xs
xsm
sm
md
lg

"แม้ว" ยื่นตีความกฎหมาย ปปช.ยื้อเวลาเข้าคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลฎีกาคดีที่ดินรัชดาฯให้โอกาส "แม้ว" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กฎหมาย ป.ป.ช.จำกัดสิทธินักการเมืองทำสัญญากับรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก 8 ก.ค.นี้ ด้าน คตส.เผยแม้จะหมดวาระการทำงาน แต่จะยังติดตามผลคดี ขณะที่ "บิ๊กบัง" ให้จับตาดูการโยกย้ายทหาร ต.ค.นี้ จะมีผลต่อ "คดีทักษิณ"

เมื่อเวลา 11.30 น.วานนี้ (1 ก.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก หมายเลขดำที่ อม.1/2550 พร้อมองค์คณะทั้ง 9 คน นัดพร้อมคู่ความ คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น

เนื่องด้วยกิจการนั้นเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ.ว่า ด้วย ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ลงวันที่ 30 ก.ย.49 ขอให้ศาลสั่งริบเงินจำนวน 772 ล้านบาท

โดยศาลได้อ่านคำสั่งที่จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มิ.ย.51 โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยรวม 6 ข้อ

องค์คณะผู้พิพากษาพิเคราะห์คำร้องของจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า คำร้องข้อ 1. ที่โต้แย้งว่า บทบัญญัติ ม.100 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ขัดหรือแย้งกับ ม.50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือขัดแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.43 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ ม.6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้) และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงให้ส่งเรื่องไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

คำร้องของจำเลย ข้อ 2 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่เป็นคำปรารภและ ม.1-133 และ ม.4, ม.100 และ ม.144 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ขัดหรือแย้งกับ ม.29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น เห็นว่า คำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ยกเว้นบทบัญญัติ ม.4, ม.100 และ ม.122 ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้ จึงไม่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

คำร้องของจำเลยทั้งสอง คงมีเพียงข้อโต้แย้งที่ว่า ม.4, ม.100 และ ม.122 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.29 (โดยเนื้อหาคำร้องขอให้วินิจฉัย ม.26-28, ม.39 และ ม.43) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่เท่านั้น ที่เป็นการโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ ม.6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

ส่วนคำร้องของจำเลยในข้อ 3-6 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ข้อ 2 และ ข้อ 5 ขัดหรือแย้งกับ ม.3, ม.29-30 และ ม.39 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น ศาลนี้ได้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในคดีหมายดำที่ อม.1/2551 (คดีหวยบนดิน) แล้ว และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ลงวันที่ 30 ก.ย.49 มิได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิ.ย.51 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ม.211 ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

ดังนั้น จึงให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติ ม.4, ม.100 และ ม.122 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯที่ระบุว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนเองกำกับดูแล ขัดหรือแย้งกับ ม.29 และ ม.50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.26, ม.27, ม.28, ม.39 และ ม.43 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการและเข้าแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ โดยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.211 ระบุว่า ในระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ดำเนินกระบวนการไต่สวนพยานโจทก์ต่อไปตามกำหนดนัดเดิมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมกันนี้ องค์คณะผู้พิพากษาได้กำชับให้คู่ความเตรียมพยานให้พร้อมเข้าไต่สวนตามกำหนดนัด หากพยานรายใดไม่มาให้เตรียมพยานปากอื่นเข้าเบิกความ โดยศาลจะพิจารณาดำเนินการไต่สวนตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

ทีมทนายชุดใหม่พร้อมสู้

ภายหลัง นายเอนก คำชุ่ม ทนายความ กล่าวว่าได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้รับผิดชอบว่าความคดีนี้ร่วมกับนายคำนวน ชโลปถัมป์ ซึ่งได้ยื่นคำถามค้านพยานโจทก์ และคำถามพยานจำเลยให้ศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 8 ก.ค.นี้ ทราบว่าอัยการจะนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใดบ้าง แต่ไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องรับผิดชอบคดีนี้ เพราะตนเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารหลักฐานคดีนี้ตั้งแต่แรก ได้อ่านเอกสารหลักฐานทั้งของ คตส. และอัยการหมดแล้ว จึงรู้ว่าคดีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ทำผิดหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ทุกวันนี้คนคิดไปเอง อยากให้อดใจรอฟังคำตัดสินของศาลดีกว่า

ด้าน นายคำนวน กล่าวว่า ตนและเพื่อนทีมทนายความในคดีนี้ได้เตรียมพร้อมต่อสู้คดีมาเป็นอย่างดี และจะนำเสนอข้อเท็จจริงในคดีนี้ให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป

อัยการยันประวิงคดีไม่ได้

ขณะที่นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการเขต 8 คณะทำงานอัยการคดีนี้ กล่าวว่า อัยการไม่ทราบมาก่อนว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อสู้ประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลไม่ได้สำเนาคำร้องให้ทราบ ก็เป็นสิทธิที่จำเลยจะต่อสู้ ส่วนตัวไม่แปลกใจ เพราะประเด็นที่จำเลยสู้เป็นเรื่องอ้างถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่แรก แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถประวิงคดีได้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งไต่สวนตามกำหนดนัดเดิม ส่วนพยานอัยการเตรียมความพร้อมเข้าสืบครบ 22 ปากตามที่แจ้งต่อศาล

ด้าน นายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กล่าวว่า ขณะนี้แผนกฯได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 (หวยบนดิน) แล้ว และเตรียมประสานเพื่อแจ้งให้องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนทราบ เพื่อประชุมและนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ต่อไป

คตส.ยังติดตามผลงานทุกคดี

นายสัก กอแสงเรือง อดีตโฆษก คตส. กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าคตส. จะหมดอายุการทำงานตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา และงานตรวจสอบคดีต่างๆจะถูกโอนต่อไปให้ ป.ป.ช. รับผิดชอบต่อแล้ว แต่อดีตกรรมการ คตส. ทุกคนก็ยังจะคอยติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบคดีต่างๆอยู่ และจะมีการนัดพบปะกันเดือนละครั้งทุกวันจันทร์แรกของเดือน โดยมีนัดหมายครั้งแรกในวันที่ 7 ก.ค.นี้ เวลา 18.00 น. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยายกาศการจัดงานเลี้ยงขอบคุณ และอำลา กรรมการคตส. ในช่วงค่ำวันที่ 30 มิ.ย. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ที่ทาง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จัดขึ้นเป็นเกียรติให้ คตส. เป็นไปด้วยความชื่นมื่น โดยนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส. ถูกจัดให้นั่งอยู่ติดกับพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. คุณหญิงจารุรวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. และอดีตกรรมการ คตส. ถูกจัดให้นั่งติดกับพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตเลขาธิการ คมช. ส่วนนายสัก กอแสงเรือง โฆษกคตส. ถูกจัดให้นั่งติดกับพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. อดีตรักษาการประธาน คมช.

ทั้งนี้ บรรยายกาศการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางการเมืองหลายเรื่อง โดยมีช่วงหนึ่ง มีกรรมการ คตส.บางคน ได้สอบถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร พล.อ.สนธิ ได้ตอบคำถามว่าสถานการณ์ ยังไม่ดีนัก พร้อมระบุว่า ขอให้จับตาดูในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่นายทหารระดับสูงหลายคนที่เคยเป็นอดีตสมาชิกคมช. และคุมกำลังสำคัญในกองทัพจะเกษียณอายุราชการ

"ผมคิดว่า คดีต่างๆ ของ คตส. น่าจะได้ข้อยุติก่อนเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีการโยกย้ายนายทหารระดับสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้เปรียบ เพราะสามารถควบคุมกำลังในกองทัพไว้ได้หมดแล้ว" แหล่งข่าวอ้างพูดของ พล.อ.สนธิ บนโต๊ะอาหาร

อสส.อ้างเหตุตีกลับสำนวนคดี

รายงานข่าวจากอัยการสูงสุดแจ้งว่า เหตุผลสำคัญที่อัยการต้องส่งคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้องคืนให้กับ คตส. เป็นเพราะว่าภายหลังการตรวจสอบสำนวนพบว่า ในช่วงที่ คตส. ส่งสำนวนเรื่องนี้ มาให้ ศาลฎีกาฯ ได้ส่งปัญหาข้อกฎหมายให้ศาลรธน.วินิจฉัย เรื่องสถานะ และการต่ออายุของ คตส. ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรธน. จะมีผลผูกพันทุกคดีที่ คตส. ส่งสำนวนมาให้อัยการพิจารณา อัยการจึงเห็นว่าน่าจะรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลวินิจฉัย

ส่วนความไม่สมบูรณ์ของสำนวนการไต่สวนคดีนี้ ที่อัยการตรวจพบ ก็มีหลายประเด็น อาทิ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ผู้ถูกกล่าวหามีทรัยพ์สิน คือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป โดยผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นอยู่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 44 และยังถือครองต่อเนื่องในนามบุคคลอื่นตลอดมา จนถึงวันที่ 23 ม.ค. 49 จึงได้ขายให้กับบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทแอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 1..4 พันหุ้นๆละ 49.25 บาท เป็นเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งการที่ คตส. กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ากระทำการต่าง เพื่อใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตนเอง จนได้ทรัยพ์สินสืบเนื่องมาจากการทำหน้าที่

ทางอัยการจึงมองว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แบ่งได้เป็นหลายช่วงเวลาที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง และแต่ละช่วง ก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องหุ้น หรือมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละช่วงเวลา ทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง และหลังพ้นจากตำแหน่ง โดยตามข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ ต่อกิจการของบริษัทชินคอร์ปฯ ในแต่ละกรณีว่ามีการเปลี่ยนแปลงของหุ้น และมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หรือลดลงผิดปกติอย่างไร เป็นจำนวนเพียงใด มีหุ้นและมูลค่าทรัพย์สินผิดปกติอย่างไร

นอกจากนี้ ในส่วนของพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ถือหุ้น 20 ล้านหุ้น ในชินคอร์ป แทนพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ปรากฎชัดเจน และกรณีที่ คตส.มีคำสั่งอายัดเงิน และทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาในนามของบุคคลต่างๆ จากสถาบันการเงินรวม 15 คำสั่ง เป็นเงิน 6.6 หมื่นล้านบาทในขณะที่ คตส.ระบุไว้ในสำนวนการสอบสวนว่า ข้อให้ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

ซึ่งตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคีดของศาลฎีกาฯ ระบุว่า ในการยื่นเรื่องคำร้องคดีนี้ จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครอง หรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะยื่นคำร้องด้วย แต่ปรากฎว่า ทรัพย์สินในส่วนที่ คตส.ไม่ได้อายัดไว้ ชั่วคราวจำนวน 9.8 พันล้านบาท ไม่ได้แจ้งรายละเอียดตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดดังกล่าว

จับตา"สปิริต" 3 รมต.คดีหวย

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคดีหวยบนดิน ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า คตส.มีอำนาจในการดำเนินคดีต่อได้ว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กระบวนการก็เดินต่อไป เมื่อถามว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คนคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็เดินไป หากศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้อง ค่อยว่ากันอีกที

เมื่อถามว่า ในทางกฎหมายหากศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้อง แม้จะอยู่ในตำแหน่งคนละวาระ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูกฎหมาย เป็นเรื่องอนาคต ส่วนจะส่งตีความในปัญหาตรงนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องถาม รมต.ทั้ง 3 ท่าน เมื่อถามว่าไม่ใช่หน้าที่ของครม. แต่เป็นหน้าที่ของ 3 รมต. ใช่ไหม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น