xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจี้ตำรวจ!! สางคดีสินบน 2 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายพิชิฎ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ผู้พิพากษาศาลฎีกาจี้ตำรวจ-อัยการ สอบคดีสินบนเจ้าหน้าที่ 2 ล้าน หลังตำรวจรีบออกตัวขาดองค์ประกอบโน้มน้าวใจทำผิด ยันผู้พิพากษาทั่วประเทศติดตาม พิสูจน์ความจริงใจตำรวจ ยกคดี หมอฆ่าเมีย ไม่มีประจักษ์พยาน อาศัยพยานแวดล้อมพฤติการณ์เชื่อมโยง ก็เอาผิดได้

จากกรณีสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มอบหมายให้ตัวแทนเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดีกับ นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และ นายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี ญาติสนิทคุณหญิงพจมาน ข้อหาสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ม.144 และความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน หลังจากที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกทั้ง 3 คน เป็นเวลาคนละ 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีนำถุงขนมสอดไส้เงินสด 2 ล้านบาทมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกา ซึ่งก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมา ระบุว่า ยังไม่มีการโน้มน้าวให้กระทำผิดกฎหมายในการล้มคดี ทำให้ขาดเจตนา จึงอาจไม่เข้าองค์ประกอบข้อกฎหมายนั้น

ล่าสุด วันนี้ (29 มิ.ย.) แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า การดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้จะต้องอาศัยความเชื่อมโยงของพยานหลักฐาน และดูพฤติการณ์ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด รวมทั้งเส้นทางการเงินว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งน่าสังเกตว่า เหตุที่เกิดนั้น เกิดขึ้นในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมาศาล ซึ่งทีมทนายความที่กระทำละเมิดอำนาจศาล ก็เป็นทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็ถูกฟ้องเป็นจำเลย คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยหลังจากรวบรวมหลักฐานแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประมวลความเป็นไปได้ว่ามีเหตุการณ์ให้สินบนเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าการสอบสวนพบว่าพยานหลักฐานรวมทั้งพฤติการณ์ที่ปรากฏเชื่อได้ถึงครึ่งหนึ่งก็ต้องฟ้อง อย่าบอกว่าไม่มีประจักษ์พยาน

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวว่า คดีการให้สินบนเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีประจักษ์พยาน แต่การดำเนินคดีก็ยังสามารถทำได้ด้วยการประมวลหลักฐานพยานแวดล้อมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเหมือนตัวอย่างคดีศาลพิพากษาประหารชีวิต นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ฆ่าภรรยาตนเอง ที่ไม่มีประจักษ์พยานแต่ก็สามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาล และในที่สุดศาลพิพากษา การทำคดีลักษณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามรวบรวมหลักฐานหลังจากที่ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่วันสองวันที่ได้รับแจ้งความแล้ว ออกมาบอกว่า ไม่น่าจะดำเนินคดีฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ได้

“คดีนี้ผู้เสียหายเป็นศาลฎีกา ถือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ซึ่งผู้พิพากษาทั่วประเทศก็เฝ้าติดตามการดำเนินคดีว่าจะออกมาอย่างไร ในชั้นการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ จะมีทิศทางอย่างไรในการดำเนินคดีนี้ การที่ศาลมีคำสั่งให้แจ้งความดำเนินคดีก็น่าจะสังเกตได้ว่าศาลต้องเชื่อมั่นอะไรบางอย่าง จึงเป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ความสามารถ ความจริงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฎิบัติหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม” แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น