xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ-ป้าอุ-อนุรักษ์” โล่ง! ศาลรอตีความสถานะ คตส.ก่อนสั่งคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
“เลี้ยบ-ป้าอุ-อนุรักษ์” โล่งศาลฎีกาให้ส่งคำร้องไปให้ตุลาการรัฐธรรมนูญชี้ขาดคำสั่งแต่งตั้ง คตส.ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก่อนแล้วค่อยมาสั่งคดีทีหลังว่าจะรับฟ้องหรือไม่

วันนี้ ( 14 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเจ้าของสำนวนและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) หมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 47 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ( ยักยอกทรัพย์ ) , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตา 3,4,8,910 ,11

ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาคำฟ้องคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 มี.ค. 51 และคำร้องของจำเลยที่ 31-47 (กลุ่มเจ้าหน้าที่เป็นกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ลงวันที่ 3 เม.ย. 51 แล้ว

คดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์มีอำนาจตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49

จำเลยที่ 31-47 แย้งว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และ คตส. เป็นการจัดทำขึ้น หรือตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเฉพาะการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี เฉพาะคณะที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองฯ เท่านั้น ไม่ใช้บังคับแก่กรณีหรือบุคคลทั่วๆไป และ คตส.ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลาที่กำหนดในระยะสั้นเท่านั้น กรณีจึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นการออกกฎหมายที่ให้มีผลใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่เป็นการทั่วไป โดยมุ่งหมายให้ใช้บังคับเฉพาะแก่กรณี และเฉพาะแก่บุคคลเพื่อคณะบุคคลดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29

นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่แต่งตั้ง คตส.ขึ้นโดยให้มีอายุในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 11 เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ คือวันที่ 30 ก.ย.49 ถึงวันที่ 30 ก.ย.50 ก่อนวันที่ คตส.จะหมดอายุลงตามประกาศฉบับดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขึ้นมา ให้มีการต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 เป็นระยะเวลา 9 เดือน ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.50 ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) การที่รัฐจัดตั้ง หรือต่ออายุองค์กรตรวจสอบใดขึ้นมา จะต้องอยู่ภายใต้บังคับหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29

การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรใหม่ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งมิใช่องค์กรตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ทั้งสองข้อดังกล่าว เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ถ้าบทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บทบัญญัตินั้นก็จะเป็นอันใช้บังคับมิได้ คตส. ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ก็จะไม่มีอำนาจตรวจสอบและไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดี จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า

ข้อ 1. ประกาศ คปค.ฉับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่แต่งตั้ง คตส. ขึ้นมานั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่

ข้อ 2. พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49 - 50 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หรือไม่

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 และ คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ต่อไป

โดยให้ถ่ายสำเนาคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 คำร้องของจำเลยที่ 31-47 และรายงานกระบวนพิจารณานี้ โดยรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ คตส.มอบหมายให้ทนายความเดินทางมาฟังคำสั่งศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้ง 47 คนไม่ได้เดินทางมาศาลแต่อย่างใด โดยคดีนี้ คตส.ได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.46 ให้ดำเนินโครงการออกสลากหวยบนดิน ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน โดย คตส. ขอให้ศาล ฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 47 คนประกอบด้วย 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี 5.นายกร ทัพรังษี รองนายกรัฐมนตรี 6.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี 7.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 8.พล.อ.ธรรมรักษ์ อิสรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม 9.ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รมว.คลัง 10.นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง 11.นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 12.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมว.พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตร และสหกรณ์ 14.นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์15.นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมว.คมนาคม 16.นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.คมนาคม

17.นายนิกร จำนง รมช.คมนาคม 18.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 19.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 20.นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน 21.นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ 22.นายวัฒนา เมืองสุข รมช.พาณิชย์23.นายวันมูหมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย 24. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม 25.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.แรงงาน 26.นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม 27.นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 28.นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข29.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมช.สาธารณสุข 30.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.อุตสาหกรรม

31.นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 32.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง 33.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 34.นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 35.นางสาว สุรีพร ดวงโต ผู้แทนกรมบัญชีกลาง 36.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 37.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 38.นายกำธร ตติยกวี 39.พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 40.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 41.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 42.พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ 43.นางสตรี ประทีปปะเสน ผู้แทนสำนักงบประมาณ 44.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ 45.พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 46.นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้แทนสำนักงบประมาณ 47.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ คตส.ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดคดีดังกล่าว และนอกจากรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้แล้ว ยังมีอดีตรัฐมนตรีรวมทั้งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และยังมีข้าราชการระดับสูงหลายคนเกี่ยวข้องด้วย

สำหรับรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้มี 3 คน คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.แล้ว รัฐมนตรีทั้ง 3 คนต้องหยุดปฏิบัติงานทันทีหากศาลรับฟ้อง

"แก้วสรร"ข้องใจยังไม่รับฟ้องส่งตีความ

ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. กล่าวว่า ไม่เคยเห็นกฎหมายแบบนี้ คดียังไม่เข้าประตูศาล และศาลเองยังไม่ได้รับว่าจะรับฟัองหรือไม่ แล้วจะยื่นเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม คตส.จะไม่ทำอะไรและคงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ คตส.

"รัฐธรรมนูญที่ผมเข้าใจตามที่เรียนมาและสอนลูกศิษย์มา คดีนี้ยังไม่เข้าศาล ศาลยังไม่ได้รับอะไรเลย พวกนั้นยังไม่เป็นจำเลย แล้วมันจะมีช่องทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะกฎหมายที่ผมเข้าใจไม่มีแบบนี้ ตามหลักแล้วต้องเป็นคดีที่ ศาลฏีการับฟ้องแล้ว เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญถึงจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้"

นายแก้วสรรกล่าวถึงขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 211 ที่บัญญัติว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นนั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นายแก้วสรร กล่าวว่า ศาลฎีกามีอำนาจในการวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยอะไรก็เป็นไปตามนั้น เคารพการวินิจฉัยของศาลฏีกาเพียงแต่ คตส.ไม่คาดคิดว่าจะออกมาอย่างนี้ เพราะนึกว่าจะยื่นเรื่องว่าขัดรัฐธรรมนูญได้เมื่อทั้งหมดตกเป็น จำเลยแล้ว คตส.ก็คงไม่ต่อสู้อะไร เพราะยังไม่มีใครบอกว่า คตส.ใช้อำนาจไม่ถูก แต่บอกว่ากฎหมายไม่ถูก แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับก็จะยุ่งกันไปใหญ่

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ส่งคำคัดค้านของจำเลยในคดีหวยบนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเนื่องจากเกรงว่า อำนาจ คตส.จะขัดกับรัฐธรรมนูญว่า ต้องรอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องดังกล่าวมายังศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เมื่อคำร้องส่งมาแล้วก็จะต้องบรรจุคำร้องให้เป็นไปตามกระบวนการ คือ ทางสำนักงานจะส่งเรื่องให้ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคณะตุลาการประจำคดีขึ้นมาตรวจสอบว่าจะรับคำร้องหรือไม่ หากองค์คณะตุลาการเห็นควรรับคำร้องก็จะพิจารณาสอบสวนต่อไป แต่ถ้าไม่รับไว้พิจารณาก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า หากศาลฎีกาส่งมาเร็วตนก็จะบรรจุวาระได้เร็ว ซึ่งหากคำร้องดังกล่าวส่งมาถึงศาล ในระหว่างนำรายชื่อตุลาการขึ้นโปรดเกล้าฯ ตุลาการชุดเดิมก็จะพิจารณาคำร้องนั้นไปก่อน จนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วตุลาการชุดใหม่จึงจะรับช่วงโอนคดีต่างๆ ที่ค้างคามาพิจารณาต่อจากชุดเดิมที่พิจารณาค้างไว้

สำหรับการนัดประชุมว่าที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่เพื่อดำเนินการเลือก ว่าที่ตุลาการฯคนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับหนังสือประสานอย่างเป็นทางการจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งหากหนังสือที่ส่งจากสำนักเลขาฯวุฒิสภามาถึงเมื่อใด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็พร้อมดำเนินการนัดประชุมในทันที ทำให้ในวันที่ 15 พ.ค. ยังคงเป็นการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันอยู่ ซึ่งก็จะปฏิบัติหน้าที่จะกว่าว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ได้รับการโปรดเกล้าและเข้าถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญในสมัยที่ตนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่รับหารือข้อกฎหมาย ต้องให้เกิดความขัดแย้งก่อน ซึ่งศาลฎีกามีสิทธิที่จะส่งคำร้องได้เมื่อรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วและจำเลยยกประเด็นข้อกฎหมายเป็นข้อต่อสู้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่จำเลยร้องคัดค้านว่าผู้ฟ้องว่าไม่มีสิทธิฟ้องโดยที่คดียังไม่ได้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา จึงไม่รู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่

"ถ้าในยุคที่ผมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตีความว่ายังไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะศาลฎีกายังไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาเลย แต่คราวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันว่าจะเห็นอย่างไร ซึ่งคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาจะกลายเป็นบรรทัดฐาน"

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่าคู่กรณีขอศาลฎีกาใช้อำนาจตามมาตรา 211 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เพราะสงสัยว่ากฎหมายที่นำมาใช้พิจารณาตนเองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร ส่วนตัวมองว่าอำนาจ คตส.ถูกรับรองไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 309 แม้มาตราดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าการกระทำใด ๆ ของ คตส.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

0110
กำลังโหลดความคิดเห็น