xs
xsm
sm
md
lg

"เลี้ยบ" กอดเก้าอี้สนอง "แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีหวยบนดินแล้ว นัดพิจารณาคดีครั้งแรก 26 ก.ย. 47 จำเลยเตรียมรอหมายศาล เผยกฏหมายระบุชัดให้หยุดทำหน้าที่ รมต. ด้านอัยการยันไม่รับแก้ต่าง จับตา 29-31 ก.ค.ปฏิทินมรณะระบอบทักษิณ อนาถยางอายหมอไม่มี "เลี้ยบ" กอดเก้าอี้คลังคุมกองสลากต่อ อ้างรอกฤษฎีกา-ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ลุยทำงานให้นายใหญ่ โยกย้าย ขรก.คลัง ส่วนวันนี้เอาแน่ ชง ครม.ตั้งบอร์ดแบงก์ชาติฉบับพวกกู "วิชา" ชี้ตามหลักต้องตีความ กม. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ ขอดูท่าที 3 รมต.หากยังดื้ออาจงัด ม.157 ขึงพืด

วานนี้ (28 ก.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ( หวยบนดิน )หมายเลขดำที่ 1/2551 คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตคณะรัฐมนตรี และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลปัจจุบัน และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน

เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์),ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ,ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น,ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 3,4,8,9,10 และ 11 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย

โดยการนัดฟังคำสั่ง องค์คณะฯได้แจ้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้โจทก์ทราบแล้ว โดยศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล ตาม มาตรา 9 (1) และ (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งรับฟ้องและอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ในส่วนที่โจทก์ ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม ลงวันที่ 18 มีนาคม 2551

ส่วนคำร้องของ ป.ป.ช.ที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมแทน คตส. และขอแก้ไขคำร้องเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า ค.ต.ส.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 โดย คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติที่ไว้ว่า มติ คตส. ที่ดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งในการมีมติดังกล่าวเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีอำนาจมาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งจะสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 พ.ศ.2550

จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช.เข้าเป็นโจทก์แทน คตส.ได้ ส่วนที่ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 2 องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช. แก้ไขได้ โดยให้ ป.ป.ช. ส่งสำเนาคำฟ้องทั้ง 2 ฉบับให้จำเลยทุกคน ให้โจทก์คัดสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยทั้ง 47 คน ส่งต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ ให้ส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส.ให้จำเลย โดยจำเลยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ทนายโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลนำส่งภายใน 15 วัน ส่วนจำเลยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดให้ศาลที่มีอำนาจในเขตจังหวัดนั้นส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส. ให้จำเลย หากไม่ปรากฏจำเลยมีภูมิลำเนาแห่งอื่นที่ปรากฏในคำฟ้อง ให้ปิดหมาย และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 26 กันยายน 2551 เวลา 10.00 น.

กฏหมายกำหนดให้หยุดทำหน้าที่

ภายหลัง นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานคณะกรรมการมรรยาทสภาทนายความ ในฐานะทนายความรับผิดชอบว่าความคดีนี้ กล่าวถึงกรณีที่เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ว่าตนไม่มีความเห็น ซึ่งคนที่เป็นรัฐมนตรี คงต้องพิจารณาตนเอง เพราะกฎหมายกำหนดอย่างนั้น ส่วนที่หาก 3 รัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นั้น ก็คงต้องดูกฎหมายให้ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ตนคงไม่มีความเห็น โดยขอทำหน้าที่ตามขั้นตอนกฎหมาย

เมื่อถามว่า การดำรงตำแหน่งต่อของรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะมีปัญหาในการไต่สวนคดีนี้หรือไม่ นายสิทธิโชค กล่าวว่า ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย คงต้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในคดีนี้หยุดการทำหน้าที่ก่อน นี่คือจุดประสงค์ของกฎหมาย ส่วนจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาเอง

“หน้าที่ของเราตอนนี้คือส่งหมายศาลให้กับจำเลยทั้ง 47 คน ภายใน 15 วัน และเมื่อจำเลยได้รับหมายศาลแล้วก็ต้องมาตามหมายศาล ส่วนหากจำเลยคนใดคนหนึ่งไม่มาตามหมายศาลจะส่งผลกระทบทำให้พิจารณาคดีไม่ได้หรือไม่นั้น โดยปกติการพิจารณาอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย” นายสิทธิโชค กล่าวและว่า แต่ในข้อกำหนดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอยู่ข้อหนึ่งระบุว่าศาลอาจพิจารณาคดีลับหลังกับบางคนได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

อัยการไม่รับแก้ต่าง 3 รมต.จำเลย

นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ (กอ.)ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว หรือคดีหวยบนดินแล้ว นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาข้อสงสัยว่าพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างแก่จำเลยในคดีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าที่ประชุมมีความเห็นว่า จำเลยในคดีโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งถูกฟ้องในเรื่องที่ได้กระทำการไปตามหน้าที่ อยู่ในอำนาจของอัยการที่จะใช้ดุลพินิจรับแก้ต่างให้ได้ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (3)

“สำหรับคดีนี้ เนื่อง คตส. เป็นโจทก์ฟ้องโดยใช้อำนาจแทนรัฐ พนักงานอัยการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเช่นกัน จึงไม่สมควรที่จะรับแก้ต่างให้แก่จำเลย อันจะเป็นการขัดแย้งกับการที่รัฐเป็นโจทก์ สำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีความเห็นว่าพนักงานอัยการไม่ควรรับแก้ต่างให้แก่จำเลยในคดีนี้”

จับตา 29-30-31 ปฎิทินคดีสำคัญ

วันที่ 29 ก.ค.ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัด สืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ตกเป็นจำเลยฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท โดยอัยการเตรียมนำ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีต คตส.ในฐานประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก ป.ป.ช. และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ขึ้นเบิกความ

30 กรกฎาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งคดีที่ คตส.ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ จากบริษัทชินแซทเทิลไลท์ บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

และ 31 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดพิพากษาคดี ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาทจากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

"เลี้ยบ" เล่นลิ้นยื้อรอกฤษฎีกา

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.สุรพงษ์ยืนยันที่จะยื่นขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยเปิดเผยว่า จะหารือกันระหว่าง 3 รัฐมนตรีในที่ประชุม ครม.วันนี้ (19 ก.ค.) และจะยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาภายในวันเดียวกันนั้น และภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก็จะมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งไม่ว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก็จะยังไม่ตัดสินใจในครั้งนี้ว่าจะต้องหยุดตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ และยังไม่ได้สรุปว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อหรือไม่ ส่วนจะมีบุคคลยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งของตนและพวกนั้น ก็สามารถทำได้ ไม่ได้ปิดกั้น แต่พวกตนยืนยันจะดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

"การทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้เป็นการดื้อแพ่งต่อระบบตุลาการ ผมพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่ในเมื่อความคิดเห็นของป.ป.ช.ยังขัดแย้งกันเอง ก็ต้องส่งตีความให้เกิดความชัดเจนเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย อีกทั้งหากผมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตอนนี้ แล้วกฎหมายได้ข้อสรุปภายหลังว่าไม่ต้องหยุด ก็อาจเกิดความเสียหายกับหน้าที่ได้ หากมีผู้ฟ้องผมก็มีความผิดได้ ส่วนเรื่องปรับ ครม.ผมไม่กังวล" นพ.สุรพงษ์อ้าง

ไร้ยางอายนั่งคุมกองสลาก

ต่อกรณีเป็น รมว.การคลังซึ่งเกี่ยวข้องกับงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า คดีหวยบนดินเป็นการกล่าวหาว่า อาจจะดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งในส่วนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะนี้ก็ได้ดำเนินการไปตามปกติ ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นงานประจำอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นงานอะไรที่เป็นนโยบายสำคัญ ยกเว้นกรณีที่จะทำหวยบนดินในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องพิจารณาต่อไป ในเรื่องการบังคับบัญชาว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

ผู้สื่อข่าวแย้งว่า ตำแหน่ง รมว.คลังถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับสำนักงานสลาก กินแบ่งฯ ซึ่งทำเรื่องหวยบนดิน นพ.สุรพงษ์เลี่ยงไปตอบว่า เป็นเรื่องการถูกกล่าวหา ในการทำหน้าที่ในตำแหน่งในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่ใหม่จะต้องทำแบบเดิม

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่ นพ.สุรพงษ์ยังคงอยู่ในตำแหน่ง รมว.คลัง เนื่องจากเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยตรงส่งผลต่อรูปคดีในเรื่องของเอกสารหลักฐานและพยาน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ที่สำคัญการประชุม ครม.ในวันนี้ กระทรวงการคลังจะนำรายชื่อของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติรับรองคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่กระทรวงการคลังส่งเข้าไปคัดเลือกเกือบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยื้อเวลาการยื่นลาออกนั้นมาจากในช่วงเดือนตุลาคมที่มีการโยกย้ายข้าราชการประจำปีซึ่งในปีนี้มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังหลายรายเกษียณอายุ จึงเป็นที่จับตามองว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้กับบุคคลใกล้ชิดและไว้วางใจมาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญเพื่อให้สามารถทำงานตอบสนองนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ได้ตามที่ต้องการ

ร่าง 7 ข้อโต้รักษาเก้าอี้ รมต.

เมื่อเวลา 14.30 น.ที่กระทรวงการคลัง นพ.สุรพงษ์ เปิดแถลงข่าวโต้ว่า จากการที่ศาลฎีการับฟ้องคดีหวยบนดินซึ่งฟ้องครม.ในช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกและตนดำรงตำแหน่งรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ดังนั้นในกรณีนี้จึงมีข้อสังเกต 7 ประการ ดังนี้ 1.การรับฟ้องของศาลฎีกาเป็นเพียงรับฟ้องคดีเท่านั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องไต่สวนเพื่อที่จะได้พิสูจน์ ก่อนมีคำพิพากษา เพราะฉะนั้นผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมด โดยกระบวนการพิจารณาตามระบบยุติธรรม ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่ได้มีการพิพากษาว่ากระทำผิดและต้องถูกลงโทษ 2. เมื่อศาลฎีการับฟ้องก็มีการตั้งประเด็นว่าผู้ที่ถูกฟ้องหากดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยตำแหน่งทางการเมืองมีตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประเด็นนี้มีการพูดมาตลอดว่าหากรัฐมนตรี 3 ท่าน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลชุดนี้ หากศาลรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจต้องตีความว่าการหยุดปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง อาจจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ด้วยหรือไม่ ไม่ใช่เพียงตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น

3.มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ท่านหนึ่งคือ นายวิชา มหาคุณ ได้ยกประเด็นของมาตรา 55 ของกฎหมายป.ป.ช. พ.ศ.2542 ซึ่งระบุว่า หากกรรมการป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหา จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าสว.จะมีมติ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาแล้วแต่กรณี จะเน้นว่ามาตรา 55 เมื่อป.ป.ช.มีมติ ผู้ถูกกล่าวหาจะทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ก็เลยเกิดการตีความว่า ผู้ถูกกล่าวหานี้ในกรณีนี้คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งในขณะที่ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือถ้าหากดำรงตำแหน่งใดก็ตามต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด

4.ขณะที่กรรมการป.ป.ช.อีกท่านหนึ่งคือ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ได้เขียนบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 เม.ย.51 หัวข้อชื่อว่า "มาตรา 55 ในมุมมองของข้าพเจ้า" ซึ่งพูดถึงว่าหากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะเห็นได้ว่าในมาตรา 275 ซึ่งให้นำมาตรา 272 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม บัญญัติว่า หากป.ป.ช.มีมติมากกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลนับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าสว.จะมีมติ หรือศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา ซึ่งท่านสมลักษณ์ได้สรุปว่า มาตรา 275 และ272 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญใช้ถ้อยคำต่างกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 55 กล่าวคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 และ272 วรรคสี่ ใช้คำว่าผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา ซึ่งแตกต่างจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้คำว่า ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวิเคราะห์ถ้อยคำที่ใช้แตกต่างกันแล้ว ผู้เขียนเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 และ272 วรรคสี่ เขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องเป็นหน้าที่ตามข้อกล่าวหา ขณะถูกกล่าวหา ไม่ใช่หน้าที่ขณะที่ป.ป.ช.มีมติ

นอกจากนี้ ยังได้เขียนไว้ว่าแม้แต่รัฐธรรมนูญ 50 ได้มีบทบัญญัติไว้ มาตรา 309 และ305 วรรคสี่ โดยใช้คำว่าผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากพ.ร.บ. ป.ป.ช. มีฐานะเป็นเพียงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงน่าถือตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉะนั้น เมื่อป.ป.ช.หรือคตส. ได้แจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหายังมีขั้นตอนทางกฎหมายอีกมาก จึงไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อได้รับแจ้งข้อกล่าวหา

5. หากผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะนี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างกรณี หากมีท่านที่ถูกฟ้องในคดีหวยบนดินท่านใดท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้ คำถามมีอยู่ว่า ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้สามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ เมื่อไปดูในมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญ 50 ก็ชัดเจนว่าไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้แต่ผู้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแต่ถูกฟ้องคดีหวยบนดิน

6.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว หมายความถึงสว.และส.ส.ด้วย เช่นเดียวกันในกรณีนี้ก็ไม่มีใครพูดถึงเลยว่าตนซึ่งดำรงตำแหน่งส.ส.ด้วย ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ ก็เห็นแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย เพราะฉะนั้นตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนี้ จึงไม่ใช่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่ถูกกล่าวถึงไว้ในรัฐธรรมนูญ และ 7.รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านคือ ตน นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม จะหารือกันเพื่อทำให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติในกรณีนี้ต่อไปในอนาคต ทั้ง 3 คน จึงจะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลได้พิจารณาเรื่องของแนวทางปฏิบัติต่อกรณีนี้ เพื่อที่จะได้ถือปฏิบัติต่อไป

"น้องเขยแม้ว" บอกแล้วแต่ รมต.

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ ว่าจะให้ 3 รัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องฟังดูก่อน ดูความรู้สึกท่าน ส่วนตัวก็มีความเห็นอยู่ แต่ถ้าพูดออกไปก็ไม่ใช่คนที่ควรจะพูด ต้องให้เจ้าตัวพูดก่อน ส่วนในแง่กฎหมายแล้ว ทั้ง 3 ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ตนก็มีความรู้สึกในใจอยู่ แต่ก็ไม่อยากพูดฟันธงตรงนี้ เพราะว่าต่างฝ่าย ต่างมีความขัดแย้งกันอยู่ ต้องดู 3 ท่านเป็นหลัก ถ้าคิดยังไง จะปรึกษาแนวไหน ถ้าทั้ง 3 ท่านอยากจะปรึกษาหารือกัน เราก็จะมาช่วยกันปรึกษา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่หารือ ถ้ามีส่วนร่วมอยู่ด้วยในการปรึกษาหารือก็จะพูดในทางที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุด และทุกฝ่ายรับได้ เป็นเรื่องธรรมดาหากความเห็นไม่ตรงกัน

"บรรหาร" ออกลีลาปลาไหล

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช.ออกมาระบุว่าตามข้อกฎหมายแล้วควรหยุดการ ปฏิบัติหน้าที่ เป็นแค่ความเห็นของป.ป.ช. ต้องดูความเห็นของ ครม.อีกครั้ง คิดว่า ครม.คงถามสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งตนคงตอบมากกว่านี้ ไม่ได้ว่าหยุดหรือไม่หยุด ส่วนการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นแล้วแต่รัฐมนตรี นายอนุรักษ์จึงควรไปหารือในที่ประชุม ครม.ว่า เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร

"จะหยุดปฎิบัติหน้าที่ หรือไม่ต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าผู้ร่าง มีเจตนาร่างในขณะปฏิบัติหน้าที่มากกว่า อย่างกรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อเกิดในสมัยที่ดำรงตำแหน่งจึงต้องหยุดการทำหน้าที่ แต่กรณีหวยบนดินยังเป็นที่สงสัยอยู่ "

ส่วนการปรับ ครม. นายบรรหารกล่าวว่า พรรคชาติไทยยังไม่ได้รับการติดต่อมา ถ้าพรรคชาติไทยจะปรับก็ต้องแจ้งให้นายกฯรับทราบ และตอนนี้นายกฯก็ไม่ได้ติดต่อมา และคงไม่จำเป็นต้องนัดทานข้าวกัน เพราะการปรับครม.เป็นเรื่องของนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลไม่เกี่ยว ส่วนหากนายอนุรักษ์ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่พรรคชาติไทยจะปรับครม. หรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ถ้าหยุดจริงก็มาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่ถึงตอนนั้น ส่วนที่มีข่าวที่ว่าจะมีการสลับกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงคมนาคมนั้น ไม่มี พรรคชาติไทย ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไร

พปช.ปูด "เติ้ง"ดัน "ลูกชาย" แทน "อนุรักษ์"

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าแม้ศาลจะรับฟ้องคดีหวยบนดินที่มี นพ.สุรพงษ์ เกี่ยวข้องด้วยก็จะไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.สุรพงษ์ ในการเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิารณางบประมาณ เนื่องจากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต และประธานกรรมาธิการก็ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกฎหมายระบุว่านพ.สุรพงษ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเราควรนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก การปรับเปลี่ยนตำแหน่งรมว.คลังถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถือเป็นภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายมอง ในประเด็นนี้ด้วย เพราะข้อกฎหมายระบุชัดว่านพ.สุรพงษ์ไม่ต้องยุติปฎิบัติหน้าที่

ส่วนหากมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งใน 3 คนนี้ตัดสินใจประกาศยุติการปฎิบัติหน้าที่ก่อนจะถือเป็นการกดดันพรรคพลังประชาชนหรือไม่ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะถือเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล และรัฐมนตรีทั้ง 3 คนมีที่มาจาก คนละพรรค ดังนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว อย่างขณะนี้ตนทราบมาว่าการที่นาย อนุรักษ์ จุรีมาศ เตรียมจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรมช.คมนาคมนั้น เป็นการทำไปไม่ใช่เพราะเหตุผลที่ถูกศาลรับฟ้องคดีหวยบนดิน แต่เป็นเพราะนาย บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยสั่ง เพื่อที่จะให้นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีแทน

"วิชา" ระบุต้องตีความให้ กม.มีผล

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า มาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เขียนชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่บังเอิญว่า กฎหมายมาตรานี้ยังไม่เคยมีการใช้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นตำแหน่งไปแล้วทั้งนั้น เช่น กรณีนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข ก็พ้นตำแหน่งไปก่อน

ส่วนที่มีการตีความว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คน ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากได้พ้นหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหามาแล้ว และข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับตำแน่งในปัจจุบัน นายวิชา กล่าวว่า เราต้องตีความในทางที่ให้กฎหมายมีผลใช้บังคับได้ มิเช่นนั้นเวลาที่ถูกกล่าวหา ท่านก็ย้ายตำแหน่ง แล้วไม่ต้องใช้กฎหมาย มาตรานี้หรือ หากเป็นเช่นนี้ กฎหมายบทนี้จะมีประโยชน์อะไร ส่วน 3 รัฐมนตรีจะหยุดหรือไม่แล้วแต่ทั้ง 3 จะตัดสินใจ แต่ในฐานะผู้ดูแลกฎหมาย เห็นว่า ที่บัญญัติกฎหมายมาตรานี้ขึ้นมาก็เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเกรงว่าจะมีการไปใช้อำนาจหน้าที่เกินเลย ทำให้รูปคดีเสียหาย อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องไปขึ้นศาลเพื่อแก้ข้อกล่าวหา และเมื่อสู้คดีแล้วหากศาลไม่ให้ประกันตัวขึ้นมา จะว่าอย่างไร ก็เท่ากับว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ กฎหมายจึงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตามกฎหมายมาตรานี้ หมายถึงเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาด้วย

"ปกติหลักการตีความก็ต้องทำให้กฎหมายมีบังคับใช้ แต่ถ้าเกิดความสงสัยก็เป็นสิทธิ์ ที่จะส่งเรื่องให้ตีความได้ เนื่องจากในช่วงการไต่สวนคดีนั้นเป็นเรื่องของ คตส. ที่ใช้อำนาจของ ป.ป.ช. แต่ขณะนี้เรื่องได้ส่งไปถึงศาลฎีกาฯแล้ว จึงไม่ใช่อำนาจ ของ ป.ป.ช.อีกต่อไป แต่หากศาลเรียกขอสำนวน พยานหลักฐาน เราก็พร้อมส่งให้ ในฐานะที่รับงานต่อมาจาก คตส."

รอท่าที 3 รมต.ก่อนงัด ม.157

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ไม่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะมีความผิด ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการ แต่ขณะนี้เรายังไม่มีการดำเนินคดีกับทั้ง 3 คน เพราะยังไม่ได้มีการแสดงท่าทีอะไรที่ชัดเจน เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะติดตามว่าทั้ง 3 คนจะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 55 หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ก็ในเมื่อเรา ได้ชี้แจงไปแล้ว ทั้ง 3 คน ก็บอกว่าไม่ได้ขัดขืน แต่ต้องการปรึกษากับคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวมองว่าถ้าไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่จะผิดตามมาตรา 157 หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ จะให้ตนชี้ขาดตอนนี้คงไม่ได้ เพราะจะเป็นการเข้าข้างตัวเอง ้ ส่วนในเรื่องความเหมาะสมของการบังคับใช้กฎหมาย ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีความสำคัญ ทั้ง 3 คนก็ไม่ใช่คนดื้อรั้น เพียงแต่ตั้งข้อสงสัย อย่างที่สงสัยมาตลอด เรื่องนี้มีการสงสัยตั้งแต่แรก ตั้งแต่ว่า คตส. ทำหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้ขาดแล้วว่าถูกต้อง และใช้อำนาจของ ป.ป.ช.โดยถูกต้อง ต่อมาก็อ้างว่าศาลยังไม่รับพิจารณาคดีนี้ จนวันนี้ศาลรับพิจารณาแล้วก็มีข้อสงสัยอีก รู้สึกว่าเรื่องนี้จะมีข้อสงสัยมาก

คตส.ดักคอรัฐบาลรับผิดชอบ

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตกรรมการ คตส. และประธานอนุกรรมการไต่สวนคดี หวยบนดิน กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของศาลฏีกาที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีหวยบนดิน หลังจากนี้ถือว่าหมดหน้าที่ของ คตส.แล้ว แต่คตส.มีหน้าที่ไปให้ข้อมูล ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ทุกอย่างก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล ส่วนรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ 3 ท่านเกี่ยวข้องเป็นผู้ต้องหาด้วยควรจะยุติบทบาทหรือไม่นั้น คตส.เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้มาตลอดว่า หลังจากที่ คตส.มีมติไต่สวนชี้มูลความผิด รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องยุติปฎิบัติหน้าที่ทันที แต่ที่ผ่านมา 3 รัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้นการกระทำของรัฐมนตรีตั้งแต่ที่ คตส.ได้ไต่สวนชี้มูลความผิด จึงเป็นเรื่องที่รัฐมนตรี และรัฐบาลต้องรับผิดกับการกระทำนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าทั้ง 3 รัฐมนตรียังคงยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเตรียมยื่น ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายอุดม กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องนี้ คตส. ได้พูดบ่อยครั้งแล้ว ใครจะทำอะไรก็ว่ากันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น