คตส.ฟัน “ทักษิณ” เอี่ยวงาบ “ซีทีเอ็กซ์ 9000” หลังพบหลักฐานเด็ดลายเส้น “ปากกาสีดำ” ทำเครื่องหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสายพานระบบลำเลียงกระเป๋า เผยเตรียมร่วมถกส่งอัยการสูงสุด หรือยื่นฟ้องศาลฎีกาเอง
วานนี้ (20 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ วาระที่น่าสนใจ คือ คณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่มีนายอำนวย ธันธรา เป็นประธาน จะนำสรุปผลสำนวนการไต่สวนคดีดังกล่าว รายงานให้ที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นชอบว่าจะส่งฟ้องอัยการสูงสุด หรือฟ้องเองโดยตรงที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่อนุกรรการไต่สวนเสนอหรือไม่
สำหรับรายงานลับซึ่งเป็นผลการไต่สวนสำนวนการสอบสวนคดีซีทีเอ็กซ์ 9000 นั้น พบว่า เอกสารการสอบสวนดังกล่าวซึ่งมีนับพันหน้า รวมแล้วหลายสิบแฟ้ม จะมีการบรรยายความเป็นมาของคดีนี้โดยละเอียด ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงกระบวนการอนุมัติการจัดซื้อ และการรับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ที่ส่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในส่วนของกระบวนการจัดซื้อนั้น อนุกรรมการได้มีการบรรยายโดยละเอียดตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสายพานลำเลียงกระเป๋า และสัมภาระ โดยมติของคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) หลายครั้งในช่วงปี 2546 ซึ่งมีการเห็นชอบ และผลักดันโดยตรงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.)
แฉหลักฐาน “ปากกาสีดำ” มัด “แม้ว”
การกระทำดังกล่าว อนุกรรมการเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดในการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเครื่องซีทีเอ็กซ์มีเงื่อนงำ และส่อพิรุธทำให้เกิดกระบวนการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้นอนุกรรมการไต่สวนคดีซีทีเอ็กซ์ของ คตส. จึงมีมติให้ดำเนินคดี และแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาลำดับที่ 1 อีกทั้งอนุกรรมการมีพยานหลักฐาน คือ คำให้การของพยานบุคคล ซึ่งมาให้การกับ คตส.ว่า ในเอกสารการประชุม และสั่งการของ กทภ.ที่มีการสั่งให้ใช้จัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี โดยใช้ “ปากกาสีดำ” เป็นเครื่องหมาย และพยานได้ระบุกับ คตส.ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้ระบุในที่ประชุมให้เปลี่ยนแปลงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าดังกล่าว
“จากผลการสอบสวนพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกฯ และประธาน กทภ.ที่ได้เข้าประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2548 พบว่า ไม่ได้มีการตำหนิการทำงานของบอร์ด บทม. และบอร์ด ทอท. โดยเฉพาะการไม่แจ้งถึงความเสียหายที่ บทม. และ ทอท.จะได้รับในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และการตัดสินใจซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ รวมไปถึงการแก้ไขความเสียหาย และภาพพจน์ของประเทศไทยที่ได้รับจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลังมีข่าวเรื่องปัญหาสินบนการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ ซึ่งกระทบกับภาพพจน์ของประเทศไทยอย่างรุนแรง” ผลการสอบสวนคดีซีทีเอ็กซ์ของ คตส.ตอนหนึ่ง ระบุ
“สุริยะ-ธีรวัฒน์” มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอื่นๆ ประกอบด้วย ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาลำดับที่ 2 คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นกระบวนการ และขั้นตอนการจัดซื้อทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นผู้เดินทางไปรับเครื่องซีทีเอ็กซ์ด้วยตัวเองด้วย สำหรับผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาลำดับที่ 3 คือ นายธีรวัฒน์ ฉัตราธิมุข ซึ่งเป็นทีมงานฝ่ายการเมืองหน้าห้องของนายสุริยะ โดยต่อมาได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการให้เป็นประธานที่ปรึกษา รมว.คมนาคม
ภายหลังพบว่า นายธีรวัฒน์ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆ แต่กลับไปเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอนุมัติจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ คือ ตัวแทนจากบริษัทอินวิชั่น ตัวแทนของกลุ่ม ITO บริษัท บทม.โดยตลอด เพื่อหาข้อตกลงในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ ดังนั้น นายธีรวัฒน์ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 4(5)
ชี้ผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
จากพยานหลักฐานที่อนุกรรมการไต่สวนได้รับ พบว่า ทั้ง 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ และนายธีรวัฒน์ ซึ่งเป็นนักการเมืองนั้น ได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ หลายครั้งว่า ต้องการให้ได้ข้อสรุปในการซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์โดยเร็วที่สุด และทั้ง 3 คน มีส่วนผลักดันให้มีการซื้อเครื่องดังกล่าวจากบริษัทอินวิชั่นอย่างสูง ในรายงานลับผลการสอบสวนคดีซีทีเอ็กซ์ ยังระบุถึงผู้ถูกดำเนินคดีในคดีนี้อีกว่า ยังมีอดีตคณะกรรมการบริหารบริษัท ทอท.ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐ แต่กลับมีมติหลายครั้ง เพื่อเร่งรัดดำเนินการในการทำสัญญาซื้อขายระหว่าง บทม.กับอินวิชั่น จึงถือว่ามีความผิดในฐานะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ซึ่งรายชื่ออดีตบอร์ด ทอท.ที่ถูก คตส.เอาผิด เช่น นายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตประธานบอร์ด ทอท. และ บทม. นายอารีพงษ์ พุ่มชะอุ่ม พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ นายสามารถ ราชภักดิ์ นายสมชัย สวัสดิผล นายอดิเทพ นาคะวิสุทธิ์ ที่เป็นกรรมการพิจารณาต่อรองราคางานจ้างออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยฯ นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ เป็นต้น
“ไอทีโอ-แพทริออต” ไม่รอด-โดนดำเนินคดี
“สำหรับบริษัทเอกชนที่ถูก คตส.เอาผิด และดำเนินคดีอาญา ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทไอทีโอ เพราะถือว่าได้รับผลกำไรขาดทุนจากการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าดังกล่าว บริษัทแพทริออต ในฐานะบริษัทนายหน้า และเป็นตัวแทนของบริษัทอินวิชั่นในประเทศไทย ที่มีนายวรพจน์ ยศทัตต์ หรือเสี่ยเช เป็นเจ้าของ ซึ่งผู้บริหารของกลุ่มบริษัทเอกชนดังกล่าว คือ ไอทีโอ และแพทริออต จะถูกดำเนินคดีทั้งหมด”รายงานข่าว ระบุ
เอกสารลับผลการสอบสวน ยังระบุว่า สำหรับบุคคลที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกเอาผิดในชั้นอนุกรรมการไต่สวน แต่จะไม่มีชื่อถูกเอาผิดในการส่งสำนวนฟ้องศาลเพราะพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการดำเนินคดี จึงต้องระงับไปตามกฎหมาย ประกอบด้วย นายวิชัย จึงรักเกียรติ นายวรวิทย์ วิสูตรชัย เพื่อนร่วมรุ่นคณะวิศวกรรมกับนายวรพจน์ นายโดมินิค แมคเกอดดี้ ชาวต่างชาติ รวมทั้งบริษัทควอโตเทค ที่ บทม.ไปจ้างมาเป็นบริษัทวิศวกรอิสระตรวจรับรองแบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกอนุกรรมการไต่สวนชี้มูลในชั้นไต่สวนว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย แต่ปรากฏว่า ต่อมาบริษัทควอโตเทคได้ไปควบรวมกิจการบริษัท LLC เป็น QuatrotecLlc ทำให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง การดำเนินคดีอาญาจึงต้องระงับไปด้วย
“ทักษิณ” อ่วมสุดเจอความผิด 2 กระทง
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า สำหรับการเอาผิดตามกฎหมายนั้น จะมีการแยกเขียนบรรยายลักษณะความผิด โดยบางคนจะมีความผิด 2 กระทง และบางคนจะมีความผิดแค่ 1 กระทง แต่ที่หนักที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุริยะ เพราะพบว่าเป็นแค่ 2 คนเท่านั้นที่โดนเอาผิด 2 กระทง คือ 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,86,90,144,157 รวมทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 83 และความผิดกระทงที่ 2 คือ ความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 70,84,91,97
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญของการเขียนสรุปผลการสอบสวนพบว่า อนุกรรมการได้มีการถกเถียงกันอย่างมากต่อการเอาผิดกับนายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุด เนื่องจากตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ได้ให้ทุกสำนวนของ คตส.ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสำนวนการสั่งฟ้องต่อศาลก่อน แต่หากอัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้อง ถึงค่อยกลับมาให้มีการตั้งกรรมการร่วม 2 ฝ่าย คือ คตส.กับอัยการ แล้วหากตกลงกันไม่ได้ถึงค่อยให้ คตส.ยื่นฟ้องเอง
ซึ่งอนุกรรมการมีความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกเห็นว่า คตส.สามารถยื่นฟ้องนายชัยเกษม ต่อศาลได้เลย โดยแยกสำนวนการส่งฟ้องออกมาต่างหากตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 97 แต่อีกฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการลัดขั้นตอน และรูปคดีไม่เข้ากับกฎหมาย ป.ป.ช. โดยสมควรส่งฟ้องนายชัยเกษม พ่วงไปกับบุคคลที่ถูกเอาผิดทั้งหมด แล้วหากอัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยเกษม จากนั้น คตส.ถึงค่อยยื่นฟ้องเอง ทำให้สุดท้ายอนุกรรมการไต่สวนต้องมีการนัดประชุมเพื่อลงมติชี้ขาดในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย.นี้ว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการเอาผิดนายชัยเกษม ต่อไป