คตส.มีมติเอกฉันท์ส่งอัยการสูงสุดฟ้อง “แม้ว-สุริยะ” กับพวกกราวกรูดทุจริตซีทีเอ็กซ์ให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6.9 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน แยกฟ้อง “ชัยเกษม” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ที่ร่วมกระทำผิดในขณะที่เป็นรองอัยการสูงสุดด้วย
วันนี้ (14 พ.ค.) นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แถลงว่าจาการประชุม คตส.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมได้ข้อสรุป และมีมติเป็นเอกฉันท์ในการส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง ในการคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ
โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มคณะกรรมการ และพนักงาน บริษัท การท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และพนักงาน และคณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และพนักงาน กลุ่มสุดท้ายเป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังขอให้ผู้กระทำความผิดคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินจำนวนประมาณ 6,936 ล้านบาท ในความผิด 2 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ฐานฉ้อโกงทั้งโครงการ เนื่องจากเสนอค่าจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงและติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแพงกว่าความเป็นจริง 1,714.846 ล้านบาท เป็นเหตุให้ บทม.ได้รับความเสียหาย โดยจะสามารถรวบรวมเอกสารเสนอให้อัยการสูงสุดได้ภายใน 7 วัน
นายสัก กล่าวว่า ความผิดกระทงแรก เป็นความผิดตามสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 โดยผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดประกอบด้วย 1 นักการเมือง ในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มีมูลความผิดฐาน ร่วมกับพนักงานและคณะกรรมการ บทม. นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา กำหนดเงื่อนไข Variation ข้อ 56 และกำหนดคุณสมบัติของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดให้สามารถตรวจยาเสพติดได้พร้อมกัน ในการจ้างปรับเปลี่ยนระบบ BHS & HBS
โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม โดยทุจริต กระทำการใดๆโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หลอกลวง บทม.ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ทรัพย์สินไปจาก บทม.โดยทุจริต โดยแบ่งหน้าที่กันทำ
เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542มาตรา 5, 11, 12, 13 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 149, 157, 341 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 11 นายสัก กล่าวว่า 2.คณะกรรมการ และพนักงาน บทม.ในฐานะเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 จึงมีมูลความผิดฐานร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าพนักงาน นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กำหนดเงื่อนไข Variation ข้อ 56 และกำหนดคุณสมบัติของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดให้สามารถตรวจยาเสพติดได้พร้อมกัน ในการจ้างปรับเปลี่ยนระบบ BHS & HBS
โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม โดยทุจริต กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หลอกลวง บทม. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ทรัพย์สินไปจาก บทม.โดยทุจริต โดยแบ่งหน้าที่กันทำ สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมาตราเดียวกันกับกลุ่มนักการเมือง
โฆษก คตส.กล่าวว่า 3.กลุ่มนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มีมูลความผิดฐานร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงาน พนักงานและคณะกรรมการ บทม.กำหนดเงื่อนไข Variation ข้อ 56 และกำหนดคุณสมบัติของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดให้สามารถตรวจยาเสพติดได้พร้อมกัน ในการจ้างปรับเปลี่ยนระบบ BHS & HBS โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม โดยทุจริต กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หลอกลวง บทม. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ทรัพย์สินไปจาก บทม. โดยทุจริต โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5, 11, 12, 13 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 144, 157, 341 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 11
นายสัก กล่าวว่า สำหรับกระทงที่ 2 เป็นความผิดกรณี บทม.เชิดตัวเองเข้าทำสัญญากับกับบริษัท จีอี อินวิชั่น ประกอบด้วย 1.กลุ่มนักการเมือง กลุ่มที่ 2 คณะกรรมการ ทอท. และพนักงาน และกลุ่ม 3 นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
นายสั กล่าวว่า สำหรับนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด คตส.มีมติส่งฟ้องเองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาตรา 56 (2) ประกอบมาตรา 97 แม้ว่านายชัยเกษมจะเคยชี้แจงว่าคุณสมบัติไม่เข้ามาตรา 97 เพราะในพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาเป็นช่วงการดำรงตำแหน่งเป็นรองอัยการสูงสุดก็ตาม แต่ทาง คตส.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
นายสัก กล่าวว่า นอกจากนี้ในการพิจารณารายละเอียดควาผิดในกระทงที่ 1 คตส.เห็นควรไม่สั่งฟ้อง นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ นายวิชัย จึงรักเกียรติ และ นายวิษณุ พูลสุข ส่วนความผิดในกระทงที่สอง เห็นควรไม่สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 10 ราย คือ 1.พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา 2.นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม 3.พล.ต.อ ธวัชชัย ภัยลี้ 4. นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ 5.นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ 6.นายสมชัย วงศ์สวัสดิ์ 7.นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ 8. นายวรศักดิ์ กนกนุกุลชัย 9.นาย Dominic Della Maggiora และ 10 นายวรวิทย์ วิสูตรชัย โดยในส่วนของผู้บริหารบริษัมควอโตรเท็คอินซ์ สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 48 ดังนั้นสิทธิ์การนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.ม.39 (1)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้กระทำความผิดในกระทงที่ 1 กลุ่มนักการเมือง ประกอบด้วย พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข อดีตที่ปรึกษา รมว.คมนาคม (นายสุริยะ ) สำหรับกลุ่มที่ 2. คืออดีตบอร์ด บทม.และ ทอท.ซึ่งสามารถแยกผู้ถูกสั่งฟ้อง โดยมีจำนวน 4 คน คือ นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.สมชาย สมประสงค์ พล.อ.อ.นรงศักดิ์ สังฆพงศ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งนายชัยเกษม คตส.จะแยกสั่งฟ้องเอง ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับผู้ถูกกล่าหาในความผิดกระทงที่ 2 เป็นนักการเมืองชื่อเดี่ยวกับกระทงแรก และอดีตบอร์ดทอท. ประกอบด้วยนาย นายศรีสุข จันทรางศุ นายสามารถ ยลภัคย์ นายบัญชา ปัตนาภรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายสมชัย สวัสดิผล และนายกมลพงศ์ ชูมณี เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนรับรู้ตั้งแต่ต้น ส่วนคนที่หลุดในกระทงนี้มีจำนวน 10 คนดังกล่าวข้างต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในกระทงที่ 2 คตส.ยังแจ้งข้อกล่าวหาต่อบริษัทเอกชน ประกอบด้วย กลุ่มร่วมไอทีโอ (บ.อิตัลไทย, บ.ทาเกนากะ, บ.โอบายาชิ ) บ.ควอโตรเท็ต บ.แพททิออต ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจและผู้บริหารใน 5 บริษัทดังกล่าวที่ถูกเอาผิด ประกอบด้วย นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตัลไทย นางนิจกร จรณะจิตต์ น้องสาวนายเปรมชัย นายธวัชชัย สุทธิประภา ผู้จัดการกลุ่มร่วมค้าไอทีโอ นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ส่วนที่เป็นชาวต่างชาติ คือ Mr.Takemi Yokota Mr.Shiro Osada Mr.Tadashi Ueharro Mr.Massahide Kumiyoshi
/0110