xs
xsm
sm
md
lg

อวสวนมหากาพย์ซุกหุ้นภาค1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ “หญิงอ้อ – บรรณพจน์” ร่วมสร้างมหากาพย์กลโกงซุกหุ้นภาคหนึ่งถึงบทอวสาน ศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวมคนละ 3 ปี อดีต คตส. เผยเล่ห์เหลี่ยม กลอุบายของสองพี่น้องบุญธรรมแสบถึงทรวง ส่วนข้าราชการกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และมหาดไทย ต่างช่วยคนผิดแทนการปกป้องรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญภาษีเงินได้จากพี่หญิงอ้อ 546 ล้านบาท
       
       วานนี้ (31 ก.ค.) ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ตกเป็นจำเลยร่วมกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายต่างมารดา และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัว ในความผิดฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาทจากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
ศาลฯได้เริ่มอ่านคำพิพากษาตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ต่อมาเวลา 10.40 น. ศาลพิพากษาว่า จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว พยานโจทก์มั่นคง จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกระทำความผิดโดยฉ้อโกง หรีออุบาย เพื่อหลีกเลี่ยง ภาษีอากร ตามฟ้อง นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ยังร่วมกันแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังเป็นถึงภริยาของผู้นำประเทศ ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แต่จำเลยกลับหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่เป็นธรรมต่อสังคม
การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการกระทำความผิดสถานหนัก ร้ายแรง พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรคนละ 2 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันจงใจแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จอีกคนละ 1 คน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี
****มหากาพย์ซุกหุ้นภาค 1 เหลี่ยมบกพร่องโดยสุจริต
 คดีดังกล่าว เกิดขึ้นและยืดเยื้อยาวนานเป็นมหากาพย์ซุกหุ้นภาค 1 มาตั้งแต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย นำพลพรรคชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เมื่อปี 2544 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเหตุให้นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้แสดงทรัพย์สินที่เป็นหุ้นที่ถือโดยบุคคลอื่น
คมวาทะ “บกพร่องโดยสุจริต” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ออดอ้อนต่อสังคมในวันนั้น ทำให้ผู้คนในสังคมเปิดโอกาสให้คนกระทำผิดมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของคนในชาติ กว่าจะรู้ถึงเล่ห์เหลี่ยม กลโกง ปล้นชาติ ขายแผ่นดิน ในกาลต่อมา
ศาสตราจารย์วิโรจน์ เลาหะพันธ์ อดีตคณะกรรมการ คตส. เล่าไว้ในบันทึก “ความทุกข์ของแผ่นดิน” ว่า การไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ แม้ว่าในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิดในการที่ไม่รายงานทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นไว้แทน
 แต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังตามสอบเงินที่เข้ามาในบัญชีของนางพจมาน ชินวัตร จำนวน 738 ล้านบาท ซึ่งนางพจมาน ชินวัตร ก็ชี้แจงว่าเป็นเงินของตนเอง ที่จ่ายไปเป็นค่าซื้อหุ้นของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และได้รับเช็คจาก บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นค่าขายหุ้นของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี
รวมทั้งชี้แจงว่านิติกรรมการซื้อขายหุ้นนี้ ที่แท้จริงเป็นการยกหุ้นของนางพจมาน ชินวัตร ซึ่ง น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนใช้ถือกรรมสิทธิ์แทน ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางพจมาน ชินวัตร เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) จำนวนรวม 7.38 ล้านบาท
เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการซุกหุ้นไว้ในชื่อของคนรับใช้ กรมสรรพากร ก็ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ โดยได้รับหลักฐานจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมีการเรียกบุคคลต่าง ๆ มาไต่สวน
*** แต่นางพจมาน ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กลับให้การว่าเป็นการให้หุ้นโดยเสน่หาเนื่องในโอกาสที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แต่งงาน และในโอกาสที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มีบุตรชายอายุครบหนึ่งปี
*** ดังนั้น กรมสรรพากร จึงพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี และก็ไม่ได้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีกรณีดังกล่าว
*** การที่กรมสรรพากร ไม่เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และเห็นว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และได้มีมติลงโทษทางวินัยไล่กลุ่มข้าราชการสรรพากรที่ไม่เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ออกจากราชการ รวมทั้งดำเนินคดีอาญากับกลุ่มข้าราชการดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบ ก็มีมติให้ดำเนินการไต่สวนกรณี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือใช้วิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และร่วมกันกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และมีมติส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา และศาลฯ พิพากษาให้จำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน รวมคนละ 3 ปี เมื่อวานนี้31 ก.ค.)
 ****ร้อยเล่ห์เพทุบายหลบเลี่ยงภาษี
ในบทสรุป “ความทุกข์ของแผ่นดิน” ตอนหนึ่ง ได้ชี้ให้เห็นถึงกลอุบายหลีกเลี่ยงภาษีและความผิดของนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมานว่า “ การพิจารณาว่าการซื้อขายหุ้น หรือการให้และรับให้หุ้น ควรจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ควรจะฟังข้ออ้างจากข้ออ้างของนายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เนื่องจากทั้งสองได้ให้ถ้อยคำไว้กับบุคคลหลายครั้ง แตกต่างกัน ทั้งนี้ตามแต่จะใช้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนอย่างไร
“เพราะในครั้งแรกทำหลักฐานการซื้อขายหุ้นกันยอมเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 7.38  ล้านบาท แทนที่จะต้องเสียภาษี 273.06 ล้านบาท เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้
“ต่อมา ได้ตรวจสอบพบโดย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอาจทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สิ้นไว้ไม่ถูกต้อง ก็อ้างว่าไม่ใช่เป็นการซื้อขายแต่เป็นการยกให้หุ้นแก่กัน เนื่องจาก นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ลาออกจากงานที่ อ.ต.ก.มาช่วยทำงานจนบริษัทมั่นคง
“ครั้นเมื่อถูกตรวจสอบโดย กรมสรรพากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีเพราะเป็นการได้รับหุ้นฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ก็หาข้ออ้างต่อไปว่าการให้หุ้นโดยเสน่หาเนื่องจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้แต่งงาน และมีบุตรอายุครบหนึ่งปี
*** “แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร กรรมการบางท่านกลับเห็นว่านายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรเป็นหุ้นส่วนกัน และเห็นว่าเป็นการให้หุ้นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ร่วมดำเนินธุรกิจซึ่งไม่เคยมีใครพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเอง
“กรณีนี้เห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการอำพรางนิติกรรมยกให้หุ้นระหว่างกัน ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายหุ้นจึงเป็นโมฆะ และนายบรรณพจน์กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตรก็ไม่ได้อ้างนิติกรรมซื้อขายกันอีกเลย จึงสรุปได้ว่านิติกรรมนี้เป็นการให้
“สำหรับสาเหตุของการให้หุ้นกันจะเป็นเพราะเหตุใดนั้น ต้องพิจารณาต่อไปว่า การอ้างว่าเป็นการให้หุ้นเนื่องจากนายบรรณพจน์ช่วยกิจการของครอบครัว เพื่อประโยชน์ในชั้นพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงรายการทรัพย์สินไม่ถูกต้อง โดยที่สุดทำให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการอ้างในชั้นแรกและผู้อ้างได้รับประโยชน์จากการอ้างดังกล่าวไปแล้ว
 “ต่อมา เมื่อมีการตรวจสอบโดยกรมสรรพากร กลับอ้างเหตุแตกต่างออกไปว่าเป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แต่งงาน และมีบุตรอายุครบหนึ่งปี ก็เพื่อประโยชน์ในเรื่องการยกเว้นภาษี ทั้งที่วันที่ยกให้หุ้นก็ห่างจากวันที่นายบรรณพจน์แต่งงานร่วมสองปี และไม่ใช่วันที่บุตรอายุครบหนึ่งปีด้วย”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คดีอาญา ศาลฯ จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสามมีความผิดถึงขั้นจำคุก แต่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการตรวจสอบของ คตส. ที่คู่ขนานกันมาก่อนหน้านี้ ก็คือ การตรวจสอบเพื่อให้กรมสรรพากร ดำเนินการประเมินภาษีและจัดเก็บภาษีและเงินเพิ่มที่ต้องรับผิดชำระเพิ่มเติมจากนายบรรณพจน์ จำนวน 546 ล้านบาท กลับจบลงด้วยการเพิกถอนการประเมินและการขาดอายุความ ทำให้รัฐต้องสูญเสียภาษีเงินได้จำนวน 546,120,000 บาท
ทั้งนี้ คตส. เข้ามาตรวจสอบการประเมินภาษีของนายบรรณพจน์ เมื่อเดือนพ.ย. 49 สรุปความเห็นว่า การรับโอนหุ้นครั้งนี้ของนายบรรณพจน์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเป็นเงินได้ประเภทจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้ดังกล่าวไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และพบว่าอายุความของการเรียกเก็บภาษียังเหลืออยู่จนถึงเดือนเม.ย. 51 (นับจากกำหนดการยื่นแบบภาษีประจำปี 2540) จากนั้น คตส. ได้แจ้งให้กรมสรรพากรทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์เพิ่มเติม
 ต่อมา ทางกรมสรรพากร จึงตั้งคณะทำงานตรวจสอบขึ้นมาชุดหนึ่ง และมีความเห็นว่า ให้นายบรรณพจน์ ไปยื่นรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2540 ให้ครบถ้วน หากนายบรรณพจน์ ไม่ยินยอม ให้กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีที่ยังขาดอยู่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 193/31แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทางนายบรรณพจน์ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงยื่นอุทธรณ์ ต่อสู้ว่า เงินได้พึงประเมินของตนไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร, เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบประเพณีจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร อีกทั้งเห็นว่าการตรวจสอบของ คตส. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลาง
 *** ผู้แทนอสส. - มท.อุ้ม “บรรณพจน์” ลอยนวล
หลังจากนั้น มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาและหักล้างข้อต่อสู้ของนายบรรณพจน์ ในแต่ละประเด็นโดยคณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่าการโอนหุ้นเป็นเงินได้พึงประเมิน และเป็นเงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งการงานซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
แต่ประเด็นที่เห็นต่างก็คือ วิธีการเรียกเก็บภาษี โดยตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด และตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย เห็นพ้องกันว่า การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต้องอิงมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแย้งกับความเห็นของผู้แทนกรมสรรพากรที่ชี้ว่า หากกรมสรรพากรพบว่าผู้ยื่นแบบแสดงภาษีประเมินไว้ไม่ถูกต้อง ก็สามารถประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเติมตามนัยมาตรา 18 โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ ตามมาตรา 19 และ 20
สรุปมติของคณะกรรมการอุทธรณ์ มีมติเสียงข้างมาก สองในสาม จึงให้ยกเลิกและเพิกถอนการประเมิน ทำให้นายบรรณพจน์ ไม่ต้องเสียภาษีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บเพิ่มเติม จำนวน จำนวน 546 ล้านบาท ขณะเดียวกัน อายุความของการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ก็หมดสิ้นลงเมื่อเดือนเม.ย. 51
“การพยายามเรียกเก็บภาษี ความพยายามแก้ไขความเสียหายของแผ่นดินตามที่กล่าวมาข้องต้น ต้องมายุติไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากความเห็นของกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพียงสองในสามคน ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียภาษีเงินได้จำนวน 546,120,000 บาท ทั้งที่ เรื่องนี้สามารถให้ศาลภาษีอากร และศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้ แต่น่าเสียดายที่เรื่องต้องจบลงก่อนถึงศาลโดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากการพิจารณาว่าหลักกฎหมายในเรื่องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีนั้นถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนหรือไม่อย่างไร” บทสรุปจาก “ความทุกข์ของแผ่นดิน”
*** ตามทวงเงินแผ่นดินคืน - กระเทือนถึงคดีอื่น
อย่างไรก็ตาม หลังศาลอาญา มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยในคดี นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ อดีตกรรมการ คตส.ในฐานะประธานอนุกรรการไต่สวนคดี การเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท กล่าวหลังทราบผลการพิพากษาของศาลอาญา ว่า ทั้งหมดนี้คือผลการทำงานชิ้นสำคัญของ คตส.และเป็นการชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการตรวจสอบของ คตส.มาถูกทางแล้ว ที่สามารถชี้ให้ศาลได้เห็นพฤติกรรมอำพรางในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีของกระกูลชินวัตร ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลถึงคดีอื่นๆ ได้
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คตส.ทำงานอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นไปตามพยานหลักฐาน ข้อมูลตัวเลขของการโอนหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีพยานหลักฐานชัดเจนและแน่นหนาว่าผิดตามมาตรา 37 ทวิของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผลจึงออกมาตามที่ศาลพิพากษา แต่เขาก็ยังมีสิทธิที่จะขออุทธรณ์สู้คดีได้อีก ส่วนจะสู้ถึงชั้นฎีกาหรือต้องใช้เวลายาวนานหรือไม่นั้นก็ถือเป็นดุลยพินิจของศาลท่าน
ส่วนผลกระทบต่อจากนี้คือทางกรมสรรพากรต้องเร่งรีบในการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ทันทีหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง เพราะถือว่าผิดกฎหมายมาตราดังกล่าวชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ คตส.ได้ส่งฟ้องต่อศาลอาญากรณีที่ข้าราชการกรมสรรพากร ได้ตอบจดหมายไปถึงผู้เกี่ยวข้องว่าไม่ต้องชำระภาษี ทั้งที่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนในการโอนหุ้น โดยคดีนี้ตนได้รับหมายศาลกำหนดให้ไปเป็นพยานในชั้นศาลแล้วช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้
       
       /////////////////////
       
       หมายเหตุ - ความผิดระบุตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 “ผู้ใด (1) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ (2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด ทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงสองแสนบาท”
       
       ส่วนมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา ระบุ “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
       
       และ มาตรา 91 “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
       
       (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น