xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” ยื้อเวลาเข้าคุก อ้างกฎหมาย ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ศาลฎีกาคดีที่ดินรัชดาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำฟ้องอัยการโจทก์ อ้างกฎหมาย ป.ป.ช.จำกัดสิทธินักการเมืองทำสัญญากับรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องเสรีภาพการประกอบการโดยเสรีหรือไม่ ระหว่างรอผลวินิจฉัยให้ไต่สวนไปก่อนเริ่มไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก 8 ก.ค.นี้

วันนี้ (1 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก หมายดำที่ อม.1/2550 พร้อมองค์คณะทั้ง 9 คน นัดพร้อมคู่ความ คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ขอให้ศาลสั่งริบเงินจำนวน 772 ล้านบาท

โดยในวันนี้ ศาลได้อ่านคำสั่งที่จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มิ.ย.51 โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยรวม 6 ข้อ

โดยองค์คณะผู้พิพากษาพิเคราะห์คำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแล้ว เห็นว่า คำร้องในข้อ 1.ที่โต้แย้งว่า บทบัญญัติ ม.100 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ขัดหรือแย้งกับ ม.50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือขัดแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.43 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ ม.6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้) และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงให้ส่งเรื่องไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

คำร้องของจำเลย ข้อ 2 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่เป็นคำปรารภและ ม.1-133 และ ม.4, ม.100 และ ม.144 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ขัดหรือแย้งกับ ม.29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น เห็นว่าคำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ยกเว้นบทบัญญัติ ม.4, ม.100 และ ม.122 ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้ จึงไม่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

คำร้องของจำเลยทั้งสอง คงมีเพียงข้อโต้แย้ง ที่ว่า ม.4, ม.100 และ ม.122 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.29 (โดยเนื้อหาคำร้องขอให้วินิจฉัย ม.26-28, ม.39 และ ม.43) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่เท่านั้น ที่เป็นการโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ ม.6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

ส่วนคำร้องของจำเลยทั้งสองในข้อ 3-6 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ข้อ 2 และ ข้อ 5 ขัดหรือแย้งกับ ม.3, ม.29-30 และ ม.39 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น ศาลนี้ได้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในคดีหมายดำที่ อม.1/2551 (คดีหวยบนดิน) แล้ว และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 มิได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ม.211 ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

ดังนั้น จึงให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติ ม.4, ม.100 และ ม.122 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ที่ระบุว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนเองกำกับดูแล ขัดหรือแย้งกับ ม.29 และ ม.50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขัดหรือแย้งกับ ม.3 และ ม.38 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และขัดหรือแย้งกับ ม.26, ม.27, ม.28, ม.39 และ ม.43 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการและเข้าแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ โดยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.211 ระบุว่า ในระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ดำเนินกระบวนการไต่สวนพยานโจทก์ต่อไปตามกำหนดนัดเดิมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมกันนี้ องค์คณะผู้พิพากษาได้กำชับให้คู่ความเตรียมพยานให้พร้อมเข้าไต่สวนตามกำหนดนัด หากพยานรายใดไม่มาให้เตรียมพยานปากอื่นเข้าเบิกความ โดยศาลจะพิจารณาดำเนินการไต่สวนตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

ภายหลัง นายเอนก คำชุ่ม ทนายความ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้รับผิดชอบว่าความคดีนี้ร่วมกับนายคำนวน ชโลปถัมป์ ซึ่งในวันนี้ได้ยื่นคำถามค้านพยานโจทก์ และคำถามพยานจำเลยให้ศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 8 ก.ค.นี้ทราบว่าอัยการจะนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใดบ้าง อย่างไรก็ตามไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องรับผิดชอบคดีนี้เพราะตนเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารหลักฐานคดีนี้ตั้งแต่แรก ได้อ่านเอกสารหลักฐานทั้งของ คตส. และอัยการหมดแล้ว จึงรู้ว่าคดีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ทำผิดหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ทุกวันนี้คนคิดไปเอง อยากให้อดใจรอฟังคำตัดสินของศาลดีกว่า

นายเอนก กล่าวถึงการยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งประเด็นข้อกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยตีความ ว่า นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ ได้ยื่นต่อศาลไว้ก่อนหน้านี้รวม 6 ประเด็น ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็น กฎหมายบางมาตราของ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ แต่ให้ยกคำร้องประเด็นประกาศ คปค.ฉบับ 30 เรื่อง คตส. เพราะศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายคำนวน กล่าวว่า ตนและเพื่อนทีมทนายความในคดีนี้ได้เตรียมพร้อมต่อสู้คดีมาเป็นอย่างดี และจะนำเสนอข้อเท็จจริงในคดีนี้ให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป

ขณะที่ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการเขต 8 คณะทำงานอัยการคดีนี้ กล่าวว่า อัยการไม่ทราบมาก่อนว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อสู้ประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลไม่ได้สำเนาคำร้องให้ทราบ ก็เป็นสิทธิที่จำเลยจะต่อสู้ ส่วนตัวไม่แปลกใจเพราะประเด็นที่จำเลยสู้เป็นเรื่องอ้างถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่แรก แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถประวิงคดีได้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งไต่สวนตามกำหนดนัดเดิม ส่วนพยานอัยการเตรียมความพร้อมเข้าสืบครบ 22 ปากตามที่แจ้งต่อศาล

ด้าน นายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กล่าวว่า ขณะนี้แผนกฯ ได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 (หวยบนดิน) แล้ว และเตรียมประสานเพื่อแจ้งให้องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนทราบเพื่อประชุมและนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น