xs
xsm
sm
md
lg

คตส.ชงฟ้อง “แม้ว-สุริยะ” โกง CTX - “ชัยเกษม-สมชาย” สุดซวยติดร่างแห

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อนุฯ สอบทุจริตซีทีเอ็กซ์ 9000 ชง คตส.ส่งฟ้อง “ทักษิณ-สุริยะ-สมชาย-ชัยเกษม” พร้อมพวกฐานเป็นตัวการร่วมทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ สัปดาห์หน้า คตส.เตรียมใช้ ม.97 กม.ป.ป.ช.ฟ้องเองโดยไม่ต้องผ่านอัยการ จับตา “สมชาย” อาจมีปัญหาซ้ำรอย “หมอเลี้ยบ” หลุดเก้าอี้รองนายกฯ- รมว.ศึกษาฯ

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการไต่สวนโครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (ซีทีเอ็กซ์ 9000) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 เม.ย.อนุกรรมการจะประชุมเพื่อสรุปสำนวนไต่สวนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชุดใหญ่พิจารณาในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งอนุกรรมการได้สรุปความเสียหายจากการว่าจ้างให้กิจการร่วมค้าไอทีโอเข้ามาติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในราคาที่สูงเกินจริงกว่า 1.7 พันล้านบาท ขณะที่การทำสัญญาซื้อตรงเครื่องซีทีเอ็กซ์ระหว่างบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) กับบริษัท จีอีอินวิชั่น เทคโนโลยี ของสหรัฐอเมริกาก็เป็นเพียงการทำสัญญาในลักษณะนิติกรรมอำพราง ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์สูงเกินราคาเป็นจริง

“จากการพิจารณาคำแก้ข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่โต้แย้งว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจเข้าไปสั่งการในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างใน บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วพบว่ารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าไปใช้อำนาจสั่งการในบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ตั้งแต่ปี 2544 ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธาน จากเดิมที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลักฐานสำคัญอีกประการที่จะแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ คือ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) เสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ว่าจ้างกลุ่มไอทีโอเข้ามาก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2544 ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) สามารถอนุมัติได้โดยตรงโดยไม่ต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบ

“ในปี 2544 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด หนึ่งในบริษัทร่วมทุน ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) จึงเห็นว่าไม่สามารถเข้าประมูลงานและทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ เพราะมีฐานะไม่มั่นคง บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) จึงเสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบให้ว่าจ้างกลุ่มไอทีโอเข้ามารับงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ก็นำเรื่องให้คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) อนุมัติ ก่อนที่จะมีการทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มไอทีโออย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการทำสัญญาโดยมิชอบ ดังนั้น การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุริยะ อ้างว่าไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแลหรือสั่งการใดๆ จึงไม่เป็นความจริง” แหล่งข่าวกล่าว

“สมชาย-ชัยเกษม” ติดร่างแหซีทีเอ็กซ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตประธานบอร์ด ทอท. พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอาจมีปัญหาต้องหลุดจากเก้าอี้ใน ครม.หลัง คตส.ส่งฟ้องศาลอาญาฯ เหมือน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคดีหวยบนดิน

นอกจากนี้ยังมี นายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุด ในฐานะอดีตบอร์ด ทอท.สมัยเป็นรองอัยการสูงสุด พล.อ.สมชัย สมประสงค์ พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ อดีตรอง ผบ.ตร. นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดบริษัท ทอท.ซึ่งก่อนหน้านี้ถูก คตส.ส่งฟ้องคดีหวยบนดินด้วย นายอดิเทพ นาคะวิสุทธิ์ ประธานคณะกรรมการต่อรองราคางานจ้างออกแบบและปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิ นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย นักธุรกิจรายใหญ่เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างและเศรษฐีหุ้นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ผู้บริหารบริษัท แพทริออต

ส่วนคนที่หลุดในชั้นการส่งฟ้อง คือ นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากสามารถชี้แจงในชั้นไต่สวนได้เพราะได้เข้าไปเป็นบอร์ด ทอท.ในโควตาของกระทรวงการคลัง และได้เข้าประชุมบอร์ด ทอท.เพียงครั้งเดียว โดยไม่รู้เรื่องการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์มาตั้งแต่ต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น