ผู้จัดการออนไลน์ - นักกฎหมายห่วงคดีทุจริตที่คตส.กำลังตรวจสอบแก๊งทักษิณและพวกนับสิบคดีหยุดชะงักทั้งหมด หลังศาลฎีการฯ ส่งคดีหวยบนดินให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คาดผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด ทุจริตต่อหน้าที่ อาศัยเป็นช่องยื่นร้องต่อศาลฯ เตะถ่วงเวลา
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเจ้าของสำนวนและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) หมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 47 คน เป็นจำเลย
ในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ( ยักยอกทรัพย์ ) , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร
และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตา 3,4,8,910 ,11
ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาคำฟ้องคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 มี.ค. 51 และคำร้องของจำเลยที่ 31-47 (กลุ่มเจ้าหน้าที่เป็นกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ลงวันที่ 3 เม.ย. 51 แล้ว
คดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์มีอำนาจตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49
***ร้องศาลฯต่ออายุคตส.เหมือนตั้งองค์กรใหม่
จำเลยที่ 31-47 แย้งว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และ คตส. เป็นการจัดทำขึ้น หรือตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเฉพาะการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี เฉพาะคณะที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองฯ เท่านั้น ไม่ใช้บังคับแก่กรณีหรือบุคคลทั่วๆไป และ คตส.ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลาที่กำหนดในระยะสั้นเท่านั้น
กรณีจึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นการออกกฎหมายที่ให้มีผลใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่เป็นการทั่วไป โดยมุ่งหมายให้ใช้บังคับเฉพาะแก่กรณี และเฉพาะแก่บุคคลเพื่อคณะบุคคลดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29
นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่แต่งตั้ง คตส.ขึ้นโดยให้มีอายุในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 11 เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ คือวันที่ 30 ก.ย.49 ถึงวันที่ 30 ก.ย.50 ก่อนวันที่ คตส.จะหมดอายุลงตามประกาศฉบับดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขึ้นมา ให้มีการต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 เป็นระยะเวลา 9 เดือน ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.50
ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) การที่รัฐจัดตั้ง หรือต่ออายุองค์กรตรวจสอบใดขึ้นมา จะต้องอยู่ภายใต้บังคับหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29
การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรใหม่ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งมิใช่องค์กรตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
***ศาลฎีกาฯ โยนศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ทั้งสองข้อดังกล่าว เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ถ้าบทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บทบัญญัตินั้นก็จะเป็นอันใช้บังคับมิได้ คตส. ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ก็จะไม่มีอำนาจตรวจสอบและไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดี จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า
ข้อ 1. ประกาศ คปค.ฉับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่แต่งตั้ง คตส. ขึ้นมานั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่
ข้อ 2. พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49 - 50 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 และ คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ต่อไป โดยให้ถ่ายสำเนาคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 คำร้องของจำเลยที่ 31-47 และรายงานกระบวนพิจารณานี้ โดยรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
คดีหวยบนดิน คตส.มอบหมายให้ทนายความเดินทางมาฟังคำสั่งศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้ง 47 คนไม่ได้เดินทางมาศาลแต่อย่างใด โดยคดีนี้ คตส.ได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.46 ให้ดำเนินโครงการออกสลากหวยบนดิน ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน โดย คตส. ขอให้ศาล ฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ตามกฎหมาย
พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย
***"แก้วสรร"ข้องใจยังไม่รับฟ้องส่งตีความ
นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. กล่าวว่า ไม่เคยเห็นกฎหมายแบบนี้ คดียังไม่เข้าประตูศาล และศาลเองยังไม่ได้รับว่าจะรับฟัองหรือไม่ แล้วจะยื่นเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม คตส.จะไม่ทำอะไรและคงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ คตส.
"รัฐธรรมนูญที่ผมเข้าใจตามที่เรียนมาและสอนลูกศิษย์มา คดีนี้ยังไม่เข้าศาล ศาลยังไม่ได้รับอะไรเลย พวกนั้นยังไม่เป็นจำเลย แล้วมันจะมีช่องทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะกฎหมายที่ผมเข้าใจไม่มีแบบนี้ ตามหลักแล้วต้องเป็นคดีที่ ศาลฏีการับฟ้องแล้ว เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญถึงจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้"
นายแก้วสรรกล่าวถึงขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 211 ที่บัญญัติว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นนั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายแก้วสรร กล่าวว่า ศาลฎีกามีอำนาจในการวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยอะไรก็เป็นไปตามนั้น เคารพการวินิจฉัยของศาลฏีกาเพียงแต่ คตส.ไม่คาดคิดว่าจะออกมาอย่างนี้ เพราะนึกว่าจะยื่นเรื่องว่าขัดรัฐธรรมนูญได้เมื่อทั้งหมดตกเป็น จำเลยแล้ว คตส.ก็คงไม่ต่อสู้อะไร เพราะยังไม่มีใครบอกว่า คตส.ใช้อำนาจไม่ถูก แต่บอกว่ากฎหมายไม่ถูก แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับก็จะยุ่งกันไปใหญ่
*** "ปริญญา"ระบุคตส.มีม.309รับรองแล้ว
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่าคู่กรณีขอศาลฎีกาฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 211 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เพราะสงสัยว่ากฎหมายที่นำมาใช้พิจารณา ตนเองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร ส่วนตัวมองว่าอำนาจคตส.ถูกรับรองไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 309 แม้มาตราดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าการกระทำใด ๆ ของคตส.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
***นักกฎหมายห่วงคดีตรวจสอบทุจริตสะดุด
แห่งข่าวนักกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ให้ความเห็นต่อกรณีที่ศาลฎีกาฯ ส่งเรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดขึ้นแก่รัฐ ของคตส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้างต้นว่า จะส่งผลให้คดีที่คตส.ตรวจสอบและฟ้องร้องเอาผิดสะดุดทั้งหมด มีปัญหาทุกคดี
ทั้งนี้ การโยนเรื่องออกไปโดยที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าศาลฯ จะประทับรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดี ประเด็นใหญ่ที่จะตามมา คือ ต่อไปเมื่อใครถูกฟ้องคดีก็จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อทำให้กระบวนการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฯ หยุดชะงัก
***อิงมาตรา 211 พิจารณาคดีระหว่างรอศาลรธน.
นักกฎหมายรายเดิม มองว่า กรณีนี้ศาลฎีกาฯ ควรวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับก็ตกไป และถ้ารับก็เป็นคดีความที่อยู่ในอำนาจศาลฯ จากนั้นศาลฯ ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยได้ และระหว่างการรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาฯ ก็สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211
"การเอาประเด็นว่าคตส.มีอำนาจตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียแก่รัฐ ไปผูกโยงว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วระหว่างนี้ศาลฎีกาฯ จะพิจารณาคดีตามมาตรา 211 ได้อย่างไร ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ หยุดชะงัก" แหล่งข่าวนักกฎหมาย กล่าว
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 211 ระบุว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญ จะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”