xs
xsm
sm
md
lg

“ไล่ออก-ชดใช้-จ่อคุก”อุทาหรณ์ข้าแผ่นดินอุ้มครอบครัวชินวัตรเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรมว.คลัง (ซ้าย) กำลังพูดคุยกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
ผู้จัดการรายวัน - อุทาหรณ์ข้าราชการรับใช้ครอบครัวนักการเมืองขี้โกง ต้องรับกรรมทั้งถูกไล่ออก เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ถูกฟ้องร้องข้อหาทำผิดอาญา รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายคืนแผ่นดิน จับตารองปลัดคลังและพวก ซึ่ง “หมอเลี๊ยบ” ปูนบำเหน็จได้ดี เพราะชงเรื่องให้โอ๊ค-เอม เลี่ยงภาษีหลายหมื่นล้าน จะซ้ำรอยหรือไม่

เป็นที่น่าจับตาว่าหลังคำพิพากษาคดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ศาลฯตัดสินให้จำคุกคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน จะส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ต่อคดีความอื่นๆ ของอดีตผู้นำและครอบครัวที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพียงใด

บรรดาข้าราชการโดยเฉพาะอดีตข้าราชการและข้าราชการบางคนในขณะนี้ของกรมสรรพากรที่เอื้ออำนวยประโยชน์ตอบข้อหารือ ตีความกฎหมาย กฎระเบียบ จนกลายเป็นช่องทางให้ครอบครัวอดีตผู้นำหลบเลี่ยงภาษี จะหนีอาญาและรับผิดทางแพ่ง ชดใช้เงินของแผ่นดินที่เสียหายไป พ้นหรือไม่

กล่าวสำหรับคดีเลี่ยงภาษีของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ โดยการทำนิติกรรมอำพราง ใช้อุบายฉ้อโกง แจ้งข้อความ ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ นั้น บรรดาข้าราชการกรมสรรพากร ที่ร่วมกระทำผิด ได้ชดใช้กรรมวาระแรกที่เกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วโดยการถูกไล่ออกจากราชการ

ข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากร 5 คน ที่ถูกไล่ออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 คือ

1) นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งกระทำผิดในขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร
2) นางสาวกุลฤดี แสงสายัณฑ์ นิติกร 7ว. (วิชาการ)
3) นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ นิติกร 8 ว.
4) นางสาวสุจินดา แสงชมภู นิติกร 9 ว.
5) นายวิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในสมัยที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายกรมสรรพากร


ความผิดร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้ามาตรวจสอบและมีมติเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2549 ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการฯเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ละเว้นการเรียกเก็บภาษี จำนวน 546 ล้านบาท จากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานคณะกรรมการบริษัทชินคอร์ป และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

กล่าวจำเพาะ อธิบดีกรมสรรพากรนั้น ผลสอบของ ป.ป.ช. ระบุชัดว่า นายศิโรตม์ ขณะปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมสรรพากร อาศัยดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความเป็นจริง ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ทั้งยังลงนามอนุมัติเรื่องอย่างเร่งด่วนว่า กรณีดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี โดยได้รับเรื่องตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ในเย็นวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 2544 และเห็นชอบทันทีในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. 2544

กลุ่มข้าราชการระดับสูงดังกล่าว นอกจากจะเจอข้อหาหนักมีความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ม. 82 วรรค 3, ม. 85 วรรค 2 และ ม. 98 วรรค 2 จนถูกไล่ออกแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการใช้กรรมในวาระที่สอง คือ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 ซึ่งคดีดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

ไม่เพียงเท่านั้น หลังศาลอาญาตัดสินคดีของนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน เลี่ยงภาษี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่าน กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ถูกกดดันให้เอาผู้กระทำความผิดมาชดใช้ภาษีของแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดทางแพ่ง

แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร จะพยายามปิดคดีด้วยตนเอง ดังคำชี้แจงของนายประสิทธิ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.กระทรวงการคลัง ที่กล่าวย้ำในหลายวาระหลายโอกาสว่า อายุความการเรียกเก็บภาษีนั้นหมดไปแล้ว ส่วน นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ก็ชี้แจงว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี 2 ใน 3 เสียง ที่ให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินภาษีของนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน ถือเป็นที่สุด และเป็นธรรมเนียมที่จะไม่ยกคดีขึ้นสู่ศาลภาษี

แต่คำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้วินิจฉัยในประเด็นการเพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 (นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์) ว่า “....ซึ่งต่อมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และคดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีภาระภาษีแล้วตามเอกสารหมายเลข ล.92 นั้น เห็นว่า เอกสารของจำเลยดังกล่าว เป็นเพียงภาพถ่ายจากเว็บไซต์ อ้างแหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ทั้งยังเป็นประเด็นเรื่องขาดอายุความประเมินภาษี ที่เจ้าหน้าที่ประเมินกระทำในภายหลังเหตุการณ์ตามฟ้อง ....”

**** หักล้างคำวินิจฉัยคณะกก.อุทธรณ์ภาษี

คำพิพาษาของศาลอาญา ยังวินิจฉัยในประเด็นการประเมินภาษีที่คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี (ตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด และตัวแทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) ออกเสียงข้างมากให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินด้วย

ประเด็นนี้ คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ เสียงข้างมาก ชี้ว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ของนายบรรณพจน์ เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บโดยอาศัยมาตรา 18 ได้

“การประเมินเงินได้พึงประเมินจากการรับโอนหุ้นเพิ่มเติมที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้เป็นการแก้ไขรายการในแบบแสดงรายการที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ยื่นไว้ ซึ่งการประเมินตามมาตรา 18 ไม่สามารถกระทำได้ การประเมินรายการรับโอนหุ้นดังกล่าวจึงต้องใช้อำนาจตามความในมาตรา 19, 20 เพื่อจะได้แก้ไขรายการในแบบแสดงรายการของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้”

ขณะที่ศาลอาญา วินิจฉัยว่า “สำหรับคดีนี้ สำนักตรวจสอบภาษีได้มีหนังสือเอกสารหมายเลข จ.32 เชิญจำเลยที่ 1 ไปพบพร้อมนำพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร) ก็ไปพบเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีตามหนังสือนั้น โดยมิได้แย้งว่า ไม่ได้ออกหมายเรียก ทั้งยังได้ให้การในประเด็นการซื้อขายหุ้นตามฟ้อง ตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีถาม

“กรณีนี้ถือได้ว่า มีการไต่สวนตามมาตรา 19 ข้างต้นแล้ว แม้จะไม่มีเอกสารหมายเรียกจำเลยที่ 1 ก็ตาม การสอบคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี จึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ในปัญหานี้มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้
"เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามฟ้อง”

**** คลัง-สรรพากร ตั้งท่าเอาผิดทางแพ่ง

คำพิพากษาของศาลอาญาในคดีดังกล่าว แม้จะเป็นศาลชั้นต้น ต้องสู้กันอีกในชั้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นผลให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ต้องกลับลำก่อนที่จะเจอข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ล่าสุด นายประสิทธิ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.กระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพกร ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังศาลอาญามีคำพิพากษา ขณะนี้ นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพกร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแพ่งกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในคดีหลีกเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนกว่า 546 ล้านบาท แล้ว หากผลการสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวออกมา ก็จะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ออกไปแล้วด้วย

ทางด้านนายศานิต ก็ออกมาขานรับว่า กรมสรรพากรไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำของข้าราชการกรมสรรพากร ทั้ง 5 คนว่า จะมีใครรับผิดชอบบ้าง และรับผิดชอบอย่างไร ตนเองได้เร่งรัดผลสอบมาโดยตลอด แต่เข้าใจว่าคณะกรรมการฯ ต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด แต่เชื่อว่าเมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้จะช่วยให้สรุปผลออกมาได้เร็วขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

“เมื่อได้ผลสรุป จะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทันที ที่ผ่านมามีการหารือกับนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นระยะๆ อยู่แล้ว” นายศานิต บอกกับผู้สื่อข่าวถึงการรายงานการตรวจสอบข้าราชการระดับสูงทั้ง 5 คน ที่ถูกไล่ออกเพราะเอื้อประโยชน์นายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน เลี่ยงภาษี ตั้งแต่ปลายปี 2549 จนบัดนี้ปีกว่าแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

อย่างไรก็ตาม การชดใช้กรรมในวาระที่สาม คือ การรับผิดทางแพ่ง ชดใช้ค่าเสียหายจาการเลี่ยงเก็บภาษี 546 ล้านบาท ของข้าแผ่นดินที่ไม่พิทักษ์ประโยชน์ของประเทศชาติ กำลังเริ่มต้นและคงเห็นผลในไม่ช้าหากนักการเมืองผู้คุมกระทรวงคลัง ไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบ

*** ขรก.ช่วย “โอ๊ค-เอม” เลี่ยงภาษี เจอคดีอาญา

นอกเหนือจาก กรณีเลี่ยงภาษีนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน ข้างต้นแล้ว ข้าราชการกรมสรรพากร ยังละเว้นไม่จัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) ของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา จากบริษัทแอมเพิลริช ซึ่งเป็นกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้ามาตรวจสอบ และได้ส่งอัยการสูงสุดฟ้องกลุ่มข้าราชการกรมสรรพากรที่ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คดีดังกล่าว นายสัก กอแสงเรือง อดีตประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีกล่าวหาข้าราชการกรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ในราคาถูกกว่าราคาตลาด ระหว่างบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คดีนี้มีขั้นตอนเช่นเดียวกับคดี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร หลีกเลี่ยงภาษี

ทาง คตส.ได้มติให้ยื่นฟ้องบุคคลทีเกี่ยวข้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 ประกอบด้วยข้าราชการกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือตอบหารือเรื่องการไม่เสียภาษีในการซื้อขายหุ้นจำนวนดังกล่าว คือ 1) นางเบญจา หลุยเจริญ 2) น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง 3) น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ 4) นายกริช วิปุลานุสาสน์

และอีกรายหนึ่ง คือ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นผู้ทำหนังสือสอบถามในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยคตส.ส่งสำนวนผลการไต่สวนคดีที่มีมติสั่งฟ้องบุคคลข้างต้นให้อัยการสูงสุด ส่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 51

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้าราชการที่ถูกฟ้องอาญาอันเนื่องมาจากช่วยครอบครัวชินวัตรเลี่ยงภาษีทั้งคดีนายบรรณพจน์ – คุณหญิงพจมาน และคดีนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา คือ น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ นิติกร 8 ว.ของกรมสรรพากร และเป็นหนึ่งในพยานให้การช่วยนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน ว่าไม่ต้องเสียภาษี อีกด้วย

นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ อดีตกรรมการ คตส. ระบุว่า คดีที่ คตส.ได้ส่งอัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลอาญากรณีที่ข้าราชการกรมสรรพากรได้ตอบจดหมายไปถึงผู้เกี่ยวข้องว่าไม่ต้องชำระภาษี ทั้งที่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนในการโอนหุ้น คดีนี้ตนได้รับหมายศาลกำหนดให้ไปเป็นพยานในชั้นศาลแล้วช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ นางเบญจา หลุยเจริญ ข้าราชการกรมสรรพากร ถูกฟ้องคดีอาญาจากกรณีช่วยครอบครัวชินวัตรเลี่ยงภาษี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงการคลัง กลับเสนอแต่งตั้งนางเบญจา ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่นพ.สุรพงษ์ เสนอ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 51

มติครม.ดังกล่าว น.ส.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้แถลงข่าวแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นทางการ เพราะผู้ได้รับแต่งตั้งถูกสอบสวนดำเนินคดี แต่รัฐมนตรียืนยันว่าดำเนินการแต่งตั้งได้ เพราะคดีความยังไม่ถึงขั้นสิ้นสุด ซึ่งไม่ต่างไปจากกรณีคดีหวยบนดินที่ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดีแล้ว แต่นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งโดยอ้างคดียังไม่ถึงที่สุด

แต่คงอีกไม่นาน สังคมก็จะได้เห็นว่า ผลกรรมจากการช่วยคนโกงแผ่นดินจะมีจุดจบเช่นใด
 

///////////////////////////// 

ผลสอบคตส.ชี้ข้าแผ่นดินทำผิดอาญา

คดีดังกล่าว คตส.ได้ทำสำนวนส่งอัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องศาล โดยสรุปผลการตรวจสอบการตอบข้อหารือของ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เกี่ยวกับภาระภาษีของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด และผู้หารือนำคำตอบนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ดังนี้

(1) ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2548 ถึงวันที่ 21 ก.ย. 2548 มีข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรได้ร่วมกันกระทำการพิจารณาวินิจฉัยตอบข้อหารือของ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ตามหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 ว่ากรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ได้ซื้อหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด
 
 เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่ว ๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) คณะอนุกรรมการตรวจสอบ คตส. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การซื้อขายหุ้นมีลักษณะแตกต่างไปจากการซื้อขายทรัพย์สินอื่นโดยทั่วไป เพราะการซื้อขายหุ้นเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีวิธีการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ใช่การซื้อขายโดยทั่วไปตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
การกล่าวอ้างเหตุผลในการตอบข้อหารือ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยเหตุและผล หลักเกณฑ์ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติ มีการอาศัยข้อหารือดังกล่าวไปใช้ในทางที่มิชอบ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการกรมสรรพากร

ข้าราชการกรมสรรพากรที่ร่วมการพิจารณาวินิจฉัยคำตอบข้อหารือของ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการตอบข้อหารือและเรียกเก็บภาษีอากร จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรนั้นมิต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157, 83

สำหรับการกระทำของ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ จงใจทำหนังสือหารือกรมสรรพากร และยังจงใจนำหนังสือคำวินิจฉัยตอบข้อหารือของกรมสรรพากรดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุโดยตรงอันสำคัญที่ทำให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรร่วมกันกระทำความผิดอาญา จึงเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรนั้นมิต้องเสีย หรือเสียภาษีน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย
 
และเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157, 86
เบญจา หลุยเจริญ
ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์
โมรีรัตน์ บุญญาศิริ
วิชัย จึงรักเกียรติ
กำลังโหลดความคิดเห็น