xs
xsm
sm
md
lg

ส่งศาลรธน.ตีความต่ออายุคตส.ฟ้องCTXเอาผิดแม้ว 6 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลฎีกาฯ ยังไม่รับฟ้องคดีหวยบนดิน เตรียมส่งศาล รธน.วินิจฉัย การแต่งตั้ง คตส.และการต่ออายุ คตส.ขัด รธน.หรือไม่ หลังจำเลยกลุ่มผู้บริหารกองสลากฯ หัวหมอร้องแย้ง ‘แก้วสรร’ ข้องใจไม่ประทับรับฟ้องส่งวินิจฉัยได้ไง นักกฎหมายห่วงการตรวจสอบทุจริตของ คตส.สะดุด ส่วนคดีซีทีเอ็กซ์ บอร์ด คตส.มีมติส่งอัยการฟ้อง "ทักษิณ" พร้อมพวก 6,936 ล้านบาท

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (14 พ.ค.) นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เจ้าของสำนวนและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ( หวยบนดิน) หมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 47 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ( ยักยอกทรัพย์ ) และความผิดอื่นๆตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 3,4,8,910 ,11

บอร์ดกองสลากร้องคตส.ไม่มีสิทธิสอบ

ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาคำฟ้องคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 มี.ค. 51 และคำร้องของจำเลยที่ 31-47 (กลุ่มเจ้าหน้าที่เป็น กรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ลงวันที่ 3 เม.ย. 51 แล้ว
คดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์มีอำนาจตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49
จำเลยที่ 31-47 แย้งว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และ คตส. เป็นการจัดทำขึ้น หรือตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเฉพาะการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เฉพาะคณะที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองฯ เท่านั้น ไม่ใช้บังคับแก่กรณีหรือบุคคลทั่วๆไป และ คตส.ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลาที่กำหนดในระยะสั้นเท่านั้น กรณีจึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นการออกกฎหมายที่ให้มีผลใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่เป็นการทั่วไป โดยมุ่งหมายให้ใช้บังคับเฉพาะแก่กรณี และเฉพาะแก่บุคคลเพื่อคณะบุคคลดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29

สงสัยต่ออายุคตส.เหมือนตั้งองค์กรใหม่

นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่แต่งตั้ง คตส.ขึ้นโดยให้มีอายุในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 11 เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ คือวันที่ 30 ก.ย.49 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2550 ก่อนวันที่ คตส.จะหมดอายุลงตามประกาศฉบับดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขึ้นมา ให้มีการต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 เป็นระยะเวลา 9 เดือน ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.50 ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) การที่รัฐจัดตั้ง หรือต่ออายุองค์กร ตรวจสอบใดขึ้นมา จะต้องอยู่ภายใต้บังคับหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29
การที่สนช. ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.2551 ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรใหม่ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งมิใช่องค์กรตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฏีกาฯโยนศาลรธน.ตีความ

ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ทั้งสองข้อดังกล่าว เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ถ้าบทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บทบัญญัตินั้นก็จะเป็นอันใช้บังคับมิได้ คตส. ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ก็จะไม่มีอำนาจตรวจสอบและไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดี จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า
ข้อ 1. ประกาศ คปค.ฉับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่แต่งตั้ง คตส. ขึ้นมานั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่
ข้อ 2. พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.49 - 50 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 และ คำร้องของจำเลยที่ 31-47 ต่อไป
โดยให้ถ่ายสำเนาคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 คำร้องของจำเลยที่ 31-47 และรายงานกระบวนพิจารณานี้ โดยรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คตส.มอบหมายให้ทนายความเดินทางมาฟังคำสั่งศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้ง 47 คนไม่ได้เดินทางมาศาลแต่อย่างใด โดยคดีนี้ คตส.ได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม ครม. ที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.46 ให้ดำเนินโครงการออกสลากหวยบนดิน ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน โดย คตส. ขอให้ศาล ฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลาก ของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย

"แก้วสรร"ข้องใจยังไม่รับฟ้องส่งตีความ

ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุกการ คตส. กล่าวว่า ไม่เคยเห็นกฎหมายแบบนี้ คดียังไม่เข้าประตูศาล และศาลเองยังไม่ได้รับว่าจะรับฟัองหรือไม่ แล้วจะยื่นเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม คตส.จะไม่ทำอะไรและคงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ คตส.
"รัฐธรรมนูญที่ผมเข้าใจตามที่เรียนมาและสอนลูกศิษย์มา คดีนี้ยังไม่เข้าศาล ศาลยังไม่ได้รับอะไรเลย พวกนั้นยังไม่เป็นจำเลย แล้วมันจะมีช่องทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะกฎหมายที่ผมเข้าใจไม่มีแบบนี้ ตามหลักแล้วต้องเป็นคดีที่ ศาลฏีการับฟ้องแล้ว เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญถึงจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้"
นายแก้วสรรกล่าวถึงขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 211 ที่บัญญัติว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นนั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายแก้วสรร กล่าวว่า ศาลฎีกามีอำนาจในการวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยอะไรก็เป็นไปตามนั้น เคารพการวินิจฉัยของศาลฏีกาเพียงแต่ คตส.ไม่คาดคิดว่าจะออกมาอย่างนี้ เพราะนึกว่าจะยื่นเรื่องว่าขัดรัฐธรรมนูญได้เมื่อทั้งหมดตกเป็น จำเลยแล้ว คตส.ก็คงไม่ต่อสู้อะไร เพราะยังไม่มีใครบอกว่า คตส.ใช้อำนาจไม่ถูก แต่บอกว่ากฎหมายไม่ถูก แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับก็จะยุ่งกันไปใหญ่

"ปริญญา"ระบุคตส.มีม.309รับรองแล้ว
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่าคู่กรณีขอศาลฎีกาฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 211 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เพราะสงสัยว่ากฎหมายที่นำมาใช้พิจารณา ตนเองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร ส่วนตัวมองว่าอำนาจคตส.ถูกรับรองไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 309 แม้มาตราดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าการกระทำใด ๆ ของคตส.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ห่วงคดีที่คตส.ตรวจสอบสะดุดหมด

แหล่งข่าวจากนักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า การส่งตีความดังกล่าวจะส่งผลให้คดีที่ คตส.ตรวจสอบและฟ้องร้องเอาผิดสะดุดทั้งหมด มีปัญหาทุกคดี การโยนเรื่องออกไปโดยที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าศาลฯ จะประทับรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดี ประเด็นใหญ่ที่จะตามมาคือ ต่อไปเมื่อใครถูกฟ้องคดีก็จะยื่นคำร้อง ต่อศาลฎีกาฯ เพื่อทำให้กระบวนการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฯ หยุดชะงัก
"กรณีนี้ศาลฎีกาฯ ควรวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับก็ตกไป และถ้ารับก็เป็นคดีความที่อยู่ในอำนาจศาลฯ จากนั้นศาลฯ ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยได้ และระหว่างการรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาฯ ก็สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 211 การเอาประเด็นว่า คตส.มีอำนาจตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียแก่รัฐ ไปผูกโยงว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วระหว่างนี้ศาลฎีกาฯ จะพิจารณาคดีตาม มาตรา 211 ได้อย่างไร ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ หยุดชะงัก"
แหล่งข่าว กล่าวว่า มาตรา 211 ระบุว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้ง พร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญ จะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว"

คตส.มีมติส่งอัยการฟ้องคดีซีทีเอ็กซ์

นายสัก กอแสงเรือง โฆษ คตส. แถลงว่าจากการประชุม คตส.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่องส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง ในโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง กับการกระทำความผิด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มคณะกรรมการ และพนักงาน บริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และพนักงาน และคณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และพนักงาน และกลุ่มสุดท้ายเป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบยังขอให้ผู้กระทำความผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินจำนวนประมาณ 6,936 ล้านบาท ในความผิด 2 กระทง ตามประมาลกฎหมาย อาญามาตรา 341 ฐานฉ้อโกงทั้งโครงการ เนื่องจากเสนอค่าจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงและติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแพงกว่าความเป็นจริง 1,714.846 ล้านบาท เป็นเหตุให้ บทม.ได้รับความเสียหาย โดยจะสามารถ รวบรวมเอกสารเสนอให้อัยการสูงสุดได้ภายใน 7 วัน
กระทงแรก เป็นความผิดตามสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 โดยผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดประกอบด้วย กลุ่ม1. นักการเมือง ในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกับพนักงานและคณะกรรมการ บทม. และคณะกรรมการ บทม. นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ร่วมกันช่วยเหลือผู้เสนอราคาให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม และทุจริต
กลุ่ม 2 . คณะกรรมการ และพนักงาน บทม. ในฐานะเป็นพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จึงมีมูลความผิดฐานร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าพนักงาน นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ช่วยเหลือ ให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม
กลุ่ม 3. กลุ่มนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มีมูลความผิดฐานร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เจ้าพนักงาน พนักงานและคณะกรรมการ บทม. เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคา รายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม โดยทุจริต
สำหรับ กระทงที่ 2 เป็นความผิดกรณี บทม.เชิดตัวเองเข้าทำสัญญากับกับบริษัท จีอี อินวิชั่น ประกอบด้วย 1. กลุ่มนักการเมือง กลุ่มที่ 2 คณะกรรมการ ทอท. และพนักงาน และกลุ่ม 3 นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มีความผิดฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149

"ชัยเกษม"คตส.ส่งฟ้องเอง

สำหรับนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด อดีต กรรมการ บทม. คตส.มีมติส่งฟ้องเอง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติมาตรา 56 (2) ประกอบมาตรา 97 แม้ว่านายชัยเกษมจะเคยชี้แจงว่า คุณสมบัติไม่เข้ามาตรา 97 เพราะในพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาเป็นช่วงการดำรง ตำแหน่งเป็นรองอัยการสูงสุดก็ตาม แต่ทาง คตส.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
สำหรับผู้กระทำความผิดในกระทงที่ 1 กลุ่มนักการเมืองประกอบด้วย พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข อดีตที่ปรึกษา รมว.คมนาคม (นายสุริยะ )
กลุ่มที่ 2. คืออดีตบอร์ด บทม.และ ทอท.ซึ่งสามารถแยกผู้ถูกสั่งฟ้อง โดยมีจำนวน 4 คนคือ นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.สมชาย สมประสงค์ พล.อ.อ.นรงศักดิ์ สังฆพงศ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งนายชัยเกษม คตส.จะแยกสั่งฟ้องเอง
สำหรับผู้ถูกกล่าหาในความผิดกระทงที่ 2 เป็นนักการเมือง ชื่อเดี่ยวกับกระทงแรก และอดีตบอร์ดทอท.
นอกจากนี้ในกระทงที่ 2 คตส.ยังแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทเอกชน ประกอบ กลุ่มร่วมไอทีโอ ( บ.อิตัลไทย,บ.ทาเกนากะ,บ.โอบายาชิ ) บ.ควอโตรเท็ต บ.แพททิออต ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจและผู้บริหารใน 5 บริษัทดังกล่าวที่ถูกเอาผิดประกอบด้วย นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตัลไทย นางนิจกร จรณะจิตต์ น้องสาวนายเปรมชัย นายธวัชชัย สุทธิประภา ผู้จัดการกลุ่มร่วมค้าไอทีโอ นายวรพจน์ ยศทัศน์ เหรือเสี่ย เช. ส่วนที่เป็นชาวต่างชาติ คือ Mr.Takemi Yokota Mr.Shiro Osada Mr.Tadashi Ueharro Mr.Massahide Kumiyoshi
กำลังโหลดความคิดเห็น