“ยามเฝ้าแผ่นดิน”ไม่ผิดหวัง กกต.มีมติส่งเรื่องยุบ“ชาติไทย-มัชฌิมาฯ” จับตาเกมยื้อที่อัยการฯ พร้อมเตือน ส.ส.ทั้ง 2 พรรค ยื่นแก้ไข รธน.เสี่ยงถูกถอดถอนยิ่งกว่าเดิม เชื่อ “พลังแม้ว”รับประโยชน์เต็มๆ คาดเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น หนีชะตากรรมพรรคโดนยุบ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 2
รายการ"ยามเฝ้าแผ่นดิน"ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 11 เม.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ร่วมดำเนินรายการ ในช่วงแรกได้กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 4 ต่อ 1 เห็นด้วยตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยว่า ยังต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อส่งเรื่องถึงอัยการแล้ว ในขั้นตอนของอัยการจะมีการยื้อกันไปมาหรือไม่ แต่ถ้าหากอัยการสูงสุดไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กกต.ก็มีสิทธิที่จะส่งศาลได้เอง
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า กระแสข่าวที่ว่ามีการล็อบบี้กันจน กกต.จะลงมติไม่ส่งเรื่องยุบพรรคต่อนั้น เป็นเรื่องเป็นเรื่องที่มีความเป็นห่วงกัน แต่เมื่อ กกต.มีมติออกมา 4 ต่อ 1 ให้ส่งเรื่องต่อนั้น ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ส่วนเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เป็นนายสมชัย จึงประเสริฐ นั้น ก็ไม่ผิดจากความคาดหมายแต่อย่างใด
ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า เมื่อ กกต.มีมติเช่นนี้ ทำให้ ส.ส.พรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยที่จะเข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อไม่ให้มีการยุบพรรค มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดมาตรา 122 กรณีกระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มากยิ่งขึ้น ถ้า ส.ส. 2 พรรคนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็จะถูกยื่นถอดถอนทันที
ส่วนพรรคพลังประชาชนนั้นยังไม่ถึงขั้นกระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะยังต้องรอให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาในคดีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคฯ ได้ใบแดงก่อน ถ้ามีคำพิพากษาว่าผิด และ กกต.ทำเรื่องเสนอยุบพรรค จึงจะเข้ามาอยู่ในขั้นตอนเดียวกับพรรคชาติไทยและมัชฌิมาฯ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาต่อไปว่า ใครได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญหายไป เพราะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทำให้ ส.ส.เหล่านั้นถูกยื่นถอดถอน นอกจากนี้อาจมีคนื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวเพราะการดำเนินการไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ กรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 ก็จะถูกตัดสิทธิไป ขณะที่ ส.ส.ก็จะหมดสภาพเพราะถูกยื่นถอดถอน แล้วพรรคพลังประชาชนจะสามารถส่งคนของตัวเองเข้าไปในพื้นที่เดิมของพรราติไทยและมัชฌิมาฯ ได้ ดังนั้นพรรคพลังประชาชนจะได้ประโยชน์ หากพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ ถูกเชือด
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่เข้าชื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกยื่นถอดถอนได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณา 2 กระบวนการคือ 1.มีการพิสูจน์ได้หรือยังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งถ้าพูดจากการให้สัมภาษณ์ของผู้นำพรรคหลายครั้ง ก็พูดชัดเจนว่า แต่เดิมนั้น ยังไม่เร่งรีบที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ต้องรีบแก้ไขอย่างกระชั้นชิดเพราะมีคนต้องการจะให้ยุบพรรค แสดงว่า รู้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้พรรคได้ประโยชน์ แสดงว่าเข้ข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์แล้ว
กระบวนการที่ 2. คือการเสนอยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกมองว่า กกต.ควรจะรอให้ศาลฎีกาชี้ขาดคดีใบแดงนายยงยุทธก่อน เพราะการให้ใบแดงนายยุงยุทธนั้นมีขึ้นหลังจากที่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว ทำให้ กกต.ไม่มีอำนาจเต็มที่จะพิจารณาเรื่องการยุบพรรคเองทันที ต่างจากกรณีพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ ซึ่ง กกต.ได้ให้ใบแดงกรรมการบริหารพรรคก่อนที่จะประกาศรับรองผล จึงมีอำนาจที่จะพิจารณากรณียุบพรรคเองอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม มีอีกฝ่ายที่มองว่า กกต.สามารถพิจารณาเรื่องยุบพรรคพลังประชาชนควบคู่กันไปกับการพิจารณาใบแดงนายงยุทธของศาลฎีกาฯได้ เนื่องจากการที่ กกต.ให้ใบแดงนายยงยุทธก็เพราะเห็นว่านายยงยุทธทุจริตการเลือกตั้ง นั่นแสดงว่า กกต.ทราบแล้วว่ามีกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็เข้าข่ายมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ และ มาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ซึ่ง กกต.จะต้องเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคพลังประชาชน หาก กกต.ไม่ทำ ก็อาจจะถูกมองว่า กำลังช่วยให้พรรคพลังประชาชนได้เปรียบ สามารถส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมได้ หากมีการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กกต.คงเลือกที่จะรอก่อน เพราะเชื่อว่าไม่มีอำนาจเต็มที่จะเสนอเรื่องนี้ได้ทันที
**เชื่อเร่งแก้ รธน.เร็วขึ้น
ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะเกิดการเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ขึ้น เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถ้าพรรคพลังประชาชนไม่มั่นใจว่านายยงยุทธจะรอดจากคดีใบแดง ผลแห่งการถูกลงโทษก็จะไม่ต่างจากพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ ดังนั้นจะต้องเร่งกระบวนการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการเร่งรีบคราวนี้จะยิ่งทำให้มีคนไม่พอใจมากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจที่ออกมาประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ลดลงไปมาก
กรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีสำนักนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล ออกมาปกป้องนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ที่แจ้งการถือหุ้นของภรรยาล่าช้ากว่ากำหนด โดยบอกว่าเป็นความผิดของรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจน ขณะที่นายไชยาไม่ได้ตั้งใจจะทำผิด ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เวลามีปัญหาที่รัฐบาลนี้ไม่รู้จะโทษใครก็จะโทษรัฐธรรมนูญ และโทษพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไว้ก่อน หาว่าทำให้เกิดความวุ่นวาย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัญหาเกิดจากรัฐบาลเอง กรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินถ้าไม่ทำผิดก็คงไม่ถูกลงโทษ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ไปชี้แจงแล้ว เช่นเดียวกับมาตรา 237 ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังทำผิด
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า ถ้าออกมาแบบนี้ รัฐบาลคงไม่มีทางทำตามแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2551 ของพันธมิตรฯ เช่น การถามประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง ตามกระบวนการที่เคยทำไว้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่จะเอาร่างของปี 2540 มาตัดแปะ ไม่ผ่านขั้นตอนที่ทัดเทียมกัน นึกอยากจะทำก็ทำเลย
**งง “พ่อใหญ่จิ๋ว”หนุนหรือค้านแก้ รธน.
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นกรณ๊การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีการแก้ไขกันมาหลายครั้ง แต่ไม่อยากจะให้นักการเมืองมายุ่งกับเรื่องนี้มากนัก เพราะประชาชนอยากจะให้ช่วยแก้ปัญหาปากท้องมากกว่า ส่วนรัฐธรรมนูญควรจะทิ้งไว้อย่างนั้น ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ยังมองไม่ออกว่า พล.อ.ชวลิต สนับสนุนหรือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแน่ เป็นปัญหาของพล.อ.ชวลิตมานานที่พูดอะไรไม่ค่อยชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขอแปลความหมายในแง่ดีว่า พล.อ.ชวลิตต้องการจะบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา เพราะเรามีมา 18 ฉบับแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น คล้ายกับเป็นการประชดว่าอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แก้ไป แต่มันไม่มีอะไรดีขึ้น
**พันธมิตรฯ อเมริกา-แคนาดาเคลื่อน
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ มีแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาออกมาเป็นฉบับที่ 2 คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประกาศว่าวันใดที่รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญจะร่วมกับพี่น้องคนไทยทั่วโลกเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อต่อต้านทันที และเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นถอดถอนไว้ให้พร้อม และเชิญชวนร่วมประชุม พร้อมทั้งรับข่าวสารข้อมูลทางโทรศัพท์โดยตรงจาก ส.ว.ประสงค์ นุรักษ์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายวีระ สมความคิด ในวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2551 ณ คลับเฮาส์โมบิลโฮม 9530 อี. อะลอนดรา บูเลวาร์ด เบลล์ฟลาวเวอร์ แคลิฟอร์เนีย ระหว่างเวลา 14.00-21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
**จี้อัยการเป็นอิสระ – มีประโยชน์ทับซ้อนส่อโดนถอดถอน
ต่อมา ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) แสดงความไม่มั่นใจว่า หลังจาก คตส.ส่งคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่าไปให้อัยการแล้ว อัยการจะส่งคืนเหมือนคดีหวยบนดิน หรือคดีกล้ายาง หรือไม่ และมีแนวโน้มว่าอัยการจะส่งคืน ซึ่ง คตส.คงจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาเอง ว่า กรณีนี้มันเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะว่าอัยการถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ หรือจะเป็นเพราะว่าอัยการสูงสุดเข้าไปพัวพันในคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ ทำให้มีอคติต่อ คตส. หรือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ให้อัยการเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นอัยการควรจะถอนตัวออกมาจากการไปเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อัยการอาจจะต้องยื่นฟ้องหากมีการกระทำผิด เพื่อไม่ให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์เกิดขึ้น และอัยการจะได้เข้าไปตรวจสอบอย่างไม่มีอคติและมีความโปร่งใส
ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวอีกว่า หากอัยการมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประชาชนสามารถดำเนินการตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อกันเพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาให้ทำการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ เช่นเดียวกับการยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว. ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง
“ในกรณีที่หลายคนสงสัยว่า กรณีมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่มีอัยการสูงสุดไปเกี่ยวพันกับคดีความหรือไม่ ที่ คตส.สอบอยู่ ผิดหรือไม่ผมไม่รู้ แล้วมีคนสงสัยแบบนี้ ผมอยากให้ท่านพิจารณาดีๆ ไม่อยากให้ท่านมีความรู้สึกว่า เป็นคู่กรณี หรือคู่ต่อสู้กับ คตส.”ผู้ดำเนินรายการกล่าว
**ลูกไม้เดิมกดดัน กกต.
ต่อมา ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจกองปราบปรามได้ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนเอาผิด กกต.เสียงข้างมาก 3 คน คือ นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท และนายสุเมธ อุปนิศากร ที่ลงมติให้ใบแดงนายยุงยุทธ ติยะไพรัช ว่า นี่เป็นลูกไม้เดิมๆ ที่ต้องการสร้างแรงกดดันต่อ กกต. นอกเหนือจากเรื่องการตรวจสอบกรณีการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ซึ่งทำอย่างรวดเร็วมาก เรื่องนี้ทำให้ประชาชนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในการตัดสินใจของ กกต.แต่ละคน แต่ละครั้งแต่ละคราวท่ามกลางภาวะที่ถูกกดดัน ซึ่งหากกดดันมากๆ ก็อาจจะมีคนที่ทนไม่ได้