xs
xsm
sm
md
lg

อานันท์ชี้พิรุธกรมสรรพากรมีไอ้โม่งชักใย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - อัยการสูงสุดยื่นแล้ว คำร้องศาลฎีกานักการเมืองยึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน เตรียมประชุมใหญ่เลือกองค์คณะก่อนนัดวันสั่งคดี อธิบดีกรมสรรพากรประชุมบอร์ดแบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) ส่งโฆษกกรมฯ ประกาศเดินหน้าทวงภาษีโอ๊ค-เอมจากแบงก์ 1.2 หมื่นล้าน อ้างทำตาม ม.12 หากไม่ปฏิบัติอาจมีความผิดฐานละเว้น ยอมรับหากคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีตัดสินไม่ต้องจ่าย เงินทั้งหมดต้องคืนโอค-เอม "อานันท์" มึนอำนาจสรรพากร เผยแบงก์รอศาลปกครองชี้ขาดพร้อมถกบอร์ดอีกรอบ 28 ส.ค.

วานนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำรถบรรทุก 6 ล้อ นำสำนวนเอกสารหลักฐานจำนวน 180 ลัง กว่า 600 แฟ้ม จำนวน 240,000 แผ่น พร้อมคำร้องจำนวน 125 หน้า ที่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน

ตามคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดแจ้งว่า คตส.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบไต่สวนและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544-มีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยที่บริษัท ชินคอร์ป เป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาจากรัฐ ซึ่งเป็นการฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา ม.119 และ 122

**เอื้อประโยชน์ชิน-บริษัทในเครือ

และในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกล่าวหากระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก คือ

1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 – 50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส

**แก้ไขสัญญามือถือ

2.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 6 ) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบริษัท เอไอเอส ซึ่งจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 6 )ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทเอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศทฯ ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นแบบก้าวหน้าในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 – 30 กันยายน 2548 และในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

3.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท เอไอเอส การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท. และบริษัท กสท.ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น บริษัทเอไอเอส จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส ดังนั้นผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าวจึงตกกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯที่ผู้ถูกกล่าวหาถือในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั้งได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์

**แก้ไขสัมปทานดาวเทียม

4.กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียม IP STAR, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่อสัญญาณต่างประเทศ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ชินแซทฯ

**ปล่อยกู้พม่าซื้อสินค้าชินฯ

5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯโดยเฉพาะ ซึ่งครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงค์ให้วงเงินก็ 3,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า แล้วต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซทฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ถือหุ้นอยู่ ในการให้ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่า

**แก้กฎหมายเอื้อบริษัทครอบครัว

นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. เป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ที่เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมสามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับให้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 โดยปรากฏว่าในวันที่ 23 มกราคม 2549 ก็ได้มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯจำนวน จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ , น.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว และนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทน ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880932.05 บาท ซึ่งตั้งแต่ 2546 – 2548 บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงินจำนวน ทั้งหมด 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ม.80

โดยในชั้นไต่สวน คตส.อาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 5 และ ข้อ 8 มีคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯให้กับกลุ่มเทมาเส็ก และเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ได้รับในช่วงปี พ.ศ.2546 – 2548 รวม 15 คำสั่ง รวมเป็นเงิน 73,667,987,902.60 บาท พร้อมดอกผล ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วน โดยคดีนี้ผู้ร้องมีนายแก้วสรร อติโพธิ , นายสัก กอแสงเรือง และบุคคลอื่นเป็นพยาน ในการไต่สวนพบหลักฐานการปกปิดอำพรางการถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปฯ กับพวก และมีพยานเอกสารซึ่ง คตส.ได้รวบรวมไว้ในชั้นไต่สวน โดยขอให้ศาลมีสั่งยึดอายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาพร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ท้ายคำร้องอัยการสูงสุดขอให้ศาลออกหมายเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ มาพิจารณาพิพากษายึดทรัพย์สิน เป็นเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880932.05 บาท และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 6,898,722,129 รวมเป็นที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ

**ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

ภายหลัง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ศาลจะตั้งองค์คณะทำงานพิจารณาคดีนี้ ส่วนจะประทับรับฟ้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล และถ้าศาลเห็นด้วยเงินและทรัพย์สินตามคำร้องจำนวน 7.6 หมื่นล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกยึดทรัพย์จะตกเป็นของแผ่นดิน อย่างไรก็ตามผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ตั้งทีมทนายขึ้นต่อสู้ไม่ยื่นคำร้องคัดค้าน กระบวนการพิจารณาคดีจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ นายเศกสรรค์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปถึงตอนนั้น ต้องรอให้ศาลสั่งก่อนว่าท่านจะให้ดำเนินการอย่างไร เพราะเรื่องนี้หากขึ้นสู่ศาลแล้ว การดำเนินการต่างๆ ศาลจะเป็นผู้สั่ง โดยในส่วนของผู้ร้องก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าใช่ทรัพย์ที่ควรจะถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เพราะอัยการร้องว่าเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินจากนั้นก็เป็นสิทธิของผู้ถูกร้องว่าจะดำเนินการอย่างไร

**กรมสรรพากรยังไม่ยื่นถอนอายัด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กรมสรรพากรขอถอนอายัดทรัพย์ ในส่วนของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท นายเศกสรรค์ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ยื่นมาที่อัยการ แต่ถ้าจะยื่นเข้ามาก็จะทำการพิจารณาและรายงานให้อัยการสูงสุดทราบเพื่อพิจารณาต่อไป ในส่วนของตนทำตามสำนวน ของ คตส.ที่แจ้งมาและเคยประชุมร่วมกันว่าให้ริบเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท เมื่อถามว่าเงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมอยู่ใน 7.6 หมื่นล้านบาทที่ยื่นคำร้องขอให้ตกแผ่นของแผ่นดินด้วยหรือไม่ นายเศกสรรค์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่มีการติดต่อเข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ ขั้นตอนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดว่า เมื่ออัยการสูงสุดยื่นคำร้องคดีแล้ว ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเสนอประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คนเป็นองค์คณะ จากนั้นองค์คณะจะเลือกผู้พิพากษา 1 คนเป็นเจ้าของสำนวนพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ หากองค์คณะเห็นควรรับคำร้องไว้ก็จะมีคำสั่งนัด “พิจารณาคดีครั้งแรก” พร้อมกับออกหมายแจ้งคำสั่งพร้อมคำร้องคดีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบ และปิดประกาศที่หน้าศาลฎีกา หรือประกาศในหนังสือพิมพ์ 3 วันเพื่อให้บุคคลภายนอกที่อาจมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ด้วยรับทราบและใช้สิทธิโต้แย้งโดยทำคำคัดค้านยื่นต่อศาลได้ จากนั้นศาลจะนัดอัยการสูงสุดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการกำหนดพยานหลักฐานหรือกำหนดวันไต่สวน

แต่ระหว่างวันตรวจพยานหลักฐานหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่โต้แย้งคำร้องของอัยการสูงสุด กฎหมายกำหนดให้ศาลไม่ต้องกำหนดวันไต่สวนพยานหลักฐาน แต่ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ โต้แย้งคำร้อง ศาลต้องกำหนดวันไต่สวนพยานหลักฐาน สำหรับวิธีการไต่สวนกฎหมายกำหนดให้ศาลไต่สวนพยานหลักฐานฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และคำคัดค้านของบุคคลภายนอกถ้าหากได้ยื่นคำร้องเข้ามาเสียก่อน แล้วจึงไต่สวนพยานหลักฐานอัยการสูงสุดผู้ร้อง

ทั้งนี้ในการไต่สวนคดี กฎหมายกำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินได้มาโดยปกติ ศาลต้องยกคำร้องโดยไม่ต้องวินิจฉัยคำคัดค้านของบุคคลภายนอก หาก พ.ต.ท.ทักษิณ พิสูจน์ไม่ได้ ศาลจะมีคำสั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

**อ้างกลัวโดนข้อหาละเว้น

ที่กรมสรรพากร เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 25 ส.ค. นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมสรรพากรได้ทำหนังสือไปถึงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อให้ธนาคารนำส่งเงินภาษีอากรค้างชำระ บวกเบี้ยปรับเงินเพิ่มและดอกเบี้ย 0.15% ต่อเดือน รวมเป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่นายพานทองแท้ และนส.พิณทองทา ชินวัตร ค้างจ่ายกรมสรรพากร โดยจะรอคำตอบจากธนาคารก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยหากไม่นำส่งให้และไม่แจ้งถึงเหตุผลที่ชัดเจน จะฟ้องร้องตามขั้นต่อตอนไป

“กรมได้แจ้งธนาคาร ให้นำส่งหนี้ภาษีอากรค้างไปแล้ว โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ก.ค. และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากวงเงินได้เปลี่ยนไป โดยมีดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่เดือนละ 1.5% นับตั้งแต่วันที่เริ่มเป็นหนี้ภาษีกับกรมซึ่งหากไม่ส่งกลับมา ดอกเบี้ยก็จะเดินอยู่ต่อไป ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ผู้เสียภาษีได้รับความเสียหาย ซึ่งถือเป็นกฎหมายของกรมที่จะดำเนินการอยู่แล้วกับผู้เสียภาษีทุกราย หากกรมไม่ดำเนินการ จะถือได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้ง กรมมองว่า เมื่อ คตส.พ้นไปแล้ว แต่ทรัพย์ดังกล่าวยังลอยอยู่ จึงจำเป็นให้ธนาคารนำส่งเงินภาษีอากรค้างให้กรมฯต่อไป”

การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา 12 ของประมวลรัษฎากรซึ่งต้องเรียกร้องให้นำส่งภาษีอากรค้างสำหรับผู้เสียภาษีทุกรายที่มีภาษีค้าง พร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และกรมจะนำเงินนั้นส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินทันที ไม่ใช่เป็นการนำเงินดังกล่าวคืนให้กับผู้เสียภาษีแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมากรมยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพราะ คตส.ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้หารือร่วมกันมาโดยตลอดและยืนยันว่า ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น แต่เมื่อเป็นภาษีค้าง ก็ต้องอายัดและยึดมานำส่งคลังทั้งหมด แต่พอดีช่วงนั้นมีกฎหมาย 2 ฉบับดำเนินการอยู่ คือทั้ง คตส.และกรมสรรพากรแต่เมื่อ คตส.หมดอายุไป กรมก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป

โดยขั้นตอนต่อไป ธนาคารมีสิทธิจะหารือในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถนำส่งเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้กรมได้หรือไม่ และคงแจ้งเหตุผลข้อกฎหมายมา เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน คือ คตส.และกรมสรรพากรมีอำนาจในการเรียกทรัพย์สินได้

**ยอมรับโอ๊ค-เอมมีลุ้นผลอุทธรณ์

ทั้งนี้ เงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทที่กรมสรรพากรแจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งให้นั้นกรมจะนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งแม้ว่าคดีเลี่ยงภาษีของบุคคลทั้งสองนี้จะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ภาษีก็ตามแต่กรมฯ ก็ต้องทำตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีมีมติว่าไม่ต้องเสียภาษีก็ต้องคืนเงินให้กับบุคคลทั้งสองเช่นเดียวกับกรณีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ หรือหากคณะกรรมการมีมติให้ต้องเสียภาษีก็ให้ถือเป็นรายได้ของแผ่นดินเช่นเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารระดับสูง ทั้งรองอธิบดีทั้ง 2 คน และที่ปรึกษากรมสรรพากร เป็นกรณีเร่งด่วน หลังจากเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอัษฎางค์ ศรีศุภรพันธ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ถอนอายัดทรัพย์นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาชำระภาษีให้กรม ซึ่งเป็นช่วงที่นายศานิตปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศญี่ปุ่น และนายศานิตได้เดินทางมาทำงานตั้งแต่เวลา 07.00 น. แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด โดยวานนี้ได้มอบหมายให้นาสาธิตแถลง ส่วนตนเองไปประชุมบอร์ดธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะกรรมการธนาคารฯ

กรณีดังกล่าวเกิดจากกรมมีคำสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินอายัดในบัญชีของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร 1.2 หมื่นล้านบาท มาชำระภาษีกรณีซื้อขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งที่ผ่านมา กรมได้อายัดที่ดินและหุ้นของทั้ง 2 คนไว้แล้ว เป็นมูลค่าเท่ากับ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่มีรายงานข่าวว่ากรมเกรงว่ามูลค่าทรัพย์สินที่อายัดไว้อาจจะด้อยค่า จึงต้องการเงินสดมาชำระภาษี และจะถอนอายัดในส่วนเดิมออกไป แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นเงินก้อนเดียวกับที่คตส. สั่งอายัด จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยการประชุมวันนี้ และส่งผลให้ศาลปกครองตีความ เพราะเป็นคำสั่งจากหน่วยงานรัฐที่ขัดกัน

**ไทยพาณิชย์รอศาล ปค.ชี้ขาด

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ นัดประชุมด่วนคณะกรรมการธนาคาร ภายหลังการประชุม นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารยังรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองและคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนั้น ธนาคารจึงได้ทำคำร้องไปยังศาลปกครองและทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความกระจ่างในการปฏิบัติ

เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นอยู่นี้ มีความสำคัญประกอบกับสำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการยื่นฟ้องกลุ่มผู้เกี่ยวข้องแล้ว ธนาคารจึงพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยธนาคารจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการธนาคารอีกครั้งในวันที่ 28 ส.ค. ระหว่างนี้ธนาคารยังคงเก็บรักษาเงินในบัญชีตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สั่งอายัดไว้

"ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้วเขามองว่าตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าส่ง (เงิน) ไปแล้ว เราจะส่งให้ใคร เราไม่อยากส่งแล้วผิดกฎหมายเพราะยังไม่รู้แน่นอนว่าคำสั่งของใครมีอำนาจมากกว่ากัน คำสั่งมีความขัดกันและเป็นรัฐด้วยกันทั้งคู่ เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เราไม่สามารถพิจารณาได้ว่ากฎหมายไหนมีอำนาจบังคับใช้มากกว่ากัน"

ส่วนการที่ทางกรมสรรพากรจะมาเอาเงินที่ธนาคารนั้นมีนัยอะไรแอบแฝงหรือไม่นั้น นายอานันท์กล่าวว่า ถ้าให้พูดเล่นๆ ก็คงเหมือนกับฟุตบอลการเมือง และที่เลือกจะมาเอาเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งๆ ที่มีเงินฝากอยู่กับหลายธนาคารนั้น ก็ขอเดาว่าเป็นเพราะธนาคารไทยพาณิชย์มีเงินอยู่มากที่สุดคือ 39,000 ล้านบาท

**อานันท์ชี้พิรุธสรรพากร

นายอานันท์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาก็มีหารือกับอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นกรรมการธนาคารในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นการหารือแบบไม่เป็นทางการตลอดเวลา และที่ผ่านมากรมสรรพากรก็เคยมีหนังสือให้ธนาคารโอนเงินให้สรรพากร แต่ธนาคารตอบกลับไปว่า มีคำสั่งอายัดเงินของ คสต.อยู่ กรมสรรพากรจึงให้ธนาคารเก็บเงินดังกล่าวไว้

"เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องใหม่ และเราก็ไม่รู้ใครเป็นสรรพากรที่แท้จริง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของธนาคาร ธนาคารมีจุดยืนที่ชัดเจน พร้อมทำตามสิ่งที่ถูกต้อง และขอยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของธนาคารเพราะฐานะของธนาคารยังดีอยู่"

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้มีหนังสือคำสั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ให้ธนาคารไทยพาณิชย์นำส่งเงินอายัดนางสาวพินทองทา ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร เพื่อการชำระหนี้ภาษีอากรแก่กรมสรรพากร แต่ธนาคารฯ เห็นว่าบัญชีเงินฝากของบุคคลดังกล่าวทั้งสองรายอยู่ภายใต้คำสั่งอายัดทรัพย์ของ คตส. เช่นกัน ซึ่งคำสั่งทั้งสองมีความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความสับสนและความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติสำหรับธนาคาร หากธนาคารปฏิบัติตามคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งก็จะเป็นการฝ่าฝืนอีกคำสั่งหนึ่งซึ่งเป็นความผิดมีโทษทางอาญาได้

**เลี้ยบอ้าง ป.ป.ช.ไม่เคลียร์เงินแม้ว

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่กรมสรรพากรทำหนังสือถึงธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อขอถอนอายัดเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทว่าตนได้รับรายงานจากนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง แล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าเป็นกระบวนการานตามปกติของกรมสรรพากร เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศ ไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าอำนาจในการอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทนั้น ขึ้นกับหน่วยงานใด เพราะหลังจากที่ คตส.หมดวาระไ ป ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ระบุว่ามีอำนาจดำเนินการแทน คตส.หรือไม่

ส่วนการที่กรมสรรพากรทำหนังสือขอเงินค่าปรับค้างจ่ายภาษีตรงนั้นมา ถือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ เพราะหากไม่ทำอาจถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ส่วนจะได้เงินมาหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็น โดยหากธนาคารไม่ส่งเงินส่วนดังกล่าวมาให้เพราะมีความเห็นแตกต่างกันก็ต้องดูที่ความชัดเจนว่าจะต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตีความ

“การทำหนังสือทวงถามไปนั้น จะได้เงินหรือไม่ได้เงินมาไม่ใช่ประเด็น เพราะสรรพากรถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่เพื่อปกป้ององค์กร และเมื่อมีความเห็นขัดแย้งก็สามารถส่งเรื่องให้ตีความตามข้อกฎหมายได้ ถ้าไม่ทำหนังสือไปก็ไม่มีประเด็นว่าต้องส่งเรื่องให้ใครตีความ และต้องดูด้วยว่าใครมีอำนาจตีความ ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนหน่วยงานต่างๆไม่รู้ว่าจะต้องปฎิบัติอย่างไรต่อไป เพราไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา” รมว.คลังกล่าวและว่า การที่กรมสรรพากรเลือกส่งหนังสือไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์เพียงแบงก์เดียวนั้น น่าจะมองจากวงเงินมากกว่า สำหรับเงินที่อายัดไว้ทั้ง 7.6 หมื่นล้านบาทจะหลุดจากการอายัดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบแต่ละขั้นตอนต่อไป

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ตนได้ย้ำให้ข้าราชการสรรพากรให้ทำตามกฎหมาย อย่าทำเกินหรือน้อยไปกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดซ้ำรอยกรณีที่ต้องคืนเงินภาษีที่อายัดไว้ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก่อนหน้านี้เนื่องจากคดีหมดอายุความ.
กำลังโหลดความคิดเห็น