ 1,5,15,19 และวันที่ 22 สิงหาคม 2551 เวลา 9.30 นาฬิกา และให้นัดไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมไว้ในวันที่ 26,29 สิงหาคม 2551 และวันที่ 2 กันยายน 2551 และนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์จำเลยทั้งสองแถลงประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2551

////////////////////

หมายเหตุ - ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 100 ระบุว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี....”

เนื้อความในมาตรา 100 ยังระบุว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

สำหรับประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการกิจการตามความในมาตรา 100 ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ลงนามโดยนายโอภาส อรุณินท์ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2544 ได้กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามฯ มีดังต่อไปนี้ 1. นายกรัฐมนตรี 2. รัฐมนตรี

ตามมาตรา 100 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
กำลังโหลดความคิดเห็น