1. “ม็อบเสื้อแดง”กร่อย-ปักหลัก “ทำเนียบฯ”ได้แค่ 3 วัน หมดแรง-สลายการชุมนุม!
หลังจากแกนนำ นปช.ได้ประกาศนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 24 ก.พ.เพื่อทวงคำตอบข้อเรียกร้อง 4 ข้อจากรัฐบาล(1.ดำเนินคดีพันธมิตรฯ -ปลดนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ-นำ รธน.2540 มาใช้แทน รธน.2550-ยุบสภา) โดยจะมีการเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลด้วยนั้น ปรากฏว่า ก่อนถึงวันชุมนุม ทางรัฐบาลและตำรวจได้ประเมินสถานการณ์การชุมนุมว่าไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง โดย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า ฝ่ายข่าวคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 24 ก.พ.ประมาณ 20,000-30,000 คน และน่าจะค้างคืนอยู่ประมาณ 3 วัน ทั้งนี้ ตำรวจได้ประสานขอกำลังจากทหารมาช่วยดูแลสถานการณ์และรักษาสถานที่ราชการด้วยประมาณ 21 กองร้อย นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้จัดกำลังจากหน่วยต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิทที่ อ.หัวหิน และอารักขาผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5,000 นาย ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เชื่อว่า จะมีคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมไม่น้อยกว่า 30,000 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันชุมนุม(24 ก.พ.) จำนวนคนเสื้อแดงที่มาร่วมกลับน้อยกว่าที่แกนนำ นปช.ตั้งเป้าไว้ โดยตอนแรกมีประมาณ 5,000 คน แกนนำ นปช.เห็นว่ายังไม่มากพอ จึงยังไม่นำม็อบเคลื่อนไปยังทำเนียบฯ ต้องรออยู่ที่สนามหลวงจนกระทั่งผู้ชุมนุมมาสมทบเป็นเกือบ 1 หมื่นคน จึงได้เคลื่อนพล ทั้งนี้ แม้ตำรวจจะพยายามสกัดเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังบริเวณถนนหน้าทำเนียบฯ ริมคลองเปรมประชากร เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชั้นในของทำเนียบฯ แต่แกนนำ นปช.และกลุ่มเสื้อแดงก็ไม่สน โดยฝ่าด่านสกัดเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ซึ่งนำ ครม.ไปประชุมนอกสถานที่ที่หัวหินเมื่อวันที่ 24 ก.พ.เพื่อดูความพร้อมของสถานที่ประชุมอาเซียนซัมมิท ได้ออกมาบอกว่า พร้อมจะเดินเท้าเข้าทำงานในทำเนียบฯ ในวันที่ 25 ก.พ.แต่ผู้ชุมนุมต้องไม่มีอาวุธ พร้อมยืนยัน รัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย ถ้าผู้ชุมนุมคนไหนบุกเข้ามาในทำเนียบฯ ก็ต้องถูกจับกุม ด้านนายสาทิตย์ ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลประชุมคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองของพรรคฯ (วอร์รูม) โดยเชื่อว่า ม็อบเสื้อแดงได้รับคำสั่งมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยบางส่วนเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความน่าเชื่อถือของนายกฯ และโค่นล้มรัฐบาลโดยไม่อาศัยกลไกของรัฐสภา ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 1 ในแกนนำ นปช.ได้ออกมาสวนกลับรัฐบาล โดยยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง “พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในฐานะแนวร่วมคนหนึ่งเท่านั้น แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะหายไปจากโลกนี้หรือยินยอมที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วเลือกอยู่ต่างประเทศตลอดชีวิต กลุ่มคนเสื้อแดงก็จะไม่ยุติการเคลื่อนไหว เราจะยุติการเคลื่อนไหวด้วยเงื่อนไขเดียวคือประชาธิปไตย” ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้สู้เพื่อส่วนรวม แต่ออกมาชุมนุมเพื่อต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่มีความอดทน ไม่สามารถชุมนุมยืดเยื้อได้นาน พออากาศร้อน เดี๋ยวก็หายหมด ซึ่งก็เป็นดังที่นายสนธิคาด โดยจำนวนผู้ชุมนุมลดลงเรื่อยๆ จากวันแรก(24 ก.พ.)ที่ยอดผู้ชุมนุมอยู่ที่เกือบ 1 หมื่นคน แต่วันที่สอง(25 ก.พ.) เหลือประมาณ 3,000 คน กระทั่งวันที่สาม(26 ก.พ.) ผู้ชุมนุมที่เหลือต่างมีอาการเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัด และหลายคนเริ่มบ่นอยากกลับบ้าน เพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวและอาหารที่นำมาแจกจ่ายไม่ทั่วถึง ส่งผลให้แกนนำ นปช.ต้องประกาศยุติการชุมนุมในคืนวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช.ไม่ยอมรับว่าสาเหตุที่ต้องยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ เพราะผู้ชุมนุมลดลงเรื่อยๆ โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ 1 ในแกนนำ นปช. อ่านแถลงการณ์บนเวที(คืนวันที่ 26 ก.พ.)ว่า “จะใช้วิธีที่เข้มข้นขึ้นทั้งในสภา นอกสภา เมือง ชนบท และต่างประเทศ ตามหลักสันติวิธี ภายใต้กรอบกฎหมาย จนกว่าจะได้รับชัยชนะคือ นายกฯ ประกาศยุบสภา และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะชุมนุมที่ทำเนียบฯ ให้ยืดเยื้อต่อไป แต่จะออกไปปฏิบัติการทั่วประเทศใน 1 เดือนข้างหน้า จุดแห่งชัยชนะกำลังรออยู่” ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และ 1 ในแกนนำ นปช. บอกว่า กลุ่มเสื้อแดงจะยกเลิกข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ เพื่อยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในทุกหนทาง นายจตุพร ยังไม่วายกล่าวหาว่ากลุ่มอำมาตย์อยู่เบื้องหลังรัฐบาลด้วย “ตอนนี้ศัตรูของเราไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ แต่เป็นกลุ่มอำมาตย์ที่คอยบงการรัฐบาลอยู่ ...ต่อไปคนที่เข้ามาก็จะเป็นพวกประจบสอพลอ คนเสื้อแดงยอมไม่ได้เด็ดขาด ถ้าบ้านสี่เสาเทเวศร์มีปัญหาเราก็จะไป ถ้ากองทัพมีปัญหาเราก็จะไปหา ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คนที่ถูกกดขี่จะลุกขึ้นมา จะทำทุกวิถีทางไม่ให้คนเหล่านี้อยู่ได้อย่างสงบสุข” ทั้งนี้ ม็อบเสื้อแดงที่หน้าทำเนียบฯ ได้สลายตัวลงในคืนวันที่ 26 ก.พ. หลังชุมนุมมาได้เพียง 3 วันเท่านั้น ด้านนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำ นปช.รุ่น 2 และนายสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ยอมรับว่า การที่จำนวนผู้ชุมนุมร่อยหรอลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเสื้อแดงต้องยุติการชุมนุม โดยจำเป็นต้องไปขยายแนวร่วม ก่อนจะกลับมาชุมนุมใหม่ในอีก 1 เดือนข้างหน้า ประมาณวันที่ 27 มี.ค.โดยนายชินวัฒน์ บอกด้วยว่า เมื่อคนเสื้อแดงกลับมาชุมนุมอีกครั้ง ถ้าไม่ชนะ จะไม่เลิกชุมนุม
2. “แม้ว”ฝ่อ กลัวถูกจับตัวกลับไทย ไม่กล้าปรากฏตัวปาฐกถาที่ฮ่องกง แต่จะใช้วิธี “โฟนอิน”แทน!
หลังจากสำนักงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประจำฮ่องกง ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ประธานาธิบดีแดเนียล ออร์เตก้า แห่งนิการากัว ได้ต้อนรับการลงทุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมมอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏว่า สื่อมวลชนของนิการากัวได้ออกมาตั้งข้อกังขาต่อท่าทีของประธานาธิบดีประเทศตน โดยหนังสือพิมพ์ลาเพรนซ่า(เดอะ เพรสส์) หนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่สุดของนิการากัว ตั้งข้อกังขาต่อการตอบรับการลงทุนด้านโทรคมนาคมและด้านอื่นๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า อาจเป็นความพยายามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลประธานาธิบดีออร์เตก้า ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ลาเพรนซ่า ชี้ว่า เว็บไซต์ของรัฐบาลประธานาธิบดีออร์เตก้าพูดแต่ด้านดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น การเป็นเจ้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเคยซื้อหุ้น 75% ของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ แต่จงใจละเลยข้อมูลด้านอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กไปแล้ว และต้องลี้ภัยไปอยู่ในอังกฤษ ก่อนจะเดินทางออกมาและถูกยกเลิกวีซ่า เนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณคอร์รัปชั่นในประเทศไทย และยังมีคดีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในการปล่อยกู้แก่รัฐบาลทหารพม่าด้วย หนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของนิการากัว ยังวิเคราะห์ด้วยว่า การพูดถึงแต่ด้านดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเป็นความพยายามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลประธานาธิบดีออร์เตก้าที่พยายามชี้ว่า นี่คือบรรยากาศใหม่ด้านการลงทุนของประเทศนิการากัว แต่สิ่งที่นิการากัวกำลังรับมืออยู่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ นักลงทุนชาวไทยเจ้าของใบหน้าเป็นมิตร แต่ที่แท้คือผู้ร้ายหลบหนีคดีจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศของเขาเอง และถูกห้ามเข้าญี่ปุ่นด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หนังสือพิมพ์ลาเพรนซ่า จะพยายามติดต่อนางโรซาริโอ เมอร์ริลโย่ เจ้าหน้าที่ประสานงานของรัฐ เพื่อขอทราบท่าทีของรัฐบาลประธานาธิบดีออร์เตก้าต่อคดีต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเผชิญอยู่ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบจากนางเมอร์ริลโย่แต่อย่างใด และน่าสังเกตด้วยว่า รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ลาเพรนซ่าไม่ได้มีการพูดถึงการมอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงน่าจะยังไม่แน่ชัดว่า ประธานาธิบดีนิการากัวมอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณจริงหรือไม่ ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีสถานะเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของประเทศนิการากัวล้านเปอร์เซ็นต์ และว่านอกจากประเทศนิการากัวแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังมีสถานะเป็นผู้มีถิ่นพำนักที่ประเทศเยอรมนี ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,คูเวต และบรูไนด้วย ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า ตนเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยอ้างว่า ตนแค่พาลูกชายและหลานชายไปเที่ยวฮ่องกงและมาเก๊าเท่านั้น แต่ในที่สุดความลับก็แตก เมื่อ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 1 ใน ส.ส.หลายคนที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกง ออกมายืนยันว่า ร.ต.อ.เฉลิมก็เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไปกล่าวปาฐกถาต่อสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกงในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ส่งผลให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เดินหน้าประสานสถานกงสุลใหญ่ในฮ่องกงเพื่อขอให้หาที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและอัยการไปประสานกับทางการฮ่องกงอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อจับกุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนักโทษหนีคดี หากไปปรากฏตัวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกงนั้น ปรากฏว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน(28 ก.พ.)ว่า พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกการกล่าวปาฐกถาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกงในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ในหัวข้อ “วิกฤตการเงิน ,ความไม่แน่นอนทางการเมือง : บทเรียนจากประเทศไทย” แล้ว โดยอ้างว่า รัฐบาลไทยตื่นเต้นเรื่องนี้จนน่ารำคาญ และไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า เหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณยกเลิกการเดินทางไปกล่าวปาฐกถาที่ฮ่องกงในวันที่ 2 มี.ค. ไม่ใช่เพราะกลัวถูกจับตัวแน่นอน เพราะปกติแล้ว ไทยกับฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน นายนพดล ยังแขวะนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า ที่รีบประสานขอให้รัฐบาลฮ่องกงส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทย เนื่องจากนายอภิสิทธิ์มองว่า ต้องรีบกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่มีความรู้ความสามารถเหนือกว่านายอภิสิทธิ์มาก และว่า ขอให้นายอภิสิทธิ์ใช้ความกระตือรือร้นไปเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิจะดีกว่า ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เผยในวันนี้(1 มี.ค.)ว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงพร้อมที่จะโฟนอินข้ามประเทศเพื่อกล่าวปาฐกถาของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกง ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานในวันนี้(1 มี.ค.)ว่า นายเอิร์นส เฮิร์บ ประธานสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกง บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังยินดีที่จะกล่าวปาฐกถาให้กับผู้ฟังผ่านวิดีโอลิงค์ โดยจะมีขึ้นในอีก 2-3 วันข้างหน้านี้ เพราะต้องรอจนกว่าสโมสรฯ จะติดตั้งเทคโนโลยีที่จำเป็นให้เรียบร้อยก่อน
3. ฝ่ายค้าน เคาะแล้ว ซักฟอก “นายกฯ + 3 รมต.” ด้าน “นปช.”ขู่ตัดสัมพันธ์ “พท.”หากจับมือ “ปชป.”ตั้ง รบ.แห่งชาติ!
สถานการณ์การเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลต์มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติระหว่างพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กับพรรคเพื่อไทย(พท.)ที่ถูกจุดกระแสโดยพรรคเพื่อไทย กับเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านที่เริ่มชัดเจนว่าจะอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรีคนใดบ้าง เริ่มด้วยแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติระหว่าง 2 พรรคคือ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ที่อยู่ๆ ก็มีข่าวเรื่องนี้ออกมาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลังร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วนของพรรค อ้างว่าได้ทานข้าวและหารือกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายกฯ ถึงเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีความคิดที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนแตกต่างกัน และว่า ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทบทวนการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมั่นคงกับพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่าดูรูปการณ์แล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการจับมือกันของ 2 พรรคดังกล่าว และว่าเรื่องนี้ คงเป็นการจุดชนวนให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดความระส่ำระสายมากกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียง ส.ส.หลายคนในพรรคเพื่อไทย(เช่น นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ,นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ฯลฯ) จะสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันเรื่องนี้ โดยบอกว่า ตนได้โทรศัพท์ไปหา พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อสอบถามความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า เห็นด้วยในหลักการ เพราะสามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในบ้านเมืองได้ และว่า เรื่องนี้ต้องมีการยอมกลืนเลือด เสียสละกันบ้าง เพื่อให้เกิดการเจรจาและให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ นายประชา ยังบอกด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า จะกลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้แน่นอน และไม่มีความกลัวอะไร เพราะที่ผ่านมาโดนมาเยอะแล้ว ทั้งนี้ แม้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนจะอยากให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ ส.ส.บางคนก็คัดค้าน พร้อมขู่จะตัดความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยหากเดินหน้าจับมือพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนของพรรค และ 1 ในแกนนำ นปช.ยืนยันว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องรัฐบาลแห่งชาติ และถ้าพรรคเพื่อไทยมีการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจริง ตนจะขอตัดสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เชื่อว่า กระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการปล่อยข่าวตามแผนบันได 3 ขั้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการกลับมามีอำนาจให้เร็วที่สุด โดยขั้นแรก พ.ต.ท.ทักษิณจะเคลื่อนไหวกดดันอยู่ภายนอกประเทศ ขั้นที่ 2 ให้กลุ่มคนเสื้อแดงกดดันรัฐบาล และขั้นสุดท้ายคือ ให้ ส.ส.เพื่อไทยคอยป่วนในสภา เพื่อให้สภาไม่สามารถเดินต่อไปได้และยุบสภาเร็วที่สุด ส่วนความคืบหน้ากรณีที่พรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือน มี.ค.นี้นั้น เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พรรคเพื่อไทยได้มีการประชุม ส.ส. โดยนอกจากจะมีแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ยังมีนายพายัพ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องชายและน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณเข้าร่วมด้วย โดยหลังประชุม มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐมนตรี 4 คน 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ โดยจะอภิปรายในหลายประเด็น และจะพุ่งเป้าไปที่ตัวมารดาและภรรยาของนายอภิสิทธิ์ด้วย เกี่ยวกับเรื่องของธุรกรรมทางการเงินและการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน 2. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ที่พรรคฯ มองว่ามีการกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมาย จงใจหลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีทรัพย์สินในส่วนของการถือครองหุ้นที่อยู่ต่างประเทศ 3.นายอิสสระ สมชัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ 4.นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องการปิดสนามบิน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายโยงถึงมารดาและภรรยาตนว่า พร้อมชี้แจงทุกเรื่อง และว่า ที่จะโยงไปถึงมารดาและภรรยาตนนั้น ยังไม่ทราบว่าเรื่องอะไร เพราะภรรยาเป็นข้าราชการสอนหนังสือ ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนคุณแม่ก็เกษียณไปนานแล้วและไม่เป็นธุรกิจ ขณะที่ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และบิดานายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหวที่ฝ่ายค้านเตรียมนำข้อมูลมาโจมตีครอบครัวเวชชาชีวะ พร้อมยืนยันว่า ตนและนางสดใส ภริยา รวมทั้งนางพิมพ์เพ็ญ ภริยานายกฯ ไม่เคยถือหุ้นบริษัทเอกชนและเอื้อประโยชน์ให้นายกฯ หรือปกปิดบัญชีทรัพย์สินตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่นางพิมพ์เพ็ญมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้น เพราะได้รับมรดกจากญาติ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจน ด้านนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็ออกมาติงพรรคเพื่อไทยว่าเป็นฝ่ายค้านที่มาตรฐานต่ำมาก เพราะตนเพิ่งเข้ามาทำงานได้แค่ 10 กว่าวัน พร้อมเชื่อว่า ตนน่าจะเป็นแค่เป้าลวง เพราะเป้าหมายหลักของฝ่ายค้านก็คือ นายกฯ โดยฝ่ายค้านอาจจะอภิปรายตนเพื่อกระทบไปยังนายกฯ ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า ด้าน น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แถลง(26 ก.พ.)ว่า พรรคจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 4 มี.ค. ยื่นถอดถอนนายกฯ วันที่ 8 มี.ค. โดยมีผู้ที่จะถูกอภิปราย 4 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ซึ่งมี 14 ประเด็น , นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ มี 5 ประเด็น ,นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มี 7 ประเด็น และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง มี 3 ประเด็น นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีอีก 3 คนที่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะอภิปรายหรือไม่ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรัฐมนตรีกลาโหม , นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ส่วนกรณีที่การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านต้องแนบชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกฯ ไปด้วย โดยมีข่าวว่า ฝ่ายค้านจะเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนของพรรคฯ เป็นนายกฯ นั้น ปรากฏว่า นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ได้ออกมาติงพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า “ไม่ได้คัดค้าน แต่อยากเตือนพรรคเพื่อไทยว่า อย่าทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ...เห็นอยู่ว่าบ้านเมืองมีวิกฤตยังจะเอาน้ำมันไปราด ทำแล้วไม่มีเหตุผลอายเขาเปล่าๆ ...ไม่ใช่ว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่เก่ง แต่เก่งเกินไป อีกทั้ง ร.ต.อ.เฉลิมยังมีอดีตที่ล้างไม่ออก คนที่จะปกครองบ้านเมืองต้องไม่มีอดีต...” นายเสนาะ ยังเผยด้วยว่า มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยหลายคนโทร.มาหาตน บอกว่า รับไม่ได้ที่จะใส่ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นนายกฯ ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ไม่ยอมพูดถึงกรณีที่นายเสนาะไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อตนเป็นนายกฯ โดยหัวเราะและกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีความคิดเห็น ขณะที่นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย อ้างว่า ทางพรรคฯ เห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิมเป็นแกนหลักในอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน จึงให้เกียรติด้วยการใส่ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นนายกฯ
4. ศาล ยกฟ้อง “ศิโรตม์กับพวก”ไม่เก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป 270 ล้าน ด้าน “อธิบดีศาลอาญา”เห็นแย้ง!
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวกรวม 5 คน คือ นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ,น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9 ,น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8 และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 154 และ 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร(ขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ) โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาทให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ทำให้รัฐได้รับความเสียหายที่ไม่จัดเก็บภาษีจำนวน 270 ล้านบาท ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องนายศิโรตม์กับพวก โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยทั้งห้าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 154 นั้น ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษ หรือโดยทุจริต เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสียภาษี หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรหรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่จำเลยทั้งห้าเป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพิจารณาข้อกฎหมายและวินิจฉัยการตรวจสอบภาษีของนายบรรณพจน์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากสำนักตรวจสอบภาษี ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างมีเหตุผลที่รับฟังได้ จึงเป็นการวินิจฉัยและปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่วนเหตุผลที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า นายศิโรตม์กับพวกไม่ได้ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น เนื่องจากการจะเข้าข่ายความผิด ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้นั้นโดยตรง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงย่อมไม่มีความผิด อีกทั้งผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษคือ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ส่วนเจตนาทุจริตนั้น องค์คณะฯ เห็นว่า ไม่พบจำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น มิได้รับการเลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นผิดปกติ และว่า แม้ว่าในขณะตอบข้อหารือเรื่องการเสียภาษีนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้วก็ตาม แต่องค์คณะฯ เห็นว่า ขณะนั้นก็มีหน่วยงานตรวจสอบตาม รธน.ที่เข้มแข็ง รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เฝ้าดูการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณและเครือญาติ เป็นที่สนใจของประชาชน จำเลยทั้งห้าจึงต้องวินิจฉัยด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ องค์คณะฯ เห็นว่า นอกจากพยานหลักฐานจะฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ามีเจตนาทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว จำเลยทั้งห้ายังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มความสามารถตามหน้าที่ราชการโดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังองค์คณะผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ได้แจ้งให้จำเลยทั้งห้าทราบด้วยว่า นายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งได้ทำการตรวจสอบสำนวนคดีนี้ มีความเห็นแย้งกับความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษา โดยเห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 2 คือ นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ และนายวิชัย จึงรักเกียรติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาได้อ่านความเห็นแย้งดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าฟัง ซึ่งสรุปความได้ว่า การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 157 นั้น หากผู้กระทำหรือละเว้นการกระทำใดในหน้าที่เพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่จำเป็นต้องได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดใด บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว และว่า การเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใดใด หากอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจจนเกินล้ำออกนอกขอบเขตของกฎหมาย และมิได้เจตนาให้เกิดการสมประโยชน์แก่บุคคลใด แม้การใช้ดุลพินิจดังกล่าวจะทำให้บุคคลใดได้รับประโยชน์ก็ตาม ก็ย่อมไม่เป็นความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ นายศิโรตม์ จำเลยที่ 1 เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาราชการแทนอธิบดี จำเลยที่ 2 นายวิชัย เป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ซึ่งจำเลยทั้งสองมีความเห็นว่า นายบรรณพจน์ไม่ต้องเสียภาษี 270 ล้านจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน จึงต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตภายใต้พื้นฐานของหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำหรือไม่ และมีพฤติการณ์ใดบ่งบอกไปในทางไม่สุจริตหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสำนวนอย่างละเอียด พบว่า จำเลยที่ 1 สั่งให้ยุติเรื่องการตรวจสอบภาษีนายบรรณพจน์โดยไม่สมเหตุสมผล ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งหรือเสนอความเห็นอย่างละเอียดรอบคอบกว่าข้าราชการระดับปฏิบัติงาน โดยข้อเท็จจริง พบว่า จำเลยทั้งสองเพียงแค่รับฟังความเห็นของจำเลยที่ 4 (น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ นิติกร 8) ก็เห็นพ้องตามนั้น ทั้งที่ความเห็นของจำเลยที่ 4 ไม่ตรงกับความเห็นของนายชาญยุทธ ปทุมรักษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง และเคยสั่งให้จำเลยที่ 4 ทบทวนเรื่องนี้(การไม่เก็บภาษีนายบรรณพจน์)ถึง 2 ครั้ง แทนที่จำเลยที่ 1 และ 2 จะให้ความสำคัญกับข้อสังเกตของนายชาญยุทธ แต่ก็มิได้กระทำ ไม่เท่านั้น หลังนายชาญยุทธมีความเห็นต่าง ได้ถูกสั่งย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ขณะที่จำเลยที่ 1 ได้มาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยหลังจากมาทำหน้าที่แทนไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้ยุติเรื่องการตรวจสอบภาษีนายบรรณพจน์ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร จึงเห็นว่า คำสั่งย้ายนายชาญยุทธ และคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 และ 2 ล้วนแต่เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังชี้ด้วยว่า จำเลยที่ 1 สั่งยุติเรื่องตรวจสอบภาษีนายบรรณพจน์อย่างรวดเร็ว โดยให้เหตุผลเพียงแค่ว่า “ตนเป็นคนทำงานเร็ว ใครเสนองานมา ต้องรีบสั่งให้เสร็จในวันนั้น” พร้อมอ้างว่า การไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีพิจารณา เพราะขณะนั้นไม่มีคนทำหน้าที่ในคณะกรรมการภาษีนั้น ถือว่าไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลและเป็นเรื่องที่วิญญูชนไม่พึงกระทำ เพราะการสั่งงานเร็ว งานนั้นต้องอยู่ในภาวะปกติไม่ใช่งานที่มีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะการสั่งการในฐานะรักษาราชการแทน ส่วนคำอ้างเรื่องไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการภาษีจริง ก็สามารถแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้กระทำ ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็อ้างเหตุเหมือนจำเลยที่ 1 แถมยังให้เหตุผลสนับสนุนจำเลยที่ 1 เรื่องสั่งงานอย่างรวดเร็วว่า “ถ้าในวันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้สั่งเอง จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังจะเลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดี ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาสั่ง” เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 แล้ว ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้งสอง ทำให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยใดใดว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ต่างมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้กับนายบรรณพจน์ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 270 ล้านบาท จำเลยที่ 1 และ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้านอัยการเจ้าของสำนวนคดีนี้ บอกว่า จะรายงานผลคำพิพากษาที่ศาลยกฟ้องนายศิโรตม์กับพวกให้อัยการสูงสุดทราบ ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ โดยมีเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน สำหรับบันทึกความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่เห็นว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตามมาตรา 157 นั้น อัยการอาจนำมาประกอบการยื่นอุทธรณ์ได้
5. “ตร.”กลัว “ป.ป.ช.”ฟันฐานฆ่า ปชช. –งัดผลสรุปปีมะโว้ อ้าง ซีโฟร์ติดเสื้อ “น้องโบว์”!
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. พล.ต.ท.ดนัยธร วงษ์ไทย ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์(สนว.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบว์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 โดยบอกว่า ที่มีการพูดกันว่า น.ส.อังคณาเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา โดยมีการตรวจพิสูจน์บาดแผล เสื้อผ้า และพูดว่า เสียชีวิตจากแรงระเบิดของแก๊สน้ำตาที่ตำรวจนำมาใช้นั้น แต่ผลการตรวจพิสูจน์เสื้อผ้าของ น.ส.อังคณาโดยกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้รับของกลางดังกล่าวมาจาก สน.พญาไท พบสารระเบิดซีโฟร์ที่เสื้อยืดและเสื้อชั้นในของ น.ส.อังคณา พร้อมยืนยันว่า แก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้ทั้ง 3 ชนิด คือ จากจีน อเมริกา และสเปน พบแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ ไม่มีสารระเบิดซีโฟร์ และว่า ในผู้บาดเจ็บรายอื่นๆ ก็ไม่พบซีโฟร์ พบแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ ส่วนที่กางเกงยีนส์ของ น.ส.อังคณา ก็พบแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์เท่านั้น ทั้งนี้ คำแถลงของ พล.ต.ท.ดนัยธร เหมือนกับต้องการให้สาธารณชนเข้าใจว่า น.ส.อังคณาเสียชีวิตด้วยระเบิดซีโฟร์ ไม่ใช่แก๊สน้ำตา และเจ้าตัวอาจพกระเบิดมาเองตามที่ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมากล่าวหาก่อนหน้านี้ กระทั่งถูกมารดา น.ส.อังคณาฟ้องว่าหมิ่นประมาทบุตรสาวที่เสียชีวิต แต่ภายหลังเมื่อ พล.ต.ต.สุรพลยอมขอขมา มารดา น.ส.อังคณาจึงให้อภัยด้วยการถอนฟ้องเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ความพยายามปฏิเสธของตำรวจที่ว่า น.ส.อังคณาไม่ได้เสียชีวิตด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา ถือว่าบิดเบือนไปจากความเห็นของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ผ่าพิสูจน์ศพ น.ส.อังคณาก่อนหน้านี้(พล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช รพ.รามาธิบดี)ที่ระบุว่า น.ส.อังคณาเสียชีวิตจากระเบิดแก๊สน้ำตา เนื่องจากบาดแผลบริเวณหน้าอกเกิดจากการถูกของแข็งเข้ามาปะทะด้วยความเร็วและมีความร้อน และกว่าแพทย์จะตรวจพิสูจน์ศพ น.ส.อังคณาได้ ก็ต้องล้างศพอยู่หลายครั้ง เพราะรู้สึกแสบตามาก เนื่องจากแก๊สน้ำตาลอยคละคลุ้งจากเสื้อผ้าและบาดแผลของ น.ส.อังคณา นอกจากนี้แพทย์ยังระบุด้วยว่า การระเบิดของวัตถุที่เข้ามาปะทะ น.ส.อังคณานั้น เป็นการระเบิดในระยะใกล้ตัว ไม่ใช่ประชิดตัว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ น.ส.อังคณาจะพกระเบิดมาเอง และหากพกระเบิดมาเอง แล้วเกิดระเบิด ก็เป็นไปไม่ได้ที่กระเป๋าสะพายที่ติดอยู่กับตัว น.ส.อังคณาจะยังอยู่ในสภาพดี ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ยืนยัน บาดแผลที่เกิดขึ้นกับ น.ส.อังคณาไม่ใช่เกิดจากวัตถุระเบิดแน่นอน แต่เป็นบาดแผลที่มีลักษณะทรงรีเทียบเคียงได้กับกระสุนระเบิดแก๊สน้ำตาของจีนอย่างชัดเจน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังชี้ด้วยว่า ซีโฟร์เป็นชื่อทางการค้า ส่วนอาร์ดีเอ็กซ์เป็นสารระเบิดที่ประกอบอยู่ในซีโฟร์ และประกอบอยู่ในแก๊สน้ำตาของจีน และว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ในแก๊สน้ำตามีซีโฟร์หรือไม่ แต่อยู่ที่แก๊สน้ำตาของจีนมีสารอาร์ดีเอ็กซ์ที่อันตรายและสามารถคร่าชีวิตประชาชนได้ผสมอยู่ ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะโฆษกคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ตำรวจออกมาแถลงผลสรุปการตรวจเสื้อผ้าของ น.ส.อังคณาในช่วงนี้ ทั้งที่ผลสรุปดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2551 น่าจะเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ ป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลว่าตำรวจผิดหรือไม่กรณีใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธท่านหนึ่ง เชื่อว่า การที่ตำรวจพยายามเบี่ยงประเด็นโดยให้ร้าย น.ส.อังคณาว่าอาจเสียชีวิตเพราะระเบิด ไม่ใช่แก๊สน้ำตานั้น ไม่น่าจะทำให้ตำรวจดิ้นหลุดจากความผิดได้ เพราะตนทราบมาว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไต่สวนเรื่องนี้ ได้มีมติ 9 ต่อ 0 ว่า ตำรวจผิดแน่นอน.