xs
xsm
sm
md
lg

"เลี้ยบ"ดองเค็มเก็บภาษีซุกหุ้นภาคสอง "โอ๊ค-เอม" 32,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครอบครัวชินวัตร
ผู้จัดการรายวัน – จับตาหมอเลี้ยบเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ดองเค็มเก็บภาษี “โอ๊ค – เอม - แอมเพิลริช” และชินแซทฯ กว่า 3.2 หมื่นล้าน และใช้คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี เป็นผู้ชี้ขาดแทนการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลฯตัดสิน ซ้ำรอยกรณี “บรรณพจน์ – หญิงอ้อ” เลี่ยงภาษี 546 ล้าน ที่จัดเก็บไม่ได้สักบาท

คดีซุกหุ้นชินคอร์ป ภาคหนึ่ง ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คนละ 3 ปี รวมถึงนางกาญจนาภา หงษ์เหิน จำนวน 2 ปี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของคดีซุกหุ้นที่ครอบครัวชินวัตร อดีตผู้นำประเทศ หลบเลี่ยงภาษีสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ

กรณีดังกล่าว ถึงแม้ศาลอาญาจะตัดสินความผิดถึงขั้นจำคุก แต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติจากภาษีเงินได้ จำนวน 546.12 ล้านบาท ที่นายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางดวงตา กระทำนิติกรรมอำพรางในการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป กลับต้องชวดไปอย่างน่าเสียดาย เพราะความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การจัดเก็บภาษี คือ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกออกเสียงสองในสามให้ยกการประเมิน

การยุติการจัดเก็บข้างต้น นายศานิต ร่างน้อย อธิบดี กรมสรรพากร ได้ให้ข้อมูลในระหว่างชี้แจงต่อคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 เมื่อต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมาว่า การจัดเก็บภาษีโอนหุ้นของนายบรรณพจน์ ทำไม่ได้เพราะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษี ซึ่งมีอำนาจอิสระตามประมวลรัษฎากร ยกการประเมินของกรมสรรพากร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประเมินโดยมิชอบ

“เมื่อวินิจฉัยมาแบบนี้ กรมฯ ก็จะไม่ฟ้องศาลภาษีเพราะถือเป็นธรรมเนียม”

“กรณีเก็บภาษีไม่ได้ ไม่ใช่เกิดจากปัญหาหมดอายุความ” อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการฯ เพราะมีข้อสงสัยถึงกรณีที่กรมสรรพากรดึงเรื่องจนให้หมดอายุความด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ประสิทธิ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ก็เคยยอมรับว่า เก็บภาษีไม่ได้เพราะขาดอายุความ

เมื่อความพยายามผลักดันให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีโอนหุ้นของนายบรรณพจน์ จบลงง่ายๆ ด้วยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ทำให้นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงกับบ่นเสียดาย

“เรื่องนี้ สามารถให้ศาลภาษีอากรและศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้ แต่น่าเสียดายที่ต้องจบลงก่อนถึงศาลโดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากการพิจารณาว่าหลักกฎหมายในเรื่องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีนั้น ถึงเวลาท่จะต้องมาทบทวนหรือไม่ อย่างไร” นายวิโรจน์ เขียนไว้ในเรื่อง “ทุกข์ของแผ่นดิน” หนังสือปัจฉิมบท คตส.

*** จับตา“เลี้ยบ”หาทางช่วยซุกภาษี

การใช้ช่องคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี หลบเลี่ยงการเสียภาษีในคดีซุกหุ้นภาคหนึ่ง จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นชินฯ ของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พินทองทา ชินวัตร กรรมการของบริษัทแอมเพิลริชฯ ซึ่ง คตส. แจ้งให้กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีรวมประมาณ 32,731 ล้านบาท รวมทั้งกรณีภาษีของบริษัทชินแซทเทลไลท์ฯ กรณีที่ได้รับเงินสินไหมทดแทนจากการประกันภัยดาวเทียมไทยคม 3 อีกประมาณ 1,082  ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 33,731 ล้านบาท จะลงเอยเช่นใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่ว่า รมว.กระทรวงการคลัง คนปัจจุบัน ชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งของครอบครัวชินวัตร และองค์ประกอบของคณะกรรมอุทธรณ์ภาษี ที่มาจาก 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มิหนำซ้ำ กรมสรรพกร ยังยึดถือเอาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี เป็นที่สิ้นสุดอีกต่างหาก

ท่าทีของนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงการคลัง หลังศาลอาญามีคำพิพากษา จำคุกนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน นั้นไม่ได้มีความชัดเจนใดๆ เพียงแต่สั่งให้กรมสรรพากรไปดำเนินการต่อเรื่องนี้โดยยึดหลักกฎหมาย ขณะที่อธิบดีกรมสรรพากร ยืนกรานมาตลอดว่า จัดเก็บไม่ได้และเรื่องจบไปแล้ว

**** ผลสอบ“พานทองแท้ – พิณทองทา”เลี่ยงภาษี

คณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มี นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะตรวจสอบที่แกะรอยคดีซุกหุ้นภาคหนึ่ง จนศาลสั่งจำคุกนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน มาแล้วนั้น ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีการซื้อขาย โอนหุ้น ชินคอร์ปและแอมเพิลริช ที่ได้ชื่อเป็นมหากาพย์ซุกหุ้นภาคสอง

สำหรับกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร กรรมการของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวท์เมนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 จำนวนคนละ 164.6 ล้านหุ้น รวม 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันดังกล่าวมีราคาหุ้นละ 49.25 บาท

คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ซื้อหุ้นที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด

ผลต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาตลาดหุ้นละ 48.26 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538

ฉะนั้น นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ต้องนำเงินได้จากประโยชน์ที่ได้จากการซื้อหุ้นได้ในราคา ต่ำกว่าราคาตลาด ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีอากรประจำปีภาษี 2549

คณะกรรมการตรวจสอบฯ (คตส.) มีมติให้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรติดตามการเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549 ของบุคคลทั้งสองดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 กรมสรรพากร ได้ติดตามการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549 ของบุคคลทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าไม่ได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

กรมสรรพากร จึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,791,172.29 บาท น.ส. พินทองทา ชินวัตร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,503,601.13 บาท เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550

ทั้งนี้ กรมสรรพากร แจ้งว่า บุคคลทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 และขอทุเลาการเสียภาษีอากรในขณะอุทธรณ์ไว้ด้วย

ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ยังมิได้ส่งเข้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่อย่างใด

****นิติกรรมอำพราง “แอมเพิลริช”

คณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คตส.ยังได้ตรวจสอบภาระภาษีอากรของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด กรณีโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันดังกล่าวมีราคาหุ้นละ 49.25 บาท โดยผลการตรวจสอบ สรุปได้ดังนี้

(1) ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ มีความเห็นว่า บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด เป็นนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีกรรมการบริหารคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นผู้ทำการแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ในประเทศไทย ถือว่าบริษัท แอมเพิลริชฯ ประกอบกิจการในประเทศไทย และผู้ทำการแทนมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อบริษัทฯ โอนขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรมสรรพากร มีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะประเมินรายได้จากการขายหุ้นของบริษัทฯ ให้เป็นราคาตลาด และบริษัทฯ ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ สำหรับรอบบัญชีที่มีรายได้จากการขายหุ้นตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่บริษัท แอมเพิลริชฯ ขายให้แก่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร นั้น บริษัท แอมเพิลริชฯ ใช้เงินที่กู้จากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซื้อโดยไม่มีการชำระคืนเงินกู้ดังกล่าว

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการซื้อขายหุ้นโดยบริษัท แอมเพิลริชฯ ทุกครั้งก็อาศัยเงินของกรรมการทั้งสิ้น

การที่บริษัท แอมเพิลริชฯ ประกอบกิจการในประเทศไทยเพียงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 และบริษัทอ้างว่าไม่มีภาระหนี้สินใด ๆ ในวันสุดท้ายที่ประกอบกิจการในไทย จึงถือว่าที่บริษัทฯ ได้รับประโยชน์ในการปลดหนี้จากกรรมการ ซึ่งการปลอดภาระหนี้สินของบริษัทฯ ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่มีเงินได้ฯ ด้วย

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 67 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบบัญชีที่มีเงินได้จากการขายหุ้นอีกกรณีหนึ่งด้วย เมื่อบริษัทฯ มิได้ยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีไว้ จึงต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระ รวมเป็นเงินภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มทั้งสิ้น ดังนี้

รอบบัญชี 2548 ครึ่งปี จำนวน 476,437,782.71 บาท
รอบบัญชี 2548 (12 มี.ค. 48 – 11 มี.ค. 49) เต็มปี จำนวน 15,079,255,822.58 บาท
รอบบัญชี 2549 (12 มี.ค. 49 - 6 พ.ย. 49) จำนวน 302,135,899.91 บาท
รวมเป็นเงินที่ต้องชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับทั้งสิ้น จำนวน 15,857,829,505.19 บาท

(2) ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร

ในการขายหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร กรรมการของ บริษัท แอมเพิลริชฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นผลให้กรรมการบริษัทฯ ผู้ซื้อหุ้นมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เท่ากับผลต่างของราคาหุ้นที่ขายกับราคาตลาด

ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 บริษัท แอมเพิลริชฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ให้กับกรรมการของบริษัทฯ (เป็นจำนวนระหว่างผลต่างของราคาซื้อขายของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับราคาซื้อขายจริง คือหุ้นละ (49.25-1) 48.25 บาท) เป็นจำนวนเงิน 7,941,950,000 บาท บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

และต้องรับผิดตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 5,066,168,796.73 บาท

คณะกรรมการตรวจสอบฯ (คตส.) มีมติเห็นชอบตามผลการตรวจสอบ และให้ส่งผลการตรวจสอบให้กรมสรรพากรดำเนินการติดตามเรียกเก็บภาษีอากรจากบริษัท แอมเพิลริชฯ ทั้งสองกรณีต่อไป เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550

กรมสรรพากรได้รับผลการตรวจสอบไว้พิจารณาแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในการเรียกเก็บภาษีอากรตามผลการตรวจสอบของ คตส. กับบริษัท แอมเพิลริชฯ


**** ชินแซทฯ อมค่าสินไหม ไม่จ่ายภาษี

นอกเหนือจากกรณีเลี่ยงภาษีของครอบครัวชินวัตรจากการซื้อขายโอนหุ้นชินคอร์ปและแอมเพิลริช คณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นชินคอร์ป ยังตรวจสอบประเด็นภาษีอากรของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) กรณีที่ได้รับเงินสินไหมทดแทนจากการประกันภัยดาวเทียมไทยคม 3 แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่มิได้นำเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไปรวมคำนวณเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ฯ ในปีที่ได้รับ

โดยผลการตรวจสอบ พบว่า บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสร้างดาวเทียมไทยคม แล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงเทคโนโลยีฯ โดยยินยอมให้บริษัทฯ สามารถหารายได้จากการให้ใช้ดาวเทียมดังกล่าวได้

บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประกันภัยดาวเทียมทุกดวงในนามของกระทรวงเทคโนโลยีฯ เมื่อดาวเทียมไทยคม 3 ได้รับความเสียหาย บริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนของกระทรวงเทคโนโลยีฯ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยเป็นจำนวน 33 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

กระทรวงเทคโนโลยีฯ ได้อนุมัติให้บริษัท ชินแซทฯ นำเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทรับประกันภัยไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่และเช่าวงจรดาวเทียม Intelsat ทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียหายเกือบทั้งหมด

คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ มีความเห็นว่า เงินค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงเทคโนโลยีฯ อนุมัติให้บริษัทฯ นำไปใช้ เข้าลักษณะเป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุน ซึ่งบริษัทฯ ต้องนำไปบันทึกบัญชีเป็นรายได้ เพื่อคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินดังกล่าวตามเกณฑ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นรายได้ที่ได้รับจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนก็ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิ์คำนวณหักค่าสึกหรอตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนด ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

สำหรับรายจ่ายค่าเช่าวงจรดาวเทียม Intelsat บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในปีที่จ่ายตามเกณฑ์สิทธิ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีทั้งด้านรายรับและด้านรายจ่ายไว้ถูกต้องแล้ว

แต่บริษัทฯ กลับนำรายได้ดังกล่าวไปหักออกจากการคำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีในรอบบัญชีปี 2548 ทำให้มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีต่ำไปเป็นเงิน 1,082 ล้านบาท

บริษัทฯ อ้างว่าได้ปฏิบัติตามที่กรมสรรพากร ตอบข้อหารือว่าเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทฯ รับจากกระทรวงเทคโนโลยีฯ เป็นไปตามข้อผูกพันในสัญญา ไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

คณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) มีมติเห็นชอบกับผลการตรวจสอบของอนุกรรมการตรวจสอบ และให้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรพิจารณาจัดเก็บภาษีเงินได้ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 – 2549 ให้ถูกต้อง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกรมสรรพากร
กำลังโหลดความคิดเห็น