xs
xsm
sm
md
lg

คำฟ้องย้ำผิด “แม้ว” โคตรโกงแก้ไขค่าสัมปทาน “มือถือ-ดาวเทียม” เอื้อชินฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อสส.ยื่นฟ้อง “ทักษิณ” ต่อศาลฎีกานักการเมือง ฐานทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อธุรกิจชินคอร์ป ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้าน

วันนี้ (11 ก.ค.) เวลา 11.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 3 ลัง 20 แฟ้ม รวม 19,933 แผ่น พร้อมความเห็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ที่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาฯ

ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ม.11 โดยจำเลยในฐานะนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นในฝ่ายบริหารที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใด รวมทั้งองค์การของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นข้าราชการและพนักงานในองค์การรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจำเลยในฐานะนายกฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

โดยในส่วนของการจัดการดูแลกิจการโทรคมนาคม จำเลยมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ม.11 ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในการสั่งราชการส่วนกลาง ชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติ ครม. ซึ่งตาม ม.7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กระทรวง เป็นการจัดการบริหารราชการส่วนกลาง และ ม.20 ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ม.24 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ และตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ม. 10 กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง การบริหารทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฏหมาย จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการกระทรวงการคลังผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบริหารราชการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที นอกจากนี้จำเลยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม ม.100 ซึ่งต่อมายังได้มีประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการตามบทบัญญัติ ม.100

โดยคดีนี้ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2548 และระหว่างวันที่ 9 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟล์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด, บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกบริษัทดังกล่าวต่างเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐและเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ โดยจำเลยอำพรางการถือหุ้นไว้ด้วยการให้บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด, บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นของจำเลย โดยมี นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่คู่สมรส มีชื่อถือหุ้นแทน

โดยระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต ผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที ได้ปฏิบัติหรือและเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และมติ ครม.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท.รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท

นอกจากนี้ จำเลยไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ป ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.

คดีนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ม.100, 122 และ เป็นความผิด ตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ

โดยระหว่างไต่สวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้อง เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลนี้แล้ว โดยจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งคดีนี้โจทก์มีนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ขณะนั้น) นายสัญญา วรัญญู นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เป็นพยานยื่นยันการถือหุ้นและปิดบังอำพรางการถือหุ้นของจำเลยใน บมจ.ชินคอร์ป และมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ นายสมหมาย ภาษี เป็นพยานยืนยันการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและบุคคลอื่น ประกอบพยานเอกสารที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ โดยโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนต่อไปประธานศาลฎีกา จะกำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เพื่อรับผิดชอบพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เมื่อได้องค์คณะทั้ง 9 คนแล้ว องค์คณะจะประชุมพิจารณาเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมตรวจสำนวนคำฟ้อง เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งว่ารับหรือไม่รับฟ้องคดี หรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น