xs
xsm
sm
md
lg

พลิกสำนวนคดีหวยบนดินครม.แม้วทำชาติเสียหาย 3.6หมื่นล้าน 3 รมต.ตกเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ผู้จัดการออนไลน์ - พลิกสำนวนคดีหวยบนดินที่คตส.ฟ้องครม.ทักษิณปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และทุจริตต่อหน้าที่ในการออกสลากฯ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐฯ กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ชี้ทำผิดกฎหมายหลายกระทงเพื่อผันเงิน ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีส่งผลให้ "เลี้ยบ-อนุรักษ์-ป้าอุ" ตกเก้าอี้หวยหาเสียง

การตรวจสอบโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๒ ตัว และ ๓ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งฟ้องครม.ทักษิณ ตามสำนวน คตส.ที่ ๐๐๙/๒๕๕๐กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก รวม ๔๙ คนกระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โจกท์ ระหว่างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน จำเลย เรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ โดยมีขั้นตอนและข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

๑. คณะกรรมการตรวจสอบการกระที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ ๑/๒๕๔๙ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน)ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเสนอ คตส. วินิจฉัยว่ามีมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่และมีข้อกล่าวหาบุคคลใดบ้าง โดยให้ตรวจสอบแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเสนอ คตส. ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

๒. เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ คณะอนุกรรมการตรวจสอบได้สรุปความเห็นโครงการดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม คตส. เพื่อวินิจฉัยว่าสมควรกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม ๔๙ คนในการกระทำความผิดอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบและทุจริตต่อหน้าที่ โดยมีผู้เสียหายจากโครงการดังกล่าว คือกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย

๓. กระทรวงการคลังผู้เสียหาย ได้ทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ และ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๐ และกระทรวงมหาดไทยผู้เสียหาย ได้ทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐

๔. ในการประชุม คตส. ครั้งที่ ๑๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๐ มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามคำสั่ง คตส. ๐๐๙/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับพวก รวม ๔๙ คน กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒

๕. คตส. ได้มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเมื่อวันที่ ๒๗,๒๘ และ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐

๖.ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครบถ้วนเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๐

๗. คณะอนุกรรมการตรวจสอบและไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด คือ พยานบุคคล ๓๓ อันดับ รวมเอกสารจำนวน ๒๙๙ แผ่น ,พยานเอกสารส่วนของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและไต่สวน ๖๘ อันดับ รวมเอกสารจำนวน ๔,๙๖๗ แผ่น,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๖๔ อันดับ รวมเอกสารจำนวน ๕๑๓ แผ่น ,สรุปขั้นตอนการทำงาน รวมเอกสารจำนวน ๖๕๓ แผ่น ,
 
สรุปความเห็นของอนุกรรมการไต่สวน รวมเอกสารจำนวน ๒๖๖ แผ่น ,บันทึกการทำงาน รวมเอกสารจำนวน ๕๕๘ แผ่น ,หนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหา รวมเอกสารจำนวน ๒๙๐ แผ่น ,หนังสือรับทราบข้อกล่าวหา ๔๙ อันดับ รวมเอกสารจำนวน ๗๒๕ แผ่น, คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ๕๐ อันดับ พยานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 5 คน รวมเอกสารจำนวน ๑,๓๔๕ แผ่น, พยานเอกสารส่วนของผู้ถูกกล่าวหา ๒๖ อันดับ รวมเอกสารจำนวน ๓,๕๗๔ แผ่น

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนการตรวจสอบไต่สวนโครงการดังกล่าว เพื่อเสนอต่อที่ประชุม คตส. โดยสรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบ ไต่สวนว่า คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีการประชุมและมีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัวและ ๒ ตัว (หวยบนดิน)โดยต่อมาได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหนังสือที่ กค ๐๑๐๐/๑๑๔๑๕ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัวและ ๒ ตัว (หวยบนดิน) โดยขออนุมัติคณะรัฐมนตรีในหลักการ ๓ ประการ คือ

๑.ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน)
๒.ให้นำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงินรางวัลหลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและการจ่ายเงินรางวัลกลับคืนสู่สังคม
๓.ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) และภาษีการพนันตามพระราชบัญญัติ การพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระเพิ่มเติม คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอทั้ง ๓ ข้อ โดยมีการดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ตามโครงการตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ถึงงวดวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
 
ซึ่งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เริ่มนำเงินที่ได้จากโครงการไปใช้ตามมติข้อที่ ๒ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ถึง ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๑๖,๐๒๗,๕๐๕,๒๓๕.๙๔ บาท ระหว่างการไต่สวนมีหน่วยงานที่รับเงินไปคืนมาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน ๑,๑๖๕,๒๕๐,๓๗๐.๐๐ บาท คงเหลือส่วนที่เสียหายจำนวน ๑๔,๘๖๒,๒๕๔,๘๖๕.๙๔ บาท

และตามมติข้อ ๓ ในเรื่องการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากรที่เกี่ยวข้องคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ได้ชำระจำนวน ๘,๘๐๙,๑๕๕,๗๓๗.๓๘ บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของส่วนลดการจำหน่ายขาดไป ๑๖๑,๕๘๕,๑๗๒.๘๔ บาท ภาษีตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ข้อ ๑ (๔) ขาดไปจำนวน ๑๒,๗๙๒,๑๕๒,๕๘๑.๕๐ บาท และภาษีท้องที่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ ข้อ ๑- ที่ไม่ได้ชำระจำนวน ๓๓๖,๖๓๕,๕๙๔.๒๕ บาท

โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนมีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการออกสลากการกุศลหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่เป็นการออกสลากกินรวบโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยและเห็นว่าการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนี้

- มติข้อ ๑ ที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ถือเป็นสลากกินรวบเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙

- มติข้อ ๒ ที่ให้นำรายได้คืนสู่สังคมนั้นเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑มาตรา ๔ และ มาตรา ๑๓ และพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๓ และ มาตรา ๒๗

- มติข้อ ๓ ที่ให้ลดหย่อนและยกเว้นภาษีนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕ จตุทศ (๒) และฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามพระราบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๖,๙๖๑,๗๘๓,๙๕๑.๙๑ บาท

จึงเสนอให้ คตส. ดำเนินคดีอาญากับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม ๔๗ คน
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาจำนวน ๒ คน ให้ข้อกล่าวหาตกไป

๘. ในการประชุม คตส. ครั้งที่ ๕๐/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน ๔๗ คน ในความผิดดังนี้

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ - ๒๓, ๒๕ - ๒๘, ๓๐ - ๓๒ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๐, ๙๑, ๑๔๗, ๑๕๓, ๑๕๔ และ ๑๕๗ พระราชบัญญัติความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘, ๙, ๑๐ และ๑๑ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑, ๙ และ ๑๐ ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ อีกบทหนึ่งด้วย

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓๓ - ๔๙ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๐, ๙๑, ๑๔๗, ๑๕๒, ๑๕๓, ๑๕๔ และ ๑๕๗ พระราชบัญญัติความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘, ๙, ๑๐ และ ๑๑ สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒๔ และ ๒๙ สั่งไม่ฟ้อง

และคตส. มีมติให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีโดยไม่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาในชั้นฟ้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๔ และมีคำขอเรียกร้องทางแพ่งคือ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๓๖,๙๖๑,๘๒๗,๘๖๑.๙๑ บาท

๙. คตส. ได้ทำหนังสือที่ ตผ(คตส.) ๐๔/๑/๒๒๒๓ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาโครงการดังกล่าว

๑๐. อัยการสูงสุดได้มีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนมากที่ อส.๐๐๒๒/๓๙ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๑ แจ้งข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีและตั้งคณะทำงานฝ่ายอัยการสูงสุด

๑๑. คตส. ได้มีคำสั่งที่ คตส. ๐๔๒/๒๕๕๑ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสำนวนร่วมกับอัยการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสำนวนกรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรกับพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการร่วมกับคณะทำงานของฝ่ายอัยการเพื่อหาข้อยุติในการฟ้องคดี ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมร่วมกันในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๑ และ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ในที่สุดหาข้อยุติในการฟ้องคดีไม่ได้

๑๒. คตส. ได้มีหนังสือที่ ตผ (คตส.) ๐๔/๐๗๑ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ถึงอัยการสูงสุดให้ส่งสำนวนคืน เพื่อ คตส. จะได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อไป ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนคืนตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๒๒/๑๑๑ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

๑๓. ในการประชุม คตส.ครั้งที่ ๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสำนวนคดี กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยขอความอนุเคราะห์จากกระบวนการยุติธรรมภาคเอกชน (สภาทนายความ) ช่วยจัดหาบุคลากรเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบสำนวน ตามหนังสือที่ ตผ (คตส.) ๐๔/๐๓๐ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑
 
และ คตส. ได้มีคำสั่งที่ คตส. ๐๕/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑ ที่ คตส.๐๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสำนวน กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

๑๔. ในการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสำนวน กรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีมติให้เสนอความเห็นต่อ คตส. ว่าพยานหลักฐานของสำนวนพอฟ้องคดีได้ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยทำบันทึกเสนอ คตส.เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

๑๕. ในการประชุม คตส. ครั้งที่ ๘/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีมติให้แต่งตั้งทนายความจากสภาทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องคดีตามอำนาจหรือหน้าที่ของคตส. โดยขอความอนุเคราะห์จากนายกสภาทนายความตามหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ตผ (คตส.) ๐๔/๒๔๕ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ และสภาทนายความได้มีหนังสือถึงประธาน คตส. ที่ สท. ๑๔๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ เพื่อส่งคำสั่งที่ ๒๘/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เรื่อง การเสนอชื่อทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวก กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล

๑๖. เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๑ คตส. ได้ทำใบแต่งทนายความและหนังสือมอบอำนาจ

๑๗. คณะทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งได้ร่างคำฟ้องเสนอ คตส. เพื่อพิจารณา ในการประชุม คตส. ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ ซึ่ง คตส. มีมติมอบหมายให้นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายสัก กอแสงเรือง และนายอำนวย ธันธรา เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาร่างคำฟ้อง

๑๘. คณะทนายความได้เสนอคำฟ้อง เมื่อวันที่๑๐ มีนาคม ๒๕๕๑ และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๑ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โจกท์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน จำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑

๑๙. วันที่๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐หรือไม่

๒๐. คณะทนายความได้ทำคำร้องคัดค้านเหตุผลในการที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ขัดรัฐธรรมนูญเสนอ คตส.เพื่อพิจารณา คตส.เห็นชอบด้วยกับเหตุผลในการยื่นคำร้อง

๒๑. คณะทนายความจึงได้นำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อส่งคำร้องนี้ยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ต่อมา ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า การแต่งตั้งและต่ออายุคตส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 28 ก.ค. 51 ศาลฎีกาฯ นัดชี้คดีหวยบนดินและรับฟ้อง ส่งผลให้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง, นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช. คมนาคม และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงแรงงานฯ ซึ่งเป็นผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ฯ หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดี

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 47 คนประกอบด้วย 1....ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.พล..ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี 5.นายกร ทัพรังษี รองนายกรัฐมนตรี 6....ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี 7.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 8.พล..ธรรมรักษ์ อิสรางกูร อยุธยา รมว.กลาโหม 9...สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รมว.คลัง 10.นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง

11.นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 12.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมว.พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตร และสหกรณ์ 14.นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์15.นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมว.คมนาคม 16.นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.คมนาคม 17.นายนิกร จำนง รมช.คมนาคม 18.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 19.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 20.นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน
 
21.นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ 22.นายวัฒนา เมืองสุข รมช.พาณิชย์23.นายวันมูหมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย 24. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม 25.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.แรงงาน 26.นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม 27.นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 28.นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข 29.พล...ประชา พรหมนอก รมช.สาธารณสุข 30.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.อุตสาหกรรม

31.
นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 32.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง 33.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 34.นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 35.นางสาว สุรีพร ดวงโต ผู้แทนกรมบัญชีกลาง 36.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 37.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 38.นายกำธร ตติยกวี 39.พล...สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 40.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย

41.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 42.พล...สมบัติ อมรวิวัฒน์ 43.นางสตรี ประทีปปะเสน ผู้แทนสำนักงบประมาณ 44.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ 45.พล...อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ อยุธยา 46.นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้แทนสำนักงบประมาณ 47.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

/////////////////////////

เปิดคำสั่ง 'ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดีหวยบนดิน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 51   
 

องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีนายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวนพร้อมผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) หมายเลขดำที่ 1/2551
 
คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลปัจจุบัน และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลย

ในความผิดฐาน ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์), ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร
 
และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา(ม.) 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 และ 11

ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลากฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย
การนัดฟังคำสั่งที่มีขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. องค์คณะได้แจ้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้โจทก์ทราบแล้ว


''ศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล ตามมาตรา 9 (1) และ (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งรับฟ้องและอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ในส่วนที่โจทก์ ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม ลงวันที่ 18 มีนาคม 2551''

ส่วนคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์กับ คตส. ของนายเทพนม ศิริวิทยารักษ์ (ประธานเครือข่ายประชาชน ภาคอีสานพิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ผู้ร้อง ยื่นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 นั้น องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 23 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจผู้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ส่วนที่จำเลยที่ 31-47 จำเลยที่ 9-10 และ 13 ยื่นคำร้องลงวันที่ 13 เมษายน, 9 กรกฎาคม และ 21 กรกฎาคม 2551 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ คตส.ในการดำเนินคดีนี้ องค์คณะเห็นสมควรที่จะมีคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา

สำหรับคำร้องของ ป.ป.ช.ที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมแทน คตส. และขอแก้ไขคำร้องเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า คตส.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 โดย คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช.ได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติไว้ว่า มติ คตส.ที่ดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ในการมีมติดังกล่าวเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีอำนาจมาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งจะสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 พ.ศ.2550 จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช.เข้าเป็นโจทก์แทน คตส.ได้ ส่วนที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 2 องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช.แก้ไขได้ โดยให้ ป.ป.ช.ส่งสำเนาคำฟ้องทั้ง 2 ฉบับให้จำเลยทุกคน

ให้โจทก์คัดสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยทั้ง 47 คน ส่งต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ ให้ส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส.ให้จำเลย โดยจำเลยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ทนายโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลนำส่งภายใน 15 วัน ส่วนจำเลยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดให้ศาลที่มีอำนาจในเขตจังหวัดนั้นส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง สำเนาแก้ไขคำฟ้องครั้งที่ 1 และ 2 และสำเนาเป็นคู่ความแทน คตส. ให้จำเลย หากไม่ปรากฏจำเลยมีภูมิลำเนาแห่งอื่นที่ปรากฏในคำฟ้อง ให้ปิดหมาย และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 26 กันยายน 2551 เวลา 10.00 น.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น