“บรรณวิทย์” แฉโกง “หลังคาผ้าใบ” สนามบินสุวรรณภูมิ โดยลดระยะเวลาค้ำประกันจาก 20 ปี เหลือเพียง 5 ปี พร้อมแถมเงินให้อีกกว่า 500 ล้าน ด้าน “เกียรติ” ปูดซ้ำ “เหลือบหัวใส” ใช้ผ้าใบผลิตในไทย-ไม่ได้มาตรฐาน แถมราคาเพียงชั้นละ 100 กว่าล้าน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ คนในข่าว
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเปิดประเด็นซักถาม พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายเกียรติ สิทธิอมร อดีตอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาราคาผ้าใบ อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงกรณีการทุจริต และเบื้องหลังของหลังคาผ้าใบสนามบินสุวรรณภูมิ
โดย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า การสัมมนาภาคพิเศษในวันที่ 28 มี.ค.นี้ โดยส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียง 1 เดือน แต่ทั้งหมดคือ 5 ปี กับอีก 1 เดือน เพราะเว้นวรรคไปในช่วงที่มี คมช. ฉะนั้นรัฐบาลน่าจะดีใจ เพราะทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ จะได้เป็นกระจกส่องตัวเองว่าควรจะทำอะไร วันนี้ประชาชนควรที่จะรับรู้เรื่องของการโยกย้ายข้าราชการว่า ประเทศชาติ และประชาชนได้อะไร เพราะถ้าย้ายแล้วทำให้ประเทศเติบโตทางด้านค้าขายก็น่าย้าย
“ถือเป็นวิบากกรรมของคนไทย ผมนึกถึงพระบรมราโชวาท ซึ่งตอนนี้สวนทางกันหมด แต่ดีใจที่บ้านเมืองยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นประจกให้กับรัฐบาล และเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี ก็เป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยให้พี่น้องประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการทุจริตบ้าใบของสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า มีการประกวดราคากันถูกต้อง แต่มีการแก้สเปกกันภายหลัง รวมทั้งไปลดระยะเวลาการการค้ำประกันจาก 20 ปี เหลือเพียง 5 ปี และไปเพิ่มเงินให้อีก 200 กว่าล้าน ซึ่งทุกเรื่องในสนามบินทุจริตเกือบทั้งหมด มาถึงวันนี้เจ้าหน้าที่เขาอยากให้ความร่วมมือ แต่เขาไม่กล้า เพราะกลัวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งพระเอกในท้องเรื่องคือ พัสดุ แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา คนที่ออกมาเปิดโปงเรื่องเอกสาร มีอันเป็นกันทุกคน คือ คนชั่วได้ดีมีถมไป
ด้าน นายเกียรติ กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมเปิดสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นปฏิกิริยา จะเห็นได้จากกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือแสดงความเห็นต่าง ซึ่งประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะบริหารบ้านเมืองมากี่เดือน แต่อยู่ที่กำลังทำอะไร เพราะถ้าโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมแล้วทำให้สังคมรู้สึกว่าการตรวจสอบมีปัญหา นั่นคือความไม่สบายใจของคนส่วนใหญ่
“ที่ชัดเจนที่สุดคือ การย้าย พ.ต.ต.ชัยยะ ซึ่งไม่ได้อยู่ในฤดูกาลโยกย้าย แล้วมีเหตุผลอะไร หรือมีวาระเร่งด่วนอะไรในสภาหรือไม่ แต่ปรากฏว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว ทั้งๆ ที่มีเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ แต่กลับไม่ทำ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะจะทำให้การส่งคดีไปถึงอัยการสูงสุด แล้วไม่ยอมส่งต่อ ก็จะกลับมายังอธิบดี ซึ่งอำนาจตามกฎหมาย คือ เห็นแย้ง หรือเห็นด้วย ตรงนี้ทำให้หลายคนที่ทำการตรวจสอบเกิดความไม่สบายใจ”นายเกียรติ กล่าว
ส่วนกรณีทุจริตผ้าใบที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น นายเกียรติ กล่าวว่า ในขณะนั้น เราได้ข้อมูลเรื่องการล็อกสเปก เราจึงตั้งกระทู้ถามว่า ทำไมจึงซื้อมาหลายทอดเหลือเกิน และมีการให้เปลี่ยนสเปกผ้าใบ โดยรับเหมาหลักไปซื้อผ่านมาจากทางญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ต้องซื้อตรงได้จากประเทศเยอรมนี ซึ่งก็เหมือกรณีซีทีเอ็กซ์ จึงถามว่าทำไมถึงต้องซื้อหลายต่อ ทางรัฐบาลก็ไม่ตอบ เราจึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรี ท่านก็ไม่ตอบ
“วันที่เอาวัสดุหลังคาขึ้นไปติดบนหลังคาซึ่งมีอยู่ 3 ชั้นนั้น เราก็เรียกให้ฝ่ายที่เข้าไปดูแลมาให้ข้อมูล เขาก็บอกว่าแต่ละชั้นอาจจะสเปกไม่ตรง แต่โดยรวมแล้วทำหน้าที่ได้เหมือนกัน แทนกันได้ ดังนั้นตนจึงเอาเอกสารผลตรวจผ้าใบจากห้องเล็ปของประเทศเยอรมนี และประเทศไทย ซึ่งปรากฏว่าไม่ผ่านมาตรฐานที่ระบุไว้ในสัญญา โดยภายหลัง บริเวณหลังคามีสีขาวเป็นจ้ำๆ จนกระทั่งการท่าฯ มีหนังสือไปให้เปลี่ยนทั้งหมดจำนวน 108 ชิ้นใหญ่ ผมก็ตามดูแต่พบว่าเปลี่ยนไปเพียง 17 ชิ้น จึงเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลยืนยันว่าในโลกนี้มีเพียง 2 บริษัททำได้ตรงสเป็ก โดยยอมรับว่าหาของตามสเป็กไม่ได้”นายเกียรติ กล่าว
นายเกียรติ กล่าวอีกว่า จนกระทั่งเรื่องยื้อกันไปยื้อกันมา จนมาวันหนึ่งผู้รับเหมาไปนั่งคุยกับรัฐมนตรี จากนั้นปรากฏว่ามีการอนุมัติทั้งหมด ต่อมาตนได้ตรวจผ้าใบชั้นในต้องกันไฟ และไม่เวลาไฟไหม้ต้องไมเป็นหยดไฟ ที่สำคัญเรากลับพบว่าผ้าใบดังกล่าวผลิตในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มาตรฐานที่ระบุในสัญญา และเมื่อสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตก็ได้คำตอบว่า ได้รับคำสั่งให้ทำแค่นั้น เราจึงเริ่มสงสัย เพราะราคาค่าผ้าใบทั้งสิ้น 3 ชั้น ประมาณ 2,400 ล้านบาท ทั้งที่จริงๆ แล้วราคาผ้าใบเพียงชั้นละ 100 กว่าล้านบาท ที่สำคัญ คือ เอาค่าออกแบบใส่เข้าไปอีกชั้นละ 500 ล้านบาท
“เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีผู้เกี่ยวข้องหลายราย และที่น่าไขปริศนามากที่สุดคือ การประชุมกับรัฐมนตรี แล้วทุกอย่างลื่นไหลไปหมด ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีไม่ควรที่จะไปนั่งเจรจากับสัญญาที่เซ็นไปแล้ว ถามว่าอยากถ้าเปรียบเหมือนการปลูกบ้าน เราจะใช้หลังคาที่ใช้ไปแล้ว 5 ปี หรือไม่ จึงเห็นได้ชัดว่ากระบวนการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย เพราะมาตรฐานทุกอย่างคลาดเคลื่อน ซึ่งไม่ยอมจะปล่อยไป ฉะนั้นรัฐบาลปัจจุบันจึงควรเร่งดำเนินการ เพราะยังสามารถแก้ไขได้ เพราะสัญญายังมีผลโดยคู่สัญญาต้องรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ราคาผ้าใบแค่ 2 ชั้น ก็อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้าน”นายเกียรติ ระบุ