ความยุติธรรมมีจริง คุก 3 ปี “ หญิงอ้อ – บรรณพจน์ ” ฉ้อโกง จงใจเลี่ยงภาษีหุ้นชิน ฯ 546 ล้าน เลขาฯโดนด้วย 2 ปี ศาลชี้เป็นถึงภริยาผู้นำกลับไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างฝ่าฝืนกฎหมายถือว่ากระทำผิดร้ายแรง ยื่น 8 ล้านประกันตัว ม็อบเชียร์ 10 คันรถน้ำตาตก โฆษกนายใหญ่ ยันยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ ส่วนทักษิณ เตรียมบินไปญี่ปุ่นคืนนี้
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ”เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ”
คลิก! ชมวิดีโอคลิปศาลอ่านคำพิพากษาคดี ”เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ” (56K) |(256K)
วันนี้ ( 31 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลโดยนายปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ พร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดี”เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ” คดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ อายุ 59 ปี อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อายุ 51 ปี ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน อายุ 51 ปี เลขานุการส่วนตัว เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และ โดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท และภาษีที่หลีกเลี่ยงจำนวน 546 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
โดยก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้สอบถามคุณหญิงพจมาน ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาภิเษก) ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ คุณหญิงพจมาน ตอบรับว่าใช่ จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาได้กล่าวชี้แจงต่อจำเลยทั้งสาม และผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาว่า เป็นที่รู้กันว่าขณะนี้ประชาชนบางส่วนแบ่งเป็นฝักฝ่ายซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง โดยปรากฏว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นการขัดแย้งทางความคิดและการกระทำที่รุนแรงไม่มีใครยอมใครแต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป ในส่วนของศาลยุติธรรมเป็นคนกลาง มีหน้าที่พิจารณาคดีในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้ทุกฝ่ายวางใจและวางมือว่าศาลยุติธรรมพิจารณาคดีตามอำนาจและตามกฎหมายและอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีอคติ ไม่พิพากษาตามกระแส คดีนี้ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานหลักฐานต่อสู้คดีจนเป็นที่พอใจแล้ว หากคำตัดสินของศาลไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายใด ก็ให้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ - ฎีกาตามตามสิทธิทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่เราพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้
จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาความยาว 48 หน้า ใช้เวลาอ่านประมาณ 1ชั่วโมง 45 นาที โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายบุญธรรมของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2
โดยจำเลยที่ 2 มีหุ้นในบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจำเลยที่ 2 ให้ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี สาวรับใช้ถือครองหุ้นแทน ซึ่งจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น แต่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการซื้อหุ้นดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าหุ้นแทนจำเลยที่ 1 ด้วยการสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ภัทร และบริษัทได้สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นให้กับ น.ส.ดวงตา แต่เช็คดังกล่าวก็ถูกนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเดิม ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ได้เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายทุกขั้นตอนแทนจำเลยที่ 1 และ 2 รวมทั้ง น.ส.ดวงตา
ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ซึ่งไม่ได้นำมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อประเมินภาษีเงินได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำค่าหุ้นดังกล่าวที่ได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์ภัทรไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ม.42 (17) และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าการข้อยกเว้นรัษฎากรข้อ 2 (23) หลังจากนั้นปี 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 เคยให้ถ้อยคำต่อ อนุ ป.ป.ช.ว่า หุ้น 4.5 ล้านหุ้น จำเลยที่ 2 แบ่งให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด ต่อมา ป.ป.ช.จึงมีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ กรมสรรพากรจึงมีหนังสือขอข้อมูลจาก ป.ป.ช. ไปพิจารณาจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยเข้าให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 กรมสรรพากรเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ว่า ความจริงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเอกสารประกอบ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 และ 30 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 และ 2 ยังได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 กรมสรรพากรมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัว และมีฐานะมั่นคงทัดเทียมกับพี่น้อง จึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานโดยจะให้หุ้นคดีนี้เป็นของขวัญ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารให้เสร็จเสียก่อนแล้วจะมาให้หุ้นภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตรและบุตรจะมีอายุครบ 1 ปี ซึ่งเป็นการให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1 ในที่สุดกรมสรรพากรก็พิจารณาแล้วสรุปว่าการรับโอนหุ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4.5 ล้าน มูลค่า 738 ล้านบาท เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ม.42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วให้ยุติเรื่อง
ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ คตส. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาการโอนหุ้นดังกล่าวแล้วเห็นว่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ม.40 (2) ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ไม่ใช่การให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากจำเลยที่ 1 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท ส่วนคดีอาญาคณะกรรมการตรวจสอบมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องจำเลยทั้งสาม โดยถือเอาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรค 2
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสาม ยกขึ้นต่อสู้ว่าประกาศ คปค.บับที่ 30 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่จะใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมฯ ม.6 และ ม.29 เพราะเป็นบทบัญญัติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพียงชุดเดียว ไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ศาลเห็นว่าระหว่างพิจารณาคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเจาะจงจึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวง เป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันศาลตามรัฐธรรมนูญ ม.211 วรรค 3 และ 216 วรรค 5 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อนี้อีกต่อไป
ปัญหาข้อกฎหมายต่อไปที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นต่อสู้ว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องนี้ให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องขัดต่อ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้กรมสรรพากรก่อน เพื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรจะได้ดำเนินการมีคำขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาต่อไป ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที 8 แต่คณะกรรมการตรวจสอบไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าว การสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ได้บัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นโดยเฉพาะและในข้อ 5 (4) ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรด้วย และในข้อ 9 วรรค 2 ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ยังให้อำนาจและรับรองอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นพิเศษต่างไปจากอำนาจของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ว่าเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดทำผิดกฎหมายให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้นซึ่งมีผลเท่ากับว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนไม่จำต้องสอบสวนในเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบแล้ว ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการตรวจสอบต้องส่งเรื่องไปให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ระบุไว้ในข้อ 9 วรรค 2 นั้น จึงหมายถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่นั้นจะต้องดำเนินการตามมติและผลตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบในขั้นตอนต่อไป เมื่อคดีนี้คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าจำเลยที่ 1 หลักเลี่ยงการเสียภาษีแล้วส่งเรื่องให้กรมสรรพกรดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากจำนวนที่ 1 ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ส่วนคดีอาญา เมื่อเห็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดตามประมวลรัษฎากร ม.37 แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีจึงชอบแล้วและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ ศาลเห็นว่าตามที่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 เจตนาจะยกหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าหุ้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 และในที่สุดเงินค่าหุ้นจำนวนนั้นก็กลับไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯแทนจำเลยที่ 1 -2 และ น.ส.ดวงตา ในเบื้องต้นแม้การให้ผู้อื่นเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนในตลาดหลักทรัพย์จะกระทำได้และเจ้าของหุ้นที่แท้จริงสามารถขายหุ้นนั้นได้เอง แต่คดีนี้เห็นได้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์การซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้ซื้อขายกันจริงแต่เป็นการกระทำโดยลวงเพื่ออำพรางการให้ตามเจตนาที่แท้จริงจึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ
ปัญหาจึงมีต่อว่าการกระทำโดยความเท็จนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่ ศาลเห็นว่าการซื้อขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำโดยความเท็จซึ่งได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ขายได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 2540 ส่วนมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โต้แย้งกันว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้นำสืบว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับนั้นเป็นเงินได้ตาม ม.40 (2) และไม่ได้เป็นเงินได้ประเภทหนึ่งประเภทใดตาม ม.42 ที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี จำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลค่าหุ้นดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 และด้วยเหตุนี้จำเลยทั้งสามจึงได้อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ด้วยการทำเป็นซื้อขายซึ่งเป็นความเท็จแทน เป็นอุบายเพื่อจะไม่มีภาระภาษีจากการซื้อขาย และเพื่อไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับนั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนจำเลยทั้งสามต่อสู้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 รับมานั้นเป็นเงินได้ตาม ม.40 (8) และเป็นเงินได้ประเภทที่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนวณเสียภาษีตาม ม.42 (10) โดยเป็นเงินที่ได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี จึงไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
โดยศาลเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับนั้นเป็นเงินได้ประเภทที่จำเลยที่ 1 จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีหรือไม่ โจทก์มีนายกล้าณรงค์ จันทิก อนุ ป.ป.ช. การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเบิกความยืนยันว่าในการตรวจสอบทรัพย์สินได้สอบปากคำจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 2 แบ่งหุ้นให้กับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการซื้อมาแต่อย่างใดและจำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือและร่วมดำเนินธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับจำเลยที่ 2 มาตลอดตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็นผู้กู้และผู้คำประกันให้ด้วย โดยได้มีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 มาเป็นหลักฐานสนับสนุนด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญสอดคล้องกับคำเบิกความ เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตรวจสอบทรัพย์สินตาม ม. 295 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอาจมีผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งและห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก ต้องเตรียมการและระมัดระวังในเรื่องที่จะให้การ อีกทั้งเป็นการ ให้การในครั้งแรกๆขณะที่ยังไม่ได้มีปัญหาการตรวจสอบเรื่องภาระภาษีและการดำเนินคดีนี้ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 น่าจะให้การไปตามความจริง ประกอบกับคำให้การดังกล่าวมีข้อเท็จจริงโดยละเอียดตั้งแต่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของจำเลยที่ 1 กับครอบครัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีการช่วยเหลืออุปการะกันมาโดยตลอด ตั้งแต่จำเลยที่ 1 และ 2 ยังเป็นเด็กๆ เมื่อจำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปศึกษาที่ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ก็ลางานตามไปดูแลช่วยเหลือและเมื่อกลับมาก็ช่วยเหลือสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการค้าขายของจำเลยที่ 2 และ พ.ต.ท.ทักษิณ จนมีฐานะมั่นคง โดยในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาของหุ้นต่างๆ จำเลยที่ 1 ก็ให้การไว้โดยละเอียดและได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 แบ่งให้โดยไม่ได้มีการซื้อมา และแม้ว่าการสอบถามจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการให้หุ้นในคดีนี้ แต่หากเป็นการรับเนื่องในโอกาสสำคัญของจำเลยที่ 1 โดยหุ้นมีมูลค่าจำนวนมากและเป็นการรับจากจำเลยที่ 2 ที่เป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังถูกต้องข้อระแวงสงสัยและถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการถือครองหุ้น จำเลยที่ 1 ก็น่าจะให้การถึงเหตุผลที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้เป็นหลักฐานด้วยแต่จำเลยที่ 1 นอกจากไม่ได้ให้การถึงเหตุผลในการให้ว่าเป็นเนื่องในโอกาสใดแล้ว จำเลยที่ 1 ยังให้การชัดเจนด้วยว่าเป็นการแบ่งให้ จึงเชื่อว่าที่จำเลยที่ 2 ให้หุ้นกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการให้เนื่องในพิธี หรือตามโอกาส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และ 2 เคยให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกรมสรรพากร ต่างไปจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ว่าจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ตามธรรมจรรยาในฐานะที่ได้ร่วมก่อการ และดำเนินธุรกิจร่วมกัน และเป็นของขวัญที่จำเลยที่ 1 มีภรรยาและบุตรนั้นเป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ให้ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ โดยคำให้การที่จำเลยที่ 1 และ 2 พูดถึงเหตุผลการให้หุ้นนั้นน่าจะเป็นการยกข้ออ้างขึ้นใหม่เพื่อให้เข้าข้อยกเว้นตาม ม.42 (10) ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และ 2 อ้างว่าการให้หุ้นเพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นให้เมื่อต้นปี 2539 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงานแต่ช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังยุ่งเนื่องจากจะเข้าสู่การเมืองและตั้งพรรคการเมืองใหม่จึงมายกให้ในภายหลังขณะบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี ศาลเห็นว่าการอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเป็นการแบ่งให้ โดยการอ้างว่าไม่สามารถโอนหุ้นให้ได้เพราะมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และ 3 ได้ความว่าหุ้นตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 2 ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในนามของ น.ส.ดวงตา โดยจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้คำแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวมทั้งหุ้นแทนโดยตลอด ดังนั้นการโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตา จึงสามารถทำได้โดยจำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว ซึ่งหากจำเลยที่ 2 จะโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในโอกาสการแต่งงานจริงก็สามารถทำได้ในโอกาสนั้นโดยจำเลยที่ 2 เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาระหรือเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และการจัดการเรื่องการบริหารงานตามที่อ้างแต่อย่างใด และถึงแม้ว่าเรื่องนี้จำเลยที่ 1 และ 2 จะมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายของจำเลยที่ 2 นางสมทรง เครือไชย อาของจำเลยที่ 2 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภริยาของจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นประจักษ์พยานสนับสนุนว่า ร่วมรู้เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 1 และนางบุษบา ขณะเข้าไปอวยพรวันเกิดจำเลยที่ 2 ว่าจะให้หุ้นเป็นของขวัญแต่งงานก็ตาม แต่คำเบิกความดังกล่าวนอกจากจะขัดกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 แล้ว พยานดังกล่าวก็เป็นพี่และญาติ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 และ 2 อย่างมาก คำเบิกความจึงน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และ 2 มีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของจำเลยเรื่องนี้จึงไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โดยการแบ่งให้ ไม่ได้เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตาม ม. 42 (10)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่ว่าการที่จำเลยที่ 1 รับแบ่งหุ้นจากจำเลยที่ 2ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้น จะถือว่าเป็นเงินได้ซึ่งได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ ธรรมจรรยา ตาม ม. 42 (10) หรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้ประมวลรัษฎากรไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ แต่เมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” มีความหมายตามตัวอักษรว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนที่พึงกระทำโดยธรรม และแม้บทบัญญัติของกฎหมายจะไม่ได้มีความหมายที่จะจำกัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับรวมทั้งจำนวนที่ให้ก็ตาม แต่ตามถ้อยคำแล้วผู้รับการให้ก็จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนอยู่ด้วย แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตนอยู่ในสภาพหรือสถานะดังกล่าวแล้วยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าขณะที่ได้รับหุ้นนั้นจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ และเป็นกรรมการในบริษัทกลุ่มชินฯ ที่เป็นกลุ่มบริษัทที่มีกิจการและฐานะมั่นคง นอกจากนี้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ของจำเลยที่ 1 ก็แจ้งว่ามีเงินได้พึงประเมินจำนวน 23,554,503.53 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง โดยยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้ต่ออนุ ป.ป.ช.ด้วยว่า ในปี 2540 ก่อนรับโอนหุ้นคดีนี้จำเลยที่ 1 มีหุ้นใน บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2,347,395 หุ้น บริษัทเอสซีแอสเสท จำกัด จำนวน 23,000,000 หุ้น และในบริษัทชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำนวน 6,000,001 หุ้น และหลังจากได้รับหุ้นจำเลยที่ 1 ยังมีหุ้นเพิ่มในบริษัทต่างๆอีกจำนวนมาก สภานภาพดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ในสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูล และแม้ฐานะจะไม่ทัดเทียมกับพี่น้องจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีหน้าที่ธรรมจรรยาที่จะต้องอุปการะไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะมีทรัพย์สินมากเพียงใด คดีจึงฟังไม่ได้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงินได้ที่จะได้รับการเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ม.42 (10)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่ ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นตามฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าภาษีอากรแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 เสียไปกับจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่มีการรับโอนหุ้นให้ด้วยการทำเป็นการซื้อขายอำพราง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเงินได้จากการที่จำเลยที่ 1 รับหุ้นไปจากจำเลยที่ 2 ที่มีมูลค่าจำนวนมาก โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ขณะที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้ดำเนินการโอนหุ้น ได้มีหน้าที่ดูแลแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของจำเลยที่ 2 กับบุตรมานาน 10 ปีก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งสามีของจำเลยที่ 3 ยังเป็นพนักงาน บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ที่ทำการโอนหุ้นคดีนี้ด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 3 ย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องหุ้นและการโอนหุ้นเป็นอย่างดี ประกอบกับจำเลยที่ 2 และ 3 เคยเบิกความรับว่า ก่อนโอนหุ้นตามฟ้องได้ปรึกษาและให้คำแนะนำกันก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้กันกับจำเลยที่ 2 และร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ทราบมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจำเลยที่ 2 จะให้หุ้นตามฟ้อง และเมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อจะไปทำการซื้อขายหุ้นดังกล่าวซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 2 เคยบอกจำเลยที่ 1 ไว้ แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังให้ไปโดยไม่ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลรวมทั้งการชำระค่าหุ้นจำนวนมากด้วย จึงผิดวิสัยของผู้กระทำการโดยสุจริต
ส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าคณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ดังนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นกลางเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. แต่กรรมการตรวจสอบบางคนไม่มีความเป็นกลางเคยมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน ศาลเห็นว่าเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการตรวจสอบไว้เช่เดียวกับคุณสมบัติของ ป.ป.ช.อีกทั้งการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ก็ไม่ได้ความว่าคณะกรรมการตรวจสอบคนใดกระทำการอย่างใดที่ส่อไปในทางที่ไม่เป็นกลาง หรือกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสาม โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนมาถึง 12 คนซึ่งล้วนแต่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ และตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ไม่น่าจะสามารถโน้มน้าว ครอบงำให้คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดมาร่วมกระทำการใดที่ไม่เป็นกลางต่อการตรวจสอบคดีนี้ เพราะจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ความน่าเชื่อถือ และเสี่ยงต่อการมีความผิดตามกฎหมาย โดยที่สำคัญพยานหลักฐานการกระทำผิดตามฟ้องในคดีนี้เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจัดทำโดย ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสรรพากรเกือบทั้งหมด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของหลักฐานนั้น คดีจึงฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในคดีนี้โดยไม่เป็นกลาง
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่าจำเลยที่ 1 และที่2 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะมั่นคงทัดเทียมพี่น้องจึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานและจะให้หุ้นเป็นของขวัญวันแต่งงานแต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จึงมาให้ในภายหลังเมื่อบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี ซึ่งปรากฏว่าคำให้การนั้นไม่เป็นความจริงดังที่ศาลวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันยกข้อที่ไม่เป็นจริงขึ้นมาอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จงใจแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จฯเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามฟ้อง
จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำการเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ ซึ่งจำเลยทั้งสามนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันทำการหลีกเลี่ยงภาษีอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งที่จำนวนค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมายเทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองทุกคนจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลรัษฎากร ม.37 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม ม.37 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงฯ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่2 คนละ 3 ปี
สำหรับคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาฯ ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่อย่างไรจึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อไป ให้ยกคำขอส่วนนี้
ขณะที่นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความนายบรรณพจน์ กล่าวว่า ก็จะต้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อไปภายใน 30 วัน แต่คดีนี้มีประเด็นที่ต้องรวบรวมในการยื่นอุทธรณ์จำนวนมาก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจะยื่นคำขอขยายเวลาอุทธรณ์
ส่วนอัตราโทษคดีนี้ที่ศาลมีคำพิพากษานั้นถือว่าเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไปหรือไม่ นายเมธา ทนายความ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยกล่าวเพียงเราจะไม่วิจารณ์คำพิพากษาของศาล
ขณะที่ญาติ ของจำเลยทั้งสาม ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน) สำนักรัชโยธิน คนละ 8 ล้านบาท ขอประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสาม ระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประคนละ 5 ล้านบาท
สำหรับบรรยากาศในการฟังคำพิพากษา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น.กลุ่มผู้สนับสนุนประมาณ 1,000 คน เดินทางมารอให้กำลังใจคุณหญิงพจมานโดยเจ้าหน้าที่ศาลได้นำแผงเหล็กมากั้นไว้เป็นทางยาว ตรงทางเดินหน้าศาลอาญา และจำกัดผู้สนับสนุนให้อยู่บริเวณลานด้านหน้าทางขึ้นศาล พร้อมกับประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากบก.น.2 กองปราบปราม หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด สนธิกำลัง กับรปภ.ศาลรวมกว่า 400 นาย ดูแลความปลอดภัยโดยรอบบริเวณศาลอาญา และได้มีการกันรถยนต์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ผ่านเข้า-ออก บริเวณศาล
ขบวนรถครอบครัวชินวัตร เดินทางมาถึงศาลอาญา เมื่อเวลา 08.30 น. ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ นางสาวพิณทองทา และนางสาวแพทองธาร บุตรสาว นั่งมาด้วยกันในรถไคร์สเลอร์ สีบรอนเงิน ทะเบียน ภค 1991 กทม. โดยคุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ บุตรชาย นายบรรพจน์ ดามาพงษ์ และนาง กาญนาภา หงษ์เหิน นั่งมาด้วยกันในรถตู้โฟคสีน้ำเงิน โดยวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ สวมเชิ้ตสีขาวและสูทสีดำ เน็กไทด์สีเหลือง ส่วนคุณหญิงพจมาน ใส่ชุดผ้าไหมสีฟ้าอมม่วง ซึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ก้าวลงจากรถ กลุ่มผู้สนับสนุนได้โห่ร้องด้วยความยินดี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ยิ้มและโบกมือทักทายก่อนขึ้นไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 704 ทันที โดยที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ , นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต แกนนำ ทรท. , นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ,นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีตรองเลขานุการ ทรท. , น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษก ทรท. , น.ส.ศันศนีย์ นาคพงษ์ ทีมโฆษกส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณ , นายการุณ โหสกุล ส.ส.พรรคพลังประชาชน , นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ และทีม รปภ.ชุดเดิมของพ.ต.ท.ทักษิณ เดินประกบอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ บรรยากาศบริเวณหน้าศาล ขณะที่มีการอ่านคำพิพากษานั้น ปรากฏว่ามีกลุ่มสตรีประชาธิไตยประมาณ 20 คน ใส่เสื้อสีแดง เดินมาที่บันไดศาลพร้อมกับพยายามกางป้ายผ้า เจ้าหน้าที่ศาลจึงเดินเข้าไปห้ามปราม แล้วสั่งให้เก็บป้ายผ้านั้น จนเกิดการโต้เถียงกันขึ้นกระทั่ง พ.ต.อ.เจริญ ศรีศลักษณ์ รอง ผบก.น.2 ได้เข้าไประงับเหตุและตักเตือนให้กลุ่มดังกล่าวไปยืนอยู่ข้างๆบันไดศาล ขณะเดียวกันกลุ่มสนับสนุนที่อยู่ตรงบริเวณลานจอดรถหน้าศาลได้ชูภาพถ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เจ้าหน้าที่ศาลจึงสั่งให้เอาภาพลง นอกจากนี้ตำรวจสืบสวนบก.น.2 ได้เข้าตรวจค้นขอดูบัตรประชาชนกลุ่มชายฉกรรจ์ ชุดดำ ประมาณ 20 คน ที่ยืนอยู่บริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้สื่อข่าวจดจำได้ว่าเป็นกลุ่มรักษาความปลอดภัยของ แกนนำ นปก.
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี ระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณ มีสีหน้าเคร่งเครียด ขมวดคิ้วตลอดเวลา ส่วนคุณหญิงพจมานมีสีหน้าเรียบเฉย ขณะที่น.ส.แพรทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ลูกสาวคนเล็กทำหน้าเมินเฉยไม่สนใจฟังคำพิพากษา อีกทั้งได้หยิบไอพอต นาโน ขึ้นมากดเล่นสลับกับการนั่งกอดอก ส่วนน.ส.พิณทองทา หรือ เอม ลูกสาวคนกลางมีสีหน้าเคร่งเครียดและตั้งใจฟังศาลอ่านคำพิพากษาโดยตลอด แต่เมื่อฟังไปนานๆก็หยิบไอพอต นาโน มากดเล่นเช่นกัน ส่วนนายพานทองแท้ หรือโอ๊ค ทำสีหน้าเรียบเฉยไม่สนใจฟังคำพิพากษา
เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนใกล้ถึงสรุป คุณหญิงพจมาน ได้หันไปสบตากับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วหันกลับมาฟังศาลด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ขมวดคิ้ว ยกมือขึ้นมาขยี้ตา 2 ครั้ง ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สบตากับคุณหญิงพจมานแล้วก็ขมวดคิ้วข้างขวาขึ้น ใบหน้าเริ่มซีด กลืนน้ำลาย ถอนหายใจ เอามือมาประสานกันไว้ และบีบมือตัวเองตลอดเวลา จากนั้นเมื่อศาลให้ยืนฟังสรุปคำพิพากษา คุณหญิงพจมานได้ลุกขึ้นยืน เอามือไขว้หลัง สายตาดุดัน ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ สีหน้าวิตกอย่างมาก และกระพริบตาถี่ๆ หลายครั้ง และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจำคุกจำเลย น.ส.แพรทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ถึงกับเบ้ปาก และส่ายหัวไปมาหลายรอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน ประชาชนที่มาให้กำลังใจบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ร้องไห้ออกมา และแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา ส่วนคนที่เตรียมดอกไม้มาให้กำลังใจก็ต้องเอาไปเก็บ ทั้งนี้ขณะเดินทางลงจากศาลอาญาพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และลูกทั้งสาม คุณหญิงพจมานสวมแว่นตาดำ และเดินก้าวลงอย่างช้าๆ ก่อนจะมาหยุดตรงกลางบันไดศาล แล้วยกมือไหว้ ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ก็กระพริบตาถี่ๆเหมือนจะร้องไห้ แล้วกลืนน้ำลายไว้เหมือนอัดอั้นตันใจ เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนเห็นภาพดังกล่าว ก็ปรบมือให้กำลังใจลั่นศาล อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชน รีบเดินขึ้นรถกลับบ้านทันที ส่วนประชาชนที่มาให้กำลังใจหลังจากที่ผิดหวังแล้วก็เดินไปขึ้นรถบัสที่มาจอดรออยู่หน้าศาลประมาณ 10 คัน รถสองแถวใหญ่อีก 1 คันกลับออกไปเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ได้นำเอกสารมาแจกให้กับประชาชนที่มาให้กำลังใจคุณหญิงพจมาน โดยแจ้งให้ไปรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 1 ส.ค. 51 เวลา 09.00 น.
จากนั้นนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังศาลอ่านคำพิพากษาว่า ทีมทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 30 วัน ตามกฎหมาย ซึ่งจะต่อสู้ในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยใช้ทีมทนายความชุดเดิม และหลังจากนี้พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปบรรยายที่เมืองฟูโกโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 2 วัน โดยมีกำหนดเดินทางในวันนี้ (31 ก.ค.) หลังจากนั้นจะเดินทางไปร่วมในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีนต่อไป ส่วนการเดินทางไปอังกฤษเพื่อไปดูแลสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ในฐานะประธานสโมสรช่วงฟุตบอลพรีเมียร์ ชิพ เปิดฤดูกาลหรือไม่นั้น จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี กำลังใจคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นอย่างไรบ้าง นายพงศ์เทพกล่าวว่า หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปจับมือคุณหญิงพจมาน โดยช่วงนั้นไม่ได้มีการพูดจาอะไร เป็นความรู้สึกของคนเกี่ยวข้องกัน ส่วนคดีอื่นๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน นั้น ทีมทนายความก็จะดูแลรับผิดชอบเป็นรายคดีไป พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งใจที่จะกลับมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม และเมื่อศาลมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัว ก็จะเดินทางไปให้การอย่างแน่นอน