xs
xsm
sm
md
lg

อัยการโต้ คตส.ไม่สน “อสส.” ถูกชี้มูลซีทีเอ็กซ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
อัยการแถลงโต้ ระบุ คตส.ดื้อไม่แจ้งข้อกล่าวหาคดีกล้ายาง-หวยบนดิน ทำให้ อสส.สั่งคดีไม่ได้ ย้ำไม่เคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ชี้รีบด่วนฟ้องคดีทั้งที่สำนวนบกพร่องทำให้เสียหาย ส่อเจตนาล้มคดีชั้นศาล ขู่ผิดหมิ่นประมาท ระบุแม้ อสส.ถูกชี้มูลคดีซีทีเอ็กซ์ ยังปฎิบัติหน้าที่ได้ ไม่ก้าวก่ายคณะทำงาน มอบรอง อสส.เบอร์ 1 ดูแล ส่วนเรื่องแก้ รธน.เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามผลกระทบ ออกตัวอัยการต้องอิสระ

วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ห้องประชุม 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และข้าราชการที่เป็นคณะกรรมการผลประกวดราคา และบริษัทเอกชน รวม 45 คน เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตที่จัดซื้อกล้ายาง ทำให้ คตส.ต้องขอสำนวนคืนเพื่อไปยื่นฟ้องเองซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมีความคลาดเคลื่อน

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้ อสส.ได้คืนสำนวนให้กับ คตส.แล้วตามที่ คตส.มีมติจะยื่นฟ้องคดีเอง หลังจากที่คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ คตส.มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยคณะทำงาน คตส.ยอมรับว่าสำนวนคดีมีข้อไม่สมบูรณ์ตามที่ อสส.มีความเห็น ในประเด็นที่สำนวนการสอบสวนของ คตส.ไม่ปรากฏชัดว่า คตส.ประสงค์ให้อัยการสูงสุดฟ้องนายบรรพต หงษ์ทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ หรือไม่ และประเด็นที่ไม่มีการบันทึกคำให้การของพยานสำคัญอยู่ในสำนวน โดยคณะทำงาน คตส.ยืนยันที่จะไม่ดำเนินการตามความเห็นของคณะทำงานอัยการ ในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน อันอาจมีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เช่น แจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ไม่มีการแจ้งข้อหาในความผิด ตาม ม.151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต และมีการแจ้งข้อกล่าวหาในกฎหมายคนละฉบับและคนละข้อหาที่ คตส.ให้ดำเนินคดี อีกทั้งไม่มีการแจ้งข้อหาฐานฉ้อโกงผู้ถูกกล่าวหาจำนวนหลายราย

นายธนพิชญ์ กล่าวว่า คณะทำงาน อสส.ยืนยันว่า คตส.ต้องแจ้งข้อกล่าวตาม ป.อาญา ม.151 แก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะถือเป็นสาระสำคัญในคดีโดยอัยการพิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความผิด ม.151 และฐานฉ้อโกง แต่ คตส.อ้างว่าได้แจ้งความผิดในผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วโดยรวบความผิดทั้งหมดไว้ในความผิด ม.157 แต่อัยการเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะตาม ป.วิอาญา ม.134 มีเจตนารมณ์ต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อหาได้ดีจนสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ จึงต้องแจ้งให้ทราบทุกข้อกล่าวหา อีกทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.40 ยังบัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาให้ได้รับการสอบสวนที่ถูกต้อง และเป็นธรรม และมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ

“คณะทำงานยืนยันว่าการพิจารณาสำนวนคดีทุจริตกล้ายาง อสส.ยังไม่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายใด เช่นเดียวกับคดีหวยบนดิน เพียงแต่มีความเห็นว่าคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ โดยคณะทำงานร่วม เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.11 วรรคแรกเท่านั้น จะถือว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างกับคตส.ตามนัยข้อ 9 ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ไม่ได้” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว

นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ข้อไม่สมบูรณ์ที่อัยการแจ้งให้ คตส.ไปปฎิบัตินั้นเป็นข้อไม่สมบูรณ์ที่คณะทำงานร่วมจะรวบรวมให้สมบูรณ์ได้โดยง่าย และสามารถรวบรวมให้ อสส.พิจารณาสั่งคดีและฟ้องได้ทันก่อนหมดอายุ คตส. โดยคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนวน อสส.ก็เคยแจ้งข้อไม่สมบูรณ์เป็นประจำ เพื่อเป็นการปิดข้อบกพร่องของคดีเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อคดีในชั้นศาล การรีบด่วนฟ้องคดีทั้งที่รู้ว่าสำนวนมีข้อบกพร่องย่อมทำให้เกิดผลเสียหายแก่คดี ส่อให้เห็นเจตนาว่าจะล้มคดีในชั้นศาล และอาจมีความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157 ได้

“คนที่ออกมาให้ข่าวว่า อสส.ไม่ฟ้องคดีให้ คตส.ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ มีเจตนาให้ประชาชนสับสนในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา ม.326 และ 328 นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดฐานกระทำการให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ตาม ป.อาญา 116 ด้วย” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ คตส.ไม่แจ้งข้อกล่าวหาฐาน 151 และฉ้อโกงแก่ผู้ถูกล่าวหาเป็นการช่วยเหลือคดีผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่สามารถตอบได้ ไม่ทราบเหมือนกันว่า คตส.คิดอย่างไร เมื่อถามว่าในการประชุมคณะทำงานร่วมอัยการและ คตส. ได้มีการคุยกับ คตส. ถึงปัญหาการปฎิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินคดีหรือไม่ นายธนพิชญ์ ตอบว่า อัยการได้มีการพูดคุยกับ คตส.ให้มีการปฏิบัติในส่วนที่เป็นข้อไม่สมบูรณ์

นายธนพิชญ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่ คตส. นำสำนวนคดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าวหาเพียงรายเดียวว่า หลังจากที่อัยการได้รับสำนวนจาก คตส.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ได้มีการประชุมคณะทำงานและพิจารณารายละเอียดในสำนวนไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าสำนวนมีข้อบกพร่องอย่างไร และจะเสนอตั้งคณะทำงานร่วมเหมือนคดีที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องขอเวลาให้คณะทำงานประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 เม.ย.นี้ โดยอัยการมีเวลาถึงวันที่ 10 พ.ค.นี้ จึงจะตอบได้ว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือตั้งคณะทำงานร่วมกับ คตส.

ไม่สน “อสส.” ถูกชี้มูลซีทีเอ็กซ์

นอกจากนี้ นายธนพิชญ์ยังกล่าวถึงคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ คตส.เตรียมสรุปสำนวนในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ว่า หาก คตส.ชี้มูลความผิด นายชัยเกษม นิติสิริ อสส.ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย ไม่น่าจะเกิดปัญหาในการพิจารณาสำนวนคดี เพราะที่ผ่านมา อสส.ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่าจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องก้าวก่ายการพิจารณาสำนวนโดยจะปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของคณะทำงาน ที่มีนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รอง อสส. เป็นประธาน รับผิดชอบพิจารณาสำนวนคดีของ คตส.ทั้งหมดดูแล หรือมอบหมายให้นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ รอง อสส.อันดับ 1 ดูแล ส่วนที่นายชัยเกษมจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ อสส.ระหว่างการพิจารณาสำนวนหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายและระเบียบใดที่จะต้องให้นายชัยเกษมหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยยังสามารถปฏิบัติงานบริหารองค์กรด้านอื่นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการสั่งพักราชการ อสส.ได้หรือไม่ นายธนพิชญ์ ตอบว่า ไม่ขอตอบคำถาม เรื่องนี้เมื่อถึงเวลาเดี๋ยวก็มีทางออกเอง เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ อสส.เคยกล่าวก่อนรับตำแหน่งว่าหากถูกชี้มูลความผิดคดีซีทีเอ็กซ์จะลาพักราชการ นายธนพิชญ์ ตอบว่า ไม่เคยทราบว่า อสส.เคยพูดเช่นนั้น ส่วนที่ อสส.จะลาพักจริงหรือไม่เป็นเรื่องในอนาคต เมื่อถามถึงความเหมาะสมที่ อสส.ยังคงปฎิบัติหน้าที่ทั้งที่ถูกชี้มูลความผิด นายธนพิชญ์ ตอบว่า อัยการก็ว่าไปตามพยานหลักฐาน คงไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นไปได้ จะสั่งถูกให้เป็นผิด สั่งผิดให้เป็นถูกคงไม่ได้ คงไม่มีใครเสี่ยงขนาดนั้น

ค้านแก้รัฐธรรมนูญสังกัด ยธ.

นายธนพิชญ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรอื่น กลับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดอาจจะต้องสอบถามความคิดเห็นอัยการทั่วประเทศหากรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วตัดองค์กรอัยการออกจากรัฐธรรมนูญเพราะอัยการทุกคนคงไม่เห็นด้วย โดยนายชัยเกษม นิติสิริ อสส. ก็เห็นว่าดีอยู่แล้วที่อัยการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งให้การรับรองคุ้มครองความเป็นอิสระเหมือนเช่นศาล และในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ศาลยุติธรรมก็เห็นด้วยและให้การสนับสนุน จึงไม่สมควรจะดึงอัยการให้กลับไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยอัยการจะติดตามดูว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะแก้ไขตัดอัยการออกจากรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ แต่หากรัฐบาลทำจริงก็จะเสนอ อสส.ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบอัยการจากการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล

“หากพิจารณาให้ดี ป.ป.ช.ซึ่งเป็นฝ่ายสอบสวน และศาลยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายตัดสินคดียังจัดให้มีความอิสระอยู่ในรัฐธรรมนูญ แล้วอัยการผู้ทำหน้าที่ตรงกลางระหว่าง ป.ป.ช.กับศาลโดยเป็นผู้สั่งฟ้องคดีจึงถือเป็นฝ่ายที่มีความสำคัญ รัฐบาลกลับจะไม่ให้อยู่อย่างอิสระในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าผิดหลักการ ฉะนั้นการให้กลับไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายบริหารอัยการจะต้องกลับไปเผชิญแรงกดดันจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้ามามีอิทธิพลครอบงำอยู่เหนือการทำหน้าที่ อัยการ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องและต้องแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว และว่าการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้อัยการเป็นองค์กรอิสระก็เป็นหลักประกันที่จะให้อัยการมีความอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการให้ความเห็นข้อหารือการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์

ส่วนกรณีที่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่าการถอดอัยการออกจากรัฐธรรมนูญเพราะอัยการสั่งไม่ได้หรือสั่งยาก นายธนพิชญ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของนายวิชา แต่เท่าที่ทำงานกันมายืนยันว่าอัยการสั่งให้ทำผิดเป็นถูก ทำถูกเป็นผิดไม่ได้ เพราะถ้าอัยการสั่งคดีไม่ถูกต้องก็ต้องถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีโทษเป็นสองเท่าเพราะเป็นข้าราชการ

“ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลกำลังจะขู่หรือต่อรองให้อัยการช่วยเหลือทางคดีเพื่อแลกกับการได้อยู่ในรัฐธรรมนูญเหมือนที่สื่อวิเคราะห์หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน โดยการทำหน้าที่อัยการมีหลักการสั่งคดีตามพยานหลักฐานเสมอมา” นายธนพิชญ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น