xs
xsm
sm
md
lg

TSDเร่งปรับตัวรองรับเปิดเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ เตรียมปรับตัวรองรับก.ล.ต.เปิดเสรีอนาคต เล็งรับชำระราคากองทุนรวม-นายทะเบียนบริษัทนอกตลาด บริษัทย่อยของบจ.สร้างรายได้เพิ่ม พร้อมตั้งเป็นองค์กรอิสระแยกออกจากลุ่มบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ด้าน "ภัทรียา" ลั่นไม่แยกศูนย์รับฝาก เหตุเพื่อทำหน้าที่บริการได้ครบวงจร "โสภาวดี"แย้มเตรียมหารายได้เพิ่ม เล็งรับเคลียริ่งให้กองทุนรวม คาดรายได้ปีนี้ 900 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของรายได้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะมีการเปิดเสรีใบอนุญาตบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ TSD ในการดำเนินธุรกิจรับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี รวมทั้งการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการเปิดให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงค่าบริการที่ต่ำ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ แยกตัวออกมาจากการเป็นบริษัทในเครือของบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่มีการกับดูแลของก.ล.ต. ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อที่อนาคตเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯมีการแปรรูปขายหุ้นไปแล้วจะจะมีการเปิดให้มีตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งใหม่เกิดขึ้นนั้น ทางศูนย์รับฝากฯ จะสามารถให้บริการแก่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งใหม่
"หลังจากเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว ในอนาคตน่าจะมีการเตรียมการรองรับเปิดเสรีธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ (Exchange) รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และสำนักหักบัญชีเป็นต้น ซึ่งเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก.ล.ต.ได้มีการบอกให้ทาง TSD ปรับตัวรองรับอนาคตเปิดเสรี" แหล่งข่าวกล่าวว่า
สำหรับบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่มีบางประเทศที่มีการแยกออกจากตลาดลักทรัพย์ฯ เช่น ประเทศฝรั่งเศส หรือ แคนาดา และในประเทศเหล่านี้ ยังมีบริษัทรับฝากหลักทรัพย์ และสำนักหักบัญชี เปิดให้บริการหลายบริษัทด้วยกัน โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจการเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นธนาคาร หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่แยก TSD ออกจากกลุ่มบริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้องการรวมเรื่องการให้บริการที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ ดีกว่าแยกออกไป ซึ่งประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียนั้นยังมีการรวม TSD เป็นบริษัทในเครือของตลาดหลักทรัพย์เป็นกลุ่มเดียวกัน แม้ว่าในประเทศยุโรปบางประเทศได้มีการแยก TSD ออกมาจากกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในอนาคตนั้นไม่ทราบ
"ขั้นต้นนี้มองว่าควรที่จะรวม TSD อยู่ในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อที่รวมการให้บริการที่ดีแก่กับผู้ใช้บริการดีกว่าแยกออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่อนาคตยังไม่ทราบแน่ชัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบของการบริหาร"นางภัทรียา กล่าวว่า
ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เปิดเผยว่า ทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จะต้องมีการปรับตัวรองรับกับอนาคตหากจะมีการเปิดเสรีผู้ให้บริการด้านการรับฝากหลักทรัพย์ ที่จะมีคู่แข่งมากขึ้นในอนาคต ซึ่งทาง TSD จะมีการหารายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น เช่น การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์แก่บริษัทที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน
ทั้งนี้ปัจจุบันให้บริการอยู่แล้วประมาณ 20 ราย โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 430 บาท ต่อทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในขณะที่ได้ผ่อนปรนสำหรับบริษัทจดทะเบียนโดยมีการคิดค่าธรรมเนียมสูงสุดที่ 5 ล้านบาท และมีแนวคิดที่จะรับทำหน้าที่ในการชำระราคาและส่งมอบ (เคลียริ่ง) แก่กองทุนรวมจากที่กองทุนดังกล่าวมีอยู่จำนวนมาก
สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 900 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของโครงสร้างรายได้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้วมีรายได้ 800 ล้านบาท เพราะโดยปกติการเติบโตรายได้ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์จะเป็นไปอย่างช้า
โดยรายได้หลักของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ คือการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และกองทุน โดยให้บริการงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การฝากหลักทรัพย์โดยระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ การเป็นสำนักหักบัญชี ซึ่ง เป็นศูนย์กลางในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอนุพันธ์ ตลาตราสารหนี้ และที่ซื้อขายนอกตลาด (OTC) นอกจากนี้ ยังให้บริการเป็นศูนย์ปฏิบัติการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ แก่บริษัทหลักทรัพย์อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น