xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้ามีตา! ศาลรับฟ้องคดีรัฐบาลทักษิณเปิดขายหวยบนดิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีหวยบนดิน ที่ คตส. ยื่นฟ้อง"ทักษิณ" กับพวกอดีต ครม.และ จนท.กองสลาก รวมทั้ง "หมอเลี้ยบ-ป้าอุ-อนุรักษ์" 3 รมว.รัฐบาล"สมัคร"หุ่นเชิด พร้อมอนุญาตให้ ป.ป.ช. เป็นโจทก์แทน คตส. ที่หมดวาระ นัดพิจารณาครั้งแรก 26 ก.ย. นี้ 10.00 น.


วันนี้(28 ก.ค.)เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ( หวยบนดิน )หมายเลขดำที่ 1/2551 คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตคณะรัฐมนตรี และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลปัจจุบัน และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ( ยักยอกทรัพย์ ),ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ,ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น,ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 3,4,8,9,10 และ 11 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย

โดยการนัดฟังคำสั่งในวันนี้ องค์คณะฯได้แจ้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้โจทก์ทราบแล้ว โดยศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล ตาม มาตรา 9 (1) และ (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งรับฟ้องและอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ในส่วนที่โจทก์ ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม ลงวันที่ 18 มีนาคม 2551

ส่วนคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์กับ คตส. ของนายเทพนม ศิริวิทยารักษ์(ประธานเครือข่ายประชาชน ภาคอีสานพิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ผู้ร้อง ยื่นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 นั้น องค์คณะฯพิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 23 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจผู้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ส่วนที่ จำเลยที่ 31-47 จำเลยที่ 9-10 และ 13 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 13 เมษายน , 9 กรกฎาคม และ 21 กรกฎาคม 2551 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ คตส.ในการดำเนินคดีนี้ องค์คณะฯ เห็นสมควรที่จะมีคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา

ส่วนคำร้องของ ป.ป.ช. ที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมแทน คตส. และขอแก้ไขคำร้องเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า ค.ต.ส.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 โดย คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติที่ไว้ว่า มติ คตส. ที่ดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งในการมีมติดังกล่าวเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีอำนาจมาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งจะสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 พ.ศ.2550 จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช.เข้าเป็นโจทก์แทน คตส.ได้ ส่วนที่ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 2 องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช. แก้ไขได้ โดยให้ ป.ป.ช. ส่งสำเนาคำฟ้องทั้ง 2 ฉบับให้จำเลยทุกคน ให้โจทก์คัดสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยทั้ง 47 คน ส่งต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ ให้ส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส.ให้จำเลย โดยจำเลยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ทนายโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลนำส่งภายใน 15 วัน ส่วนจำเลยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดให้ศาลที่มีอำนาจในเขตจังหวัดนั้นส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส. ให้จำเลย หากไม่ปรากฏจำเลยมีภูมิลำเนาแห่งอื่นที่ปรากฏในคำฟ้อง ให้ปิดหมาย และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 26 กันยายน 2551 เวลา 10.00 น.

ภายหลัง นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานคณะกรรมการมรรยาทสภาทนายความ ในฐานะทนายความรับผิดชอบว่าความคดีนี้ กล่าวถึงกรณีที่เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ว่า ตนไม่มีความเห็น ซึ่งคนที่เป็นรัฐมนตรี คงต้องพิจารณาตนเอง เพราะกฎหมายกำหนดอย่างนั้น ส่วนที่หาก 3 รัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นั้น ก็คงต้องดูกฎหมายให้ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ตนคงไม่มีความเห็น โดยขอทำหน้าที่ตามขั้นตอนกฎหมาย

เมื่อถามว่าการดำรงตำแหน่งต่อของรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะมีปัญหาในการไต่สวนคดีนี้หรือไม่ นายสิทธิโชค กล่าวว่า ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย คงต้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในคดีนี้หยุดการทำหน้าที่ก่อน นี่คือจุดประสงค์ของกฎหมาย ส่วนจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาเอง

“หน้าที่ของเราตอนนี้คือส่งหมายศาลให้กับจำเลยทั้ง 47 คน ภายใน 15 วัน และเมื่อจำเลยได้รับหมายศาลแล้วก็ต้องมาตามหมายศาล ส่วนที่หากจำเลยคนใดคนหนึ่งไม่มาตามหมายศาลจะส่งผลกระทบทำให้พิจารณาคดีไม่ได้หรือไม่นั้น โดยปกติการพิจารณาอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย” นายสิทธิโชค กล่าวและว่า แต่ในข้อกำหนดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอยู่ข้อหนึ่งระบุว่าศาลอาจพิจารณาคดีลับหลังกับบางคนได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการยื่นคัดค้านขอประกันตัวจำเลยหรือไม่ นายสิทธิโชค กล่าวว่า คงไม่ยื่นค้านประกันตัวจำเลย เพราะยังไม่มีความจำเป็น เราให้เกียรติคู่ความทุกคน เมื่อถามว่าจะยื่นคัดค้านเรื่องขอออกนอกประเทศหรือไม่ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย นายสิทธิโชค กล่าวว่า เราทำตามหน้าที่ของเราเท่านั้น คงไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอย่างนั้นเพราะเป็นเรื่องระหว่างจำเลยแต่ละคนกับศาล

นายสิทธิโชค กล่าวต่อว่า แม้จะเปลี่ยนให้ป.ป.ช.เป็นโจทก์แทน คตส. ทีมทนายก็ยังเป็นทีมเดิม และถือว่าเราเป็นทนายของ ป.ป.ช. เพราะ คตส. หมดอายุไปแล้ว ส่วนที่ศาลรับฟ้องคดีนี้แสดงให้เห็นว่าต่อไปถ้าป.ป.ช.ฟ้องเองศาลน่าจะรับฟ้องคดีทั้งหมด นั้นคงไม่ใช่ แล้วแต่คดี ทั้งนี้ในส่วนของพยานตอนนี้ยังบอกไม่ได้ ต้องตรวจเอกสารตามขั้นตอนแล้วจึงจะตอบได้ว่าพยานบุคคลที่จะเอามาเบิกความประกอบกับเอกสารมีอยู่กี่คน และถ้าหากว่าจำเลยไม่ขัดข้องเอกสารที่โจทก์นำส่งมากนัก การสืบพยานบุคคลก็อาจจะน้อย โดยส่วนของ คตส. ก็ยังไม่ได้ระบุว่ามีกี่ปาก เพียงแต่ระบุว่าเคยได้ไต่สวนพยานบุคคลใดมาบ้าง ทั้งนี้ประธานอนุกรรมการไต่สวน คตส.คงต้องมาร่วมเป็นพยานด้วย แต่คนอื่นยังตอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 47 คน ประกอบด้วย 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 5.นายกร ทัพรังษี อดีตรองนายกรัฐมนตรี 6.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 7.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี 8.พล.อ.ธรรมรักษ์ อิสรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมว.กลาโหม 9.ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ อดีตรมว.คลัง 10.นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง 11.นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 12.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ อดีตรมว.พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรมว.เกษตร และสหกรณ์ 14.นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์15.นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ อดีตรมว.คมนาคม 16.นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตรมช.คมนาคม

17.นายนิกร จำนง อดีตรมช.คมนาคม 18.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 19.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 20.นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรมว.พลังงาน 21.นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรมว.พาณิชย์ 22.นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมช.พาณิชย์23.นายวันมูหมัดนอร์ มะทา อดีตรมว.มหาดไทย 24. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรมว.ยุติธรรม 25.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรมว.แรงงาน 26.นางอุไรวรรณ เทียนทอง อดีตรมว.วัฒนธรรม 27.นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 28.นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรมว.สาธารณสุข29.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรมช.สาธารณสุข 30.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรมว.อุตสาหกรรม

31.นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 32.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 33.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 34.นายพรชัย นุชสุวรรณ ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 35.นางสาว สุรีพร ดวงโต ในฐานะผู้แทนกรมบัญชีกลาง 36.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ในฐานะผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 37.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 38.นายกำธร ตติยกวี 39.พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 40.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 41.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 42.พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ 43.นางสตรี ประทีปปะเสน ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 44.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ 45.พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 46.นายบัณฑูร สุภัควณิช ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณ 47.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นกรรมการ(บอร์ด )สลากกินแบ่งรัฐบาล
นางอุไรวรรณ  เทียนทอง รมว.แรงงาน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและ รมว.คลัง
นายอนุรักษ์  จุรีมาศ รมช.คมนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น