xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรปูดการเมืองล้วงลูก จี้“กรณ์” เร่งภาษี“โอ๊ค-เอม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวนิช
 คดีภาษีโอ๊ค-เอม อืด กรมสรรพากรปูดการเมืองล้วงลูกสั่งดึงเรื่องออกจากคณะกรรมการอุทธรณ์ จี้ “กรณ์ จาติกวณิช” เร่งเดินหน้าสอบหวั่นคดีหมดอายุความ จับตาคำพิพากษายกฟ้องข้าราชการกรมสรรพากรอุ้มคุณหญิงอ้อ-บรรณพจน์เลี่ยงภาษีชินคอร์ป จะส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ต่อการเอื้อประโยชน์ในการเลี่ยงภาษีคดีอื่นหรือไม่ เผยเม็ดเงินภาษีกว่า 30,000 หมื่นล้านที่บริษัท-ครอบครัวชินวัตร ต้องจ่ายยังไร้วี่แววได้คืนแผ่นดิน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า คดีความการยื่นขออุทธรณ์ภาษีของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร จากกรณีที่บริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด ได้ขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SHIN ให้แก่นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดเฉลี่ยอยู่ที่หุ้นละ 47-49 บาท ซึ่งเป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย 5.8 พันล้านบาท และเมื่อรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายจะต้องเสียภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้มีการดึงเรื่องดังกล่าวออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีออกไป

นับตั้งแต่พรรคพลังประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีที่กำกับดูแลในขณะนั้นคือ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้มีการส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อชะลอการพิจารณาอุทธรณ์คดีภาษีนี้เพื่อประวิงเวลาให้กรมสรรพากรดึงเงินอายัดบางส่วนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB กว่าหมื่นล้านบาทและมีการฟ้องร้องศาลปกครองจนกระทั่งมีคำสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์อายัดทรัพย์ดังกล่าวต่อไป จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำแล้วก็ยังไม่มีการสั่งการให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อแต่อย่างใด

“เรื่องนี้หากเดินหน้าตามแผนเดิมสมัยนายศานิต ร่างน้อย เป็นอธิบดีกรมสรรพากรทุกอย่างก็น่าจะจบตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและเงิน 1.2 หมื่นล้านก็สามารถยึดเป็นของหลวงได้ แต่การเมืองหลังเลือกตั้งกลับไปกลับมาเปลี่ยนขั้วอำนาจอยู่ตลอดจึงทำให้เรื่องนี้เงียบหายไปโดยปริยาย อีกทั้ง นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง สมัยเป็นรมว.คลังเงาก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอดแต่เมื่อมาเป็นรมว.คลังตัวจริงกลับไม่ได้สนใจติดตามแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว
 
และว่า ทั้งนี้รมว.คลังอาจกำลังยุ่งอยู่กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าแต่ก็ไม่อยากให้ละเลยเรื่องนี้เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่หลายๆ ฝ่ายจับตามองและหากปล่อยไว้นานก็จะทำให้คดีความหมดอายุเช่นเดียวกับการเลี่ยงภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก็เป็นได้

ทั้งนี้ บุคคลทั้งสองได้ยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2549 ตามกำหนดเวลาในวันที่ 31 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ตามที่กฎหมายกำหนดแต่ยังไม่มีการชำระเงินภาษีแต่อย่างใด และในการดำเนินการสมัยที่รับลบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และกรมสรรพากรได้ประสานงานเพื่อติดตามคดีนี้มาโดยตลอด

***เปิดบัญชีครอบครัวชินฯโกงภาษี

นอกจากความล่าช้าในการจัดเก็บภาษีแอมเพิลริช และ “โอ้ค – เอม” ข้างต้น แล้ว ยังเป็นที่น่าจับตาว่าคำพิพากษาศาลอาญา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 52 ที่ยกฟ้องข้าราชการกรมสรรพากรเอื้อประโยชน์ให้คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่ต้องเสียภาษีในการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นฯ มูลค่า 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท เมื่อปี 2540 ด้วยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือคุณหญิ งพจมาน และนายบรรณพจน์ หลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้อำนาจพิจารณาข้อกฎหมายตามที่มีการเสนอขึ้นมาตามลำดับนั้น

แม้คำพิพากษาของศาลข้างต้น จะไม่มีผลผูกพันต่อกรณีการเลี่ยงภาษีของครอบครัวชินวัตรในคดีอื่นๆ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแนวทางในการพิจารณาคดีเช่นนี้ จะไม่ถูกพลิกแพลง ตีความ เพื่อรับใช้และเอื้อประโยชน์นักการเมืองผู้มีอำนาจโกงภาษี โกงแผ่นดิน

สำหรับคดีที่เกี่ยวพันกับครอบครัวชินวัตรเลี่ยงภาษีที่ถูกแช่แข็งโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ในเวลานี้ มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ขยับทำอะไรเลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ ครอบครัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำประเทศ มีคดีหลบเลี่ยงภาษีหลายกรณีที่จะต้องติดตามเพื่อเรียกคืนภาษีและเอาคนผิดมาลงโทษ ดังนี้

1) การซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ (ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ ) กรณีนี้แยกเป็น

1.1 คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นฟ้องข้าราชการกรมสรรพากร คือ นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8 ว. และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 ว. โดยผลของคดีปรากฏว่า ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 52 ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าของคดีขณะนี้ กำลังรอว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ซึ่งคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษา โดยมีความเห็นว่า การกระทำของข้าราชการกรมสรรพากรทั้ง 5 คน มีความผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา

1.2 อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พร้อมพวก คดีดังกล่าว ศาลอาญา อ่านพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 51 ให้จำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ เป็นเวลา 3 ปี และจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน เป็นเวลา 2 ปี ในคดีจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91

ภายหลังศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีคุณหญิงพจมาน-บรรณพจน์ นายประสิทธิ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.กระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพากร เวลานั้นได้สั่งการให้นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร (ขณะนั้น) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแพ่งกับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในคดีหลีกเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนกว่า 546 ล้านบาท และหากผลการสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวออกมา ก็จะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ออกไปแล้วด้วย แต่การดำเนินการเรื่องนี้จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ประเด็นที่น่าติดตามต่อจากนี้ในคดีเลี่ยงภาษีชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ก็คือ เมื่อศาลอาญาพิพากษาคดีที่มีที่มาเดียวกันแต่ตัดสินไปคนละทาง กล่าวคือ เอาผิดอาญากับคุณหญิงพจมาน-บรรณพจน์ฐานเลี่ยงภาษี แต่ยกฟ้องข้าราชการกรมสรรพากร ที่ช่วยเหลือให้ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่า กระทรวงการคลัง จะไปไล่เบี้ยเอาผิดกับข้าราชการกรมสรรพากรที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับคุณหญิงพจมาน-บรรณพจน์ ได้หรือ ? ภาษีกว่า 546 ล้านบาท ที่จะต้องมีผู้รับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายจากการเลี่ยงเก็บภาษีดังกล่าว ใครจะต้องเป็นผู้รับผิด ?

เวลานี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำของข้าราชการกรมสรรพากรทั้ง 5 คน ที่กรมสรรพากรตั้งขึ้นในสมัยนายศานิต ร่างน้อย เป็นอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อจะดูว่าจะมีใครรับผิดชอบบ้าง และรับผิดชอบอย่างไรในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลี่ยงภาษีของคุณหญิงพจมาน-บรรณพจน์ คงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วหลังศาลอาญามีคำพิพากษา ยกฟ้อง !!

*** ก๊วน“เบญจาและพวก”ลุ้นระทึก

2). คดีการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทแอมเพิลริช อินเวสท์เม้นท์ จำกัด โดยแยกเป็น

2.1 คดีกล่าวหาข้าราชการกรมสรรพากร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ในราคาถูกกว่าราคาตลาด ระหว่างบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี

คดีดังกล่าว นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. อดีตประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวข้างต้น ระบุก่อนหน้านี้ว่า คดีนี้มีขั้นตอนเช่นเดียวกับคดี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร หลีกเลี่ยงภาษี โดย คตส.ได้มติให้ยื่นฟ้องบุคคลทีเกี่ยวข้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 ประกอบด้วย ข้าราชการกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือตอบหารือเรื่องการไม่เสียภาษีในการซื้อขายหุ้นจำนวนดังกล่าว คือ 1) นางเบญจา หลุยเจริญ 2) น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง 3) น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ 4) นายกริช วิปุลานุสาสน์

และอีกรายหนึ่ง คือ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นผู้ทำหนังสือสอบถามในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดย คตส. ส่งสำนวนผลการไต่สวนคดีที่มีมติสั่งฟ้องบุคคลข้างต้นให้อัยการสูงสุด ส่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 51 ขณะนี้คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

อย่างไรก็ตาม ภายหลังคำพิพากษายกฟ้องบิ๊กข้าราชการกรมสรรพากรที่อุ้มคุณหญิงอ้อ-บรรณพจน์ เลี่ยงภาษี เป็นที่น่าจับตาว่าคดีแอมเพิลริช ซึ่งข้าราชการกรมสรรพากร กลุ่มนางเบญจา หลุยเจริญ และพวก เอื้อประโยชน์ให้โดยตอบข้อหารือคนใกล้ชิดคุณหญิงพจมานว่า กรณีดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี จะมีบทสรุปลงเอยเช่นใด กลุ่มข้าราชการกรมสรรพากร ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายพานทองแท้ – พิณทองทา ชินวัตร ในคดีแอมเพิลริช จะมีโอกาสรอดตัวเหมือนกับข้าราชการกรมสรรพากรกลุ่มนายศิโรตน์และพวก ที่ลอยนวลหลังศาลยกฟ้อง หรือไม่

*** “โอ้ค – เอม” ยังลอยนวล

2.2 การเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริชฯ ซื้อหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ จากแอมเพิลริชฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 จำนวนคนละ 164.6 ล้านหุ้น รวม 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันดังกล่าว มีราคาหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งผลต่างของราคาถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีนี้คตส. มีมติให้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากร ติดตามการเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา เมื่อวันที่ 11 ม.ย. 50 และกรมสรรพากร ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2549 ของบุคคลทั้งสอง เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 50 และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2549 พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากนายพานทองแท้ เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,791,172 บาท และ น.ส.พินทองทา เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,503,601 บาท เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 50 แต่บุคคลทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2550 และขอทุเลาการเสียภาษีอากรในขณะอุทธรณ์ด้วย ซึ่งต่อมา นายประดิษฐ์ ได้ดึงเรื่องออกจากคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น

***แอมเพิลริช เลี่ยงภาษี 2 หมื่นกว่าล้าน

2.3 การเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทแอมเพิลริชฯ ต้องจ่ายภาษีพร้อมเบี้ยปรับ จำนวน 15,857 ล้านบาท

2. 4 ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทต้องหักจากกรรมการ (นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา) ซึ่งซื้อขายหุ้นราคาต่ำกว่าตลาดเป็นผลให้กรรมการบริษัททั้งสองมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)แห่งประมวลรัษฎากร เท่ากับผลต่างของราคาหุ้นที่ขายกับราคาตลาด ซึ่งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2538 บริษัทต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎรกร รวมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 5,066,168,796 บาท

การเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย คตส. ได้ส่งผลการตรวจสอบให้กรมสรรพากรดำเนินการเรียกเก็บทั้งสองกรณี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 50 ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

***ชินแซทฯ ซุกอีกพันล้าน

3) การเรียกเก็บภาษีอากรของบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) กรณีที่ได้รับเงินสินไหมทดแทนจากการประกันภัยดาวเทียมไทยคม 3 แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่มิได้นำเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไปคำนวณเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในรอบบัญชีปี 2548 ทำให้มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีต่ำไปเป็นเงิน 1,082 ล้านบาท ซึ่งคตส.ส่งเรื่องให้กรมสรรพากร ไปพิจารณาจัดเก็บภาษีในรอบเวลาบัญชี ปี 2547 - 2548 ให้ถูกต้อง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.51

การเรียกเก็บภาษีบริษัทแอมเพิลริช – โอ้ค – เอม และชินแซทเทิลไลท์ฯ ตามผลตรวจสอบของคตส. ที่ล่วงมาเกือบร่วมปีแล้ว ได้เวลาที่ กรณ์ จาติวนิช รมว.คลัง จะเข้ามาจัดการกับไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการดึงเรื่อง และจี้กรมสรรพากรใส่เกียร์เดินหน้าได้แล้วหรือยัง ? หรือว่า แท้จริงแล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ถนัดในการซุกเรื่องไว้ใต้โต๊ะ ปล่อยให้เงียบหายไปตามกาลเวลา ยึดคาถาแบบนักการเมืองรุ่นเก่าทีใครทีมัน ไม่แตะต้องกัน อย่างนั้นใช่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น